นโยบายสหรัฐ ส่งผลกระทบโดยตรงต่อ หัวเว่ย และโลกการค้าเทคโนโลยีเป็นวงกว้าง แต่สิ่งที่น่าเป็นห่วงมากกว่าคือความเชื่อมั่นของโครงสร้างโลกดิจิทัลที่ต้องผิดเพี้ยนจากเดิมโดยไม่ตั้งใจ แน่นอนว่าความร่วมมือของเอกชนที่ต้องการสร้างโลกดิจิทัลที่เชื่อมโยงข้อมูลทุกสิ่งเข้าหากัน ด้วยความร่วมมือกับทุกส่วน ซึ่งมีตัวแปรจากทุกอุตสาหกรรมเข้าร่วม ทำให้เกิดแพลตฟอร์มกลางที่ทุกชาติเข้าร่วมใช้ได้อย่างเสรี เพื่อลดปัญหาที่ต่างฝ่ายต่างเร่งพัฒนาจนกลายเป็นหลายมาตรฐานทำให้ผู้บริโภคสับสนอย่างเช่นในอดีต
แต่วันนี้นโยบายสหรัฐตอกย้ำถึงความเป็นไปได้ที่ลดน้อยลงของการสามัคคีร่วมกันในโลกดิจิทัล เพื่อสร้างแนวคิดแพลตฟอร์มกลางของโลก ที่ทุกชาติจะสามารถพัฒนาต่อยอดได้ ด้วยการที่กูเกิลประกาศจำนนต่อข้อกฏหมายของสหรัฐยกเลิกค้าขายกับหัวเว่ย แม้จะไม่เต็มใจก็ตาม
หลังจากนโยบายของประธานาธิปดีโดนัลด์ ทรัมป์ ออกคำสั่งฉุกเฉินห้ามบริษัทสหรัฐใช้เทคโนโลยีการสื่อสารของต่างชาติที่อาจจะเป็นภัยต่อความมั่นคง ก่อนที่กระทรวงพาณิชย์สหรัฐจะตอบสนองทันทีด้วยการออกข้อกำหนดที่ชัดเจน โดยนำรายชื่อบริษัทหัวเว่ยทั้งเครือ เข้าสู่รายชื่อบัญชีดำ (Entity Lists)
ส่งผลให้ทุกบริษัทอเมริกันจำต้องรายงานและขออนุญาติทุกครั้งในการค้าขายกับบริษัท หัวเว่ย ทั้งเครือ ซึ่งทุกบริษัทรู้อยู่แล้วว่าขอไปก็ไม่ได้แน่นอน เรื่องนี้คงไม่ใช่กระทบเพียงแค่ระบบเศรษฐกิจเท่านั้น แต่กระทบความเชื่อมั่นในโลกเทคโนโลยีโดยตรง
ก่อนหน้านี้เรามั่นใจว่าการล่วงรู้ข้อมูลส่วนบุคคลของระบบมือถือจะมีความปลอดภัยสูงสุด ไม่ว่ารัฐบาลไหนก็ไม่สามารถเข้าแทรกแซงได้อย่างเด็ดขาด ไม่ว่าจะร้องขอรูปแบบใดก็ตาม แต่วันนี้การยกเลิกการค้าของกูเกิลและหัวเว่ยบ่งบอกเราว่า นั่นเป็นเพียงสิ่งที่ ‘เราคิดว่ามันจะเป็นแบบนั้น’ เท่านั้นเอง
เพราะการต้องยอมจำนนของบริษัทสหรัฐภายใต้ข้อกฏหมายที่เกิดขึ้น สะท้อนให้เห็นว่าสิ่งที่สหรัฐต้องการย่อมต้องได้มันมาอย่างไม่มีข้อแม้ ซึ่งความเชื่อมั่นของการรักษาข้อมูลที่เกิดขึ้นจากการทำธุรกิจของบริษัทสหรัฐจะต้องสั่นคลอนอย่างแน่นอน แม้ว่าบริษัทเอกชนเหล่านั้นจะออกมาตะโกนบอกให้ผู้บริโภครับทราบต่อมาตรการปกป้องข้อมูลไว้อย่างดีที่สุดเพียงใดก็ตาม
ปลอดภัย? เมื่อสมาร์ทโฟน ล่วงรู้แม้กระทั่งการก้าวเดิน
ในยุคของสมาร์ทโฟน ที่ไม่ว่าคุณจะเดินไปทางไหน ก็ล้วนเป็นข้อมูลที่ถูกรวบรวมเข้าไปอยู่ในสมาร์ทโฟนทันที แม้ว่าทุกภาคส่วนของเอกชนจะออกมาบอกว่า ข้อมูลเหล่านี้เป็นความลับของลูกค้าไม่มีทางเปิดเผยให้ใครล่วงรู้เด็ดขาด แต่นั่นมันเป็นก่อนที่เราจะรู้ว่ากูเกิลได้ยอมทำตามข้อกฏหมายของสหรัฐอย่างไม่มีข้อโต้แย้ง ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่า บริษัทเอกชน ย่อมต้องทำตามข้อกฏหมายของรัฐบาลประเทศแม่ โดยจะเต็มใจยินยอมหรือไม่ก็ตาม
กลับมาที่เรื่องของข้อมูล วันนี้เป็นที่ชัดเจนว่า ข้อมูลโลกดิจิทัล ถูกเก็บรวบรวมออกเป็นพฤติกรรมรายบุคคลที่ละเอียด มีการรวมพฤติกรรมการเข้าใช้งานโลกออนไลน์ พฤติกรรมการใช้ชีวิต การซื้อสินค้า ธุรกรรมการเงิน การเดินทาง สถานะที่อยู่ และยังสามารถแนะนำบริการทุกชนิดให้ตรงความต้องการ หรือที่ยิ่งไปกว่านั้น หากมีการสนทนากับใครแล้ววางสมาร์ทโฟนอยู่ใกล้ตัว โฆษณาออนไลน์ที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนั้นๆจะโผล่ให้เราเห็นทันที
โฆษณาที่เราเห็นเหล่านั้นเกิดจากการสอดแนมของเครื่องสมาร์ทโฟนที่ติดตัวทุกท่านอยู่นั่นเอง ซึ่งสมาร์ทโฟนทุกเครื่องสามารถทำงานเช่นนั้นได้ทันทีทุกที่ทุกเวลา
แต่ข้อมูลเหล่านี้จะยังคงปลอดภัยอยู่หรือไม่ เมื่อบริษัทเทคโนโลยียักษ์ใหญ่อย่างกูเกิล ยังต้องยอมกลืนน้ำลายตัวเองอย่างฝืนทน เพื่อทำตามกฏหมายสหรัฐที่ประกาศให้หัวเว่ยเป็นบริษัทในบัญชีดำ และยกเลิกการคบค้าด้วยโดยมีผลทันที
โลกดิจิทัลแพลตฟอร์มกลาง มลายโดยพลัน
ความสวยงามของโลกดิจิทัลที่ทุกคนมีส่วนร่วมอย่างตั้งใจได้มลายหายไป พร้อมคำสั่งของสงครามการค้าเทคโนโลยีนี้ทันที แพลตฟอร์มแอนดรอยด์ ที่เป็นส่วนหนึ่งของสมาร์ทโฟนที่ทั้งโลกยอมรับ จะกลายเป็นเพียงตำนานที่เคยอยู่ในสมาร์ทโฟนส่วนใหญ่ของโลกนับจากนี้อีกไม่กี่ปีข้างหน้า ด้วยอัตราเร่งของระยะเวลาการเปลี่ยนเครื่องสมาร์ทโฟนที่ร่นลงมาเหลือเพียงแค่ 1.5 ปีเท่านั้น
สมาร์ทโฟนของหัวเว่ย ซึ่งครองตลาดสมาร์ทโฟนอันดับ 2 ของโลกในปัจจุบัน เมื่อออกรุ่นใหม่มาจะไม่สามารถใช้แบรนด์ แอนดรอยด์ ซึ่งเป็นลิขสิทธิ์ของกูเกิลได้อีกต่อไป แม้ว่าจะพยายามบอกว่ารุ่นที่มีอยู่ในตลาดปัจจุบันจะยังคงใช้งานได้ปกติก็ตาม แต่เชื่อแน่ว่าเมื่อไม่มีการพัฒนาร่วมกันก็ไม่ต่างจากการเลิกซับพอร์ตของซอร์ฟแวร์แล้ว อย่างที่บริษัทซอร์ฟแวร์ทั่วไปพึงกระทำ
แน่นอนว่าไม่ใช่เพียงแค่หัวเว่ยเท่านั้นที่ได้รับผลกระทบ คู่ค้าของหัวเว่ยที่เป็นบริษัทสัญชาติสหรัฐทั้งหมดก็ได้รับผลกระทบด้วย เนื่องจากหัวเว่ยเป็นผู้ค้ารายใหญ่ การยกเลิกการสั่งซื้อย่อมกระทบบริการและการผลิตทั้งหมดของคู่ค้า แต่กระนั้นก็ยังไม่มีความชัดเจนว่าแรงงานสัญชาติสหรัฐที่รับจ้างบริษัทหัวเว่ยทั้งเครือจะได้รับผลกระทบด้วยหรือไม่อย่างไร รวมไปถึงผู้บริโภคทั่วโลกที่อาจจะต้องจับตาดูว่ามือถือหัวเว่ยในมือของท่านจะยังคงบริการได้เต็มประสิทธิภาพภายใต้ระบบปฎิบัติการแอนดรอยด์เช่นเดิมหรือไม่ในอนาคตอันใกล้นี้
และสิ่งที่น่าเป็นห่วงมากที่สุด คือความไว้วางใจในการพัฒนาแพลตฟอร์มกลางร่วมกันของภาคเอกชน ซึ่งจะต้องมั่นใจว่าในอนาคตจะไม่ถูกแทรกแซงจากรัฐบาลประเทศใดประเทศหนึ่งที่คลั่งอำนาจจนสั่งการเช่นนี้อีกหรือไม่ มิเช่นนั้นแล้ว การเกิดดิจิทัลแพลตฟอร์มกลางที่ทุกคนสามารถเข้ามามีส่วนร่วมได้อย่างบริสุทธิ์ใจ และมั่นใจว่าในอนาคตจะไม่เกิดเหตุการณ์เนรเทศบริษัทเทคโนโลยีที่ร่วมกันพัฒนาขึ้นอีกอย่างแน่นอน
บทสรุปของการกระทำนี้ ทำให้โลกดิจิทัล พลิกกลับไปสู่การพัฒนาแบบแยกกันทำอีกครั้ง ซึ่งอาจจะมีการแบ่งฝ่ายเทคโนโลยีตะวันออกและตะวันตกอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ และหากมองย้อนกลับไปเมื่อสมัยที่มือถือเป็นเครื่องฟีเจอร์โฟน ที่เริ่มพัฒนาขึ้นสู่สมาร์ทโฟนที่ต่างฝ่ายต่างแย่งกันพัฒนาระบบปฎิบัติการกันขึ้น ทำให้ผู้พัฒนาแอปพลิเคชั่นต้องเลือกพัฒนาแอปตามระบบปฏิบัติการส่วนใหญ่เท่านั้น
จวบจนกูเกิลเสนอตัวเป็นแพลตฟอร์มกลางที่ให้ทุกค่ายมือมือสามารถเข้าใช้งาน และพัฒนาความสามารถร่วมกันได้อย่างอิสระ ทั้งรูปแบบการใช้งานเต็มรูปแบบลิขสิทธิ์ หรือนำคอร์หลักแบบฟรีของระบบไปพัฒนาต่อยอดเพื่อใช้ชื่อแบรนด์ของตัวเอง จนกลายเป็นที่ยอมรับจากทุกค่าย และทำให้ระบบปฎิบัติการเล็กๆล้มหายตายจากกันไป
วันนี้โลกดิจิทัลถูกบีบอีกครั้งให้เกิดการเปลี่ยนแปลงขนานใหญ่ ซึ่งไม่ว่าใครก็ตามที่จะพัฒนาระบบปฏิบัติการใหม่ขึ้นมาใช้ ก็จะยังไม่ถูกไว้วางใจจากประสบการณ์อันเลวร้ายครั้งนี้ในทันทีทันใดอย่างแน่นอน นับว่าเป็นการถดถอยของโลกดิจิทัลครั้งใหญ่ที่สร้างผลกระทบไปสู่ทั่วโลกอย่างฉับพลัน ไม่แน่ว่าในอนาคตเราอาจจะต้องทำดิจิทัลวีซ่าเพื่อเข้าสู่อินเทอร์เน็ตระหว่างประเทศก็เป็นได้ ใครจะรู้….
ลิงค์ที่เกี่ยวข้อง