จับกระแสความปั่นป่วน หลัง กสทช. เผยแนวคิด จะจัดเก็บภาษี ผู้ให้บริการ OTT จากการใช้ทราฟฟิกอินเทอร์เน็ต จากต่างประเทศ เพื่อนำมาพัฒนาโครงข่าย ก็เริ่มมีการวิพากษ์วิจารณ์กันอย่างแพร่หลาย ถึงความเป็นไปได้ในการจัดเก็บ และเลยเถิดจนเกิดความเข้าใจผิดกันต่างๆนานา วันนี้ TheReporterAsia จึงนำข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นจากเวที “5G ปลุกไทยที่ 1 อาเซียน” มาย่อยให้ทุกคนอ่านเข้าใจง่ายขึ้นกันครับ
เจาะแนวคิดเก็บภาษี OTT เฉพาะผู้ให้บริการเท่านั้น ผู้ใช้บริการไม่เกี่ยว
งานนี้เป็นเรื่องของโครงข่ายล้วนๆ ผู้ใช้บริการ ไม่เกี่ยวแต่อย่างใด เนื่องจากที่ผ่าน กสทช. อ้างว่า มีการใช้งานทราฟฟิกจากต่างประเทศเข้ามาให้บริการในประเทศไทยเยอะ ซึ่งแปลความได้ว่า มีการให้บริการคอนเทนต์ในประเทศไทย โดยที่มีเซิร์ฟเวอร์ตั้งอยู่ต่างประเทศ แล้วเข้าสู่ระบบอินเทอร์เน็ตเพื่อให้บริการในประเทศไทย
ทำให้เกิดแนวคิดที่จะเก็บภาษี จากการเข้ามาใช้ทราฟฟิกในประเทศไทย เสมือนหนึ่งการเก็บค่าผ่านทาง(ค่าวีซ่า) ที่เก็บเมื่อบุคคลต่างชาติเข้ามาในประเทศไทยตามระยะเวลาที่กำหนด การเข้ามาใช้งานทราฟฟิกในปริมาณมหาศาลในประเทศไทย ก็ควรที่จะจ่ายค่าใช้งานในประเทศไทย เพื่อนำมาพัฒนาโครงข่ายด้วยเช่นกัน
ซึ่งการเรียกเก็บนั้นก็จะมีการแบ่งระดับการใช้งานตามปริมาณของข้อมูลที่หลั่งใหล เสมือนการซื้อแพคเกจดาต้าของมือถือ เช่นเมื่อใช้งานไม่เกิน 20 เทราไบต์ก็ไม่ต้องเสีย แต่หากเกินจากนี้ก็จะเสียตามอัตราก้าวหน้า ของปริมาณการใช้งานตามจริง
หากแนวคิดนี้สามารถสร้างเป็นข้อกำหนดได้สำเร็จ ถ้าผู้ประกอบการไม่ยอมจ่ายก็จะทำการลดความเร็วของโหนดการเชื่อมต่อจากต่างประเทศลง ทำให้บริการดังกล่าวทำงานได้ไม่เต็มประสิทธิภาพหรือช้าลง เพื่อเป็นการบีบให้ผู้ประกอบการต้องยอมจ่ายนั่่นเอง
ความเป็นไปได้ ของการรีดภาษีนี้
แนวคิดเช่นนี้ มีประเทศไทย เพียงแห่งเดียวในโลกที่คิดได้ ซึ่งหากวิเคราะห์จากเหตุผลของการใช้งานโครงข่ายนั้นเราพบว่า การสร้างโครงข่ายนั้นแบ่งออกเป็นส่วนของการเชื่อมต่อระหว่างประเทศ และภายในประเทศ โดยการสื่อสารที่จะเชื่อมต่อออกต่างประเทศนั้นเราเรียกกันโดยรวมๆว่า Gateway
ซึ่งโดยปกติการเก็บค่าบริการจากคอนเทนต์ที่วิ่งอยู่จะไม่ทำกัน เนื่องจากเป็นเรื่องของการให้บริการคอนเทนต์ ซึ่งผู้ให้บริการโครงข่ายมักจะเรียกเก็บการใช้บริการรจากปลายทาง ซึ่งก็คือผู้เรียกดูคอนเทนต์อย่างเราๆท่านๆนั่นเอง
พูดแบบนี้เราก็คิดว่าเฟซบุ๊กหรือผู้ให้บริการ OTT ทุกคนก็สบายซิ เรื่องจริงคือการจะลงทุนกับเซิร์ฟเวอร์ที่รองรับการเรียกใช้บริการจากคนทั่วโลก ต้องใช้เงินมหาศาลมากกว่าที่เราคิดนัก ยกตัวอย่างล่าสุดเช่น การล่มของระบบนับคะแนนการเลือกตั้งที่ผ่านมาในประเทศไทย อันเกิดจากระบบการเรียกเข้าใช้ของหน่วยเลือกตั้งกว่า 90,000 จุดทั่วประเทศไทย ที่ต้องการรายงานผลการนับคะแนนเข้าสู่ระบบส่วนกลาง
หรือแม้กระทั่งการประกาศผลคะแนนสอบส่วนกลางของกระทรวงศึกษาธิการ ที่เรียกว่า GAT PAT ที่นักเรียนมัธยมต่างรู้ดีว่า เมื่อมีการใช้งานพร้อมกันเยอะๆแล้ว ระบบล่ม จะเกิดความวุ่นวายมากมายเพียงใด
เราลองคิดดูว่า ถ้าเฟซบุ๊ก ซึ่งข้อมูลปี 2018 ระบุว่ามีผู้ใช้กว่า 51 ล้านบัญชีในประเทศไทย แล้วคนไทยเข้าใช้พร้อมกันในระดับแค่ครึ่งเดียว จะเท่ากับว่า คนมากกว่า 25.5 ล้านคนนเรียกเข้าเซิร์ฟเวอร์ดังกล่าว หากเฟซบุ๊กไม่ได้ลงทุนที่เพียงพอต่อการรับปริมาณการเรียกเช่นนี้ เราคงไม่ได้เห็นเฟซบุ๊กเติบโตมาจนทุกวันนี้อย่างแน่นอน
กระนั้นการใช้บริการเฟซบุ๊กผู้ใช้อย่างเราๆท่านๆจึงไม่ได้จ่ายเงินให้กับเฟซบุ๊กโดยตรง แต่เป็นการจ่ายเงินให้กับผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ต (ผู้ให้บริการอาทิ ทรู เอไอเอส ดีแทค ทีโอที กสท โทรคมนาคม 3BB และฯลฯ ) แน่นอนว่ามีบริการที่หลากหลายมาก และเนื่องจากประเทศไทย มีผู้ใช้งาน 1 ใน 3 ของชั่วโมงการใช้งานเฉลี่ยต่อวันกว่า 10 ชั่วโมง ผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตจึงต้องปรับปรุงเครือข่ายให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น กล่าวมาถึงตรงนี้ก็ยังหาจุดเชื่อมโยงภาษีที่ กสทช จะเรียกเก็บไม่ได้อยู่ดี
และหากจะคำนวนหาปริมาณการเชื่อมต่อแยกออกเป็นรายผู้ให้บริการของคอนเทนต์ใดคอนเทนต์หนึ่ง ในทางเทคโนโลยีแล้วจะเป็นไปได้หรือไม่ เนื่องจากผู้ให้บริการคอนเทนต์ ไม่ได้เป็นผู้ที่เชื่อมต่อเอง แต่เป็นการเข้าใช้บริการและเรียกใช้เซิร์ฟเวอร์จากตัวผู้ใช้บริการ บนโครงข่ายของการสื่อสารอินเทอร์เน็ตของแต่ละผู้ให้บริการใช้บริการอยู่นั่นเอง
เราเรียกหาคอนเทนต์ ไม่ใช่คอนเทนต์เรียกหาเรา
อธิบายให้เข้าใจง่ายๆ “คอนเทนต์ ไม่ได้วิ่งเข้ามาหาเรา แต่เราวิ่งไปหาคอนเทนต์เอง” ยกตัวอย่างเช่น หากเราจะสร้างเว็บไซต์ขึ้นมาเพื่อให้บริการคอนเทนต์ข่าว เราต้องเช่าเซิร์ฟเวอร์ เพื่อนำไฟล์ข้อมูลบริการหรือเนื้อหาเหล่านั้น ไปเก็บไว้ในเซิร์ฟเวอร์ แล้วทำการสร้างประตู(โดเมน) เพื่อให้ผู้ใช้บริการเข้าถึงได้โดยง่าย แทนการเข้าผ่านไอพีซึ่งเป็นตัวเลขชุดๆที่จำยาก ไปสู่เซิร์ฟเวอร์เครื่องนั้นๆโดยตรง
เมื่อผู้บริโภคต้องการเรียกใช้ ก็เพียงเปิดเบราเซอร์(Chrome, IE, Opera, Firefox ฯลฯ) ซ่ึ่งจะเป็นของค่ายไหนบนอุปกรณ์ไหนก็ได้ แล้วทำการเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตเพื่อให้สามารถเรียกไฟล์จากโดเมนที่เราสร้างขึ้นเอาไว้ได้ แน่นอนว่าการที่ กสทช ระบุว่าผู้ให้บริการคอนเทนต์เข้ามาใช้โครงข่ายในประเทศไทย จึงอยากเรียกเก็บค่าผ่านทางเสมือนการเก็บค่าวีซ่า จึงเป็นเรื่องที่สวนทางกับความเป็นจริงของการสื่อสารเป็นอย่างมาก เนื่องจากคอนเทนต์ไม่ได้วิ่งมาหาเรา แต่เราเรียกหาคอนเทนต์ตามที่กล่าวข้างต้นนั่นเอง
คอนเทนต์ ทุกรูปแบบ บนโลกอินเทอร์เน็ตเป็นเช่นนี้หมด ไม่มีทางที่คอนเทนต์จะยิงเข้ามาหาเราก่อน หากเราไม่ได้ร้องขอ ซึ่งคนทำเว็บรู้ดีว่า การสร้างเว็บแล้วไม่มีการร้องขอเข้าดูเว็บเลย ไม่สามารถที่เราจะยิงคอนเทนต์ให้ผู้บริโภคก่อนได้เลย
หากดันทุลังจะเก็บ ความเสียหายจะเป็นอย่างไร
TheReporterAsia ลองพยายามมองความเสียหายที่จะเกิดขึ้น ในกรณีที่ผู้ให้บริการคอนเทนต์ไม่ยอมจ่าย และ กสทช. มีอำนาจในการลดความเร็วของทราฟฟิกลงจริง ความเป็นไปได้แรกคือ ปริมาณการใช้อินเทอร์เน็ตของคนไทยกว่า 9 ชั่วโมงต่อวันจะหายไปทันที
โดยข้อมูลของ ETDA ได้เปิดเผยตัวเลขการใช้งานอินเทอร์เน็ตของคนไทยพบว่า มีการใช้งานโซเชียลมีเดีย การแชท การดูหนังออนไลน์ เกมออนไลน์ และอ่านบทความออนไลน์ ในปี 2561 รวมกันแล้วกว่า 9 ชั่วโมงต่อวัน
หากระบบบริการเหล่านั้นช้าลง พฤติกรรมการใช้งานจะเปลี่ยนไป เนื่องจากความไม่สะดวก ประสบการณ์ใช้งานที่แย่ การเข้าใช้งานไม่ได้ ท้ายที่สุด เมื่อยุ่งยากก็จะเลิกใช้บริการเหล่านั้นไปโดยปริยาย แน่นอนว่าบริการอีเมล์ก็เกิดจากบริการของกูเกิล ถ้าคิดว่าเป็นอีกหนึ่งรูปแบบคอนเทนต์ที่วิ่งเข้ามาจากต่างชาติ แล้วช้าลงจริง คงไม่ต้องบอกว่าเราจะสูญเสียการติดต่ออีเมล์เป็นมูลค่าความเสียหายเท่าใด
แน่นอนว่า เมื่อประเทศที่ไม่พร้อมให้บริการหรือมีปัญหายุ่งยากที่ไม่เปิดให้บริการในประเทศนั้นๆ บริการเหล่านั้นก็อาจะเลือกที่จะปิดบริการ แล้วแยกย้ายกลับออกไปจากประเทศไทยก็เป็นได้ เนื่องจากในประเทศไทยมีเพียงสำนักงานที่เปิดเท่านั้น เทคโนโลยีทั้งหมดล้วนวางอยู่ต่างประเทศอยู่แล้ว
แล้วความเสียหายจะเกิดขึ้นกับ ประเทศไทย อย่างไร
เรื่องแรก ผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตทั้งมีสายและไร้สายจะสูญเสียรายได้อย่างมหาศาล เนื่องจากไม่มีผู้ใช้อินเทอร์ตามปริมาณที่หายไปกว่า 9 ชั่วโมงดังที่กล่าวมา ซึ่งเหล่าบริการ OTT (Over The Top Media Services) นับเป็นปริมาณการใช้งานหลัก และสร้างรายได้จากแพคเกจให้บริการที่คิดตามปริมาณข้อมูลอยู่แล้ว
เรื่องที่สอง หากค้นดูว่ากิจกรรม 5 อันดับแรกของคนไทยบนโลกออนไลน์มีอะไรบ้าง 1 ใน 5 อันดับแรกนั้นก็คือการซื้อสินค้าออนไลน์ ซึ่งแน่นอนว่ารุปแบบสินค้ามีทั้งเว็บซื้อขายออนไลน์ และแม่ค้าบนโซเขียลมีเดีย เหล่านี้ก็จะได้รับผลกระทบจากการถูกทำให้เครือข่ายช้าลง และท้ายที่สุดรายได้จากธุรกรรมเหล่านี้ที่มีข้อมูลจากETDA ระบุว่าในปี 2561 มีการซื้อสินค้าออนไลน์ทุกรูปแบบกว่า 3.1 ล้านล้านบาท
เรื่องที่สาม ผู้ให้บริการคอนเทนต์ในไทยแบบรายเล็ก จะต้องล้มหายตายจาก เนื่องจากปัจจุบัน ไทยมีผู้ผลิตคอนเทนต์บนระบบ OTT อยู่มากกมายมหาศาล บางรายสร้างรายได้หลักแสนในแต่ละเดือน การถูกทำให้ช้าลง จนเกิดภาวะไร้คนดู จะทำให้ธุรกิจเหล่านี้ต้องตายไปอย่างแน่นอน ซึ่งข้อมูลจากยูทู้ประบุว่า ประเทศไทย ติด 1 ใน 10 ประเทศที่มีผู้ชมมากที่สุดในโลก
เรื่องที่สี่ ภาพรวมของอุตสาหกรรมอินเทอร์เน็ตจะถดถอยเป็นอย่างมาก เนื่องจากผู้ให้บริการส่วนใหญ่ ปรับระบบเป็นคลาวด์ ซึ่งมีการให้บริการค่อมไปมาระหว่างโครงข่ายดาต้าเซ็นเตอร์ทั่วโลก ตามความเหมาะสมของการใช้งาน ซึ่งเมื่อระบบที่เข้ามาประเทสไทยจะต้องล่าช้าลง หรือมีความยุ่งยากในการบังคับใช้จากกฏเหล่านี้ อาจจะเกิดการเลือกไปใช้เครือข่ายในประเทศที่พร้อมให้บริการมากกว่า
เรื่องที่ห้า ผู้ให้บริการคอนเทนต์รายใหญ่ๆของไทย ที่เลือกใช้บริการ CDN ซึ่งเป็นรูปแบบของบริการกระจายคอนเทนต์ไปสู่ต่างประเทศทั่วโลก เพื่อให้สามารถเรียกชมได้อย่างรวดเร็ว อาจจะได้รับผลกระทบจากความล่าช้าที่ถุกปรับลดลง หากไม่จ่ายภาษีดังกล่าว ขณะที่ผู้ให้บริการรายใหญ่ๆที่มีปริมาณทราฟฟิกเกินที่ กสทช. กำหนด ของไทยที่เลือกใช้เซิร์ฟเวอร์ในต่างประเทศก็จะได้รับผลกระทบด้วย
แน่นอนว่า ตัวเลขความเสียหายทางเศรษฐกิจบนระบบออนไลน์ที่เกิดจากความล่าช้าที่จะเกิดขึ้นในประเทศไทย ในยุคที่ทั่วโลกเริ่มถามหาความเร็วระดับ 5G ย่อมประเมินค่าไม่ได้ แต่ก็นับเป็นความพยายามของประเทศไทยอีกหนึ่งครั้งที่เราตั้งหน้าตั้งตาจะเรียกเก็บเงินจากเทคโนโลยี มากกว่าความตั้งใจที่จะนำพาเทคโนโลยีมาพัฒนาประเทศให้เกิดเศรษฐกิจที่ดีขึ้น เราชาวเทคโนโลยีก็ได้แต่หวังว่าสิ่งนี้จะเป็นเพียงแนวคิดที่ไม่เกิดขึ้นจริง เพื่อให้ประเทศไทยไม่ถอยหลังลงไปสู่บ่อล้าหลังมากกว่านี้