เกษตรแปลงใหญ่ การแก้ปัจจัยลบที่เกษตรกรต้องลอง

เกษตรแปลงใหญ่ การแก้ปัจจัยลบที่เกษตรกรต้องลอง

การส่งเสริม เกษตรแปลงใหญ่ ไม่ใช่เพิ่งเริ่มทำมาไม่นานนี้ แต่ดำเนินงานกันมาพอสมควรแล้ว และขณะนี้เริ่มเห็นผลได้อย่างชัดเจน โดยปัจจัยหลักของความสำเร็จส่วนหนึ่ง มาจากการเลือกที่จะใช้ตลาดนำการผลิต การลดต้นทุนด้านวัตถุดิบเนื่องจากการรวมตัวกันซื้อ

และที่สำคัญคือมีพื้นที่ขายสินค้าอย่างชัดเจน ซึ่งล่าสุด “กรมส่งเสริมการเกษตร” ได้ทำการเปิดตัวดาวดวงใหม่ผลไม้แปลงใหญ่ โกอินเตอร์ ได้แก่ สับปะรดผลสด มะขามหวาน มะพร้าวน้ำหอม ซึ่งเป็นสินค้าที่มีแนวโน้มตลาดส่งออกดีในต่างประเทศ

โครงการระบบส่งเสริมการ เกษตรแปลงใหญ่ เริ่มดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2559 ปัจจุบันเข้าสู่ปีที่ 4 และมีสินค้ากว่า 70 ชนิดสินค้า จำนวน 5,518 แปลง พื้นที่ 5,542,805 ไร่ เกษตรกร 334,969 ครัวเรือน ก่อให้เกิดมูลค่าเพิ่มในการผลิตสินค้าแปลงใหญ่กว่า 22,000 ล้านบาท

เกิดเครือข่ายการบริหารจัดการร่วมกัน ซึ่งภาครัฐเป็นพี่เลี้ยงดูแลให้เกษตรกรสามารถดำเนินการผลิต มีแผนการผลิต ซึ่งปัจจุบันทุกสินค้ามีตลาดรองรับไม่ว่าจะเป็นสินค้าเกษตรอุตสาหกรรม ซึ่งต้องผ่านโรงงานแปรรูป ได้แก่ อ้อย ปาล์มน้ำมัน มันสำปะหลัง

เกษตรแปลงใหญ่

“ผลผลิตจากแปลงใหญ่จะได้ราคาสูงกว่าเกษตรกรรายย่อยทั่วไป เนื่องจากคุณภาพและปริมาณที่ภาคอุตสาหกรรมมั่นใจได้ รวมทั้งสินค้าอื่นๆ เช่น ผัก ผลไม้ ซึ่งทางกรมส่งเสริมการเกษตรยังได้มีการเชื่อมโยงกับ modern trade ต่างๆ เช่น Tesco Lotus, Tops โดยเฉพาะผลไม้ซึ่งเป็นสินค้าเกษตรที่สำคัญที่นอกจากขายตลาดในประเทศ แล้วยังมีผลไม้ดาวเด่นอีกหลายชนิดที่เป็นที่ต้องการของตลาดโลก”

นายสำราญ สาราบรรณ์ อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวว่า รายได้ของภาคการเกษตรยังมีช่องว่างเมื่อเทียบกับภาคอื่นๆ ประกอบกับยังต้องปรับเปลี่ยนให้ทันการเปลี่ยนแปลงของตลาดที่มีกฏกติกามากขึ้น การผลิตเพื่อสร้างรายได้เพียงอย่างเดียวไม่เพียงพออีกต่อไป นอกจากนี้ยังต้องรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศค่อนข้างจะรุนแรงในปัจจุบัน

อาทิ ฝนไม่ตกต้องตามฤดูกาล อุณหภูมิของโลกที่สูงขึ้น ซึ่งเกษตรกรต้องรู้เท่าทัน ติดตามข่าวสารด้านพยากรณ์อากาศ เพื่อเตรียมแหล่งน้ำเพื่อรองรับ รวมไปถึงการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต เนื่องจากปัจจุบันประเทศเพื่อนบ้านก็เริ่มผลิตสินค้าประเภทเดียวกันเข้ามาแข่งขัน

“ราคาเป็นเรื่องสำคัญที่เราไม่สามารถกำหนดได้ แต่เราสามารถใช้เทคโนโลยีเพิ่มผลผลิตได้เพื่อการแข่งขัน และผู้บริโภคยอมจ่ายในราคาที่สูงขึ้น แต่คุณภาพและความปลอดภัยต้องมาก่อน การไม่ดูแลคุณภาพคือการทำลายตลาดของตัวเอง

นอกจากนี้ไม่ใช่ว่าจะหวังแต่ให้ราชการช่วยเหลือ เกษตรกรต้องพร้อมที่จะพัฒนาตนเองด้วย ซึ่งปัจจุบันมีเกษตรกรรายย่อยเป็นจำนวนมาก การรวมกลุ่มจึงเป็นเรื่องจำเป็นเพราะต้องใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วยมากขึ้น ต้องจัดซื้อเทคโนโลยี มีการบริหารจัดการร่วมกันเพื่อให้เกิดต้นทุนที่ต่ำแต่ได้ผลผลิตในปริมาณที่สูง”

ปัจจุบันการปลูกเกษตรแปลงใหญ่เราพยายามเชื่อมโยงตลาดตั้งแต่แรก จะส่งเสริมอะไรจะมองตลาดก่อน สินค้าแปลงใหญ่ทุกแปลงมีรายได้ มีเงินออมในกระเป๋ามากขึ้น เกษตรกรมีอำนาจต่อรองมากขึ้น ทำให้เกษตรมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น แต่เกษตรกรต้องมีวินัย มีความซื่อสัตย์ต่ออาชีพของตนเองด้วย เพราะถ้ามีความเข้มแข็งแล้วอาจจะมีผู้ไม่หวังดีมาป่วนและทำให้การรวมกลุ่มเกิดความสั่นคลอนได้

เช่น มีผู้ซื้อมาให้ราคาสูงกว่าปกติแล้วเกษตรกรไปส่งเขาแทน จะทำให้กลุ่มเสียหายได้ หากมีเกษตรกรรายใดรายหนึ่งไปขายให้กับพ่อค้าคนกลางเหล่านั้นก็จะทำให้ผลผลิตไม่พอส่งตลาดที่กำหนด

เกษตรแปลงใหญ่

สำหรับการเกษตรแปลงใหญ่ของกรมส่งเสริมการเกษตรได้เริ่มปรับให้มีการบริหารจัดการให้ชัดเจนขึ้น เรากำลังทำเมกกะฟาร์มเป็นโครงการนำร่องอยู่ 6 จุดเพื่อดูเรื่องกระบวนการทำงาน การเชื่อมโยง แล้วนำมาใช้เป็นต้นแบบ เป็นบทเรียนที่ดีให้กับเกษตรกร เพราะเกษตรกรผลิตได้ดีก็จะได้รับผลผลิตที่ดี

ซึ่งในแต่ละแปลงจะมีการเก็บข้อมูลไว้ โดยในกลุ่มผักเราเชื่อมโยงกับโมเดิร์นเทรด 30 กว่าแปลงแล้ว มีออเดอร์ล่วงหน้ากว่า 3-4 เดือน โดยมีการกำหนดชัดเจนว่าจะต้องผลิตในปริมาณเท่าไร คุณภาพขนาดไหน และราคาขายอยู่ที่เท่าไร ไม่ต้องกลัวราคาจะตกต่ำ

สำหรับผลไม้ดาวเด่นล่าสุดอย่าง สับปะรดผลสด มะพร้าวน้ำหอมและมะขามหวาน นั้น ปัจจุบัน สับปะรดผลสดเข้าสู่ระบบส่งเสริมการเกษตรแบบแปลงใหญ่ จำนวน 35 แปลง เกษตรกร เข้าร่วม 1,622 ครัวเรือน พื้นที่ 32,729 ไร่ มีจังหวัดที่ดำเนินการ 15 จังหวัด ได้แก่ กาญจนบุรี ชลบุรี ชัยภูมิ เชียงราย นครพนม ประจวบคีรีขันธ์ เพชรบุรี ภูเก็ต ระยอง ราชบุรี ลำปาง เลย หนองคาย อุตรดิตถ์ อุทัยธานี

มะขามหวาน เข้าสู่ระบบส่งเสริมการเกษตรแบบแปลงใหญ่ จำนวน 16 แปลง เกษตรกรเข้าร่วม 901 ราย พื้นที่ 16,791 ไร่ จังหวัดที่ดำเนินการ 5 จังหวัด ได้แก่ เพชรบูรณ์ นครราชสีมา น่าน อุตรดิตถ์ ชัยภูมิ

ส่วนมะพร้าวน้ำหอม เข้าสู่ระบบส่งเสริมการเกษตรแบบแปลงใหญ่ จำนวน 11 แปลง เกษตรกรเข้าร่วม 401 ราย พื้นที่ 5,135 ไร่ จังหวัดที่ดำเนินการ 4 จังหวัด ได้แก่ นครปฐม ราชบุรี สมุทรปราการ สมุทรสาคร

ลิงค์ที่เกี่ยวข้อง

กรมส่งเสริมการเกษตร

Related Posts