กรุงเทพฯ, ประเทศไทย – “วราวุธ” รมว.พม. ห่วงใยปัญหาการละเมิดสิทธิเด็กในสื่อสังคมออนไลน์ ชวนสื่อมวลชนและผู้สร้างสื่อทุกแขนง ร่วมกันนำเสนอข่าวสารที่คำนึงถึงสิทธิเด็ก ปลุกกระแสสังคมตระหนักรู้ถึงปัญหา ชี้สื่อมีอิทธิพลต่อทัศนคติและพฤติกรรมของเด็กและเยาวชน
- – คีนัน ผนึกกำลังพันธมิตร เสริมทักษะ AI และ Green Skills ให้เยาวชนไทย
- – 51Talk ส่งเด็กไทยเข้าร่วม COP29 บทพิสูจน์การสนับสนุนเยาวชนก้าวสู่เวทีระดับโลก
นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กล่าวถึงปัญหาการละเมิดสิทธิเด็กในสื่อสังคมออนไลน์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการนำเสนอข้อมูลข่าวสารที่ส่งผลกระทบต่อเด็กในทางลบ ซึ่งปัจจุบันสังคมไทยกำลังก้าวเข้าสู่สังคมสูงวัยอย่างสมบูรณ์ โดยใช้เวลาเพียง 6 ทศวรรษ และเทคโนโลยีดิจิทัลเข้ามามีบทบาทสำคัญในชีวิตประจำวัน ทำให้เด็กและเยาวชนต้องเผชิญกับปัญหาต่าง ๆ มากมาย โดยเฉพาะภัยออนไลน์ เช่น การกลั่นแกล้งบนโลกออนไลน์ สื่อลามกอนาจาร และการพนันออนไลน์ เป็นต้น
ในขณะที่จำนวนเด็กที่เกิดใหม่มีแนวโน้มลดลง โดยปี 2565 – 2567 ข้อมูล ณ เดือนตุลาคม 2567 มีสถิติการเกิดทั้งประเทศ จำนวน 386,567 คน ลดลงจากปี 2566 จำนวนกว่า 100,000 คน ในขณะที่ ปี 2566 จำนวนผู้สูงอายุเพิ่มขึ้น ประมาณ 13 ล้านคน
“การเป็นเด็กในสังคมปัจจุบันจึงไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะเด็กต้องเผชิญกับปัญหาหลายประการจากสถานการณ์สังคมที่เปลี่ยนแปลงไป รวมถึงความเจริญก้าวหน้าของเทคโนโลยีและการสื่อสาร โดยเฉพาะสื่อมีอิทธิพลต่อความคิดเห็น ความเชื่อ และพฤติกรรมของประชาชนในทุกระดับ” นาย วราวุธ กล่าว
นายวราวุธ เน้นย้ำบทบาทของสื่อมวลชน และผู้สร้างสื่อ (Content Creator) ว่าเป็นพลังสำคัญในการชี้นำสังคม และมีอิทธิพลต่อการเปลี่ยนแปลงวิธีคิดของเด็กและเยาวชน ดังนั้น การนำเสนอเรื่องราวต่าง ๆ จึงควรคำนึงถึงผลกระทบต่อเด็ก โดยเฉพาะการผลิตคอนเทนต์ที่เกี่ยวกับเด็ก ซึ่งบางครั้งอาจส่งผลกระทบต่อสภาพจิตใจ และเป็นบาดแผลทางใจในระยะยาว กระทบต่อการดำเนินชีวิตในอนาคต
“การชี้ให้เห็นอัตลักษณ์ของเด็ก จนเกิดความบอบช้ำทางจิตใจ กลายเป็นภาพจำ และที่สำคัญกลายเป็นร่องรอยดิจิทัล หรือ Digital Footprint มากกว่านั้นคือเป็นการละเมิดสิทธิส่วนบุคคลตามข้อกฎหมายต่าง ๆ ที่หลายท่านอาจจะไม่ได้คำนึงถึง หรือทำไปด้วยความไม่รู้” นาย วราวุธ กล่าว
รมว.พม. ยังได้ยกตัวอย่างกรณีละเมิดสิทธิเด็ก เช่น กรณี “น้องเก้า พ่อค้าน้อยยอดกตัญญู” และกรณี “น้องปาย เด็กปั๊ม” ซึ่งได้รับความสนใจจากสื่อ โดยชี้ให้เห็นว่า การนำเสนอข่าวสารของสื่อ แม้จะมีเจตนาดี แต่ก็อาจส่งผลกระทบต่อสิทธิส่วนบุคคลของเด็กได้
“ผมเข้าใจและเห็นใจทุกท่าน ในมุมของระบบนิเวศสื่อ (Media Ecosystem) ที่มีการแข่งขันเรื่องเรตติ้ง (Rating) ยอดจำนวนผู้ติดตาม ผู้กดไลก์ กดแชร์ (Engagement) มีผลต่อความเชื่อถือและความอยู่รอดของพี่น้องผู้สร้างสรรค์สื่อ (Content Creator) และสื่อมวลชน (Mass Media)” นาย วราวุธ กล่าว
นายวราวุธ กล่าวเพิ่มเติมว่า การสื่อสารของสื่อมวลชน หรือบุคคลต่าง ๆ ที่สื่อสารผ่านช่องทางสื่อสังคมออนไลน์ (Social Media) อาจส่งผลกระทบต่อภาพลักษณ์ของเด็ก และกระบวนการทำงานเพื่อการคุ้มครองเด็ก โดยเฉพาะประเด็นข่าวเชิงลบที่เกี่ยวข้องกับเด็กและเยาวชนโดยตรง เช่น กรณีข่าวของเด็กที่ทำกิจกรรมเชื่อมจิต ซึ่งถูกตีแผ่ในสื่อทุกช่องทาง และถูกนำเสนอในมิติที่แตกต่างกัน
ทั้งนี้ผลสำรวจสถานการณ์การใช้สื่อสังคม (Social Media) ในรายงานสถิติรายปี สำนักงานสถิติแห่งชาติ ปี 2561 ระบุการเติบโตของการใช้สื่อสังคม ร้อยละ 94.1 และในปี 2565 การสำรวจพบว่า เด็กและเยาวชนเข้าถึงอินเทอร์เน็ต 16 ล้านคน หรือคิดเป็นร้อยละ 98 สำหรับช่วงอายุที่มีการใช้สื่อออนไลน์และอินเทอร์เน็ตมากที่สุด ได้แก่ เด็กและเยาวชนที่มีอายุน้อยกว่า 20 ปี โดยมีระยะเวลาการใช้งานเฉลี่ยอยู่ที่ 12 ชั่วโมงต่อวัน กิจกรรมที่เด็กและเยาวชนใช้งานบนโลกออนไลน์มากที่สุดคือ
การติดต่อสื่อสารผ่านสื่อสังคม เช่น เฟซบุ๊ก (Facebook) ทวิตเตอร์ (Twitter) และอินสตราแกรม (Instagram) ซึ่งเป็นการใช้เพื่อความบันเทิง แต่อย่างไรก็ตามผลกระทบทางลบก็มีเช่นกัน จากการสำรวจ ปี ๒๕๖๕ โดยกรมกิจการเด็กและเยาวชน ร่วมกับมูลนิธิอินเทอร์เน็ตร่วมพัฒนาไทย พบภัยออนไลน์ต่อเด็กและเยาวชน เช่น สื่อลามกอนาจาร การพนันออนไลน์ การกลั่นแกล้งออนไลน์ สถานการณ์ดังกล่าวปรากฏอยู่ทั่วไทยและทุกมุมโลก ซึ่งเป็นภัยออนไลน์ที่เด็กและเยาวชนควรได้รับการดูแลและได้รับคำแนะนำอย่างใกล้ชิด
“บ่อยครั้งที่การสื่อสารของสื่อมวลชน หรือบุคลลต่าง ๆ ที่สื่อสารผ่านช่องทางสื่อสังคมออนไลน์ (Social Media) ส่งผลกระทบต่อภาพลักษณ์บุคคลและองค์กร และกระบวนการทำงานเพื่อการคุ้มครองเด็กและเยาวชน โดยเฉพาะประเด็นข่าวเชิงลบที่เกี่ยวข้องกับเด็กและเยาวชนโดยตรง” นายวราวุธกล่าว
นาย วราวุธ ทิ้งท้ายด้วยการเชิญชวนสื่อมวลชน และผู้สร้างสื่อทุกแขนง ร่วมกันนำเสนอข่าวสารที่คำนึงถึงสิทธิเด็ก และร่วมกันสร้างระบบนิเวศสื่อที่ปลอดภัย เพื่อให้เด็กและเยาวชนเติบโตเป็นพลเมืองที่มีคุณภาพ และมีศักยภาพของประเทศต่อไป
“ขอเชิญชวน และขอความร่วมมือพี่น้องสื่อทุกท่าน ทุกแขนง มาร่วมออกแบบอนาคตเด็กไทยไปด้วยกัน ด้วยการสร้างระบบนิเวศสื่อที่ปลอดภัย เพราะเมื่อเด็กมีความรู้สึกปลอดภัย เด็กจะสามารถพัฒนาตนเองและเรียนรู้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ” นายวราวุธกล่าว
พ.ม. เผยแนวปฏิบัติสื่อ นำเสนอข่าวเด็กอย่างไรไม่ละเมิดสิทธิ
กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พ.ม.) โดย กรมกิจการเด็กและเยาวชน จัดทำ “แนวปฏิบัติการนำเสนอข้อมูลข่าวสารเพื่อการปกป้อง คุ้มครอง เด็กและเยาวชน” เพื่อเป็นแนวทางในการนำเสนอข่าวสารที่เกี่ยวข้องกับเด็กและเยาวชนในเชิงสร้างสรรค์
โดยมีเนื้อหาครอบคลุมสถานการณ์ด้านเด็กและเยาวชน กฎหมาย และแนวปฏิบัติ ด้านการนำเสนอข่าวที่เกี่ยวข้องกับเด็กและเยาวชน ซึ่งจัดทำร่วมกับ มูลนิธิพัฒนาสื่อ และ กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์
ทั้งนี้ เนื่องจากสถานการณ์และการเปลี่ยนแปลงของลักษณะโครงสร้างประชากรในสังคมไทย ที่ปัจจุบันได้เข้าสู่สังคมสูงวัยแบบสมบูรณ์ ทำให้จำนวนประชากรเด็กและเยาวชนลดน้อยลง และต้องเผชิญกับความเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในยุคของข้อมูลข่าวสารที่สามารถรับรู้ เรียนรู้ และเข้าถึงได้อย่างรวดเร็ว ส่งผลกระทบต่อเด็กและเยาวชนในสังคมทั้งในเชิงบวกและเชิงลบอย่างไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ โดยเฉพาะสื่อมวลชน ถือเป็นผู้มีอิทธิพลต่อความคิดเห็น ความเชื่อ และพฤติกรรมของเด็กและเยาวชน
เนื้อหาใน “แนวปฏิบัติการนำเสนอข้อมูลข่าวสารเพื่อการปกป้อง คุ้มครอง เด็กและเยาวชน” ประกอบด้วย
สถานการณ์ประชากรในประเทศไทย, สภาพการณ์และแนวโน้มปัญหาของเด็กและเยาวชน, อนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก (Convention on the Right of the Child) และบทบัญญัติที่เกี่ยวกับสื่อ, กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับเด็กและเยาวชน, ความรุนแรงต่อเด็ก, กระบวนการคุ้มครองเด็กรายกรณี, บทบาทของสื่อมวลชนกับการคุ้มครองเด็ก และแนวปฏิบัติการนำเสนอข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับเด็กที่มีผลต่อครอบครัวและสังคม
โดยเฉพาะในส่วนของ “แนวปฏิบัติการนำเสนอข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับเด็กที่มีผลต่อครอบครัวและสังคม” มีรายละเอียด ได้แก่
การขออนุญาตสัมภาษณ์ บันทึกภาพ เข้าถึงข้อมูลเด็ก, การใช้ข้อมูลโซเชียลมีเดียของเด็ก, การใช้ภาพจำลอง, สิทธิที่จะถูกลืม, การนำเสนอข้อมูลเด็กในสถานการณ์ทั่วไป, การนำเสนอข้อมูลเด็กที่เป็นผู้ถูกกระทำ, การนำเสนอข้อมูลเด็กที่เป็นผู้กระทำความผิด, การนำเสนอข้อมูลเด็กที่อยู่ในสภาวะยากลำบาก, การนำเสนอข้อมูลเด็กพิการ, การนำเสนอข้อมูลเด็กที่เกี่ยวข้องกับโรคที่สังคมไม่ยอมรับ
ทั้งนี้ พ.ม. ได้ยกตัวอย่างแนวทางปฏิบัติที่ดี (DO’s) และ สิ่งที่ไม่ควรปฏิบัติ (DON’Ts) ในการนำเสนอข้อมูลข่าวสารเด็ก เพื่อให้สื่อมวลชนได้นำไปเป็นแนวทางในการทำงาน
การนำเสนอข้อมูลเด็กในสถานการณ์ทั่วไป
-
แนวทางปฏิบัติที่ดี (DO’s)
-
คำนึงถึงประโยชน์และความปลอดภัยของเด็กในการเปิดเผยอัตลักษณ์ และต้องขออนุญาตอย่างถูกต้อง
-
นำเสนอศักยภาพของเด็ก เช่น การเป็นคนดี มีจิตอาสา
-
ใช้ภาพวาด ภาพการ์ตูน เพื่อปกปิดตัวตน หรือใช้อินโฟกราฟิก
-
ให้ความสำคัญกับเด็กทุกเพศสภาพ เชื้อชาติ ศาสนา วัฒนธรรม อย่างเท่าเทียม
-
เปิดพื้นที่ให้เด็กแสดงความคิดเห็น หรือมีบทบาทในเรื่องที่ส่งผลกระทบต่อเด็กโดยตรง
-
-
สิ่งที่ไม่ควรปฏิบัติ (DON’Ts)
-
ไม่นำเสนออัตลักษณ์ของเด็ก หรือบุคคลในครอบครัว หากเสี่ยงที่จะเกิดความเสียหาย ยกเว้นกรณีเด็กสูญหาย
-
ไม่นำเสนอข้อมูลที่ส่งผลเสีย หรือทำให้เกิดการตัดสินเด็กในเชิงลบ
-
ไม่นำเสนอภาพ/คลิปลามก อนาจาร โป๊เปลือย อุจาด หรือภาพที่ทำให้เด็กเป็นตัวตลก น่าสงสาร สมเพช
-
ไม่เผยแพร่ภาพที่จะส่งผลให้เด็ก ญาติพี่น้อง หรือเพื่อนเสี่ยงอันตราย แม้ปิดบัง ทำเบลอ ก็ตาม
-
ไม่ล่วงละเมิดสิทธิความเป็นส่วนตัวของเด็กและครอบครัว ไม่ขุดคุ้ย นำเสนอประวัติเชิงลบ
-
ไม่ควรใช้คำจัดกลุ่มหรือแบ่งแยกเด็ก ที่ทำให้เกิดการตีตราหรือล้อเลียน
-
ไม่นำเสนอข่าวสารโดยมีความจริงไม่ครบถ้วน หรือเกี่ยวข้องกับเด็กโดยตรง
-
การนำเสนอข้อมูลเด็กที่เป็นผู้ถูกกระทำ
-
แนวทางปฏิบัติที่ดี (DO’s)
-
ระวังการใช้ภาษา คำนึงถึงสิทธิมนุษยชน จิตใจ ชื่อเสียง เกียรติคุณ ของเด็ก และครอบครัว
-
ควรสัมภาษณ์เจ้าหน้าที่ แทนการสัมภาษณ์เด็ก หรือครอบครัวที่ถูกกระทำโดยตรง
-
ให้ความร่วมมือกับเจ้าหน้าที่ เพื่อช่วยเหลือเด็กหรือครอบครัว ก่อนเผยแพร่สู่สาธารณะ
-
พึงระวังการเปิดพื้นที่ แสดงความคิดเห็นในออนไลน์ ที่อาจเกิดการซ้ำเติมเด็ก
-
ควรให้ความรู้ เตือนภัย สร้างความเข้าใจที่ถูกต้อง ให้แก่สังคม นำเสนอวิธีการรับมือ และช่องทางขอความช่วยเหลือที่ถูกต้อง
-
-
สิ่งที่ไม่ควรปฏิบัติ (DON’Ts)
-
ไม่นำเสนออัตลักษณ์ของเด็ก บุคคลในครอบครัว หรือคนใกล้ชิด รวมทั้งเลขคดี บัญชีสื่อสังคมออนไลน์ ยกเว้นกรณีเด็กสูญหาย แต่ต้องไม่ส่งผลเสียต่อเด็ก
-
ไม่นำเสนอข้อมูลข่าวสารที่ซ้ำเติม ความทุกข์ของเด็กและครอบครัว หรือแสวงหาผลประโยชน์โดยมิชอบ
-
ไม่นำเสนอข้อมูลเด็กที่ทำให้เข้าใจว่าการถูกกระทำนั้น เป็นเรื่องปกติในสังคม หรือเป็นเพราะเคราะห์ร้าย
-
ไม่นำเสนอข้อมูลที่เป็นการตัดสินตัวเด็ก และครอบครัวในเชิงลบ หรือนำเสนอเกินกว่าข้อเท็จจริงที่ปรากฏ
-
ไม่ใช้คำบรรยายสภาพการถูกกระทำ
-
ไม่สัมภาษณ์เด็กโดยตรง ป้องกันการกระทบกระเทือนจิตใจเด็ก
-
การนำเสนอข้อมูลเด็กที่เป็นผู้กระทำความผิด
-
แนวทางปฏิบัติที่ดี (DO’s)
-
คำนึงถึงผลประโยชน์ของเด็กเป็นสำคัญ ไม่เลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรม
-
ปกปิดอัตลักษณ์ของเด็ก ไม่ว่าเด็กจะอยู่ในฐานะพยาน ผู้เสียหาย ต้องหา ผู้กระทำความผิด หรือแม้แต่เด็กในสถานพินิจที่ปรากฏในกิจกรรมการกุศล
-
นำเสนอด้วยภาพการ์ตูน ภาพวาด หรือคำบรรยายแทนการเสนอภาพเด็ก หรือผู้ที่ใกล้ชิดกับเด็ก
-
ใช้คำเรียกเด็กที่กระทำความผิด ดังนี้
-
ก่อนแจ้งความ “เด็กผู้ต้องสงสัย”
-
ระหว่างสอบสวน “เด็กผู้ถูกกล่าวหาว่ากระทำความผิด”
-
หลังศาลตัดสินว่าผิด “เด็กที่กระทำความผิด”
-
-
นำเสนอในลักษณะภาพรวม ไม่เจาะจงรายละเอียดเกี่ยวกับตัวเด็ก ให้ความรู้ในการป้องกันและเยียวยา รวมทั้งสนับสนุนให้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง ร่วมมือกันแก้ไข หรือป้องกันปัญหา
-
พึงระวังการเปิดพื้นที่แสดงความคิดเห็นในสื่อสังคมออนไลน์ที่อาจทำให้เกิดการซ้ำเติมเด็กที่เป็นผู้กระทำ
-
กรณีการเสพติดเกม ควรนำเสนอข้อมูลอย่างสมดุล ทั้งด้านเศรษฐกิจ เทคโนโลยี สังคม การแพทย์ และสาธารณสุข
-
-
สิ่งที่ไม่ควรปฏิบัติ (DON’Ts)
-
ไม่นำเสนอข้อมูลอัตลักษณ์ของเด็ก ข้อมูลทางการสอบสวนในคดีอาญา ประวัติการกระทำผิด ที่ทำให้ล่วงรู้ถึงตัวเด็ก
-
ไม่ใช้คำรุนแรง ประณาม ตัดสิน ซ้ำเติม ใช้คำที่จัดกลุ่มหรือใช้ความหมายเชิงลบ มีผลกระทบต่อจิตใจเด็ก ครอบครัว และผู้ที่เกี่ยวข้อง หรือทำให้ถูกกีดกันออกจากสังคม
-
ไม่นำเสนอในแง่มุมที่อาจเป็นการสนับสนุนให้เด็กกระทำความผิด หรือชักนำให้เกิดการเลียนแบบ
-
การนำเสนอข้อมูลเด็กที่อยู่ในสภาวะยากลำบาก
-
แนวทางปฏิบัติที่ดี (DO’s)
-
ระวังการเปิดเผยอัตลักษณ์เด็ก อย่างชัดเจน
-
ระบุชื่อสถานสงเคราะห์ ศูนย์อพยพ ลี้ภัย ศูนย์ช่วยเหลือ ที่เชื่อมโยงกับตัวเด็ก ต้องถามความสมัครใจ และต้องได้รับอนุญาตอย่างถูกต้อง
-
ควรนำเสนอในเชิงบวก หากได้รับอนุญาต ให้นำเสนอภาพเด็ก ควรนำเสนอภาพเชิงบวก
-
ระวังเป็นพิเศษในการนำเสนอข้อมูลข่าวสาร ที่อาจกระทบจิตใจเด็ก
-
มุ่งนำเสนอเพื่อนำไปสู่การช่วยเหลือ และควรติดตาม สรุปสถานการณ์ การช่วยเหลือเด็ก
-
ควรตรวจสอบความน่าเชื่อถือ ของบุคคลหรือองค์กรที่ระดม ความช่วยเหลือเด็ก
-
ควรมีช่องทางติดต่อ องค์กรให้ความช่วยเหลือเด็กที่เกี่ยวข้อง ประกอบกับเนื้อหา
-
-
สิ่งที่ไม่ควรปฏิบัติ (DON’Ts)
-
ไม่นำเสนอข้อมูลเกี่ยวกับตัวเด็ก โดยเจตนาให้เกิดความเสียหายแก่จิตใจ ชื่อเสียง เกียรติคุณ หรือสิทธิประโยชน์ หรือเพื่อแสวงหาผลประโยชน์โดยมิชอบ
-
ไม่นำเสนอภาพเด็กในลักษณะที่น่าสงสาร กรณีจำเป็นต้องนำเสนอ เพื่อให้ความช่วยเหลือ ควรมีภาพ หรือนำเสนอในลักษณะอื่นที่ไม่เปิดเผยอัตลักษณ์เด็ก
-
ไม่ใช้คำที่แสดงความคิดเห็นเชิงลบ ต่อตัวเด็กหรือครอบครัว แต่ควรนำเสนอ ข้อมูลข้อเท็จจริงที่นำไปสู่การป้องกัน ปัญหาในภาพรวม
-
การนำเสนอข้อมูลเด็กพิการ
-
แนวทางปฏิบัติที่ดี (DO’s)
-
ระวังการเปิดเผยอัตลักษณ์ของเด็ก เว้นแต่ได้รับอนุญาตอย่างถูกต้อง และเป็นประโยชน์สูงสุดต่อตัวเด็ก
-
ควรสัมภาษณ์ผู้ปกครอง หรือผู้ดูแลแทนการสัมภาษณ์เด็กโดยตรง
-
นำเสนอข้อมูลเชิงบวก เช่น ศักยภาพและความสามารถ การทำกิจกรรมร่าเริง มีความสุข โดยต้องขออนุญาตอย่างถูกต้อง
-
ควรใช้คำว่า “เด็กหญิง” “เด็กชาย” ที่ไม่เจาะจงความพิการ หรือหากจำเป็นต้องนำเสนอความพิการ ควรใช้คำเรียกว่า
-
เด็กบกพร่องทางร่างกาย
-
เด็กพิเศษ เด็กออทิสติก
-
เด็กบกพร่องทางสติปัญญา
-
กลุ่มเปราะบาง เป็นต้น
-
-
ควรมีข้อมูล ความเห็นจากนักจิตวิทยา หรือผู้เชี่ยวชาญด้านเด็กพิการ เพื่ออธิบายพฤติกรรมหรือความจำเป็นพิเศษของเด็ก
-
มุ่งนำเสนอเพื่อนำไปสู่การช่วยเหลือ หรือประโยชน์สูงสุดของเด็ก ไม่ใช่ความเวทนาสงสาร
-
ควรตรวจสอบความน่าเชื่อถือ ของบุคคลหรือองค์กรที่ระดม ความช่วยเหลือเด็ก
-
-
สิ่งที่ไม่ควรปฏิบัติ (DON’Ts)
-
ไม่นำเสนอข้อมูลเด็ก โดยเจตนาให้เกิดความเสียหายแก่จิตใจ ชื่อเสียง เกียรติคุณ หรือสิทธิประโยชน์อื่นใดของเด็ก หรือเพื่อแสวงหาประโยชน์โดยมิชอบ
-
ไม่นำเสนออัตลักษณ์ของเด็ก ภาคความพิการ น่าเวทนา เรียกร้องความสงสาร ล่วงละเมิดศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ หรือซ้ำเติมความทุกข์ของเด็ก
-
ไม่นำเสนอข้อมูลในลักษณะดูถูก เด็กพิการ ใช้คำพูดเชิงลบหรือตอกย้ำความพิการ ดูถูก เหยียดหยาม
-
การนำเสนอข้อมูลเด็กที่เกี่ยวข้องกับโรคที่สังคมไม่ยอมรับ
-
แนวทางปฏิบัติที่ดี (DO’s)
-
ระวังการนำเสนอข้อมูลที่อาจจะถูกต่อการใช้ชีวิตอย่างปกติสุขของเด็กและครอบครัว
-
ปกปิดอัตลักษณ์ของเด็ก บุคคลในครอบครัวหรือผู้ใกล้ชิด เว้นแต่ได้รับอนุญาตอย่างถูกต้อง โดยคำนึงถึงผลประโยชน์สูงสุดและปกป้องคุ้มครองเด็กและครอบครัวให้ใช้ชีวิตในสังคมได้อย่างปกติสุข
-
ควรใช้ภาพวาด ภาพการ์ตูน การใช้คำบรรยายที่เป็นการปกป้องเด็กและครอบครัว
-
นำเสนอข้อมูลในเชิงส่งเสริมการป้องกัน เพื่อให้ความรู้เกี่ยวกับโรค และให้คำแนะนำการอยู่ร่วมในสังคม
-
-
สิ่งที่ไม่ควรปฏิบัติ (DON’Ts)
-
ไม่นำเสนอข้อมูลเกี่ยวกับตัวเด็ก หรือบุคคลในครอบครัวโดยตั้งใจให้เกิดความเสียหายแก่จิตใจ ชื่อเสียง เกียรติคุณ หรือสิทธิประโยชน์อื่นใดของเด็ก หรือเพื่อแสวงหาผลประโยชน์โดยมิชอบ
-
ไม่ทำให้เด็กและครอบครัว เสียใจ อับอาย นำไปสู่การเกิดอันตรายเพิ่มขึ้น หรือถูกกีดกันออกจากสังคม ใช้ชีวิตอยู่ อันเนื่องมาจากโรค
-
ไม่นำเสนอข้อมูลข่าวสารที่เป็นเท็จ หรือข่าวลวงที่ทำให้เกิดการเข้าใจผิด อันส่งผลเสียต่อเด็กและครอบครัว
-
พ.ม. หวังเป็นอย่างยิ่งว่าสื่อมวลชนจะให้ความสำคัญกับแนวปฏิบัติดังกล่าว เพื่อร่วมกันสร้างสรรค์สังคมไทยให้เป็นสังคมที่ปลอดภัยสำหรับเด็กและเยาวชน
#พม #สิทธิเด็ก #สื่อปลอดภัย #อนาคตเด็กไทย #กรมกิจการเด็กและเยาวชน #แนวปฏิบัติ #สื่อ #ข่าวสาร #เด็ก #เยาวชน