เอไอเอสได้รับความไว้วางใจใช้บริการ IoT โซลูชันจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ในการพัฒนานวัตกรรมยกระดับโครงการ TU Smart City สู่มหาวิทยาลัยอัจฉริยะ เริ่มต้น 3 โซลูชัน ช่วยบริหารจัดการทรัพยากรและพื้นที่ ผ่านระบบมอนิเตอร์อัจฉริยะประกอบด้วย Smart License Plate, Smart Lighting และ Smart Locker
ด้านธรรมศาสตร์เผยพร้อมต่อยอดเทคโนโลยีในโลกยุคปัจจุบันมาสร้างการเปลี่ยนแปลงของการใช้ชีวิตในรั้วมหาวิทยาลัยอย่างยั่งยืน
นายยงสิทธิ์ โรจน์ศรีกุล หัวหน้าคณะผู้บริหารกลุ่มลูกค้าองค์กร เอไอเอส กล่าวว่า เอไอเอสเดินหน้าภายใต้โครงการความร่วมมือ AIAP (AIS IoT Alliance Program) กับมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ด้วยการพัฒนาโซลูชัน IoT รวมถึงแพลตฟอร์มที่รองรับการให้บริการ IoT
ให้สอดคล้องกับความต้องการใช้งานของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์โดยเฉพาะ ซึ่งมีการทดสอบ พัฒนา เพื่อปรับให้เหมาะสมกับการใช้งานในพื้นที่มหาวิทยาลัยมากที่สุด โดยทยอยเปิดให้บริการแล้วที่ธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต
ความร่วมมือกับมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ครั้งนี้จะทำให้ TU Smart City กลายเป็นต้นแบบนวัตกรรม IoT ที่ทำให้เราเห็นภาพของการนำโซลูชันต่างๆ เข้ามาใช้ในชีวิตประจำวันได้อย่างกลมกลืนภายในรั้วมหาวิทยาลัย รวมทั้งภาพของการทำงานร่วมกันของทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องใน IoT Ecosystem
ซึ่งจะเป็นการจุดประกายของการนำ IoT ไปใช้ใน Scale ที่ใหญ่ขึ้น จากระดับมหาวิทยาลัย สู่ชุมชน เมือง จังหวัด และประเทศ ซึ่งเราเชื่อมั่นว่าต่อจากนี้ Internet of Things จะเป็นเทคโนโลยีที่จับต้องได้และสามารถนำมาเพิ่มโอกาสใหม่ๆ ที่จะยกระดับการใช้ชีวิตของคนไทย พร้อมผลักดันประเทศไทยสู่สังคม Smart City อย่างยั่งยืน
“การที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เลือกใช้โซลูชันส์ IoT ของเอไอเอส เพื่อเป็นส่วนหนึ่งในการขับเคลื่อนโครงการ “TU Smart City” โดยมีเป้าหมายร่วมกัน คือ ยกระดับการใช้ชีวิตด้วยเทคโนโลยี ควบคู่ไปกับการดูแลสิ่งแวดล้อม ซึ่งเอไอเอสได้คัดสรรนวัตกรรมดิจิทัลที่กำลังเป็นเทรนด์ของโลกอย่าง IoT มาให้บริการเชิงพาณิชย์แล้ว
โดยนำศักยภาพเครือข่าย NB IoT ที่ครอบคลุมทั่วประเทศแล้วมาผสมผสานกับอุปกรณ์ NB IoT ที่ใช้พลังงานต่ำ แต่สามารถสื่อสารกับเครือข่ายได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ แม้อุปกรณ์นั้นจะอยู่ในพื้นที่ปิด”
รองศาสตราจารย์เกศินี วิฑูรชาติ อธิการบดี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า ธรรมศาสตร์เลือกใช้บริการ IoT จากเอไอเอส เนื่องจากเห็นถึงความพร้อมเครือข่าย NB IoT ที่ครอบคลุมทั่วประเทศ รวมถึงมี Digital Platform และอุปกรณ์ที่ครบครัน
สามารถนำมาพัฒนาต่อยอดบริการได้หลากหลายรูปแบบ สามารถปรับใช้ให้เหมาะสมกับพื้นที่ และสอดคล้องกับพฤติกรรมของคนในประชาคมธรรมศาสตร์ ซึ่งในอนาคตยังมีแผนพัฒนาโครงการ TU Smart City อย่างต่อเนื่อง
โดยมุ่งเน้นต่อยอดโอกาสใหม่ๆ จากเทคโนโลยีในโลกยุคปัจจุบัน มาสร้างการเปลี่ยนแปลงของการใช้ชีวิตในรั้วมหาวิทยาลัยอย่างยั่งยืน
“มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์นอกจากจะให้บริการด้านการศึกษาแล้ว เรายังเป็นชุมชนที่มีสมาชิกทั้งนักศึกษาและบุคลากรมากกว่า 10,000 คน ใช้ชีวิตอยู่ในพื้นที่หอพักทุกวัน และมีคนเข้าออกตลอดเวลา
จึงต้องมีการบริหารจัดการอย่างเป็นระบบ เพื่ออำนวยความสะดวกและดูแลความปลอดภัยอย่างรัดกุม โดยตั้งแต่ก่อตั้งโครงการ TU Smart City ขึ้นมา ธรรมศาสตร์ได้พัฒนาโซลูชันต่างๆ เพื่อนำเทคโนโลยีที่ทันสมัยที่เข้ามาช่วยจัดการภายในมหาวิทยาลัยได้อย่างมีประสิทธิภาพ”
โดยเริ่มต้นกับการใช้งาน 3 โซลูชัน ที่ช่วยบริหารจัดการทรัพยากรและพื้นที่อย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด ผ่านระบบมอนิเตอร์อัจฉริยะโดยไม่ต้องใช้เจ้าหน้าที่อีกต่อไป ประกอบด้วย Smart License Plate ระบบตรวจสอบทะเบียนรถเข้าออกภายในบริเวณหอพัก
เชื่อมต่อกับฐานข้อมูลรถที่ได้รับอนุญาต ทำให้สะดวกในการบริหารความปลอดภัยและจัดการพื้นที่จอดรถได้อย่างมีประสิทธิภาพ
Smart Lighting ระบบควบคุมไฟริมทางตามถนนภายในมหาวิทยาลัยกว่า 5,000 ดวง
โดยใช้เซ็นเซอร์ตรวจจับ เพื่อหรี่ไฟอัตโนมัติ เมื่อไม่มีการเคลื่อนไหวในบริเวณนั้น สามารถตั้งค่าความสว่างในแต่ละโซนได้ รวมทั้งระบบจะแจ้งเตือนทันที เมื่อไฟชำรุด ซึ่งคาดว่าจะช่วยลดการใช้พลังงานในส่วนนี้ได้ถึง 50%
และ Smart Locker บริหารการใช้ตู้ล็อกเกอร์ด้วยระบบ IoT มอบความสะดวกแก่ผู้ใช้ ให้สามารถดูสถานะของตู้ได้ พร้อมระบบล็อกดิจิทัล ตอบโจทย์การใช้ชีวิตของนักศึกษา/บุคลากร รวมถึงระบบบริหารจัดการพื้นที่และทรัพยากรของมหาวิทยาลัยด้วยเทคโนโลยีดิจิทัลที่จะช่วยดูแลสิ่งแวดล้อม สร้างความคุ้มค่าอย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด