พาโล อัลโต ส่ง Cortex ระบบรักษาความปลอดภัยเปิด ที่เพิ่มเอไอเข้ามาช่วยคิดวิเคราะห์ร่วมกับแมชชีนเลิร์นนิง พร้อมทำงานบนคลาวด์ ที่สามารถตรวจสอบและวิเคราะห์ข้อมูลปริมาณมหาศาลได้อย่างรวดเร็ว
มาพร้อมราคาที่เหมาะสม สำหรับธุรกิจเอสเอ็มอีและองค์กรขนาดใหญ่ ที่มีบุคลากรทางด้านไอทีไม่เพียงพอกับการจัดการต่อภัยคุกคามที่เกิดขึ้นเป็นจำนวนมาก
นางสาวธิติรัตน์ ทองถาวร ผู้จัดการประจำประเทศไทยและภูมิภาคอินโดจีน พาโลอัลโต เน็ตเวิร์กส กล่าวว่า การดำเนินธุรกิจในปีที่ผ่านมาพาโล อัลโต มีอัตราการเติบโตอยู่ที่ 30% ซึ่งตลาดซีเคียวริตี้ยังคงเติบโตอย่างต่อเนื่อง และองค์กรในเมืองไทยเริ่มให้ความสำคัญมากขึ้น
ส่วนหนึ่งเกิดจากการบังคับใช้กฏหมายด้านความปลอดภัยไซเบอร์รวมถึงการป้องกันภัยคุกคามต่างๆ โดยล่าสุดพาโล อัลโต ได้เปิดตัว Cortex ซึ่งเป็นระบบจัดการความปลอดภัยซึ่งพัฒนาขึ้นบนพื้นฐานของเอไอ นับเป็นแพลตฟอร์มในระบบเปิดที่ทำงานบนคลาวด์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ในปีที่ผ่านมาไทยเสิร์ซพบว่ามีการคุกคามทางไซเบอร์ประมาณ 2,520 ครั้ง การคุกคามดังกล่าวเป็นการโจมตีด้วยการนำเทคโนโลยีแมชชีนเลิร์นนิงที่จะมีการเรียนรู้การทำงานของเครื่องแล้วทำงานอัตโนมัติ ทำให้ผู้ดูแลระบบไม่สามารถตรวจจับหรอตอบสนองภัยคุกคามได้อย่างทันท่วงที
นอกจากนี้ยังพบว่าการที่ระบบไม่สามารถป้องกันภัยคุกคามได้อย่างมีประสิทธิภาพ เพราะยังใช้การรักษาความปลอดภัยแบบไซโลที่เป็นแบบแยกจากกัน จึงไม่สามารถบูรณาการข้อมูลร่วมกันแบบอัตโนมัติได้ โดยเฉพาะการรวบรวมข้อมูลจากจุดกำเนิดหลายจุดที่ต้องใช้ผู้มีประสบการณ์และมีระยะเวลาในการตรวจสอบที่มากขึ้น
“Cortex ช่วยลดเวลาในการทำอนาไลติกส์ ด้วยการเก็บข้อมูลทั้งหมดแล้วทำการประมวลผลทันที และเมื่อได้ผลลัพท์แล้วจะสามารถทำการตอบสนองได้อย่างทันท่วงที นอกจากนี้ Cortex ยังสามารถเรียนรู้และปรับได้ตลอดเวลา และสามารถนำโครงสร้างพื้นฐานที่มีอยู่แล้วนำมาใช้ประโยชน์ได้ไม่ต้องรื้อใหม่
ออกแบบมาให้สามารถใช้งานได้ง่ายและปรับปรุงให้ได้ผลลัพท์แบบอัตโนมัติ ที่สำคัญ Cortex ใช้ระบบการทำงานบนคลาวด์เพื่อรองรับการเติบโตของปริมาณข้อมูล ทำให้สามารถตรวจสอบข้อมูลในปริมาณมหาศาลได้อย่างรวดเร็วและแม่นยำ”
นางสาวธิติรัตน์ กล่าวว่า Cortex สามารถตอบโจทย์ลูกค้าได้ทุกกลุ่มเป้าหมายด้วยค่าใช้จ่ายที่ไม่สูง แต่มีประสิทธิภาพเทียบเท่ากับระบบที่เสียค่าใช้จ่ายแพงกว่า จึงเหมาะกับธุรกิจเอสเอ็มอีที่ไม่มีเงินทุนทางด้านไอทีที่มากนัก หรือแม้แต่บริษัทขนาดใหญ่ที่มีบุคลากรทางด้านซีเคียวริตี้ไม่เพียงพอต่อความต้องการ แต่มีข้อมูลปริมาณมหาศาลที่ต้องจัดการ
ทั้งนี้การทำงานของ Cortex ประกอบด้วย Cortex XDR ทำหน้าที่ในการตรวจจับและตอบสนองที่ทำงานร่วมกันในระดับ เอนด์พอยท์ (Endpoint) เน็ตเวิร์ค (Network) และ คลาวด์ (Cloud)
Cortex Data Lake ทำหน้าที่เก็บรวบรวมข้อมูลจาก Cortex XDR เข้าด้วยกันและวิเคราะห์ข้อมูลที่ได้รับ ทั้งในเชิงของพฤติกรรมผ่านระบบปัญญาประดิษฐ์ หลังจากนั้นส่งข้อมูลที่ประมวลผลได้กลับไปยัง Cortex XDR เพื่อทำการป้องกันภัยคุกคามที่ตรวจพบได้แบบอัตโนมัติและทันท่วงที
Traps 6.0 ทำหน้าที่เป็นทั้งระบบป้องกัน (ระดับอุปกรณ์) ตรวจจับ และตอบสนองต่อผลการวิเคราะห์จาก Cortex นอกจากนั้น Traps 6.0 ยังทำหน้าที่ในการเป็นเซนเซอร์รวบรวมข้อมูลบนอุปกรณ์ต่างๆ เพื่อนำไปใช้ในการวิเคราะห์ และการเก็บหลักฐานสำหรับการสอบค้นต้นตอของปัญหาในระดับขั้นสูงต่อไป
ลิงค์ที่เกี่ยวข้อง