เอสซีจี สร้างความเชื่อมั่นให้นานาชาติบนเวที INTERCEM Asia 2025 ประกาศวิสัยทัศน์ “Inclusive Green Growth” เดินหน้าเต็มกำลังสู่อุตสาหกรรมปูนซีเมนต์คาร์บอนต่ำ ตั้งเป้า Net Zero Emission ภายในปี 2050 ชูนวัตกรรม “ดินเผา (Calcined Clay)” หรือ LC3 ลดการใช้ปูนเม็ดกว่า 40-50% เป็นธงนำ พร้อมเผยกลยุทธ์การเปลี่ยนผ่านพลังงาน โซลูชันฐานธรรมชาติ และเทคโนโลยีการก่อสร้างแห่งอนาคตอย่าง 3D Printing และ UHPC ตอกย้ำบทบาทผู้นำการเปลี่ยนแปลงเพื่อความยั่งยืน
กรุงเทพฯ, ประเทศไทย – เวทีอุตสาหกรรมซีเมนต์ระดับภูมิภาคเอเชีย INTERCEM Asia 2025 ได้รับเกียรติจากคุณมนสิช สาริกะภูติ ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายนวัตกรรมและเทคโนโลยี ธุรกิจเอสซีจี ซีเมนต์แอนด์กรีนโซลูชัน (SCG Cement and Green Solutions) ขึ้นกล่าวสุนทรพจน์ เผยทิศทางและยุทธศาสตร์สำคัญของเอสซีจีในการปฏิวัติอุตสาหกรรมปูนซีเมนต์ไทยและภูมิภาคสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน ท่ามกลางความท้าทายด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโลก
การประกาศครั้งนี้ถือเป็นการตอกย้ำความมุ่งมั่นของเอสซีจีในฐานะผู้นำอุตสาหกรรมวัสดุก่อสร้าง ที่พร้อมขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงอย่างยั่งยืนด้วยแนวคิด “Inclusive Green Growth” หรือการเติบโตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและครอบคลุมทุกภาคส่วน โดยมีเป้าหมายสูงสุดคือการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero Emission) ภายในปี 2050
คุณมนสิช สาริกะภูติ ได้เริ่มต้นการบรรยายด้วยการย้อนภาพความสำเร็จและบทบาทของเอสซีจีที่มีมายาวนานกว่า 112 ปี ในการเป็นส่วนหนึ่งของการพัฒนาประเทศ และในวันนี้ เอสซีจีพร้อมที่จะก้าวไปอีกขั้นในการเป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลงสู่อนาคตที่ยั่งยืน “เป้าประสงค์หลักของเราคือการสร้างความมั่นคงในระยะยาวผ่านนวัตกรรมสีเขียว โดยมุ่งเน้นการลดการปล่อยคาร์บอนในทุกกลุ่มธุรกิจ โดยเฉพาะธุรกิจซีเมนต์” คุณมนสิชกล่าว “ซึ่งสิ่งนี้จำเป็นต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วนในห่วงโซ่อุปทาน เพื่อให้เกิดการเติบโตอย่างทั่วถึงและยั่งยืนอย่างแท้จริง”
ความท้าทายหลักของอุตสาหกรรมซีเมนต์คือการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) ซึ่งเป็นสาเหตุสำคัญของภาวะโลกร้อน คุณมนสิชได้อธิบายถึงแหล่งที่มาของการปล่อย CO2 ในกระบวนการผลิตปูนซีเมนต์ว่า ส่วนใหญ่ประมาณ 60% เกิดจากการเผาหินปูน (Limestone Calcination) เพื่อผลิตปูนเม็ด (Clinker) ซึ่งเป็นวัตถุดิบหลัก, ประมาณ 30% มาจากการเผาไหม้เชื้อเพลิงฟอสซิล และอีก 10% มาจากการใช้พลังงานไฟฟ้า เอสซีจีจึงได้กำหนดเป้าหมายที่ชัดเจนในการลดการปล่อย CO2 ลง 30-40% ภายในปี 2030 เมื่อเทียบกับปีฐาน 2020 (ซึ่งมีการปล่อย CO2 ประมาณ 24 ล้านตัน) ก่อนจะมุ่งสู่ Net Zero ภายในปี 2050
เปลี่ยนโลกสู่ “ปูนซีเมนต์คาร์บอนต่ำ”
หัวใจสำคัญของยุทธศาสตร์การลดคาร์บอนคือการพัฒนานวัตกรรม “ปูนซีเมนต์คาร์บอนต่ำ” อย่างต่อเนื่อง คุณมนสิชได้เปิดเผยถึงความสำเร็จในการพัฒนาปูนซีเมนต์รุ่นใหม่ “Generation III” ที่ใช้นวัตกรรม “ดินเผา (Calcined Clay)” หรือที่รู้จักในชื่อ LC3 (Limestone Calcined Clay Cement) “ด้วยเทคโนโลยี LC3 นี้ เราสามารถลดสัดส่วนการใช้ปูนเม็ดลงได้มากถึง 40-50% โดยยังคงรักษาคุณสมบัติด้านความแข็งแรงของปูนซีเมนต์ไว้ได้อย่างครบถ้วนตามมาตรฐาน” คุณมนสิชเน้นย้ำ
“ปัจจุบันเอสซีจีมีโรงงานต้นแบบที่สามารถผลิตปูนซีเมนต์ดินเผาได้ราว 70,000 ตันต่อปี และเรามีแผนที่จะขยายกำลังการผลิตและเปิดตัวผลิตภัณฑ์นี้อย่างเต็มรูปแบบในตลาดในอนาคตอันใกล้นี้ ซึ่งจะเป็นก้าวสำคัญในการลดการปล่อย CO2 ของอุตสาหกรรม” ไม่เพียงเท่านั้น เอสซีจียังคงมองไปข้างหน้า โดยร่วมมือกับพันธมิตรระดับโลกอย่าง System Company ซึ่งเป็นบริษัทสตาร์ทอัพจาก MIT เพื่อวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีปูนซีเมนต์รุ่นต่อไป (Generation IV) ที่คาดว่าจะสามารถลดการใช้ปูนเม็ดได้ในสัดส่วนที่สูงขึ้นอีก
นอกเหนือจากการปฏิวัติผลิตภัณฑ์ การปรับปรุง “กระบวนการผลิตสีเขียวและการเปลี่ยนผ่านพลังงาน (Green Process & Energy Transition)” ถือเป็นอีกหนึ่งแกนหลักของยุทธศาสตร์ คุณมนสิชเปิดเผยถึงเป้าหมายอันท้าทายของเอสซีจีที่จะเลิกใช้ถ่านหินในการผลิตปูนซีเมนต์ให้ได้ 100% ภายในปี 2040 โดยจะเปลี่ยนไปใช้ “เชื้อเพลิงทางเลือก (Alternative Fuels – AF)” เช่น ชีวมวลจากวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตร และเชื้อเพลิงขยะ (Refuse Derived Fuel – RDF) ที่ผ่านการคัดแยกและแปรรูปอย่างมีประสิทธิภาพ “
ณ ปัจจุบัน เราสามารถทดแทนการใช้ถ่านหินด้วยเชื้อเพลิงทางเลือกได้เฉลี่ยสูงถึง 50% และในบางช่วงเวลาสามารถทำได้ถึง 65% นับเป็นความก้าวหน้าที่สำคัญในการลดการพึ่งพาเชื้อเพลิงฟอสซิล” คุณมนสิชกล่าว พร้อมกันนี้ เอสซีจียังมุ่งมั่นเพิ่มสัดส่วนการใช้ “พลังงานหมุนเวียน (Renewable Energy)” ทั้งจากระบบนำความร้อนทิ้งในกระบวนการผลิตกลับมาใช้ใหม่ (Waste Heat Recovery) และการติดตั้งระบบผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ (Solar Power) โดยตั้งเป้าหมายการใช้พลังงานหมุนเวียน 100% ภายในปี 2040 เช่นกัน
สำหรับปริมาณ CO2 ที่ยังคงหลีกเลี่ยงไม่ได้จากการลดที่ต้นทาง คุณมนสิชยอมรับว่าเป็นความท้าทายที่ต้องใช้เทคโนโลยีขั้นสูงเข้ามาช่วย “สำหรับ CO2 ที่เหลืออยู่อีกประมาณ 50% เราจำเป็นต้องบริหารจัดการด้วย 3 แนวทางหลัก ได้แก่ การดักจับ การใช้ประโยชน์ และการกักเก็บคาร์บอน (CCUS), โซลูชันฐานธรรมชาติ (Nature Base Solution – NCS), และการจัดหาคาร์บอนเครดิต”
แม้ว่าเทคโนโลยี CCUS จะยังอยู่ในช่วงพัฒนาและมีต้นทุนที่สูง แต่เอสซีจีก็ให้ความสำคัญและศึกษาความเป็นไปได้ในการนำมาประยุกต์ใช้ ขณะเดียวกัน “โซลูชันฐานธรรมชาติ (NCS)” เช่น โครงการปลูกป่าทั้งป่าบกและป่าชายเลน การสนับสนุนป่าชุมชนผ่านโครงการสระบุรีแซนด์บ็อกซ์ และการสร้างฝายชะลอน้ำกว่า 120,000 แห่งทั่วประเทศ ก็เป็นสิ่งที่เอสซีจีดำเนินการอย่างจริงจังเพื่อช่วยดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์และฟื้นฟูระบบนิเวศ
ในโอกาสนี้ คุณมนสิชยังได้นำเสนอนวัตกรรมการก่อสร้างแห่งอนาคตที่เอสซีจีกำลังบุกเบิก ไม่ว่าจะเป็น “เทคโนโลยีการพิมพ์ 3 มิติ (3D Printing Construction)” โดย SCG 3DP ซึ่งช่วยปฏิวัติวงการก่อสร้างด้วยการลดระยะเวลา ลดการใช้แรงงาน และลดของเสียได้อย่างมีนัยสำคัญ อีกทั้งยังปลดล็อกขีดจำกัดด้านการออกแบบสถาปัตยกรรมให้มีความอิสระและสร้างสรรค์ยิ่งขึ้น ดังตัวอย่างโครงการที่นำมาจัดแสดง เช่น ร้านกาแฟดีไซน์โฉบเฉี่ยว ศูนย์การแพทย์ที่ทันสมัย และแม้กระทั่งการสร้างปะการังเทียมจากวัสดุรีไซเคิลผสมคอนกรีตเพื่อช่วยฟื้นฟูระบบนิเวศทางทะเล
และอีกหนึ่งนวัตกรรมที่น่าจับตามองคือ “คอนกรีตสมรรถนะสูงพิเศษ (Ultra High-Performance Concrete – UHPC)” วัสดุก่อสร้างขั้นสูงที่มีความแข็งแรงและความทนทานเหนือกว่าคอนกรีตทั่วไปหลายเท่า ทำให้สามารถออกแบบโครงสร้างให้เพรียวบางลง ใช้วัสดุน้อยลง ซึ่งไม่เพียงช่วยลดการปล่อยคาร์บอนในภาพรวม แต่ยังช่วยลดระยะเวลาการก่อสร้างและสร้างสรรค์สถาปัตยกรรมที่โดดเด่นและสวยงาม เช่น สะพาน UHPC ที่สำนักงานใหญ่เอสซีจี ซึ่งได้รับรางวัลระดับนานาชาติเป็นเครื่องการันตี
คุณมนสิช สาริกะภูติ ได้เน้นย้ำว่า การเดินทางสู่ Net Zero ของเอสซีจีนั้นขับเคลื่อนด้วยแนวคิด “Inclusive Green Growth” ซึ่งหมายถึงการเติบโตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและครอบคลุมทุกภาคส่วน โดยการสร้าง “สังคมสีเขียว (Green Society)” ผ่านความร่วมมือกับพันธมิตรทุกระดับ ตั้งแต่สมาคมผู้ผลิตปูนซีเมนต์ไทย (TCMA) ในการผลักดัน “ปูนซีเมนต์ไฮดรอลิก” ให้เป็นมาตรฐานใหม่ของอุตสาหกรรม ไปจนถึงผู้พัฒนาอสังหาริมทรัพย์ ผู้รับเหมา สถาบันวิจัย มหาวิทยาลัย และการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้กับบริษัทชั้นนำในต่างประเทศ
คุณมนสิช สาริกะภูติ กล่าวปิดท้ายการบรรยายอย่างหนักแน่นว่า เส้นทางสู่ Net Zero ถือเป็นความท้าทายที่ยิ่งใหญ่ แต่ในขณะเดียวกันก็เป็นโอกาสอันล้ำค่าในการสร้างสรรค์อนาคตที่ดีกว่า ปัจจัยสำคัญที่จะนำพาเราไปสู่ความสำเร็จนั้นประกอบด้วยสามเสาหลัก ได้แก่ นวัตกรรม (Innovation) ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญในการพัฒนาเทคโนโลยีและผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ, ความร่วมมือ (Collaboration) อย่างเข้มแข็งกับทุกภาคส่วน
และ การสนับสนุน (Support) จากภาครัฐในเชิงนโยบายและกฎหมาย รวมถึงการสร้างความตระหนักรู้และการมีส่วนร่วมอย่างแข็งขันจากภาคประชาชนและผู้บริโภค เอสซีจีมีความมุ่งมั่นอย่างเต็มเปี่ยมที่จะเป็นส่วนหนึ่งในการขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญนี้ และเราเชื่อมั่นว่าด้วยความพยายามร่วมกัน เราจะสามารถบรรลุเป้าหมาย Net Zero สร้างความเป็นไปได้ใหม่ๆ และเพิ่มคุณค่าให้กับสังคมและสิ่งแวดล้อมได้อย่างยั่งยืน
คำกล่าวของคุณมนสิช สาริกะภูติ บนเวที INTERCEM Asia 2025 ครั้งนี้ ไม่เพียงแต่เป็นการประกาศทิศทางที่ชัดเจนของเอสซีจี แต่ยังเป็นการส่งสัญญาณที่ทรงพลังไปยังอุตสาหกรรมซีเมนต์ทั่วทั้งภูมิภาค ถึงความจำเป็นและความมุ่งมั่นในการปรับตัวเพื่ออนาคตที่ยั่งยืน สร้างความเชื่อมั่นว่าประเทศไทยและเอสซีจีพร้อมที่จะเป็นผู้นำในการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญนี้
#SCG #NetZero2050 #InclusiveGreenGrowth #ปูนซีเมนต์คาร์บอนต่ำ #LC3 #ดินเผา #นวัตกรรมก่อสร้าง #3DPrinting #UHPC #INTERCEMAsia2025 #ความยั่งยืน #GreenSolution #ESG #ซีเมนต์แห่งอนาคต #ลดโลกร้อน #อุตสาหกรรมสีเขียว