ถึงเวลาของ สตาร์ตอัพ ในประเทศไทยรึยัง?

ในเวทีประชุมสุดยอดผู้นำภาคเอกชนของเอเปคประจำปี 2023 ที่จัดขึ้นในเมือง ซานฟรานซิสโก สหรัฐฯ นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีได้ประกาศความพร้อมของประเทศไทยที่จะเริ่มขับเคลื่อนภาคธุรกิจเต็มรูปแบบอีกครั้ง ท่ามกลางข่าวดีที่บริษัทไมโครซอฟท์ได้มีการลงนามข้อตกลงความร่วมมือกับรัฐบาลไทยเพื่อผลักดันให้ประเทศไทยก้าวสู่การเป็นขุมพลังด้านปัญญาประดิษฐ์หรือเอไอ (artificial intelligence หรือ AI) ในระหว่างการประชุมเดียวกันนี้

เพื่อตอบรับกับความสนใจที่ภาคธุรกิจทั่วโลกมีต่อวิสัยทัศน์ของนายกรัฐมนตรีไทยข้างต้น BCG และ BCG X ซึ่งเป็นหน่วยงานด้านเทคโนโลยีของ BCG ได้ทำการวิเคราะห์สตาร์ตอัปไทยในเชิงลึก รวมถึงได้สัมภาษณ์สตาร์ตอัป นักลงทุน และ ภาครัฐ เพื่อที่จะเข้าใจถึงศักยภาพ อุปสรรค และการขับเคลื่อนของวงการสตาร์ตอัปไทย และเผยแพร่บทวิเคราะห์ในหัวข้อ

 “Getting Ready for Business: Firming Up Thailand’s Startup Ecosystem โดยมีใจความสำคัญว่า ในภาพรวมนั้น สตาร์ตอัปไทยมีศักยภาพที่จะเติบโตต่อไปอีกมาก แต่เพราะอุปสรรคและความท้าทายบางประการ สตาร์ตอัปไทยที่ประสบความสำเร็จจึงยังมีไม่มากนัก

 “ความท้าทาย” ของสตาร์ตอัปไทย

เศรษฐกิจของประเทศไทยมีความแข็งแกร่งและใหญ่เป็นอันดับที่สองของภูมิภาคเอเซียตะวันออกเฉียงใต้ อย่างไรก็ตามจำนวนสตาร์ตอัปในในประเทศกลับสวนทางกลับเศรษฐกิจ ประเทศไทยมีจำนวนบริษัทสตาร์ตอัปที่เป็นที่เปิดเผยอยู่ราว 180 แห่งเท่านั้น ซึ่งถือว่าน้อยหากเทียบกับจำนวนบริษัทสตาร์ตอัปของประเทศเพื่อนบ้านอย่างเวียดนาม (มีสตาร์ตอัป 340 แห่ง) อินโดนีเซีย (มีสตาร์ตอัป 860 แห่ง) และสิงคโปร์ (มีสตาร์ตอัป 1,780 แห่ง) ด้วยเหตุนี้ การส่งเสริมและสนับสนุนสตาร์ตอัปของทุกภาคส่วนจึงเป็นสิ่งสำคัญที่จะช่วยปลดล็อกศักยภาพและสร้างโอกาสให้กับสตาร์ตอัปในประเทศ

ประเทศไทย

ในบทวิเคราะห์ดังกล่าว BCG X ได้ระบุถึงความท้าทาย 5 ประการหลักในระบบนิเวศสตาร์ตอัปไทย ซึ่งประกอบด้วย การเข้าถึงแหล่งเงินทุน การขาดแคลนที่ปรึกษา การขาดแคลนความช่วยเหลือทางด้านการดำเนินงานพื้นฐาน  การขาดแคลนบุคลากร และอุปสรรคในการสร้างความน่าเชื่อถือทางธุรกิจ

การเข้าถึงแหล่งเงินทุน นักลงทุนร่วม (venture capitalists หรือ VCs) และนักลงทุนอิสระ (angel investors) มักจะแสวงหาโอกาสในตลาดที่ใหญ่กว่าตลาดไทย ขณะที่นักลงทุนในประเทศมักจะลงทุนในบริษัทที่มีรายได้อยู่บ้างแล้วมากกว่าไปลงทุนในสตาร์ตอัปใหม่ ทำให้สตาร์ตอัปใหม่ประสบปัญหาการเข้าถึงแหล่งเงินทุน

การขาดแคลนที่ปรึกษา โครงการบ่มเพาะสตาร์ตอัป (incubator) และ นักธุรกิจที่มีประสบการณ์สร้างสตาร์ตอัปให้ประสบความสำเร็จ และพร้อมให้คำปรึกษาอย่างใกล้ชิดแก่สตาร์ตอัปในไทยยังมีน้อยมาก ทำให้สตาร์ตอัปเข้าถึงคำแนะนำและการสนับสนุนได้อย่างจำกัด

การขาดแคลนความช่วยเหลือทางด้านการดำเนินงานพื้นฐาน ประเทศไทยยังไม่มีการช่วยเหลือสนับสนุนสตาร์ตอัพในการเข้าถึงบริการที่จำเป็นต่อการดำเนินงานขั้นพื้นฐานอย่างเพียงพอ ไม่ว่าจะเป็นบริการด้านทรัพยากรบุคคล บริการทางกฎหมายและบริการด้านบัญชี ซึ่งมีค่าบริการสูงสำหรับสตาร์ตอัปที่เพิ่งเริ่มดำเนินงานและยังไม่มีรายได้ จนส่งผลต่อความสามารถของสตาร์ตอัปที่จะประกอบการอย่างมีประสิทธิภาพและสร้างสรรค์นวัตกรรมต่อไป

การขาดแคลนบุคลากร สตาร์ตอัปไทยมักประสบปัญหาในการจัดหาบุคลากรอย่างเพียงพอเพราะจำนวนผู้ที่มีความรู้ความสามารถในสายงานที่สตาร์ตอัปต้องการ อาธิ สายงานเทคโนโลยีและการขาย ในประเทศไทยมีอยู่จำกัด สตาร์ตอัปจึงต้องแย่งตัวบุคลากรเหล่านั้นกับบริษัทขนาดใหญ่ในประเทศ

อุปสรรคในการสร้างความน่าเชื่อถือทางธุรกิจ ความน่าเชื่อถือและสายสัมพันธ์ทางธุรกิจเป็นสิ่งสำคัญในการทำธุรกิจ การหาลูกค้า และสร้างพันธมิตรในประเทศไทย สตาร์ตอัปไทยที่ไม่มีนักลงทุนเชิงกลยุทธ์ (strategic investors) หรือ ผลงานการดำเนินงานที่ยาวนานเพียงพอ จึงมักประสบความลำบากในการสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจจากพันธมิตรและคู่ค้า

ด้วยปัญหาที่กล่าวถึงข้างต้นนี้ อุตสาหกรรมสตาร์ตอัปไทยจึงยังมิได้เติบโตอย่างที่ควรเป็น

ประเทศไทย

ความร่วมมือจะพลิกโฉมวงการสตาร์ตอัปไทยอย่างไร?

ถึงแม้จะมีความท้าทายหลากหลายประการ แต่ระบบนิเวศของสตาร์ตอัปไทยก็มีโอกาสอยู่มากมาย

จากการสัมภาษณ์บุคลากรของอุตสาหกรรมที่กำลังเติบโต อาทิ อุตสาหกรรม 4.0 ซอฟต์แวร์ ฟินเทคหรือเทคโนโลยีทางการเงิน ตลาดซื้อขายระหว่างธุรกิจ (B2B marketplaces) และเทคโนโลยีเพื่อดูแลสภาพภูมิอากาศ พบว่า ประเทศไทยมีความพร้อมในการขับเคลื่อนนวัตกรรมทั้งในบริการและผลิตภัณฑ์ ด้วยประชากรที่มีจำนวนมาก อัตราการเปิดรับเทคโนโลยีสูง และสัดส่วนชนชั้นกลางที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้แล้ว อายุเฉลี่ยของประชากรและอำนาจในการซื้อในประเทศยังเปลี่ยนแปลงไปในทิศทางที่ส่งเสริมรูปแบบการทำธุรกิจหรือโซลูชั่นที่แตกต่างไปจากเดิม

แต่ปัจจัยบวกเหล่านี้จะให้ประโยชน์จริงต่อเมื่อทุกภาคส่วนร่วมกันส่งเสริมระบบนิเวศของสตาร์ตอัป  โดยต้องอาศัยแรงหนุนจากผู้มีส่วนได้ส่วนเสียใน 5 ด้านหลักดังนี้:

  • รัฐบาล ควรสร้างสภาพแวดล้อมที่กระตุ้นให้เกิดการกล้าเสี่ยงมากขึ้น ส่งเสริมการเพิ่มจำนวนผู้ก่อตั้งสตาร์ตอัป เพิ่มจำนวนเงินทุนสำหรับความเสี่ยงผ่านกลไกต่าง ๆ อาทิ การจับคู่กองทุนหรือนักลงทุนร่วมกับสตาร์ตอัป เพิ่มจำนวนบุคลากรและอำนวยความสะดวกให้สตาร์ตอัปออกสู่ตลาดได้จริงผ่านการออกนโยบายและกฎระเบียบที่เหมาะสม
  • มหาวิทยาลัย ควรปลูกฝังมุมมองการเป็นผู้ประกอบการพร้อมทักษะที่จำเป็นให้กับคนรุ่นใหม่
  • นอกจากเรื่องเงินลงทุนแล้ว องค์กรธุรกิจต่าง ๆ ควรช่วยประคับประคองสตาร์ตอัปผ่านการให้คำแนะนำอย่างใกล้ชิด รวมถึงให้โอกาสที่จะริเริ่มและทดลองทำสิ่งต่าง ๆ ตลอดจนเปิดทางให้พวกเขาได้เข้าถึงเครือข่ายที่กว้างขวาง
  • อดีตผู้ก่อตั้งสตาร์ตอัปและผู้คร่ำหวอดในวงการ ควรให้การสนับสนุนวงการสตาร์ตอัปด้วยการให้คำแนะนำอย่างใกล้ชิดและช่วยให้สตาร์ตอัปใหม่ ๆ ได้เข้าถึงเครือข่ายเพราะเป็นปัจจัยสำคัญต่อการพัฒนาและขยายงานสตาร์ตอัป
  • สื่อมีบทบาทสำคัญในการให้พื้นที่ข่าวงานสร้างเครือข่าย การส่งเสริมสตาร์ตอัปไทยในระดับสากลและช่วยเพิ่มโอกาสให้สตาร์ตอัปไทยเป็นที่รู้จักในตลาดโลกมากขึ้น

ประเทศไทย

นำศักยภาพไทยมาใช้จริง

ระบบนิเวศของสตาร์ตอัปไทยกำลังอยู่ในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อ ประเทศไทยมีปัจจัยบวกที่จะส่งผลดีต่อการพัฒนาสตาร์ตอัปหลายประการ รอเพียงให้ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกฝ่าย ไม่ว่าจะเป็นภาครัฐ นักวิชาการ องค์กรธุรกิจ นักธุรกิจที่ประสบความสำเร็จและสื่อ ร่วมผนึกกำลังกันอย่างแข็งขันเพื่อเปิดทางให้สตาร์ตอับได้เติบโต ปัจจุบัน อนาคตของอุตสาหกรรมสตาร์ตอัปไทยดูสดใสและได้รับความเชื่อมั่นเพิ่มมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง จึงอาจกล่าวได้ว่าถึงแม้ระบบนิเวศของสตาร์ตอัปไทยจะยังไม่พร้อมเต็มที่สำหรับการทำธุรกิจ แต่นี่เป็นเวลาที่ดีที่สุดแล้วสำหรับการต่อยอดความพร้อมเพื่อคว้าโอกาสที่รออยู่ตรงหน้า

ผู้เขียน:
เบนจามิน ฟิงเกิลเลย์ (Benjamin Fingerle) กรรมการผู้จัดการและหุ้นส่วนของ เดอะ บอสตัน คอนซัลติ้ง กรุ๊ป (BCG)
ฮันโน สเต็กแมนน์ (Hanno Stegmann) กรรมการผู้จัดการและหุ้นส่วนของ BCG X
banner Sample

Related Posts