เปรู – นายกฯ เสร็จสิ้นภารกิจประชุมผู้นำเขตเศรษฐกิจ เอเปค ณ เปรู ชูจุดแข็งดึงดูดการลงทุนจากต่างชาติ เน้นเทคโนโลยี AI, Semiconductor, Data Center พร้อมผลักดันไทยสู่ศูนย์กลางเกษตรกรรมอัจฉริยะ เดินหน้า FTA กับเปรู หวังเชื่อมโยงแลนด์บริดจ์ สร้าง Soft Power ผ่านผ้าไหมไทยผสมผสานขนสัตว์อัลปากา
- – หัวเว่ย คลาวด์ สแต๊ก หนุนรัฐบาลไทย ผลักดัน “นโยบายคลาวด์เป็นหลัก”
- – รัฐบาล ไฟเขียว! งบวิจัยขับเคลื่อนเศรษฐกิจปี 69 กว่า 44,900 ล้านบาท
นางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ประเทศไทย ให้สัมภาษณ์สรุปผลการเข้าร่วมประชุมผู้นำเขตเศรษฐกิจ เอเปค ครั้งที่ 31 ณ กรุงลิมา สาธารณรัฐเปรู โดยชื่นชมการจัดงานของเปรู และย้ำถึงความพร้อมของประเทศไทยในการเปิดรับการลงทุนและความร่วมมือเพื่อพัฒนาเศรษฐกิจ โดยเฉพาะในด้านเทคโนโลยี นวัตกรรม และดิจิทัล ซึ่งสอดคล้องกับแนวคิดหลักของการประชุมเอเปคในครั้งนี้ คือการเสริมสร้างพลังการมีส่วนร่วม และการเติบโตที่ยั่งยืน (Empower Inclusive Growth)
ดึงดูดการลงทุนจากต่างชาติ เน้นเทคโนโลยีแห่งอนาคต
นายกรัฐมนตรีเผยว่า ได้หารือกับนักธุรกิจระดับผู้นำในเวที ABAC Dialogue with APEC Economic Leaders โดยเน้นเชิญชวนให้เข้ามาลงทุนในประเทศไทย โดยเฉพาะในสาขาที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยี AI, Semiconductor และ Data Center ซึ่งได้รับความสนใจจากหลายบริษัท รวมถึงบริษัทเอกชนยักษ์ใหญ่ เช่น Tiktok, Microsoft และ Google ที่แสดงความสนใจเข้ามาลงทุนในประเทศไทยเพิ่มขึ้น
“การลงทุนอย่าง Data Center จะทำให้คนไทยเกิดการจ้างงานแบบใหม่ๆ ซึ่งการเติบโตทางเศรษฐกิจหรือ จีดีพี ของไทยตอนนี้เติบโตไม่เต็มศักยภาพ การหาเม็ดเงินใหม่ๆเข้าประเทศจะให้คนไทยมีรายได้และมีอาชีพจึงเป็นสิ่งสำคัญที่ไทยจะต้องพัฒนาทุกด้านไปพร้อมๆกัน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องเงินหมื่น การสร้างรายได้ใหม่ ซอฟต์พาวเวอร์ การลงทุน และการหาเม็ดเงิน เพื่อให้เกิดการกระตุ้นเศรษฐกิจในภาพรวมทั้งประเทศ” นายกรัฐมนตรีกล่าว
ไทยพร้อมเป็นศูนย์กลาง “สมาร์ทฟาร์ม”
นายกรัฐมนตรีย้ำถึงศักยภาพของประเทศไทยในเวทีโลก โดยระบุว่าประเทศไทยพร้อมแล้วที่จะมุ่งมั่นพัฒนาเศรษฐกิจ โดยเฉพาะการผลักดันให้ไทยเป็นศูนย์กลางด้านเกษตรกรรมอัจฉริยะ หรือ Smart farming ซึ่งสอดคล้องกับแนวคิด BCG Economy หรือ Bio-circular -Green ecocomy ที่ไทยเคยนำเสนอไว้ในการประชุมเอเปคเมื่อ 2 ปีที่ผ่านมา
เดินหน้า FTA กับเปรู เชื่อมโยงแลนด์บริดจ์
ในการหารือทวิภาคีกับ นางดินา เอร์ซิเลีย โบลัวร์เต เซการ์รา ประธานาธิบดีแห่งสาธารณรัฐเปรู นายกรัฐมนตรี ได้ยืนยันความพร้อมของไทยในการทำงานร่วมกับเปรู โดยเฉพาะการเจรจาการค้าเสรี หรือ FTA ระหว่างไทย-เปรู ซึ่งจะช่วยเพิ่มโอกาสในการส่งสินค้าเกษตรของไทยไปยังเปรู และสามารถเชื่อมโยงกับโครงการแลนด์บริดจ์ของไทยในอนาคตได้
Soft Power ผ้าไหมไทยผสมผสานขนสัตว์อัลปากา
นอกจากนี้ นายกรัฐมนตรี ยังมีแนวคิดที่จะนำผลิตภัณฑ์ขนสัตว์อัลปากาของเปรู มาผสมผสานกับผ้าไหมไทย เพื่อสร้างสรรค์ “ซอฟต์พาวเวอร์” ร่วมกันของทั้งสองประเทศ
สำหรับการหารือทวิภาคีกับ นายสี จิ้นผิง ประธานาธิบดีแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน นายกรัฐมนตรี ได้กล่าวถึงความร่วมมือระหว่างไทย-จีน ในโอกาสเฉลิมฉลองความสัมพันธ์ครบรอบ 50 ปีในปีหน้า โดยจีนได้อัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุ หรือ พระเขี้ยวแก้ว มาประดิษฐานไว้ที่ประเทศไทยในวันที่ 4 ธันวาคมนี้ และจีนยืนยันที่จะมอบหมีแพนด้ายักษ์มาประเทศไทยอีกครั้ง
นายกรัฐมนตรี กล่าวว่าไทยพร้อมที่จะเรียนรู้รูปแบบการพัฒนาประเทศของจีน ในการลดความยากจน รวมถึงการพัฒนาเทคโนโลยีต่างๆ และได้เชิญชวนให้ภาคเอกชนจีนเข้ามาลงทุนในไทยเพิ่มขึ้น ซึ่งประธานาธิบดีจีน ยินดีและยืนยันว่าจะส่งเสริมความร่วมมือในด้านต่างๆ เช่น การต่อต้านอาชญากรรมข้ามชาติ Online scam และจะสนับสนุนไทยเข้าร่วม BRICS ด้วย
สร้างความมั่นใจ เชิญชวนลงทุนในไทย
นายกรัฐมนตรี กล่าวว่าตลอด 3 วันของการประชุม เป็นประโยชน์ต่อประเทศไทยอย่างมาก เพราะได้แลกเปลี่ยนมุมมองกับผู้นำแต่ละเขตเศรษฐกิจ และย้ำถึงศักยภาพของประเทศไทยในเวทีโลก โดยมั่นใจว่าการได้พูดคุยกันในครั้งนี้ จะทำให้ประเทศไทยสามารถเดินหน้าความร่วมมือกับประเทศต่างๆ และหาโอกาสให้กับประเทศไทยได้ง่ายขึ้น
#เอเปค2024 #แพทองธาร #เศรษฐกิจไทย #การลงทุน #SmartFarming #SoftPower #FTA #ไทยจีน