แสนสิริ ผนึกพันธมิตร ตอกย้ำมาตรฐานความปลอดภัยอาคารสูง

แสนสิริ ผนึกพันธมิตร ตอกย้ำมาตรฐานความปลอดภัยอาคารสูง

จากเหตุการณ์แผ่นดินไหวเมื่อวันที่ 28 มีนาคม 2568 ที่ผ่านมา ได้สร้างความตื่นตัวและคำถามถึงมาตรฐานความปลอดภัยของอาคารในประเทศไทย โดยเฉพาะอาคารสูง บริษัท แสนสิริ จำกัด (มหาชน) ผู้นำด้านอสังหาริมทรัพย์ของไทย ร่วมกับพันธมิตรชั้นนำตลอดห่วงโซ่อุปทาน (Supply Chain) ตั้งแต่ผู้ออกแบบ ผู้รับเหมาก่อสร้าง ผู้จำหน่ายวัสดุ ไปจนถึงผู้ติดตั้งระบบสำคัญอย่างลิฟต์โดยสาร ได้ออกมายืนยันถึงความแข็งแกร่งและมาตรฐานความปลอดภัยที่เข้มงวดในภาคการก่อสร้างของไทย เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับผู้บริโภคและสังคมโดยรวม ตอกย้ำว่าความปลอดภัยคือสิ่งที่ประนีประนอมไม่ได้

ท่ามกลางความกังวลของประชาชนภายหลังเหตุการณ์แผ่นดินไหวที่เกิดขึ้นเมื่อเร็วๆ นี้ ประเด็นด้านมาตรฐานความปลอดภัยของอาคาร โดยเฉพาะอาคารสูงในเขตเมือง ได้กลายเป็นหัวข้อที่สังคมให้ความสนใจอย่างยิ่ง บริษัท แสนสิริ จำกัด (มหาชน) หนึ่งในผู้พัฒนาอสังหาริมทรัพย์รายใหญ่ของประเทศ ได้ออกมาให้ความเชื่อมั่นอย่างแข็งขัน โดยเน้นย้ำถึงกระบวนการทำงานที่เข้มงวดและมาตรฐานที่สูงกว่าข้อกำหนดทั่วไป เพื่อให้ทุกโครงการที่พัฒนาขึ้นมีความปลอดภัยสูงสุด

แสนสิริ ย้ำจุดยืน “ความปลอดภัย” คือหัวใจสำคัญ ไม่มีการประนีประนอม

นายอุทัย อุทัยแสงสุข กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท แสนสิริ จำกัด (มหาชน) กล่าวอย่างหนักแน่นว่า “ความปลอดภัยของลูกบ้านคือสิ่งที่เราไม่สามารถประนีประนอมได้” เขากล่าวเสริมว่า ทุกโครงการของแสนสิริต้องผ่านกระบวนการตรวจสอบที่เข้มงวดในทุกขั้นตอน ตั้งแต่การเริ่มต้นวางแนวคิดและออกแบบ ไปจนถึงกระบวนการก่อสร้าง และการส่งมอบโครงการให้กับลูกค้า มีขั้นตอนการทำงานที่เป็นระบบและชัดเจน นอกจากนี้ ยังมีการสุ่มตรวจสอบคุณภาพโดยองค์กรภายนอกที่เป็นกลาง และทำงานร่วมกับผู้เชี่ยวชาญระดับประเทศในสาขาต่างๆ เพื่อให้มั่นใจว่า “ทุกโครงการของแสนสิริ” ไม่เพียงแต่สวยงามและตอบโจทย์การใช้ชีวิต แต่ยังต้องมีความแข็งแรงและปลอดภัยตามมาตรฐานสูงสุด

แสนสิริไม่ได้เพิ่งให้ความสำคัญกับเรื่องนี้ แต่ได้วางรากฐานด้านมาตรฐานความปลอดภัยมาอย่างต่อเนื่อง ย้อนไปเมื่อปี 2560 แสนสิริได้ริเริ่มให้การสนับสนุนสถาบันการศึกษาชั้นนำของรัฐ ได้แก่ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ รวมถึงบริษัทผู้ร่วมออกแบบชั้นนำในภาคเอกชนอีก 8 แห่ง เพื่อร่วมกันจัดทำ “แนวทางปฏิบัติการออกแบบโครงสร้างในอาคารสูง” คู่มือฉบับนี้ได้กลายเป็นแนวทางสำคัญสำหรับวิศวกรที่แสนสิริว่าจ้าง ในการออกแบบโครงสร้างและการตรวจสอบการคำนวณงานออกแบบ ให้เป็นไปในทิศทางเดียวกันและเป็นที่ยอมรับร่วมกัน เนื้อหาหลักครอบคลุมการวิเคราะห์ผลกระทบจากแรงแผ่นดินไหว แรงลม และการออกแบบฐานรากสำหรับอาคารสูง ซึ่งสอดคล้องกับมาตรฐานที่บังคับใช้ในประเทศไทย และยังมีการอ้างอิงมาตรฐานสากลเพิ่มเติม ที่สำคัญคือ แนวทางปฏิบัตินี้มีการทบทวนและปรับปรุงให้ทันสมัย สอดคล้องกับสถานการณ์และองค์ความรู้ใหม่ๆ ที่เปลี่ยนแปลงไปอยู่เสมอ

ในส่วนของกระบวนการก่อสร้างจริง ณ สถานที่ก่อสร้างโครงการ ทีมควบคุมคุณภาพ (Quality Control) ของแสนสิริจะทำการตรวจสอบอย่างละเอียดในทุกๆ ขั้นตอน ควบคู่ไปกับการทำงานของภาคเอกชน ทั้งผู้ออกแบบ ผู้ควบคุมงาน และผู้รับเหมาก่อสร้าง ซึ่งล้วนแต่ต้องมีใบอนุญาตประกอบวิชาชีพวิศวกรรมควบคุมตามกฎหมาย มีการตรวจสอบข้อมูลข้ามสายงาน (Cross-check) ในแต่ละขั้นตอน เพื่อยืนยันว่าการออกแบบและการก่อสร้างดำเนินไปอย่างถูกต้อง แข็งแรง ปลอดภัย

และสอดคล้องตามข้อบังคับและกฎหมายที่เกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็นกฎกระทรวงปี 2550 ว่าด้วยการกำหนดการรับน้ำหนัก ความต้านทาน ความคงทนของอาคารและพื้นดินที่รองรับอาคารในการต้านทานแรงสั่นสะเทือนของแผ่นดินไหว, มาตรฐานการออกแบบอาคารต้านทานการสั่นสะเทือนของแผ่นดินไหว ฉบับปรับปรุงครั้งที่ 2 พ.ศ. 2561 ที่กำหนดโดยสภาวิศวกร และมาตรฐานของกรมโยธาธิการและผังเมือง (มยผ.) 1301/1302 ซึ่งเป็นมาตรฐานหลักในการออกแบบโครงสร้างอาคารสูงของประเทศไทย

ภายหลังเหตุการณ์แผ่นดินไหวครั้งล่าสุด ทีมวิศวกรของแสนสิริและพันธมิตรผู้เชี่ยวชาญได้เร่งดำเนินการตรวจสอบคุณภาพโครงสร้างของโครงการคอนโดมิเนียมที่พัฒนาขึ้นทั้งหมด เพื่อสร้างความมั่นใจและความสบายใจสูงสุดให้กับลูกบ้าน โดยข้อมูลล่าสุด ณ วันที่ 3 เมษายน 2568 ได้ดำเนินการตรวจสอบไปแล้ว 186 โครงการ

พันธมิตรผู้รับเหมา ตอกย้ำมาตรฐานการทำงานที่เหนือกว่า

ความมุ่งมั่นในมาตรฐานความปลอดภัยไม่ได้หยุดอยู่แค่ที่แสนสิริ แต่ยังส่งต่อไปยังพันธมิตรผู้รับเหมาก่อสร้างรายใหญ่ที่ทำงานร่วมกันอย่างใกล้ชิด

ดร.วีระศักดิ์ วานิชวัฒน์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ฑีฆาก่อสร้าง จำกัด (มหาชน) ซึ่งดำเนินธุรกิจรับเหมาก่อสร้างมายาวนานกว่า 41 ปี กล่าวว่า หัวใจสำคัญของการทำงานคือการคำนึงถึงความปลอดภัยและความแข็งแรงของโครงสร้างอาคาร บริษัทฯ มีระบบการตรวจสอบคุณภาพที่เข้มงวด ได้รับการรับรองมาตรฐานสากล ทั้ง ISO 45001 (ระบบการจัดการอาชีวอนามัยและความปลอดภัย) และ ISO 9001 (ระบบบริหารงานคุณภาพ) นอกจากนี้ ฑีฆาก่อสร้างยังเป็นผู้รับเหมารายแรกๆ ของไทยที่นำเทคโนโลยีการสร้างแบบจำลองสารสนเทศอาคาร (Building Information Modeling หรือ BIM) มาใช้ในการก่อสร้าง และพัฒนาการใช้แอปพลิเคชันต่างๆ เพื่อช่วยลดข้อผิดพลาดในการทำงานมาอย่างต่อเนื่อง

“มาตรฐานการก่อสร้างในหลักการ ต้องเริ่มต้นที่การออกแบบงานที่ถูกต้องตามหลักวิศวกรรม การเลือกใช้วัสดุที่มีคุณภาพ แข็งแรง และปลอดภัยตามหลักวิชาการ ระบบการทำงานต้องมีคุณภาพและให้ความสำคัญกับความปลอดภัยในทุกขั้นตอน โดยต้องมีการตรวจสอบการทำงานทั้งหมดอย่างละเอียด และที่สำคัญคือ ต้องสร้างจิตสำนึกด้านความปลอดภัยให้กับบุคลากรทุกคน ตั้งแต่วิศวกรไปจนถึงแรงงานก่อสร้าง ให้ตระหนักถึงอันตรายที่อาจเกิดขึ้นได้ตลอดเวลา” ดร.วีระศักดิ์ กล่าว

เขายังได้เสนอแนะถึงการพัฒนานวัตกรรมในวงการก่อสร้าง โดยมองว่าควรมีการนำวัสดุก่อสร้างสำเร็จรูปมาใช้มากขึ้น เช่น ผนังน้ำหนักเบาที่มีโครงสร้างโลหะ ซึ่งมีความแข็งแรง สามารถรับแรงและกันเสียงได้ดี ข้อดีคือหากเกิดการแตกร้าว เช่น จากเหตุแผ่นดินไหว จะสามารถซ่อมแซมได้ง่ายและรวดเร็วกว่าผนังปูนก่ออิฐฉาบปูนแบบดั้งเดิม พร้อมกันนี้ ยังเสนอให้ภาครัฐและเอกชนร่วมมือกันอย่างจริงจังในการพัฒนานวัตกรรมด้านความปลอดภัยในการก่อสร้าง

ด้าน นายจารุวัตร จีระมานะพงศ์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท จีระธนา ก่อสร้าง จำกัด อีกหนึ่งพันธมิตรผู้รับเหมาของแสนสิริ ให้ความเชื่อมั่นอย่างเต็มที่ต่อมาตรฐานการก่อสร้างของไทย โดยชี้ว่าอาคารทุกหลังที่ก่อสร้างหลังปี พ.ศ. 2550 เป็นต้นมา กฎหมายได้กำหนดให้ต้องมีมาตรฐานการก่อสร้างที่รองรับเหตุการณ์แผ่นดินไหวอยู่แล้ว จากเหตุการณ์แผ่นดินไหวครั้งล่าสุดที่เกิดขึ้น จะเห็นได้ว่าโครงสร้างหลักของอาคารส่วนใหญ่ในประเทศไทยไม่ได้รับความเสียหายรุนแรง อาจมีส่วนประกอบอาคารอื่นๆ ที่เสียหายบ้าง เช่น งานระบบ หรือผนังที่ไม่ใช่โครงสร้างหลัก ส่วนกรณีที่มีอาคารถล่มลงมานั้น ถือเป็นความผิดปกติอย่างยิ่งที่ต้องมีการสืบหาสาเหตุที่แท้จริงต่อไป ไม่ควรนำมาเป็นบรรทัดฐานว่าอาคารทั้งหมดไม่ปลอดภัย

“แนวทางการทำงานของเราคือการทำทุกอย่างให้เสร็จสมบูรณ์บนกระดาษก่อน วิเคราะห์ให้รอบด้านก่อนลงมือทำงานจริง เวลาเกิดข้อผิดพลาด มันจะผิดพลาดบนกระดาษซึ่งสามารถแก้ไขได้ง่าย ไม่รอไปเจอปัญหาหน้างานแล้วค่อยแก้ เพราะความเสียหายและต้นทุนจะสูงกว่ามาก” นายจารุวัตร อธิบายถึงหลักการทำงาน “เรามีการจัดลำดับความสำคัญของงานให้ถูกต้อง มีการอบรมพนักงานให้เข้าใจถึงข้อกำหนดด้านคุณภาพงานให้ตรงกันทุกๆ 6 เดือน และขณะนี้กำลังอยู่ระหว่างการพัฒนาซอฟต์แวร์ เพื่อนำปัญญาประดิษฐ์ (AI) มาช่วยในการตรวจสอบอุปกรณ์และเครื่องมือก่อสร้าง คนที่อยู่ในวงการนี้ต้องแข่งขันกันด้วยความรู้ทางวิชาการ เทคโนโลยี ความรวดเร็ว และคุณภาพ ซึ่งทั้งหมดนี้คือแนวทางสำคัญในการยกระดับมาตรฐานความปลอดภัยของการก่อสร้างไทย”

เขายังเสริมด้วยความมั่นใจว่า “บริษัทอสังหาริมทรัพย์ขนาดใหญ่ ไม่นำเอาเรื่องความปลอดภัยไปเสี่ยงกับชื่อเสียงที่สั่งสมมาอย่างแน่นอน เช่นเดียวกับผู้ควบคุมงาน ก็ไม่นำเอาใบประกอบวิชาชีพของตนเองไปเสี่ยง เพราะมันไม่คุ้มกัน กว่าที่แต่ละบริษัทจะได้รับใบอนุญาตต่างๆ มา ต้องผ่านกระบวนการตรวจสอบที่เข้มงวด ขณะที่วิศวกรไทยก็มีความสามารถเป็นที่ยอมรับในระดับโลก ผมเชื่อมั่นว่าภาพรวมการก่อสร้างของไทยมีมาตรฐานที่เพียงพอ”

นายวงรินทร์ ศรีมหาโชตะ กรรมการบริหาร บริษัท คอนสตรัคชั่นไลนส์ จำกัด ซึ่งดำเนินธุรกิจรับเหมาก่อสร้างมายาวนาน 35 ปี และเป็นพันธมิตรกับแสนสิริเช่นกัน กล่าวว่า หัวใจสำคัญของมาตรฐานการก่อสร้างของบริษัทคือการยึดมั่นในหลักการ “Plan-Do-Check-Action” (PDCA) หรือ วงจรการบริหารงานคุณภาพ และมีการบริหารจัดการภายใต้มาตรฐาน ISO 9001 บริษัทมีทีมวิศวกรระดับสามัญวิศวกรเป็นของตนเอง เพื่อทำหน้าที่ตรวจสอบการทำงานภายในบริษัทอีกชั้นหนึ่ง

“เราไม่ได้ก่อสร้างตามแบบที่ได้รับมาอย่างเดียว แต่เราจะตรวจสอบด้วยว่าแบบที่ส่งมาให้ก่อสร้างนั้นถูกต้องและเหมาะสมหรือไม่ หากพบข้อกังวลหรือจุดที่ไม่ถูกต้อง เราจะแจ้งกลับไปยังเจ้าของโครงการทันที” นายวงรินทร์ อธิบาย “ภายใต้หลักการทำงาน Plan-Do-Check-Action มันคือการปิดความเสี่ยงตั้งแต่ต้น เพราะเมื่อปัญหาเกิดขึ้นหน้างานแล้ว การกลับไปแก้ไขเป็นเรื่องยาก การมีวินัยในกระบวนการทำงานคือสิ่งสำคัญที่สุดของอุตสาหกรรมก่อสร้าง ต้องมีบุคคลที่สามเข้ามาช่วยตรวจสอบ และต้องเลือกผู้รับเหมาที่ได้มาตรฐาน”

นอกจากนี้ เขายังเสนอแนะถึงนวัตกรรมก่อสร้างที่ควรนำมาใช้ให้มากขึ้นเพื่อเพิ่มความปลอดภัย คือการลงทุนในระบบ Formwork System หรือนั่งร้านอลูมิเนียมที่มีระบบล็อกที่แข็งแรง สามารถยึดโครงสร้างนั่งร้านทั้งตึกเข้าด้วยกัน ช่วยป้องกันการถล่มของนั่งร้านได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งบริษัทคอนสตรัคชั่นไลนส์ได้นำนวัตกรรมนี้มาใช้ในการทำงานมากว่า 5 ปีแล้ว

สำหรับประเด็นที่อุตสาหกรรมก่อสร้างไทยควรพัฒนาเพิ่มเติมเพื่อยกระดับมาตรฐานความปลอดภัย นายวงรินทร์ย้ำว่า ทุกโครงการก่อสร้างควรมีบุคคลที่สาม (Third Party) ที่เป็นกลางเข้ามาตรวจสอบ และต้องดำเนินการทุกอย่างตามมาตรฐานที่กำหนดไว้อย่างเคร่งครัด รวมถึงต้องมีการทวนสอบการออกแบบ (Design Review) ว่ามีความแข็งแรงและปลอดภัยเพียงพอหรือไม่

บทเรียนจากต่างประเทศ และความสำคัญของการตรวจสอบวัสดุหน้างาน

นายกฤษฎา แท้ประสาทสิทธิ์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท อินฟรา กรุ๊ป จำกัด ผู้เชี่ยวชาญด้านงานวิศวกรรมโครงสร้างอาคารสูง โดยเฉพาะผลกระทบจากแรงลมและแผ่นดินไหว และมีประสบการณ์ในการตรวจสอบอาคารที่มีปัญหา กล่าวถึงบทเรียนจากเหตุการณ์แผ่นดินไหวครั้งนี้ ในแง่ของมาตรฐานและคุณภาพงานออกแบบก่อสร้าง เขาให้ความเห็นว่า กรณีอาคารสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ที่กำลังก่อสร้างและเกิดการถล่มลงมานั้น ผู้เชี่ยวชาญกำลังอยู่ระหว่างการตรวจสอบหาสาเหตุที่แท้จริง

อย่างไรก็ตาม สิ่งที่เกิดขึ้นถือเป็นความผิดปกติอย่างมาก เนื่องจากแม้แต่อาคารรุ่นเก่าในประเทศไทยที่ไม่ได้ถูกออกแบบมาเพื่อรองรับเหตุการณ์แผ่นดินไหวโดยตรง ก็ยังไม่มีอาคารใดพังถล่มลงมาในลักษณะนี้ ในความเห็นส่วนตัว เขาเชื่อว่าเหตุการณ์อาคารถล่มดังกล่าวอาจเกิดจากสภาวะที่ไม่ดีหลายอย่าง (Bad Conditions) มาประกอบกัน ไม่สามารถนำไปเหมารวมกับอาคารอื่นๆ ทั้งหมดได้ ถือเป็นกรณีศึกษาที่สำคัญ ซึ่งคณะกรรมการตรวจสอบควรเปิดเผยข้อเท็จจริงทั้งหมด เพื่อให้วิศวกร ผู้ประกอบการ ผู้ควบคุมงาน และผู้รับเหมา ได้เรียนรู้และเข้าใจถึงสาเหตุที่แท้จริง

เมื่อพิจารณาถึงกรณีศึกษาอาคารถล่มในต่างประเทศ นายกฤษฎา ชี้ว่า ส่วนใหญ่มักเกิดจากสาเหตุหลายอย่างรวมกัน ไม่ใช่เพียงปัจจัยเดียว บางครั้งอาจเป็นเรื่องเล็กน้อยที่คาดไม่ถึง เช่น จุดเชื่อมต่อเพียงจุดเดียวที่ทำไม่สมบูรณ์ การเปลี่ยนแปลงฟังก์ชันการใช้งานภายในอาคาร หรือการเปลี่ยนแปลงของระดับน้ำใต้ดิน เมื่อปัจจัยเหล่านี้มาประกอบกัน ก็อาจนำไปสู่การถล่มอย่างไม่คาดคิดได้ แต่หากมีการทำงานด้วยความระมัดระวัง ตรวจสอบอย่างถี่ถ้วนตั้งแต่ต้น ก็จะสามารถป้องกันเหตุการณ์เช่นนี้ได้

“การออกแบบที่ดี ต้องการผู้รับเหมาและผู้ควบคุมงานที่ดี รวมถึงเจ้าของโครงการที่เข้าใจและให้การสนับสนุน เพราะการยกระดับมาตรฐานความปลอดภัยอาจหมายถึงค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้น” นายกฤษฎา กล่าว “เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจะเป็นบทพิสูจน์ผลงานของผู้เกี่ยวข้องทุกฝ่าย ทั้งผู้ประกอบการ ผู้ออกแบบ และผู้รับเหมา เราทุกคนต้องเคารพในวิชาชีพของตน มีความรับผิดชอบ และตั้งใจทำงานให้ดีที่สุด ผลงานที่ดีจะสะท้อนออกมาในประสิทธิภาพและความปลอดภัยของอาคาร”

เขายังฝากย้ำถึงทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องกับการรักษาคุณภาพมาตรฐานงานออกแบบและก่อสร้างว่า สิ่งที่ต้องให้ความสำคัญอย่างยิ่งคือ คุณภาพของวัสดุก่อสร้าง โดยเฉพาะเหล็กและคอนกรีต ต้องมั่นใจว่าได้มาตรฐานตามที่กำหนด “ควรมีการสุ่มตรวจคุณภาพวัสดุ ณ สถานที่ก่อสร้างจริง (หน้างาน) ไม่ใช่สุ่มตรวจเฉพาะในห้องปฏิบัติการเท่านั้น เพราะเคยพบหลายกรณีที่วัสดุก่อสร้างที่นำมาใช้หน้างาน มีคุณภาพไม่ตรงกับที่ได้ทดสอบในห้องปฏิบัติการ”

วัสดุก่อสร้างคุณภาพสูง มาตรฐานอุตสาหกรรมคือสิ่งสำคัญ

สอดคล้องกับความเห็นของผู้เชี่ยวชาญด้านวิศวกรรม นางจรรยา สว่างจิตร ประธานกรรมการบริหาร บริษัท พี.โอเวอร์ซีส์ สตีล จำกัด (มหาชน) ผู้ประกอบธุรกิจจำหน่ายส่งวัสดุก่อสร้าง และเป็นอีกหนึ่งพันธมิตรสำคัญของแสนสิริ กล่าวถึงมาตรฐานการทำงานของบริษัทฯ ที่เน้นคุณภาพและความน่าเชื่อถือว่า บริษัทฯ ให้ความสำคัญกับการคัดเลือกสินค้าที่จะนำมาจัดจำหน่าย โดยเน้นเลือกผู้ผลิตจากโรงงานในประเทศไทยที่มีชื่อเสียงและดำเนินกิจการมายาวนาน ได้รับการรับรองมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (มอก.) เป็นหลัก

ในด้านกระบวนการตรวจสอบคุณภาพวัสดุ โดยเฉพาะเหล็กโครงสร้าง ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญของความแข็งแรงของอาคาร ทางโรงงานผู้ผลิตที่บริษัทฯ เลือกเป็นพันธมิตร จะมีการตรวจสอบคุณภาพของสินค้าอย่างเข้มงวดก่อนทำการส่งมอบไปยังหน้างานก่อสร้าง นอกจากนี้ ทางแสนสิริเองก็มีกระบวนการตรวจสอบซ้ำ โดยจะมีการสุ่มนำตัวอย่างเหล็กจากหน้างานไปทดสอบกับสถาบันกลางที่เป็นที่ยอมรับ เป็นรายไตรมาส ตามข้อกำหนดในขอบเขตของงาน (TOR) มาตรฐานเหล็กที่ใช้ในโครงการของแสนสิริจะเป็นเหล็กเกรด EF (Electric Arc Furnace) ซึ่งสามารถควบคุมคุณภาพการผลิตได้อย่างสม่ำเสมอและมีคุณสมบัติที่ดีกว่า

“สินค้าเหล็กเส้นที่ทางบริษัทฯ จัดจำหน่ายให้กับโครงการของแสนสิริ จะถูกผลิตด้วยกระบวนการ EF หรือ Electronic Arc Furnace ซึ่งเป็นกระบวนการหลอมเศษเหล็กด้วยวิธีการอาร์คโดยใช้ไฟฟ้า ทำให้ได้เหล็กเส้นที่มีความบริสุทธิ์และคุณภาพสม่ำเสมอกว่า รวมถึงเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากกว่า เมื่อเทียบกับวิธี IF (Induction Furnace) ซึ่งเป็นเตาหลอมระบบเก่า ที่อาจไม่สามารถควบคุมคุณภาพของเหล็กได้อย่างสม่ำเสมอ และยังก่อให้เกิดมลพิษต่อสิ่งแวดล้อมมากกว่า” นางจรรยา อธิบายถึงความแตกต่างของคุณภาพเหล็ก

นวัตกรรมลิฟต์ตรวจจับแผ่นดินไหว เพิ่มความปลอดภัยอีกระดับ

นอกเหนือจากโครงสร้างอาคารและวัสดุแล้ว ระบบสำคัญภายในอาคารอย่างลิฟต์โดยสาร ก็เป็นอีกส่วนที่ต้องให้ความสำคัญด้านความปลอดภัย โดยเฉพาะในสถานการณ์ฉุกเฉินอย่างแผ่นดินไหว

นางสาวเพ็ญไพสิฐ จันทร์พรม กรรมการผู้จัดการ บริษัท โคเน่ จำกัด (มหาชน) ผู้จำหน่าย ติดตั้ง และให้บริการลิฟต์ บันไดเลื่อน และทางเลื่อนอัตโนมัติชั้นนำ กล่าวว่า จากเหตุการณ์แผ่นดินไหวที่เกิดขึ้น หัวใจสำคัญในการทำงานของโคเน่ ซึ่งมีมาตรฐานที่เหนือกว่าข้อกำหนดทั่วไป คือ “ความรวดเร็วและความปลอดภัย” ในการบริหารจัดการสถานการณ์วิกฤต บริษัทฯ ได้กำหนดแผนงานเร่งด่วนที่เรียกว่า 3Rs ประกอบด้วย Recover (ฟื้นฟู), Repair (ซ่อมแซม), และ Rebuild (ปรับปรุงหรือสร้างใหม่) โดยได้ส่งทีมช่างเทคนิคและวิศวกรผู้เชี่ยวชาญลงพื้นที่ตรวจสอบและแก้ไขทันที เพื่อให้ลิฟต์สามารถกลับมาใช้งานได้อย่างรวดเร็วที่สุด โดยยังคงยึดมั่นในมาตรฐานความปลอดภัยสูงสุดเป็นสำคัญ

“บริษัทฯ ให้ความสำคัญกับทุกๆ โครงการ รวมถึงโครงการของแสนสิริ โดยได้นำแผนงาน 3Rs มาปรับใช้ในการปฏิบัติงานอย่างจริงจัง” นางสาวเพ็ญไพสิฐ กล่าว “Recover คือ การฟื้นฟูลิฟต์อย่างน้อยหนึ่งตัวในอาคารให้สามารถกลับมาใช้งานได้ภายใน 48 ชั่วโมงแรกหลังเกิดเหตุ Repair คือ การดำเนินการตรวจสอบเชิงลึก เปลี่ยนอุปกรณ์ที่อาจเสียหาย และซ่อมแซมอย่างละเอียด เพื่อให้มั่นใจว่าลิฟต์โดยสารทุกตัวมีความปลอดภัยสำหรับการใช้งานในระยะยาว และ Rebuild คือ การพิจารณาอัปเกรดและปรับปรุงลิฟต์โดยสาร เพื่อลดความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต และเพิ่มระดับความปลอดภัย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การรองรับฟังก์ชันการตรวจจับความปลอดภัยจากเหตุแผ่นดินไหว และการบำรุงรักษาเชิงป้องกันอย่างสม่ำเสมอ”

เมื่อถามถึงนวัตกรรมด้านการก่อสร้างที่อยากเห็นในอนาคต นางสาวเพ็ญไพสิฐ ระบุว่า จากเหตุการณ์แผ่นดินไหวที่เกิดขึ้นในประเทศไทย ทำให้ผู้ออกแบบอาคารและเจ้าของโครงการจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องหันมาให้ความสำคัญกับการป้องกันภัยที่อาจเกิดจากสถานการณ์แผ่นดินไหวมากขึ้น ซึ่งโคเน่มีเทคโนโลยีที่เรียกว่า “เทคโนโลยีตรวจจับแผ่นดินไหวในลิฟต์โดยสาร” (Seismic Sensor Technology) ที่สามารถนำมาติดตั้งเพิ่มเติมได้ เทคโนโลยีนี้จะช่วยยกระดับความปลอดภัยและลดความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นต่อผู้โดยสารในกรณีเกิดเหตุฉุกเฉินได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น

โดยเซ็นเซอร์ดังกล่าวจะทำหน้าที่ตรวจจับแรงสั่นสะเทือนที่เกิดจากแผ่นดินไหว เมื่อตรวจพบ ระบบจะสั่งการให้ลิฟต์หยุดการทำงานโดยอัตโนมัติ และเคลื่อนที่ไปยังชั้นที่ใกล้ที่สุดเพื่อเปิดประตูให้ผู้โดยสารสามารถออกจากลิฟต์ได้อย่างปลอดภัย นวัตกรรมนี้ไม่เพียงแต่สามารถติดตั้งในอาคารที่ก่อสร้างใหม่เท่านั้น แต่ยังสามารถนำไปปรับปรุงลิฟต์โดยสารในโครงการที่มีอยู่เดิมให้รองรับฟังก์ชันความปลอดภัยนี้ได้เช่นกัน

บทสรุป: ความร่วมมือตลอดห่วงโซ่อุปทาน สร้างความแข็งแกร่งและความเชื่อมั่น

การออกมายืนยันและให้ข้อมูลอย่างละเอียดจากทั้งแสนสิริและพันธมิตรชั้นนำตลอดห่วงโซ่อุปทาน ตั้งแต่ผู้ออกแบบ ผู้รับเหมา ผู้เชี่ยวชาญด้านวิศวกรรม ผู้จำหน่ายวัสดุคุณภาพสูง ไปจนถึงผู้ติดตั้งระบบลิฟต์โดยสารพร้อมนวัตกรรมความปลอดภัย ถือเป็นการการันตีถึงมาตรฐานการก่อสร้างโครงการอสังหาริมทรัพย์ในประเทศไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งโครงการที่พัฒนาโดยแสนสิริ ไม่ว่าจะเป็นโครงการที่สร้างแล้วเสร็จ โครงการที่อยู่ระหว่างการก่อสร้าง หรือโครงการที่จะเกิดขึ้นในอนาคต ล้วนตั้งอยู่บนพื้นฐานของความปลอดภัยสูงสุด ความร่วมมือที่แข็งแกร่งและการยึดมั่นในมาตรฐานที่เข้มงวดนี้ ไม่เพียงแต่สร้างความมั่นใจให้กับลูกบ้านและผู้บริโภค แต่ยังสะท้อนถึงความแข็งแกร่งและความรับผิดชอบของภาคอุตสาหกรรมก่อสร้างและอสังหาริมทรัพย์ของไทยโดยรวม

#ก่อสร้างไทย #มาตรฐานความปลอดภัย #แผ่นดินไหว #อาคารสูง #อสังหาริมทรัพย์ #แสนสิริ #Sansiri #วิศวกรรมโครงสร้าง #นวัตกรรมก่อสร้าง #ความเชื่อมั่นผู้บริโภค #ISO9001 #ISO45001 #BIM #EFSteel #ลิฟต์ปลอดภัย #KONE #ฑีฆาก่อสร้าง #จีระธนาก่อสร้าง #คอนสตรัคชั่นไลนส์ #อินฟากรุ๊ป #พีโอเวอร์ซีส์สตีล

Related Posts