ภูเก็ต, ประเทศไทย – สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ร่วมกับ บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือ AIS ประกาศความคืบหน้าในการทดลองทดสอบระบบเตือนภัยผ่านมือถือด้วยเทคโนโลยี Cell Broadcast ณ จังหวัดภูเก็ต
- – “แพทองธาร” ย้ำไทยพร้อมเป็นศูนย์กลางสมาร์ทฟาร์ม ในเวที เอเปค 2024
- – ดีอี เผย 1 ปี ศูนย์ AOC 1441 สกัดโจรออนไลน์สำเร็จกว่า 3.4 แสนเคส!
การทดสอบครั้งนี้เป็นการดำเนินการแบบเสมือนจริงบนเครือข่ายจริง (LIVE Network) หรือ Proof of Concept เฉพาะพื้นที่ เพื่อเตรียมความพร้อมในการเชื่อมต่อกับศูนย์บัญชาการกลางของภาครัฐ หากเกิดเหตุฉุกเฉินร้ายแรงหรือภัยพิบัติทางธรรมชาติ
นายวรุณเทพ วัชราภรณ์ หัวหน้าฝ่ายงานธุรกิจสัมพันธ์ AIS กล่าวว่า AIS ได้ร่วมมือกับ กสทช., กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี), กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) กระทรวงมหาดไทย และหน่วยงานต่างๆ ในการพัฒนาระบบเตือนภัยแห่งชาติ โดยเลือกใช้เทคโนโลยี Cell Broadcast Service ซึ่งเป็นมาตรฐานสากล
“ระบบนี้มีความเหมาะสมในการแจ้งเตือนเหตุฉุกเฉิน เนื่องจากสามารถส่งข้อความไปยังโทรศัพท์มือถือที่รองรับ 4G ขึ้นไป ทุกเครื่องที่อยู่ในพื้นที่ครอบคลุมของสถานีฐานในเวลาเดียวกัน” นายวรุณเทพ กล่าว
ข้อความแจ้งเตือนจะปรากฏบนหน้าจอโทรศัพท์เคลื่อนที่ (Pop-up Notification) แบบเรียลไทม์ ทำให้ประชาชนรับทราบสถานการณ์ต่างๆ ได้ทันที
นายวรุณเทพ กล่าวขอบคุณ กสทช. ที่สนับสนุนงบประมาณจากกองทุนวิจัยและพัฒนากิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม เพื่อประโยชน์สาธารณะ (กทปส.) ทำให้ AIS และผู้ให้บริการทุกรายสามารถร่วมทดลองทดสอบเทคโนโลยี Cell Broadcast ณ จังหวัดภูเก็ต ได้สำเร็จ
“การทดสอบครั้งนี้เป็นไปได้ด้วยดี และพร้อมที่จะขยายผลเชื่อมโยงกับระบบเตือนภัยของประเทศได้อย่างเต็มประสิทธิภาพต่อไป” นายวรุณเทพ กล่าวเสริม
ด้านนายไตรรัตน์ วิริยะศิริกุล รองเลขาธิการ รักษาการแทน เลขาธิการ สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ กล่าวว่า ได้หารือร่วมกับกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม, กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย และผู้ประกอบการโทรคมนาคมทุกราย เกี่ยวกับการพัฒนาระบบเตือนภัย Cell Broadcast โดยคาดว่าจะพร้อมใช้งานจริงในบางพื้นที่ภายในไตรมาสที่ 2 ของปี 2568
นายไตรรัตน์ อธิบายเพิ่มเติมว่าแต่ละหน่วยงานมีบทบาทในการพัฒนาระบบ Cell Broadcast ดังนี้
- กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) เป็นหน่วยงานหลักกำหนดเนื้อหาและพื้นที่ในการส่งข้อความ
- กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) ดูแลระบบ Cloud Server และการเชื่อมต่อระหว่าง ปภ. และศูนย์ Cell Broadcast Center (CBC) ของผู้ให้บริการ
- ผู้ให้บริการโครงข่าย นำเนื้อหาข้อความแจ้งเตือนเข้าโทรศัพท์เคลื่อนที่ในพื้นที่เกิดเหตุ
- กสทช. สนับสนุนงบประมาณจากกองทุน กทปส. แก่ผู้ประกอบการโทรศัพท์เคลื่อนที่ 3 ราย ได้แก่ AWN, TUC และ NT
“การลงพื้นที่ภูเก็ตครั้งนี้เป็นการทดลองทดสอบเสมือนจริง เพื่อยืนยันความพร้อมของผู้ประกอบการโทรศัพท์เคลื่อนที่” นายไตรรัตน์ กล่าว
นายวรุณเทพ กล่าวทิ้งท้ายว่า AIS มุ่งมั่นพัฒนาเครือข่ายและขยายพื้นที่ให้บริการให้ครอบคลุมทั่วประเทศ โดยปัจจุบันครอบคลุม 95% ของพื้นที่ประชากรแล้ว
“เราจะเดินหน้าขยายความครอบคลุม โดยเฉพาะในพื้นที่ห่างไกล เพื่อให้ระบบเตือนภัย Cell Broadcast ช่วยเหลือประชาชนได้อย่างทั่วถึง” นายวรุณเทพ ย้ำ
#AIS #กสทช #CellBroadcast #ระบบเตือนภัย #ความปลอดภัย #ภูเก็ต #เทคโนโลยี #นวัตกรรม #โทรคมนาคม #ข่าวเศรษฐกิจ #ดิจิทัล #ไทยแลนด์4.0