“หวายข้อ” หญ้าพื้นเมืองที่ให้คุณค่าแบบไม่ควรมองข้าม

“หวายข้อ” หญ้าพื้นเมืองที่ให้คุณค่าแบบไม่ควรมองข้าม

พิษของพายุ “ปาบึก” ส่งผลกระทบในมุมกว้าง ซึ่งรวมถึงเกษตรกรในพื้นที่ การทำการฟื้นฟูสิ่งต่างๆ ให้กลับมาเหมือนเดิมนั้นอาจจะต้องใช้เวลาสักระยะ แต่ในระหว่างนี้ก็อยากจะให้ทำความรู้จักกับพืชชนิดหนึ่ง ที่มีชื่อว่า “หวายข้อ”

ที่แม้ในอดีตจะเป็นเพียงวัชพืชที่ขึ้นรกตามไร่นาและสวนของชาวบ้านมาก่อน แต่ปัจจุบันได้สร้างรายได้ให้กับเกษตรกรได้แบบคาดไม่ถึง และอาจจะสร้างรายได้ให้กับเกษตรกรที่ต้องการหารายได้เสริม หรือทำเป็นอาชีพหลักได้ในอนาคต

หวายข้อ (Whip grass : Hemarthria compressa) เป็นหญ้าพื้นเมืองมีอายุหลายปี ลำต้นกึ่งตั้งกึ่งเลื้อย ใบมันเรียบ ไม่มีขน ทนต่อสภาพน้ำท่วมขังได้ดี พบมากในเขตพื้นที่ลุ่มน้ำปากพนัง ซึ่งจากผลการวิเคราะห์ส่วนประกอบทางเคมีของหญ้าหวายข้อที่อายุการตัด 45 วัน ของกลุ่มวิเคราะห์ อาหารสัตว์และพืชอาหารสัตว์ กองอาหารสัตว์ กรมปศุสัตว์

พบว่าหญ้าหวายข้อเป็นหญ้าที่มีคุณภาพดีชนิดหนึ่ง มีโปรตีนสูงถึง 9.5 เปอร์เซ็นต์ มีค่าเยื่อใย NDF ADF และลิกนิน 65.3 36.2 และ 4.2 เปอร์เซ็นต์ตามลำดับ และมีปริมาณวัตถุแห้ง 26.9 เปอร์เซ็นต์

โดยเกษตรกรอย่าง นายเกรียงไกร สีวีระกุลไกร ปัจจุบันอยู่บ้านโกงเหลง เลขที่ 99 หมู่ที่ 3 ต.ควนสุบรรณ อ.บ้านนาสาร จ.สุราษฎร์ธานี ผู้นำการปลูก “หญ้าหวายข้อ” เพื่อการจำหน่ายแห่งบ้านโกงเหลง เป็นตัวอย่างหนึ่งที่น่าสนใจ เพราะ แต่เดิมมีอาชีพทำสวนเงาะบนเนื้อที่ 27 ไร่

แต่ต่อมาราคาผลผลิตตกต่ำทำให้รายได้ไม่คุ้มกับการลงทุน จึงจำเป็นต้องปรับเปลี่ยนพื้นที่ดังกล่าวมาปลูกปาล์มน้ำมัน ซึ่งเป็นพืชเศรษฐกิจหลักของภาคใต้อีกชนิดหนึ่ง และหลังจากปลูกปาล์มน้ำมันแล้วพบว่า

หวายข้อ

มีพื้นที่ว่างระหว่างร่องสวนเหลืออยู่ไม่ได้ใช้ประโยชน์ และต้องเสียค่าใช้จ่ายในการกำจัดวัชพืช จึงเกิดแนวคิดที่จะนำพื้นที่ดังกล่าวมาใช้ประโยชน์เพื่อสร้างรายได้ระหว่างรอปาล์มน้ำมันให้ผลผลิต

“ด้วยความชื่นชอบในวัวชน และมักจะนำวัวชนไปชนตามสนามชนวัวต่างๆ ทั้งในพื้นที่จังหวัดสุราษฎร์ธานี และจังหวัดใกล้เคียงอื่นๆ ทำให้พบว่าตามหน้าสนามวัวชนเหล่านั้นมีการนำหญ้ามาขาย

ซึ่งขายได้ราคาดี และไม่เพียงพอกับความต้องการของผู้ซื้อจึงเกิดความคิดจะปลูกขายดูบ้าง ซึ่งจากการซื้อหญ้าหวายข้อมาทดลองปลูกในพื้นที่ 3 ไร่

โดยได้รับคำแนะนำเทคโนโลยีเกี่ยวกับการจัดการ เพื่อเพิ่มผลผลิตเพิ่มเติมจากเจ้าหน้าที่ของศูนย์วิจัยและพัฒนาอาหารสัตว์สุราษฎร์ธานี ต่อมาก็ได้ขยายพื้นที่ปลูกเพิ่มขึ้นเป็น 20 ไร่ จนมาถึงปัจจุบันสามารถสร้างรายได้ให้กับครอบครัวนับ 100,000 บาทต่อเดือน”

การเก็บเกี่ยวผลผลิตตัดครั้งแรกหลังการปลูก 60-70 วัน หลังจากนั้นควรตัดที่อายุ 45 วัน อายุการเก็บเกี่ยวยาวถึง 5 ปี การจำหน่าย ตัดหญ้าบรรจุกระสอบไปขายที่สนามชนวัว กระสอบละ 120-150 บาท (น้ำหนัก 25-30 กก.) และตัดขายที่แปลง กก.ละ 4-6 บาท (ขึ้นอยู่กับฤดูกาล)

หวายข้อ

โดยการตัดหญ้าหวายข้อจำหน่ายได้ประมาณ 8 ครั้งๆ ละ 2,000 กิโลกรัม ราคากิโลกรัมละ 5 บาท เป็นเงิน 80,000 บาท สำหรับต้นทุนในการผลิต ประกอบไปด้วย ค่าปุ๋ย 160 กิโลกรัมๆ ละ 16 บาท เป็นเงิน 2,560 บาท, ค่าแรงตัดหญ้า 16,000 กิโลกรัมๆ ละ 0.50 บาท เป็นเงิน 8,000 บาท

และค่าใช้จ่ายอื่นๆ (ค่าไฟ,ค่ากระสอบ) เป็นเงิน 1,600 บาท รวมค่าใช้จ่ายทั้งหมดทั้งสิ้นประมาณ 26,560 บาท เมื่อหักลบออกจากรายได้ที่ได้รับ (80,000 – 26,560) จะทำให้คงเหลือผลกำไรสุทธิกว่า 53,440 บาท/ไร่/ปี

นายสัตวแพทย์สรวิศ ธานีโต อธิบดีกรมปศุสัตว์ กล่าวว่า จากผลที่เกิดขึ้นดังกล่าวทำให้เกษตรกรเริ่มปลูกกันอย่างแพร่หลายมากขึ้น เช่นเดียวกับกรณีที่เกษตรกรได้ตัดมาให้วัวกินเป็นอาหารและพบว่า วัวกินอาหารได้เยอะขึ้นและสมบูรณ์ขึ้นหลังจากนั้นก็ค่อยเป็นที่นิยมกันต่อๆ มา จนหันมาปลูกเพื่อเป็นอาหารให้วัวชนโดยเฉพาะ

ปัจจุบันมีเกษตรกรปลูกหวายข้อเพื่อจำหน่าย รวม 6 จังหวัด เกษตรกร 216 ราย พื้นที่ 1,321 ไร่ ได้แก่ เขต 8 ประกอบไปด้วย จ.สุราษฎร์ธานี 2 ราย 20.0 ไร่, จ.นครศรีธรรมราช 118 ราย 753.0 ไร่, จ.ตรัง 18 ราย 78.5 ไร่, จ.กระบี่ 4 ราย 31.0 ไร่ และ จ.พัทลุง 38 ราย 226.0 ไร่ รวม 180 ราย 1108.5 ไร่ เขต 9 ประกอบไปด้วย จ.สงขลา 36 ราย 212.5 ไร่

ด้านนายสมพล ไวปัญญา นักวิชาการสัตวบาลชำนาญการพิเศษ สำนักพัฒนาอาหารสัตว์ กล่าวว่า หวายข้อ เป็นหญ้าพื้นเมืองที่สร้างรายได้ให้กับเกษตรกรในแถบลุ่มน้ำปากพนัง เนื่องจากเป็นหญ้าที่กลุ่มผู้เลี้ยงวัวชนจะนิยมนำไปเป็นอาหารให้วัวชน เป็นพืชที่เจริญเติบโตได้ดีในพื้นที่ลุ่ม

หวายข้อ
นายสัตวแพทย์สรวิศ ธานีโต อธิบดีกรมปศุสัตว์

ปัจจุบันหวายข้อเป็นหญ้าพื้นเมืองยอดนิยมราคา ซื้อ-ขาย น่าสนใจ สามารถพัฒนาเป็นอาชีพเสริมให้แก่เกษตรกรได้เป็นการอนุรักษ์และใช้ประโยชน์จากหญ้าพื้นเมืองและวัวชนให้อยู่คู่กับท้องถิ่นได้ ที่ผ่านมาเกษตรกรมีความพึงพอใจต่อรายได้ที่เกิดจากการปลูกหญ้าจำหน่ายมีการบริหารจัดการที่ดินที่มีอยู่ให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด

แต่ทั้งนี้การปลูกหญ้าหวายข้อเพื่อสร้างรายได้นั้น ยังคงจำกัดวงอยู่ในโซนพื้นที่ภาคใต้เพียงเท่านั้น เนื่องจากเป็นหญ้าธรรมชาติประจำท้องถิ่น ตลาดหลักเป็นกลุ่มผู้เลี้ยงวัวชนที่มีมากในพื้นที่ภาคใต้ ดังนั้นเกษตรกรควรมีการศึกษาข้อมูลอย่างละเอียดก่อนตัดสินใจเพาะปลูก และยังไม่พบการนำไปปลูกในเชิงอาชีพหลัก หรือ อาชีพเสริมในพื้นที่อื่นภายในประเทศ

ลิงค์ที่เกี่ยวข้อง

กรมปศุสัตว์

Related Posts