สถาบันข้อมูลขนาดใหญ่ (BDI) ครบรอบ 2 ปี ประกาศเดินหน้า 3 ยุทธศาสตร์หลัก “แพลตฟอร์ม D-II – ThaiLLM – พัฒนากำลังคน” มุ่งพลิกโฉมประเทศไทยสู่ระบบใหม่ภาครัฐด้วย Big Data และ AI หนุน “สร้างนโยบาย สร้างบริการ สร้างความเปลี่ยนแปลง” อย่างยั่งยืน รองนายกรัฐมนตรีฯ เผยรัฐบาลเร่งเครื่องนโยบายดิจิทัลเชิงรุก ตั้งเป้า AI เป็นโครงสร้างพื้นฐานใหม่ของประเทศ
กรุงเทพฯ, ประเทศไทย – สถาบันข้อมูลขนาดใหญ่ (องค์การมหาชน) หรือ BDI ได้จัดงาน “BDI Day 2025: Next Move for Big Data and AI” เนื่องในโอกาสครบรอบ 2 ปีแห่งการดำเนินงาน โดยมี นายประเสริฐ จันทรรวงทอง รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (MDES) เป็นประธาน พร้อมด้วยผู้บริหารระดับสูงจากหน่วยงานภาครัฐและเอกชนเข้าร่วมงานอย่างคับคั่ง เพื่อร่วมกันแถลงวิสัยทัศน์และทิศทางใหม่ของการขับเคลื่อนประเทศด้วยข้อมูลขนาดใหญ่ (Big Data) และปัญญาประดิษฐ์ (AI)
ภายในงาน BDI ได้ประกาศความมุ่งมั่นในการเป็นกลไกสำคัญเพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคมไทย ผ่าน 3 แกนยุทธศาสตร์หลัก ได้แก่ 1. แพลตฟอร์มการเชื่อมโยงและวิเคราะห์ข้อมูลขนาดใหญ่ (ดีทู – D-II: Data Integration and Intelligence Platform) เพื่อบูรณาการข้อมูลจากทุกภาคส่วน, 2. ThaiLLM โครงสร้างพื้นฐาน AI ภาษาไทยแบบโอเพนซอร์ส เพื่อลดการพึ่งพาเทคโนโลยีต่างชาติและส่งเสริมการสร้างนวัตกรรมไทย และ 3. การพัฒนากำลังคนด้านข้อมูลและปัญญาประดิษฐ์ เพื่อสร้างบุคลากรที่มีทักษะสูงรองรับการเติบโตของอุตสาหกรรมดิจิทัล โดยมีเป้าหมายเพื่อพลิกโฉมหน่วยงานภาครัฐสู่ระบบที่ใช้ข้อมูลอย่างมีประสิทธิภาพ โปร่งใส และสร้างผลลัพธ์ที่เป็นรูปธรรม นำไปสู่การยกระดับประเทศไทยในทุกมิติอย่างยั่งยืน
รัฐบาลเร่งเครื่องนโยบายดิจิทัล AI คือโครงสร้างพื้นฐานใหม่
นายประเสริฐ จันทรรวงทอง รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม กล่าวถึงความสำคัญของช่วงเวลาปัจจุบันว่า “ประเทศไทยกำลังเข้าสู่จังหวะสำคัญของการเปลี่ยนผ่านสู่ยุคดิจิทัล ที่ข้อมูลและปัญญาประดิษฐ์ (AI) ไม่ใช่เพียงเครื่องมือสนับสนุน แต่กลายเป็นโครงสร้างพื้นฐานใหม่ของประเทศ รัฐบาลจึงได้เร่งขับเคลื่อนนโยบายดิจิทัลเชิงรุก เพื่อให้เทคโนโลยีทำงานร่วมกับนโยบายอย่างบูรณาการ และสร้างผลกระทบเชิงบวกต่อเศรษฐกิจและสังคมในวงกว้าง”
หนึ่งในก้าวสำคัญที่รัฐบาลได้ดำเนินการคือการจัดตั้ง ‘คณะกรรมการ AI แห่งชาติ’ เพื่อกำหนดทิศทางการพัฒนา AI ของประเทศให้มีประสิทธิภาพ โปร่งใส และเกิดประโยชน์สูงสุด ควบคู่ไปกับการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานที่จำเป็น เช่น Cloud Computing, Data Center, GPU Computing และแพลตฟอร์มโอเพนซอร์ส เพื่อรองรับการเติบโตของนวัตกรรมดิจิทัลในระยะยาว
นอกจากนี้ รัฐบาลยังมีภารกิจสำคัญในการจัดตั้ง ‘National Data Bank’ ซึ่งมุ่งหวังให้เป็นกลไกกลางในการรวบรวม จัดการ และเปิดใช้ข้อมูลขนาดใหญ่ของประเทศอย่างปลอดภัยและโปร่งใส โดยมี BDI, กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ร่วมกับ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ทำหน้าที่หลักในการออกแบบระบบและผลักดันการดำเนินงาน เพื่อให้ข้อมูลกลายเป็นรากฐานอันแข็งแกร่งของการวางแผนเชิงนโยบาย การสร้างบริการสาธารณะที่มีคุณภาพ และการพัฒนานวัตกรรมที่ตอบโจทย์ความต้องการของประเทศอย่างแท้จริง
กระทรวงดิจิทัลฯ วางรากฐานระบบ ขับเคลื่อนด้วยธรรมาภิบาล AI
ศ. (พิเศษ) วิศิษฎ์ วิศิษฎ์สรอรรถ ปลัดกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม กล่าวเสริมว่า “กระทรวงฯ มุ่งวางรากฐานเชิงระบบเพื่อให้ข้อมูลและ AI กลายเป็นกลไกหลักของการบริหารภาครัฐ และเป็นกลไกขับเคลื่อนเศรษฐกิจดิจิทัลของประเทศอย่างเต็มศักยภาพ ผ่านการผลักดันแผนยุทธศาสตร์การใช้ประโยชน์จากข้อมูลขนาดใหญ่ ซึ่งจะกำหนดแนวทางการดำเนินงานที่ชัดเจนและเป็นรูปธรรม นอกจากนี้ เรายังให้ความสำคัญกับการส่งเสริมธรรมาภิบาล AI (AI Governance) ผ่านกรอบจริยธรรมที่ชัดเจน เพื่อให้การใช้งานเทคโนโลยีใหม่ของไทยเป็นไปอย่างรับผิดชอบ สร้างความเชื่อมั่น และเกิดประโยชน์กับสังคมโดยรวมอย่างแท้จริง”
BDI 2 ปี: จากต่างคนต่างทำ สู่การทำงานร่วมกันอย่างเป็นระบบ
นายกุลิศ สมบัติศิริ ประธานกรรมการสถาบันข้อมูลขนาดใหญ่ ได้สะท้อนภาพความสำเร็จตลอด 2 ปีที่ผ่านมาของ BDI ว่า “BDI ได้วางรากฐานให้ระบบข้อมูลของประเทศขยับจาก ‘ต่างคนต่างทำ’ ซึ่งเป็นปัญหาใหญ่ในอดีต สู่ ‘การทำงานร่วมกัน’ อย่างเป็นระบบและมีทิศทาง ผลงานเชิงประจักษ์ที่เกิดขึ้น อาทิ Health Link ที่เชื่อมโยงข้อมูลสุขภาพทั่วประเทศ ทำให้การดูแลสุขภาพประชาชนมีประสิทธิภาพมากขึ้น, Travel Link ที่ใช้วิเคราะห์ข้อมูลการเดินทางในเชิงพื้นที่เพื่อสนับสนุนการท่องเที่ยวและวางแผนโครงสร้างพื้นฐาน
และ City Data Platform (CDP) ที่ทำให้ข้อมูลเมืองถูกนำมาใช้ในการตัดสินใจพัฒนาเมืองได้อย่างตรงจุด ล้วนสะท้อนถึงจุดเปลี่ยนเชิงโครงสร้างของระบบข้อมูลไทยที่เริ่มต้นแล้วจริง ๆ เราภูมิใจที่ได้เห็นภาครัฐหลายหน่วยงานเริ่มนำข้อมูลเชิงลึกมาเป็นพื้นฐานของการกำหนดนโยบาย ซึ่งสะท้อนเป้าหมายสูงสุดของ BDI ในการสร้างวัฒนธรรมการใช้ข้อมูลเพื่อพัฒนาประเทศ”
3 แกนหลัก BDI: พลิกโฉมประเทศไทยด้วยข้อมูลและ AI
รศ. ดร.ธีรณี อจลากุล ผู้อำนวยการสถาบันข้อมูลขนาดใหญ่ กล่าวถึงบทบาทและทิศทางการดำเนินงานของ BDI ว่า “BDI มีบทบาทในฐานะองค์กรขับเคลื่อนข้อมูลของประเทศ ด้วยเป้าหมายที่ชัดเจนและเป็นรูปธรรม คือ การทำให้ข้อมูลจากทุกภาคส่วน ไม่เพียงแค่ถูกจัดเก็บอย่างมีระบบ แต่สามารถนำไปใช้งานได้จริง เป็นเครื่องมือในการกำหนดนโยบาย ยกระดับบริการสาธารณะ และพัฒนานวัตกรรมที่ตอบสนองต่อความต้องการของประชาชนได้อย่างแท้จริง ซึ่งขับเคลื่อนผ่าน 3 แกนหลัก”
1. แพลตฟอร์มการเชื่อมโยงและวิเคราะห์ข้อมูลขนาดใหญ่ (ดีทู – D-II) หัวใจสำคัญของภารกิจนี้ คือ การพัฒนาโครงการ D-II ซึ่ง รศ. ดร.ธีรณี เน้นย้ำว่า “D-II ไม่ได้เป็นการสร้างระบบข้อมูลขึ้นมาใหม่ แต่ทำหน้าที่บูรณาการและเชื่อมโยงข้อมูลที่มีอยู่แล้วจากหลายภาคส่วน ทั้งภาครัฐและเอกชน” แพลตฟอร์มนี้จะให้บริการวิเคราะห์ข้อมูลโดยทีมนักวิทยาศาสตร์ข้อมูลของ BDI เพื่อสนับสนุนการวางแผนเชิงนโยบายที่มีประสิทธิภาพ และขับเคลื่อนประเทศไทยสู่การเป็น Data-Driven Nation อย่างแท้จริง โดยมีเป้าหมายสูงสุดคือการใช้ประโยชน์จากข้อมูลเพื่อการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมที่ยั่งยืน ผ่านบริการสำคัญ ได้แก่
* ถนนทางเทคโนโลยีของข้อมูล (Data Linkage Engine): สร้างโครงสร้างพื้นฐานรองรับการเชื่อมโยงและใช้งานร่วมกับ D-II Data Catalog (ระบบบัญชีข้อมูล) และ D-II Analytics Services ทั้งที่มีอยู่แล้วและที่จะเกิดขึ้นในอนาคต เพื่อให้เครือข่ายพร้อมรับการเชื่อมต่อข้อมูลจากทุกหน่วยงาน
* Dashboard and Analytics Tools: เครื่องมือที่ช่วยให้หน่วยงานต่าง ๆ สามารถวิเคราะห์ข้อมูลเชิงลึกและตัดสินใจบนพื้นฐานของข้อมูลจริงที่ถูกเชื่อมโยงเข้าสู่ระบบฯ
* Central Hashing: กระบวนการแทนค่าข้อมูลสำคัญด้วยเทคนิคการเข้ารหัสที่ไม่สามารถถอดรหัสกลับไปยังข้อมูลต้นฉบับได้หากไม่ได้รับอนุญาต เพื่อการปกป้องข้อมูลส่วนบุคคลตามกฎหมายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล (PDPA) สร้างความมั่นใจในการแลกเปลี่ยนและใช้ประโยชน์ข้อมูล
2. ThaiLLM: โครงสร้างพื้นฐาน AI ภาษาไทยเพื่อคนไทย BDIเดินหน้าร่วมพัฒนา ThaiLLM หรือ Thai Large Language Model ซึ่งเป็นโครงสร้างพื้นฐานปัญญาประดิษฐ์สำหรับภาษาไทย แบบ Open Source และ Open License ได้รับงบประมาณสนับสนุนจากกองทุนพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม โดยBDI ร่วมมือกับพันธมิตรชั้นนำของประเทศ ได้แก่ ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (NECTEC), สถาบันวิทยสิริเมธี (VISTEC), สมาคมผู้ประกอบการปัญญาประดิษฐ์ประเทศไทย (AIEAT), และสมาคมปัญญาประดิษฐ์ประเทศไทย (AIAT) “ThaiLLM ถือเป็นจุดเริ่มต้นสำคัญของความร่วมมือกับหน่วยงานผู้นำด้าน AI ของประเทศไทย ที่รวมพลังกันพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน AI ภาษาไทย ที่เข้าใจบริบทของภาษาและวัฒนธรรมไทยอย่างลึกซึ้ง เพื่อให้ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และนักเทคโนโลยี สามารถนำไปใช้งานและต่อยอดได้อย่างกว้างขวาง” รศ. ดร.ธีรณี กล่าว
ปัจจุบันโครงการ ThaiLLM ดำเนินการมาแล้ว 3 เดือน สามารถรวบรวมข้อมูลภาษาไทยจากกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม, สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา และเอกสารที่หอสมุดแห่งชาติเป็นผู้ถือสิทธิ์ได้แล้วเสร็จ รวมถึงมีการพัฒนาและใช้งาน ThaiLLM Data Bank ซึ่งมีปริมาณข้อมูลภาษาไทยมากกว่า 245 GB และดำเนินการแปลงให้อยู่ในรูปแบบของโทเคน (Tokenization) ได้ประมาณ 55 ล้านล้านโทเคน หรือคิดเป็น 55% ของปริมาณเป้าหมาย เพื่อทำการพัฒนาโมเดลภาษาขนาดเล็กและขนาดกลางเบื้องต้น
3. การพัฒนากำลังคนด้านข้อมูลและ AI ควบคู่ไปกับการพัฒนาเทคโนโลยี BDIยังเร่งพัฒนาศักยภาพกำลังคน ผ่านการออกแบบร่างหลักสูตรการเรียนรู้ด้าน AI และ LLM เพื่อเตรียมความพร้อมบุคลากรไทยให้สามารถเข้าใจ ออกแบบ และประยุกต์ใช้เทคโนโลยีเชิงลึกเหล่านี้ได้ โดยเน้นการเรียนการสอนที่สามารถนำไปปฏิบัติได้จริงในชีวิตประจำวัน และการประเมินทักษะแบบ Micro-Credentials เพื่อปูรากฐานให้บุคลากรเข้าใจถึงประโยชน์ของการนำข้อมูลมาวิเคราะห์ และสามารถนำความรู้ไปประยุกต์ใช้ให้สอดคล้องกับความเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วของโลกเทคโนโลยี
สร้างระบบนิเวศ AI ไทย ลดพึ่งพาต่างชาติ
รศ. ดร.ธีรณี กล่าวเพิ่มเติมว่า “โครงการ ThaiLLM ยังทำหน้าที่เป็นกลไกสำคัญในการส่งเสริมความร่วมมือด้านปัญญาประดิษฐ์ของประเทศไทย (Thai AI Collaboration) และสร้างระบบนิเวศ AI ของประเทศ (AI Ecosystem) ให้เข้มแข็งตามแนวทางการดำเนินงานที่กำหนดไว้ในที่ประชุมคณะกรรมการ AI แห่งชาติ ทั้งยังช่วยลดการพึ่งพาเทคโนโลยีจากต่างประเทศ และผลักดันให้ประเทศไทยก้าวขึ้นเป็นหนึ่งในผู้เล่นสำคัญในระดับภูมิภาคด้าน AI” BDIมุ่งหวังให้ ThaiLLM ไม่เพียงเป็นโครงสร้างพื้นฐานเท่านั้น แต่ยังเป็นเวทีที่จุดประกายความร่วมมือรูปแบบใหม่ในระดับประเทศ ที่หน่วยงานและนวัตกรไทยจากทุกภาคส่วนเข้ามีส่วนร่วมในการสร้างโครงสร้างพื้นฐานทางเทคโนโลยีของประเทศร่วมกัน และโครงการอื่น ๆ ในอนาคตก็สามารถต่อยอดความร่วมมือนี้ได้เช่นเดียวกัน
นอกจากนี้ BDIยังให้ความสำคัญกับการออกแบบกลไกการแลกเปลี่ยนข้อมูลอย่างมีธรรมาภิบาล (Data Governance) ซึ่งจะเป็นเครื่องมือหลักในการลดอุปสรรคด้านการแบ่งปันข้อมูลระหว่างหน่วยงานภาครัฐ และระหว่างรัฐกับเอกชน โดยมีกลไกกลางที่ชัดเจน มีมาตรฐานการรักษาความปลอดภัย และมีเอกสารแม่แบบรองรับการแลกเปลี่ยนข้อมูลอย่างโปร่งใสและเป็นธรรม
“ทั้ง D-II, ThaiLLM และการพัฒนากำลังคน คือ 3 แกนหลักที่ BDI ขับเคลื่อนควบคู่กันไป เพื่อให้ประเทศไทยสามารถใช้ประโยชน์จากข้อมูลอย่างเต็มศักยภาพ สร้างความเปลี่ยนแปลงเชิงระบบ และยกระดับประเทศด้วยเทคโนโลยีที่ออกแบบมาเพื่อคนไทยอย่างแท้จริง เป็นการสร้างอนาคตที่ยั่งยืนด้วยพลังของข้อมูลและปัญญาประดิษฐ์” รศ. ดร.ธีรณี อจลากุล กล่าวทิ้งท้าย
การเดินหน้าของBDI ในการครบรอบ 2 ปีนี้ จึงนับเป็นหมุดหมายสำคัญของการปฏิรูปการทำงานภาครัฐและขับเคลื่อนเศรษฐกิจดิจิทัลของประเทศไทย โดยมี Big Data และ AI เป็นเครื่องมือหลักในการสร้างนโยบายที่เฉียบคม บริการสาธารณะที่ตอบโจทย์ และความเปลี่ยนแปลงที่ยั่งยืน เพื่อประโยชน์สูงสุดของประชาชนและประเทศชาติโดยรวม
#BDI #BigData #AI #เศรษฐกิจดิจิทัล #ThaiLLM #DataDrivenThailand #ดิจิทัลไทยแลนด์ #นโยบายAI #กระทรวงดีอีเอส #พัฒนาคนAI #DIIPlatform #DataGovernance #BDI2years