บีเอสเอ ชี้คลาวด์คอมพิวติ้ง ไทยขยับขึ้นอันดับ 19 จาก 24 ประเทศ

บีเอสเอ ชี้คลาวด์คอมพิวติ้ง ไทยขยับขึ้นอันดับ 19 จาก 24 ประเทศ

บีเอสเอ เผยรายงาน “Global Cloud Computing Scorecard” ประจำปี พ.ศ. 2561 ซึ่งประเมินคุณภาพนโยบายของประเทศต่างๆ ทั่วโลก ว่าเป็นนโยบายที่สนับสนุนการเติบโตของ ‘คลาวด์คอมพิวติ้ง’ ได้ดีมากน้อยเพียงใด

โดยประเทศไทยถูกจัดอยู่ในอันดับที่ 19 จากทั้งหมด 24 ประเทศ ขยับตำแหน่งดีขึ้นเล็กน้อย จากอันดับที่ 21 ในปี พ.ศ. 2559 แสดงให้เห็นว่าสิ่งแวดล้อมด้านกฎหมายและกฎระเบียบในประเทศไทยยังคงพัฒนาอย่างต่อเนื่อง เพื่อส่งเสริมการเติบโตของนวัตกรรมคลาวด์คอมพิวติ้ง ถึงแม้จะยังคงขาดกฎหมายและกฎระเบียบในบางเรื่องที่มีความสำคัญ

รายงาน “Global Cloud Computing Scorecard” ประจำปี พ.ศ. 2561 เป็นรายงานชิ้นใหม่ล่าสุด ที่จัดอันดับการเตรียมความพร้อมของประเทศต่างๆ เพื่อเปิดรับบริการบนคลาวด์ ที่ขับเคลื่อนโดยเทคโนโลยีคลาวด์คอมพิวติ้ง รวมถึงส่งเสริมการเติบโตของบริการเหล่านั้น รายงานชิ้นนี้ยังได้ปรับปรุงวิธีการที่ใช้ในการวิเคราะห์ ทำให้ได้ผลลัพธ์ที่ดีขึ้นกว่าเดิม

โดยสะท้อนให้เห็นนโยบายที่ดีที่ช่วยให้คลาวด์คอมพิวติ้งมีการเติบโตอย่างรวดเร็วในช่วงห้าปีที่ผ่านมา ได้แก่ กฎหมายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล และกฎหมายด้านความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ รวมถึงโครงสร้างพื้นฐานด้านบรอดแบนด์

ในปี พ.ศ. 2561 ประเทศส่วนใหญ่ยังคงเดินหน้าปรับปรุงกฎหมายและกฎระเบียบ แต่ยังคงมีบางประเทศที่มีความล่าช้าในเรื่องนี้ ประเทศเยอรมันนีถูกจัดอยู่ในอันดับสูงสุด เนื่องจากมีนโยบายด้านความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ในระดับประเทศ และมีการส่งเสริมการค้าเสรี ตามมาด้วยญี่ปุ่นและสหรัฐอเมริกา

ในขณะที่รัสเซีย จีน อินโดนีเซีย และเวียดนาม เป็นกลุ่มประเทศที่ไม่มีการรับเอาแนวทางสากลมาปรับใช้เพื่อส่งเสริมการเติบโตของคลาวด์คอมพิวติ้ง

รายงาน “Global Cloud Computing Scorecard” ประจำปี พ.ศ. 2561 ยังพบประเด็นสำคัญ ได้แก่

· นโยบายก้าวหน้าในเรื่องการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล และการรักษาความมั่นคงปลอดภัย คือปัจจัยที่แยกประเทศที่ถูกจัดให้อยู่ในอันดับสูง ออกจากประเทศที่ถูกจัดให้อยู่ในอันดับต่ำประเทศต่างๆ ยังคงเดินหน้าปรับปรุงแนวทางการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล ให้มีความทันสมัยอย่างต่อเนื่อง

โดยส่วนใหญ่จะส่งเสริมให้มีการเคลื่อนย้ายของข้อมูลระหว่างประเทศได้อย่างเสรี แต่ยังมีอีกหลายประเทศยังคงไม่มีกฎหมายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลที่มีมาตรการการคุ้มครองในระดับที่เพียงพอ

· ประเทศที่เป็นตลาดเกิดใหม่ยังคงไม่มีนโยบายที่ส่งเสริมคลาวด์คอมพิวติ้ง ซึ่งเป็นสิ่งที่เหนี่ยวรั้งการเติบโตของประเทศเหล่านั้น ตัวอย่างเช่น ประเทศเหล่านี้มีกฎระเบียบที่เป็นอุปสรรคสำคัญต่อผู้ให้บริการคลาวด์คอมพิวติ้ง มีการกำหนดกฎเกณฑ์เรื่องการจัดเก็บของข้อมูลไว้ภายในประเทศ และไม่มีการคุ้มครองด้านความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์

· การไม่ยอมรับแนวทางและข้อตกลงสากล เป็นปัจจัยที่ชะลอการเติบโตของประเทศเศรษฐกิจสำคัญๆ มาตรฐาน วิธีปฏิบัติเกี่ยวกับการรับรองและการทดสอบทางเทคโนโลยี ที่เป็นที่ยอมรับในระดับสากล มีส่วนช่วยปรับปรุงความมั่นคงปลอดภัยสำหรับเทคโนโลยีคลาวด์คอมพิวติ้งให้ดีขึ้น แต่มีบางประเทศที่ไม่ยอมรับมาตรฐานและวิธีปฏิบัติที่ดีเหล่านั้น โดยเห็นว่าไม่สามารถตอบโจทย์ความต้องการของประเทศตนได้

· มีบางประเทศที่ใช้นโยบายภายในของตนเอง ซึ่งจะทำให้เสียโอกาส นโยบายที่กำหนดให้มีการจัดเก็บข้อมูลไว้ภายในประเทศ คือ อุปสรรคกีดขวางการเติบโตของคลาวด์คอมพิวติ้ง ส่งผลกระทบต่อตลาดภายในประเทศ ในด้านต้นทุนและค่าใช้จ่าย

· การเพิ่มความสำคัญให้กับความพร้อมด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ (ไอที) และการขยายบรอดแบรนด์ จะนำไปสู่ผลลัพธ์ที่ดี ประเทศและองค์กรธุรกิจจำเป็นต้องมีการเข้าถึงเครือข่ายที่ทรงพลัง เพื่อเพิ่มความสามารถในการใช้ประโยชน์จากคลาวด์คอมพิวติ้ง เพื่อการเติบโตขององค์กรธุรกิจและประเทศ ในขณะที่ประเทศส่วนใหญ่ยังคงเดินหน้าปรับปรุงการเข้าถึงบรอดแบนด์ แต่กลับมีความไม่ต่อเนื่องในความพยายามดังกล่าว

จุดมุ่งหมายของรายงานฉบับนี้ คือ สร้างโอกาสในการหารือร่วมกันระหว่างผู้กำหนดนโยบาย และผู้ให้บริการคลาวด์คอมพิวติ้ง โดยการตรวจสอบสิ่งแวดล้อมด้านกฎหมายและกฎระเบียบของประเทศต่างๆ 24 ประเทศ การหารือร่วมกันสามารถช่วยพัฒนารูปแบบของกฎหมายและกฎระเบียบ ที่สอดรับกันระหว่างประเทศต่างๆ ซึ่งจะช่วยให้คลาวด์คอมพิวติ้งสามารถเติบโตต่อไปได้

“รายงาน “Global Cloud Computing Scorecard” ประจำปี พ.ศ. 2561 คือเครื่องมือที่สามารถช่วยให้ประเทศต่างๆ ทำการประเมินความพร้อมด้านนโยบายและกฎหมายได้ด้วยตัวเอง และช่วยให้สามารถตัดสินใจในทางปฏิบัติที่จำเป็น เพื่อส่งเสริมการเติบโตของคลาวด์คอมพิวติ้งต่อไป” นางสาววิคตอเรีย เอสพิเนล ประธานและประธานเจ้าหน้าที่บริหารของบีเอสเอ ½พันธมิตรซอฟต์แวร์ กล่าว

“ในวันนี้ เทคโนโลยีคลาวด์คอมพิวติ้งทำให้ทุกคนสามารถเข้าถึงเทคโนโลยี ที่ก่อนหน้านี้มีไว้เฉพาะสำหรับองค์กรขนาดใหญ่เท่านั้น นำไปสู่การติดต่อสื่อสารกันได้มากขึ้น รวมถึงส่งเสริมให้เกิดนวัตกรรมใหม่ ประเทศที่สนับสนุนการเคลื่อนย้ายของข้อมูลระหว่างประเทศได้อย่างเสรี มีมาตรการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ด้วยเทคโนโลยีและวิธีการที่นำสมัย”

“มีการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาอย่างมีประสิทธิภาพ และมีโครงสร้างพื้นฐานด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ (ไอที) ที่มั่นคง จะยังคงได้รับประโยชน์ในเชิงธุรกิจจากคลาวด์คอมพิวติ้ง เช่นเดียวกับพลเมืองของประเทศเหล่านั้นที่จะได้รับประโยชน์จากคลาวด์คอมพิวติ้งเช่นกัน”

Related Posts