กระทรวงพาณิชย์สหรัฐฯ (DoC) อาจจะเพิกถอนใบอนุญาตการส่งออกชิปคอมพิวเตอร์ระดับสูงของบริษัท Intel และ Qualcomm ที่ส่งให้กับบริษัท หัวเว่ย (Huawei) เพื่อใช้ในแล็ปท็อปและสมาร์ทโฟน โดยที่ทางกระทรวงไม่ได้เปิดเผยชื่อของผู้ผลิตชิปเหล่านั้น แต่ข่าวนี้ได้รับการรายงานจากสื่อ Financial Times (FT)
- – หัวเว่ย หนุนผู้ให้บริการเครือข่ายเปิดบริการ 5.5G เชิงพาณิชย์
- – OPPO เปิดตัวนวัตกรรม AI ที่งาน Google Cloud Next ปี 2024
ตัวแทนของกระทรวงพาณิชย์สหรัฐฯ ให้สัมภาษณ์กับทาง FT ว่า เป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการประเมินเพื่อกำหนดแนวทางป้องกันด้านความมั่นคงของชาติ ซึ่งอาจรวมถึง “การเพิกถอนใบอนุญาตการส่งออกที่เราเคยดำเนินการในอดีต”
เมื่อเดือนที่แล้ว ภายหลังจากการเปิดตัวแล็ปท็อปรุ่นแรกที่ขับเคลื่อนด้วยเทคโนโลยี AI ของ หัวเว่ย สมาชิกสภาคองเกรสบางคนได้แสดงความไม่พอใจที่กระทรวงพาณิชย์ฯ อนุญาตให้ Intel ขายชิปขั้นสูงให้กับหัวเว่ย
หัวเว่ยเผชิญกับข้อจำกัดที่เพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ด้านการเข้าถึงส่วนประกอบชิ้นส่วนและซอฟต์แวร์จากต่างประเทศมาตั้งแต่ปี 2019 เมื่อกระทรวงพาณิชย์สหรัฐฯ ใส่ชื่อบริษัทไว้ในบัญชีกำกับการส่งออก (Export Control List) ต่อมาในเดือนสิงหาคม 2023 หลังจากการเปิดตัว Huawei Mate 60 Pro ซึ่งใช้ชิปล่าสุดที่ผลิตในประเทศจีน ทำให้รัฐบาลสหรัฐฯ เตรียมดำเนินมาตรการเพื่อต่อต้านผู้ผลิตชิปจีนที่เชื่อว่ากำลังให้การสนับสนุนหัวเว่ย
ในช่วงปีแห่งการเลือกตั้ง รัฐบาลของโจ ไบเดน ได้ดำเนินการจำกัดการเข้าถึงเทคโนโลยีที่สำคัญของหัวเว่ย โดยเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา คณะกรรมการกำกับกิจการสื่อสารแห่งชาติ (Federal Communications Commission หรือ FCC) ได้ออกคำสั่งเพื่อจำกัดห้องปฏิบัติการของหัวเว่ยไม่ให้ทำการรับรองอุปกรณ์ไร้สายที่จะนำเข้ามาใช้งานในสหรัฐฯ
กฎของ DoC ที่ออกใช้บังคับตั้งแต่ปี 2019 กำหนดให้ผู้ผลิตชิปต้องขอใบอนุญาตเพื่อส่งออกชิปขั้นสูงบางประเภท
บทวิเคราะห์
รัฐบาลไบเดนได้เพิกถอนใบอนุญาตการส่งออกที่อนุญาตให้ Intel และ Qualcomm ส่งชิปคอมพิวเตอร์ให้กับ Huawei ซึ่งถือเป็นการเพิ่มแรงกดดันต่อบริษัทผู้ผลิตอุปกรณ์โทรคมนาคมรายนี้ของจีน ซึ่งความเคลื่อนไหวดังกล่าวของกระทรวงพาณิชย์สหรัฐฯ กระทบต่อการจัดหาชิปสำหรับแล็ปท็อปและโทรศัพท์มือถือของหัวเว่ย
ถึงแม้ว่าวอชิงตันได้มีข้อจำกัดที่เข้มงวดเกี่ยวกับการขายเทคโนโลยีของสหรัฐฯ ให้กับหัวเว่ยอยู่แล้ว แต่เหล่าสมาชิกสภาคองเกรสจากพรรครีพับลิกันได้เรียกร้องให้ประธานาธิบดีโจ ไบเดน ดำเนินการที่เข้มงวดมากขึ้นต่อบริษัทของจีนรายนี้ ซึ่งทางเจ้าหน้าที่ความมั่นคงของสหรัฐฯ อ้างว่ามีส่วนในการสนับสนุนการจารกรรมไซเบอร์ของจีนทั่วโลก ทางหัวเว่ยปฏิเสธข้อกล่าวหาดังกล่าว
มาตรการนี้เกิดขึ้นในขณะที่สหรัฐฯ แสดงความกังวลต่อความสามารถของหัวเว่ยในการพัฒนาชิปขั้นสูง แม้จะมีการควบคุมการส่งออกอย่างเข้มงวดมาตั้งแต่ปี 2022 เมื่อรัฐมนตรีว่าการพาณิชย์สหรัฐฯ Gina Raimondo เยือนจีนเมื่อปีที่แล้ว หัวเว่ยได้เปิดตัวสมาร์ทโฟน Mate 60 Pro ซึ่งใช้ชิปขั้นสูงสร้างความประหลาดใจให้กับผู้เชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีเป็นอย่างมาก
มาตรการใหม่นี้เน้นย้ำถึงความกังวลอย่างต่อเนื่องของรัฐบาลสหรัฐฯ เกี่ยวกับภัยคุกคามความมั่นคงและการพึ่งพาเทคโนโลยีจากจีนของสหรัฐฯ ซึ่งส่งผลให้เกิดการแข่งขันด้านเทคโนโลยีอย่างเข้มข้นระหว่างสองประเทศมหาอำนาจของโลก