หลายประเทศทั่วโลกกำลังเข้าสู่ สังคมผู้สูงอายุ มีการคาดการณ์จาก World Population Prospects 2022 ว่าภายในปี 2050 จำนวนผู้สูงอายุที่มีอายุมากกว่า 65 ปีทั่วโลกจะเพิ่มเป็น 16% และผู้ที่มีอายุ 80 ปีขึ้นไปจะเพิ่มจำนวนขึ้นเป็น 3 เท่า
ในอีก 30 ปีข้างหน้า สอดคล้องกับประเทศไทยที่ได้เข้าสู่สังคมผู้สูงอายุเต็มรูปแบบ โดย 1 ใน 5 ของประชากรทั้งหมด
หรือประมาณ 13 ล้านคน เป็นประชากรอายุมากกว่า 60 ปี สวนทางกับจำนวนเด็กเกิดใหม่ที่ลดจำนวนลง
- – เจเอเอส แอสเซ็ท ทุ่มงบ 180 ล้านบาท เปิด ‘ซีเนร่า ซีเนียร์ เวลเนส’ บางบัวทอง ตอบโจทย์ผู้สูงวัย
- – ล็อกซเล่ย์ปั้นต้นแบบสังคมอายุยืน ดัน OPPY เป็นศูนย์กลางเรียนรู้แอปฯ สำหรับผู้สูงวัยในกรุงเทพฯ
ประเทศไทยกำลังเผชิญกับวิกฤต สังคมผู้สูงอายุ เนื่องจากการที่ประชากรไทยมีอายุยืนยาวขึ้น ส่งผลให้จำนวนผู้สูงอายุเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ตัวเลขสถิติจากกรมกิจการผู้สูงอายุ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ คาดการณ์ว่าในปี 2568 ประเทศไทยจะเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุเต็มรูปแบบ หมายความว่าจะมีผู้มีอายุ 60 ปีขึ้นไป คิดเป็น 20% ของประชากรทั้งหมด
การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากรนี้มีผลต่อระบบเศรษฐกิจ สังคม และบริการสุขภาพ ผู้สูงอายุจำนวนมากอาจเผชิญกับปัญหาสุขภาพเรื้อรัง ต้องการการดูแลเอาใจใส่เป็นพิเศษ ขณะที่ระบบบริการสุขภาพที่มีอยู่อาจไม่เพียงพอที่จะรองรับความต้องการที่เพิ่มสูงขึ้น ขณะที่โอกาสเกิดปัญหาขาดแคลนบุคลากรทางการแพทย์ เตียงในโรงพยาบาล และทรัพยากรอื่นๆ ก็มีมากเช่นเดียวกัน
คุณภาพชีวิตของผู้สูงอายุจะดีได้ก็ต่อเมื่อมีความแข็งแรงทั้งสุขภาพกายและสุขภาพจิต เพื่อที่จะได้มีอิสระ
ในการใช้ชีวิตในแบบที่เป็นตนเอง สมาคมผู้วิจัยและผลิตเภสัชภัณฑ์ (Pharmaceutical Research & Manufacturers Association) หรือ ‘PReMA’ จึงเป็นหนึ่งในองค์กรที่มุ่งมั่นสนับสนุนอุตสาหกรรมยาในประเทศไทย และส่งเสริมการใช้ชีวิตของคนไทยในยุคสังคมสูงอายุ ผ่านการค้นคว้า วิจัย และพัฒนายานวัตกรรมเพื่อตอบโจทย์สุขภาพให้กับกลุ่มคนเหล่านี้
สถานการณ์ สังคมผู้สูงอายุ ในประเทศไทย
เมื่อผู้สูงอายุในประเทศไทยมีจำนวนเพิ่มขึ้น ทำให้เกิดความต้องการการดูแลจากรัฐและครอบครัว เพราะหลายกลุ่มประสบปัญหาขาดแคลนรายได้ ขาดผู้ดูแล ส่งผลกระทบต่อความเป็นอยู่และการใช้ชีวิตที่ลำบาก ในขณะที่บางกลุ่ม
ก็ขาดการเตรียมพร้อมในช่วงเกษียณ ทำให้มีรายได้ไม่เพียงพอต่อการใช้ชีวิต ได้รับผลกระทบทั้งในด้านคุณภาพชีวิต
และปัญหาสุขภาพไปพร้อมกัน
ดร.กิตติมา ศรีวัฒนกุล ที่ปรึกษาฝ่ายรัฐกิจสัมพันธ์ สมาคมผู้วิจัยและผลิตเภสัชภัณฑ์ (PReMA) เผยถึงความท้าทายในการผลักดันการมีคุณภาพชีวิตที่ดีในสังคมผู้สูงอายุในปัจจุบัน ว่า “ประเทศไทยต้องเร่งพัฒนาระบบสาธารณสุขอย่างต่อเนื่อง พร้อม ๆ กับนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมด้านยาและสุขภาพ มาช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตผู้สูงอายุในประเทศไทย เพราะหากในอนาคตไม่มีการวางแผนรับมือกับสังคมผู้สูงอายุที่ดี ขาดการสนับสนุนการดูแลสุขภาพอย่างจริงจัง หรือการเข้าถึงยานวัตกรรมเพื่อบรรเทาหรือรักษาไม่ให้อาการหนักขึ้นเป็นไปได้ยาก ค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพของผู้สูงอายุก็จะเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ทั้งในส่วนที่เป็น ภาระส่วนบุคคลและภาระงบประมาณของรัฐบาล”
ข้อจำกัดต่อการรักษากับปัญหาสุขภาพที่เลี่ยงไม่ได้
การที่ประเทศไทยเข้าสู่สังคมสูงอายุเต็มรูปแบบ ทำให้ต้องเผชิญความท้าทายทางสุขภาพจากผู้สูงอายุ ทั้งจาก
โรคประจำตัว โรคเกี่ยวกับระบบประสาทและสมอง ปัญหาด้านกระดูกและข้อเสื่อม รวมไปถึงปัญหาสุขภาพที่พบได้บ่อย เช่น การหกล้ม เดินลำบาก นอนไม่หลับ ซึมเศร้า รวมไปถึงผู้สูงอายุอีกจำนวนหนึ่งที่ป่วยและกลายเป็นผู้ป่วยติดเตียง เหล่านี้ เป็นปัญหาสุขภาพที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ ระบบสาธารณสุขที่มีประสิทธิภาพจึงมีความจำเป็นอย่างมาก ในการอำนวยความสะดวกให้กับกลุ่มผู้สูงอายุเหล่านี้
แม้ประเทศไทยจะเป็นหนึ่งในประเทศที่มีเครือข่ายทางสาธารณสุขที่เข้มแข็ง มีโรงพยาบาลคุณภาพ และเครือข่ายบุคลากรทางการแพทย์ชั้นแนวหน้า ที่สามารถส่งเสริมนวัตกรรมทางการแพทย์เพื่อดูแลผู้ป่วยได้ แต่สิทธิการรักษาของคนไทยทั้ง 3 ระบบ คือ สิทธิสวัสดิการข้าราชการ สิทธิประกันสังคม และสิทธิหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า หรือ ‘บัตรทอง’
มีความแตกต่างกัน แม้จะมีอาการป่วยแบบเดียวกัน แต่อาจได้รับยาไม่เหมือนกัน ผู้ป่วยหลายคนเลือกเดินเข้าคลินิก
หรือร้านขายยา แต่การเข้าถึงยาที่มีคุณภาพก็ไม่ใช่เรื่องง่ายนัก โดยเฉพาะหากเป็นยานวัตกรรมที่มีประสิทธิภาพมากกว่านั้น ซึ่งมีราคาค่อนข้างสูง กลายเป็นเรื่องน่าเสียดายเมื่อโอกาสที่จะผ่อนอาการป่วยจากหนักเป็นเบา หรือความหวังของการรักษานั้นหลุดลอยออกไป
ในฐานะที่ PReMA มีหนึ่งในภารกิจหลักเพื่อให้คนไทยสามารถเข้าถึงยานวัตกรรม และเสริมสร้างความก้าวหน้า
ทางการแพทย์และระบบสาธารณสุขอย่างยั่งยืน จึงได้เข้าไปมีส่วนร่วมขับเคลื่อนนวัตกรรมสุขภาพเพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีของคนไทยเช่นกัน
“PReMA พยายามชวนคิดชวนคุยเพื่อให้เกิดแนวนโยบาย รวมถึงมองหานโยบาย
และความเป็นไปได้ใหม่ๆ ที่จะช่วยตอบโจทย์ค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพอย่างยั่งยืน(Sustainable Healthcare Financing) เมื่อสังคมก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ โดยระบบควรให้ค่ากับยานวัตกรรม ซึ่งยาดังกล่าวต้องถูกสั่งจ่ายและเบิกใช้ได้อย่างเหมาะสม ซึ่ง PReMA และบริษัทสมาชิกพร้อมผลักดันร่วมกับภาครัฐฯ และทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องเพื่อหาสมดุลที่เหมาะสม ทั้งในส่วนของผู้ผลิตและรัฐบาลที่มีบทบาทหน้าที่กำกับดูแลด้านสุขภาพของประชาชน” ดร.กิตติมา กล่าว
ยานวัตกรรม…ความหวังเพื่อสร้างคุณภาพชีวิตที่ดี
สังคมผู้สูงอายุมาพร้อมกับความเสี่ยงที่มีผลต่อระบบเศรษฐกิจและสังคมในวงกว้าง เมื่อคนเรามีอายุยืนขึ้น แม้หลายคนจะดูแลตัวเองเป็นอย่างดี แต่โรคภัยต่าง ๆ ก็มีความซับซ้อนมากขึ้นตามไปด้วย ยานวัตกรรมจะเป็นหนึ่งในเครื่องมือที่ตอบโจทย์บรรเทาอาการหนักให้เป็นเบา รวมถึงป้องกันอาการหนักที่อาจลุกลามส่งผลต่อคุณภาพชีวิตและประสิทธิภาพ
ในการทำงาน และค่าใช้จ่ายที่ลดลง เพราะปฏิเสธไม่ได้ว่า การรักษาผู้ป่วยที่อาการไม่รุนแรงจะทำได้ง่ายและใช้ระยะเวลาน้อยกว่าผู้ป่วยที่อาการหนัก ดังนั้น ยานวัตกรรมจึงเป็นความหวังในการสร้างความเป็นไปได้ใหม่ ๆ ในการพลิกฟื้นสุขภาพของผู้คน ยกระดับคุณภาพชีวิตของผู้ป่วย ทั้งในปัจจุบันและอนาคต
โดยดร.กิตติมาได้เผยถึงบทบาทของ PReMA และความร่วมมือกับภาคส่วนต่าง ๆ ในการขับเคลื่อนสังคมผู้สูงอายุไทยด้วยยานวัตกรรมว่า “เมื่อประเทศไทยเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุแล้ว สิ่งที่ดีที่สุดคือ ทุกคนควรต้องดูแลสุขภาพตัวเองตั้งแต่วัยหนุ่มสาว แต่หากเราทำเต็มที่แล้วแต่ก็ยังเป็นโรคอยู่ ยานวัตกรรมจะช่วยตอบโจทย์นี้ได้ ทั้งนี้ บริษัทสมาชิกของเรามีการหารือและประสานงานกับหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องอยู่เป็นระยะ ซึ่งต้องเริ่มจากการเห็นร่วมกันก่อนว่า แม้ยานวัตกรรมต้องใช้เงินลงทุนและมีความเสี่ยงมาก แต่ผลที่ได้รับกับการหายจากความทุกข์ทรมานจากการเจ็บป่วย หรือช่วยให้ผู้ป่วยมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ก็นับว่าคุ้มค่า”
“ก้าวแรกที่สำคัญซึ่งเป็นการเชื่อมโยงสาธารณสุขไทยกับ Global Value Chain ของระบบอุตสาหกรรมยาให้มากขึ้น ได้เกิดขึ้นแล้วโดยเครือข่ายวิจัยทางคลินิก เมื่อมีการทดลองยาใหม่ ๆ ในไทย จะทำให้บุคลากรมีองค์ความรู้และ ประสบการณ์มากขึ้น ผู้ป่วยส่วนหนึ่งที่เข้ามามีส่วนร่วม จะเข้าถึงยาได้เร็วขึ้น จากจุดเริ่มต้นนี้จะทำให้นวัตกรรมมีคุณค่ามากขึ้น และเมื่อโครงสร้างพื้นฐานและบุคลากรของไทยเข้มแข็งมากขึ้น เราก็จะสามารถเข้าถึงได้โดยผู้ประกอบการในประเทศเช่นกัน”
ความท้าทายด้านสุขภาพที่ประเทศไทยต้องเผชิญเมื่อเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุเต็มรูปแบบ เป็นสิ่งที่ไม่อาจหลีกเลี่ยงได้
แม้คนไทยหลายกลุ่มจะเริ่มต้นดูแลสุขภาพตัวเองตั้งแต่หนุ่มสาว แต่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องก็ต้องเดินหน้าพัฒนาระบบสาธารณสุขให้มีความพร้อมอยู่เสมอ รัฐควรเพิ่มงบประมาณด้านการส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรคสำหรับประชากร
ทุกช่วงวัย
โดย PReMA พร้อมร่วมเป็นส่วนหนึ่งของการขับเคลื่อนนี้ร่วมกับภาครัฐและภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ต่าง ๆ
เพื่อสนับสนุนระบบสาธารณสุขไทย ผ่านการค้นคว้า วิจัยและพัฒนายานวัตกรรม ด้วยความมุ่งมั่นที่จะส่งเสริมคุณภาพชีวิตที่ดีให้กับคนไทยในสังคมผู้สูงอายุ
เพราะเมื่อวันใดวันหนึ่งที่ประเทศไทยมีความมั่นคงทางยา ผู้ป่วยสามารถเข้าถึงยานวัตกรรมได้ง่ายขึ้น ไม่เพียงแค่คนไทยจะได้รับการรักษาพยาบาลที่มีประสิทธิภาพเท่านั้น แต่จะมีผลต่อไปยังระบบเศรษฐกิจ ดึงดูดบริษัทเภสัชภัณฑ์จากต่างประเทศให้เข้ามาลงทุนในเทคโนโลยีสุขภาพ เพื่อเป็นประโยชน์ต่ออุตสาหกรรมต่าง ๆ ในประเทศไทยอีกด้วย