___noise___ 1000

SANOFI ผนึก SCGC และ Cirplas เปิดตัวโครงการ “Sanofi Planet Care Upcycling Program”

SANOFI

ซาโนฟี่-อเวนตีส (ประเทศไทย) จำกัด (SANOFI) บริษัทชั้นนำด้านนวัตกรรมสุขภาพระดับโลก  บริษัทเอสซีจี เคมิคอลส์ จำกัด (มหาชน) (SCGC) ผู้นำธุรกิจเคมีภัณฑ์ครบวงจรเพื่อความยั่งยืนและผู้เชี่ยวชาญด้าน Green Polymer บริษัทเซอร์พลาส เทค จำกัด (Cirplas) ผู้เชี่ยวชาญด้านการจัดการขยะพลาสติกแบบครบวงจร พร้อมด้วยโรงพยาบาล ตลอดจนพันธมิตรจากภาครัฐ ภาคเอกชน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ร่วมกันเปิดตัวโครงการ “Sanofi Planet Care Upcycling Program คืนชีวิตใหม่ให้ปากกาอินซูลิน”

เป็นครั้งแรกในประเทศไทยที่จัดเก็บปากกาอินซูลินใช้แล้วเพื่อนำไปรีไซเคิลอย่างถูกวิธีและถูกสุขลักษณะ ส่งเสริมพฤติกรรม ‘เช็ก ถอด ทิ้ง’ รณรงค์ให้ผู้ป่วยเบาหวานส่งคืนปากกาอินซูลินใช้แล้ว เริ่มนำร่องใน 6 โรงพยาบาลชั้นนำ ได้แก่ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย,โรงพยาบาลรามาธิบดี, โรงพยาบาลศิริราช, โรงพยาบาลกลาง, โรงพยาบาลศรีนครินทร์ และโรงพยาบาลมหาราชนครเชียงใหม่ ร่วมขับเคลื่อนประเทศไทยสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) ภายในปี 2050 และปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero) ภายในปี 2065

นางสาวดาราวรรณ ลุยะพันธุ์ ผู้อำนวยการกลุ่มธุรกิจยา General Medicines ซาโนฟี่ ประเทศไทยกล่าวว่า “ซาโนฟี่มุ่งเน้นเรื่องค้นคว้า วิจัย พัฒนานวัตกรรมยาและวัคซีน เพื่อป้องกันและรักษาผู้คนจากการเจ็บป่วย เราเปิดดำเนินการในไทยมาอย่างยาวนานและทำงานกับประชาคมเบาหวานมาอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้ความรู้เกี่ยวกับโรค ตลอดจนการดูแลตัวเอง หรือแม้แต่การใช้อินซูลินให้ถูกวิธี ในจำนวนผู้ป่วยเบาหวานประเทศไทยกว่า 5.2 ล้านคน ใช้ปากกาอินซูลินของซาโนฟี่กว่า 800,000 ด้ามต่อปี เทียบเป็นปริมาณขยะพลาสติกถึง 17 ตัน ซาโนฟี่จึงรณรงค์การแยกเข็ม และจัดเก็บปากกาอินซูลินใช้แล้วเพื่อนำไปรีไซเคิล ภายใต้ชื่อโครงการ ‘Sanofi Planet Care Upcycling Program คืนชีวิตใหม่ให้ปากกาอินซูลิน’ ถือเป็นครั้งแรกในประเทศไทยที่มีการจัดเก็บและรีไซเคิลปากกาฉีดอินซูลินใช้แล้ว ซึ่งเกิดขึ้นจากความร่วมมือของทุกภาคส่วนที่ตระหนักถึงความสำคัญในการช่วยกันบริหารจัดการขยะอย่างถูกวิธี สามารถเปลี่ยนเป็นผลิตภัณฑ์ใหม่มีคุณค่ามากขึ้น”

ดร.สุรชา อุดมศักดิ์ ประธานเจ้าหน้าที่สายงานนวัตกรรม บริษัทเอสซีจี เคมิคอลส์ จำกัด (มหาชน)หรือ SCGC เผยว่า “ปากกาอินซูลินใช้แล้ว นับเป็นขยะทางการแพทย์ที่มีปริมาณมหาศาล และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นทุกปี หากทิ้งหรือบริหารจัดการขยะเหล่านี้อย่างไม่เหมาะสม จะก่อให้เกิดปัญหาการแพร่กระจายเชื้อโรคในชุมชน ส่งผลกระทบต่อสุขอนามัยของประชาชน รวมถึงเกิดมลพิษต่อสิ่งแวดล้อม SCGC จึงนำความเชี่ยวชาญด้านนวัตกรรม Green Polymer มารีไซเคิลเปลี่ยนพลาสติกจากปากกาอินซูลินใช้แล้วเป็นผลิตภัณฑ์ใหม่ด้วยเทคโนโลยี Advanced Recycling สะท้อนกลยุทธ์การดำเนินธุรกิจภายใต้แนวทาง ESG โดยนำหลักเศรษฐกิจหมุนเวียนมาปรับใช้อย่างเป็นรูปธรรม โครงการฯ นี้จึงช่วยส่งเสริมการทิ้งขยะทางการแพทย์ในประเทศให้เป็นระบบและมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น สามารถลดปัญหาการแพร่กระจายของเชื้อโรคในชุมชนได้อย่างยั่งยืน สอดคล้องกับแผนแม่บทการจัดการขยะมูลฝอยของกระทรวงสาธารณสุข ในการพัฒนาสิ่งแวดล้อมและเสริมสร้างสุขอนามัยของประชาชนให้ปลอดภัย”

SANOFI

นายทศพล ศุภเมธีกูลวัฒน์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทเซอร์พลาส เทค จำกัด กล่าวว่า “Cirplasเป็นบริษัทสตาร์ทอัพ (start-up) ที่มุ่งเน้นการจัดเก็บ คัดแยก และจัดการขยะพลาสติกอย่างครบวงจร เราภูมิใจที่ได้เป็นส่วนหนึ่งในการนำปากกาอินซูลินใช้แล้วกลับเข้าสู่กระบวนการรีไซเคิล โดย Cirplas จะช่วยสนับสนุนดำเนินการจัดเก็บปากกาอินซูลินใช้แล้ว คัดแยก รวบรวม เพื่อนำไปรีไซเคิลเป็นผลิตภัณฑ์ใหม่ เราหวังว่าโครงการฯ นี้จะช่วยสร้างความตระหนักในวงกว้าง รวมถึงเป็นแรงจูงใจให้กับสังคมในการใช้ทรัพยากรให้คุ้มค่า และร่วมมือกันแก้ไขปัญหาขยะพลาสติกอย่างยั่งยืนต่อไป”

ศ.เกียรติคุณ พญ.วรรณี นิธิยานันท์ นายกสมาคมเบาหวานแห่งประเทศไทย กล่าวว่า “เบาหวานจัดเป็นโรคไม่ติดต่อเรื้อรังที่คนไทยเป็นกันมาก ปัจจุบันมีคนไทยเป็นโรคเบาหวานอยู่ประมาณ 5.2 ล้านคน และผู้ป่วยจำนวนหนึ่งใช้ยาฉีดอินซูลินมาช่วยในการควบคุมระดับน้ำตาลในเลือด ซึ่งเมื่อใช้เสร็จแล้วก็จัดว่าเป็นขยะที่ต้องกำจัดให้ถูกวิธี การรณรงค์ ‘เช็ก ถอด ทิ้ง’ โดยตั้งกล่องรับคืนปากกาอินซูลินใช้แล้วในโรงพยาบาลเป็นเรื่องน่าชื่นชมอย่างยิ่งในการแสดงความรับผิดชอบต่อสังคม สมาคมฯ เชื่อว่าการผนึกกำลังของทุกฝ่ายเพื่อร่วมกันลดปัญหาการจัดการขยะและผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม นับเป็นทางออกที่ดีในการยกระดับคุณภาพชีวิตประชาชน สังคม ชุมชน และสิ่งแวดล้อม รวมถึงสอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน หรือ SDGs อีกด้วย”

นพ.สกานต์ บุนนาค รองอธิบดีกรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวว่า “กระทรวงสาธารณสุขตระหนักถึงภัยจากโลกร้อนที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพและคุณภาพชีวิตของประชาชน กระทรวงฯ จึงได้จัดทำข้อเสนอเชิงนโยบาย Smart Energy and Climate Action (SECA) : พลังงานอัจฉริยะและการดำเนินการที่มุ่งลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกและผลกระทบต่อสภาพภูมิอากาศ ซึ่งโครงการ Sanofi Planet Care Upcycling Program สามารถตอบโจทย์การจัดการขยะอย่างยั่งยืนได้เป็นอย่างดี ช่วยให้การรักษาในกลุ่มผู้ป่วยเบาหวานด้วยอินซูลินนั้น เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมได้มากกว่าที่เคย”

นพ.รุ่งเรือง กิจผาติ ผู้แทนรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) และอธิบดีกรมวิทยาศาสตร์บริการ เสริมว่า “ปากกาอินซูลินใช้แล้วเป็นหนึ่งในขยะทางการแพทย์ที่มีปริมาณมาก ซึ่งมีเพียง 13% เท่านั้นที่ได้รับการจัดเก็บและกำจัดอย่างถูกวิธี ที่เหลือเกือบ 90% เป็นขยะที่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม เกิดเป็นมลพิษซึ่งก่อให้เกิดการปนเปื้อนลงในดิน ในแหล่งน้ำ กระทบกับคุณภาพน้ำใช้อุปโภคบริโภค สุขภาพสัตว์น้ำ และย้อนกลับมาที่สุขภาพของเราเอง จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องสนับสนุนให้เกิดความตระหนักรู้เรื่องการแยกขยะแก่ประชาชน รณรงค์ให้กลุ่มผู้ป่วยเบาหวานมีส่วนร่วมในการบริหารจัดการขยะทางการแพทย์อย่างถูกวิธีและมีประสิทธิภาพ”

“โครงการ Sanofi Planet Care Upcycling Program คืนชีวิตใหม่ให้ปากกาอินซูลิน ถือเป็นจุดเริ่มต้นที่นวัตกรรมสุขภาพดำเนินการควบคู่ไปกับการจัดการสิ่งแวดล้อม แสดงถึงพลังความร่วมมือของภาคีเครือข่าย เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของผู้คน และบรรลุเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืนร่วมกัน” นางสาวดาราวรรณ กล่าวสรุป

banner Sample

Related Posts