กรุงเทพฯ, ประเทศไทย – วราวุธ ศิลปอาชา รมว.พม. นำทีมถกมาตรการคุ้มครองเด็ก ชูประเด็น “ถนนปลอดภัย” สกัดโศกนาฏกรรมซ้ำรอย พร้อมเร่งขับเคลื่อนกฎหมายคุ้มครองเด็ก โดยมีมติเห็นชอบในมาตรการและแนวทางการสร้างสภาพแวดล้อมทางถนนที่ปลอดภัยสำหรับเด็ก เน้นการฟื้นฟูเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบ และการป้องกันอย่างเข้มข้น พร้อมเสนอมาตรการทั้งหมดต่อรัฐบาล 25 ต.ค. นี้
- – ดีอี เตือนภัยข่าวปลอม! ชวนลงทุนหุ้น CP ALL ผลตอบแทน 10-30% ต่อวัน
- – ดีป้า เผย 1 เดือน HelpT ช่วยเหลือน้ำท่วมได้แล้วกว่า 300 กรณี
นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (รมว.พม.) เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการคุ้มครองเด็กแห่งชาติ ครั้งที่ 3/2567 หวังยกระดับมาตรการความปลอดภัยทางถนนสำหรับเด็ก ป้องกันโศกนาฏกรรมไม่ให้เกิดขึ้นซ้ำรอย พร้อมเร่งขับเคลื่อนกฎหมายคุ้มครองเด็ก โดยมีปลัดกระทรวง พม. อธิบดีกรมกิจการเด็กและเยาวชน ผู้ทรงคุณวุฒิ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เข้าร่วมประชุม ณ กระทรวง พม. เมื่อวันที่ 16 ตุลาคม 2567
วราวุธ กล่าวว่า การประชุมครั้งนี้เป็นครั้งแรกของปีงบประมาณ 2568 โดยที่ประชุมได้หารือถึงประเด็นสำคัญต่างๆ อาทิ ความก้าวหน้าของการปรับปรุงร่างพระราชบัญญัติคุ้มครองเด็ก พ.ศ. … และกฎหมายอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับการคุ้มครองเด็ก รวมถึง มาตรการและแนวทางการสร้างสภาพแวดล้อมทางถนนที่ปลอดภัยสำหรับเด็ก ซึ่งเป็นประเด็นเร่งด่วนที่ นางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ได้มีข้อสั่งการให้ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งดำเนินการ เพื่อไม่ให้เกิดเหตุการณ์โศกนาฏกรรมเช่นเดียวกับกรณีรถบัสทัศนศึกษาประสบอุบัติเหตุเมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2567 ที่ผ่านมา
ทั้งนี้ ที่ประชุมฯ ได้มีมติเห็นชอบในมาตรการและแนวทางการสร้างสภาพแวดล้อมทางถนนที่ปลอดภัยสำหรับเด็ก โดยมีข้อเสนอแนะจากผู้ทรงคุณวุฒิและคณะกรรมการฯ ซึ่ง นายวราวุธ ได้เน้นย้ำให้ทุกหน่วยงานเร่งดำเนินการตามข้อสรุปดังกล่าว และกระทรวง พม. จะนำเสนอมาตรการทั้งหมดต่อคณะทำงานของรัฐบาลในวันที่ 25 ตุลาคม 2567 ต่อไป
“ผมหวังเป็นอย่างยิ่งว่ามาตรการที่เราได้ร่วมกันพิจารณาในวันนี้ จะช่วยป้องกันไม่ให้เกิดอุบัติเหตุหรือโศกนาฏกรรมซ้ำรอยกับเด็กไทยทุกคน ซึ่งนับวันจะมีจำนวนลดน้อยลง เราต้องร่วมมือกันดูแลเด็กๆ ให้ดี ทั้งทางร่างกาย จิตใจ และความปลอดภัย โดยเฉพาะอย่างยิ่งความปลอดภัยบนท้องถนน เป็นปัจจัยสำคัญที่จะช่วยป้องกันอุบัติเหตุต่างๆ ผมมั่นใจว่ามาตรการเหล่านี้จะได้รับการรับรองและนำเสนอต่อรัฐบาลเพื่อพิจารณาต่อไป” นายวราวุธ กล่าว
สำหรับมาตรการและแนวทางการสร้างสภาพแวดล้อมที่ปลอดภัยทางถนนสำหรับเด็ก ประกอบด้วย 2 ด้านหลัก ได้แก่
1. ด้านการฟื้นฟูเยียวยา
- เน้นการฟื้นฟูเยียวยาเด็กนักเรียน ผู้ปกครอง และครูที่ได้รับผลกระทบจากอุบัติเหตุทางถนน
- วางแผนการช่วยเหลือทั้งในระยะวิกฤต ระยะสั้น และระยะยาว ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
- มอบหมายทีมให้วางแผนและช่วยเหลือรายครัวเรือน (CM) ครอบคลุม 5 มิติ ได้แก่ สุขภาพกาย สุขภาพจิต การศึกษา รายได้ ที่อยู่อาศัย และการเข้าถึงบริการของรัฐ
2. ด้านการป้องกัน
- กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ประสานความร่วมมือกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เพื่อสร้างสภาพแวดล้อมของถนนที่ปลอดภัย ผ่านกลไกศูนย์ชุมชนคุ้มครองเด็ก และส่งเสริม สนับสนุนสภาเด็กและเยาวชนให้มีส่วนร่วมในการให้ความรู้ ความเข้าใจเกี่ยวกับมาตรการและแนวทางการสร้างสภาพแวดล้อมที่ปลอดภัยทางถนนสำหรับเด็ก
- กระทรวงศึกษาธิการ กำชับให้ผู้บริหารโรงเรียนสถานศึกษามีส่วนร่วมในการวางแผนและกำกับดูแลการเดินทางไปทัศนศึกษานอกสถานที่ รวมทั้งบังคับใช้ระเบียบกระทรวงศึกษาธิการว่าด้วยการพานักเรียนและนักศึกษาไปนอกสถานศึกษา พ.ศ. 2562 และที่แก้ไขเพิ่มเติมอย่างเคร่งครัด นอกจากนี้ โรงเรียนควรมีแผนงานในการจัดระบบและจัดกิจกรรมให้เป็นไปตามมาตรา 63 แห่งพระราชบัญญัติคุ้มครองเด็ก พ.ศ. 2546
- กรมขนส่งทางบก กระทรวงคมนาคม เพิ่มมาตรการควบคุมการดัดแปลงสภาพรถโดยผิดกฎหมาย มาตรการในการแก้ไขป้องกันการติดตั้งอุปกรณ์เพิ่มจากที่กฎหมายกำหนด และมาตรการสำหรับรถรับจ้างสาธารณะ เช่น รถรับส่งนักเรียน รถทัศนศึกษา เพื่อเพิ่มความปลอดภัยในการใช้รถใช้ถนน
#ข่าวพม #พม #ศรส #esshelpme #1300 #วราวุธศิลปอาชา #วราวุธรับฟังทำจริง #พมพอใจให้ทุกวัยพึงพอใจในพม #พมหนึ่งเดียว #มาตรการและแนวทางการสร้างสภาพแวดล้อมทางถนนที่ปลอดภัยสำหรับเด็ก #คณะกรรมการคุ้มครองเด็กแห่งชาติ #เด็ก #รถบัสทัศนศึกษา