NT ผสาน สวทช. ปูทางร่วมพัฒนาศักยภาพด้านคลาวด์คอมพิวติ้ง และเอไอ

NT ผสาน สวทช. ปูทางร่วมพัฒนาศักยภาพด้านคลาวด์คอมพิวติ้ง และเอไอ

NT จุดประกายความร่วมมือ สวทช. บูรณาการศักยภาพทรัพยากรและเทคโนโลยี ต่อยอดด้านคลาวด์ คอมพิวติ้ง และเอไอ พร้อมเยี่ยมชมลันตาซูเปอร์คอมพิวเตอร์ (LANTA)

พ.อ. สรรพชัยย์ หุวะนันทน์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท โทรคมนาคมแห่งชาติ จำกัด (มหาชน) หรือ NT นำคณะผู้บริหาร NT เข้าเยี่ยมชมศูนย์ทรัพยากรคอมพิวเตอร์เพื่อการคำนวณขั้นสูง (NSTDA Supercomputer Center : ThaiSC ) และ“LANTA” ซูเปอร์คอมพิวเตอร์ที่ใหญ่ที่สุดของประเทศไทย พร้อมร่วมประชุมหารือกับ ศาสตราจารย์ ดร.ชูกิจ ลิมปิจำนงค์ ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ร่วมด้วย ดร. ปิยวุฒิ ศรีชัยกุล รองผู้อำนวยการศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (NECTEC) และผู้อำนวยการศูนย์ทรัพยากรคอมพิวเตอร์เพื่อการคำนวณขั้นสูง (ThaiSC) ณ ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ อุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทย จ.ปทุมธานี

พ.อ. สรรพชัยย์ หุวะนันทน์ กล่าวว่า NT ได้ร่วมกับ สวทช.หารือแนวทางบูรณาการใช้ประโยชน์ทรัพยากรและเทคโนโลยีโครงสร้างพื้นฐาน โดยศักยภาพของ NT คือบริการโทรคมนาคมและระบบคลาวด์อันเป็นทรัพยากรหลักของประเทศ รวมถึงบริการดิจิทัลโซลูชันของ NT ที่อยู่ระหว่างการพัฒนา ซึ่งสามารถผนวกกับความพร้อมด้านการวิจัยของ สวทช. เพื่อเพิ่มโอกาสและความเป็นไปได้ของการพัฒนาโซลูชันใหม่ๆ ในอนาคต โดยเน้นความร่วมมือด้านคลาวด์คอมพิวติ้ง และเอไอ ทั้งระดับงานวิจัยและการต่อยอดเชิงพาณิชย์

NT ผสาน สวทช.

ศาสตราจารย์ ดร.ชูกิจ ลิมปิจำนงค์ กล่าวว่า นับเป็นความร่วมมือระดับนโยบายครั้งแรกระหว่างสองหน่วยงาน ซึ่ง สวทช. พร้อมร่วมมือกับ NT ต่อยอดเทคโนโลยีดิจิทัลที่มีอยู่แล้วคือคลาวด์คอมพิวติ้งและเอไอ โดยเฉพาะบริการคลาวด์คอมพิวติ้งนับเป็นโครงสร้างสาธารณูปโภคที่สำคัญมากซึ่งคลาวด์ไทยจำเป็นต้องพัฒนาแนวทางใหม่ที่ทันกับการแข่งขันในปัจจุบัน โดยมีแนวทางใช้สถานะความเป็นภาครัฐของ สวทช. และ NT ยกระดับความร่วมมือระหว่างหน่วยงาน รวมถึงบริษัทลูกในการขยายขอบเขตการให้บริการและฐานลูกค้า เพื่อตอบสนองการเติบโตของธุรกิจคลาวด์ทั้งภาครัฐและเอกชนให้เต็มศักยภาพ

ทั้งนี้ สวทช. มีหน่วยวิจัย NECTEC และศูนย์ ThaiSC ซึ่งมีความพร้อมทั้งบุคลากรนักวิจัย เทคโนโลยี และเครื่องมือวิจัยด้านวิทยาการคำนวณ (Computational Science) ด้วยระบบ LANTA ซูเปอร์คอมพิวเตอร์สมรรถนะสูง (High Performance Computing: HPC) ติดอันดับ 94 ของ Fastest Supercomputer และอันดับ 30 ของ TOP500 List Greenest Supercomputer ในปี 2023 ด้วยระบบเครือข่ายความเร็วสูง HPE Slingshot Interconnect 200 Gbps และพื้นที่เก็บข้อมูลประสิทธิภาพสูง Cray ClusterStor E1000 12 PB ใช้ในการพัฒนางานวิจัยและการทำแบบจำลองทางคอมพิวเตอร์ด้านเคมี ชีวภาพ ภูมิอากาศ ปัญญาประดิษฐ์ บิ๊กดาต้า ฯลฯ สามารถประมวลผลข้อมูลขนาดใหญ่และรองรับโจทย์ปัญหาขนาดใหญ่ของประเทศ ในโครงการที่สำคัญของหน่วยงานต่าง ๆ อาทิ โครงการสร้างแบบจำลองมลพิษ ฝุ่น PM 2.5 ในพื้นที่ภาคเหนือประเทศไทย การิเคราะห์ลำดับพันธุกรรมเพื่อหยุดยั้งการระบาดของโควิด-19 ด้วยข้อมูลระดับจีโนม เป็นต้น ซึ่งศักยภาพด้านการวิจัยของ สวทช. ดังกล่าวจะรองรับการสานต่อความร่วมมือกับ NT ในการพัฒนาโซลูชันด้านดิจิทัลทรานสฟอร์มให้กับลูกค้าทั้งหน่วยงานภาครัฐและเอกชนต่อไป

 

Related Posts