เนคเทค จัดทราฟฟี่ฟองดู เนรมิตรนิคมอุตสาหกรรมนวนคร สู่การจัดการแบบอัจฉริยะ ด้วยแพลตฟอร์ม ทราฟฟี่ ผ่านแอปพลิเคชั่น ทราฟฟี่ฟองดู (Traffy fondue) ระบบแจ้งเรื่องผ่านแอปพลิเคชั่นพร้อมระบบไลน์แชตบอท ช่วยโต้ตอบ ส่งเรื่อง และสอบถามแบบอัตโนมัติ ลดคนดูแลและเพิ่มประสิทธิภาพการจัดการนิคมจากใช้เวลามากกว่าวันสู่รายชั่วโมง
นายสุทธิพร จันทวานิช กรรมการผู้จัดการและรักษาการตำแหน่งรองกรรมการผู้จัดการด้านสาธารณูปโภค บริษัท นวนคร จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า เราพยายามพัฒนาระบบสาธารณูปโภคภายในนิคมอยู่แล้ว และก็ตั้งเป้าว่าจะสร้างให้เป็นนวนคร สมาร์ทซิตี้้ ให้ได้ในอนาคต
และเนื่องจากเราเป็นนิคมอุตสาหกรรมเก่าแก่ เราอยู่ร่วมกับชุมชนมานาน ซึ่งการดูแลซึ่งกันและกันทำให้เราอยู่ร่วมกันได้อย่างสมบูรณ์แบบ เดิมทีเรามีการสร้างกลุ่มไลน์เพื่อดูแลและแจ้งเรื่องทั้งกลุ่มโรงงานและกลุ่มชุมชน แต่กระนั้นก็ยังยุ่งยากในการจัดการอยู่พอสมควรซึ่งต้องใช้้เวลาอีกกว่า 1 วันในการแก้ไขปัญหา

โดยเมื่อเนคเทค เข้ามาติดต่อและแนะนำให้เราทำแอปพลิเคชันทราฟฟี่ฟองดู ทำให้เราสนใจในการสร้างระบบการรับเรื่องเพื่อปรับปรุงสาธารณูปโภคให้ดียิ่งขึ้น ผ่านการแจ้งเรื่องและจัดการด้วยแพลตฟอร์มทราฟฟี่
นอกจากนั้นเรายังมีการปรับปรุงระบบการสื่อสาร โดยเรามีการวางระบบไฟเบอร์ออพติกแล้วเสร็จในช่วงปีที่ผ่านมา ซึ่งเฟสแรกเราจะเปลี่ยนผ่านให้โรงงานมาใช้ระบบไฟเบอร์ หลังจากนั้นจะเริ่มให้ชุมชนปรับเปลี่ยน แล้วนำสายสื่อสารเก่าลงจากเสาเพื่อให้ภูมิทัศน์สวยงามมากขึ้น
เบื้องต้นมีการทดลองใช้ระบบแจ้งซ่อมของ ทราฟฟี่ ฟองดูมานานกว่า 2เดือนแล้วประทับใจ ทำให้เราทำงานได้ง่ายและรวดเร็วมากขึ้น สามารถติดตามเรื่องแจ้งซ่อมและจัดการได้อย่างสะดวกภายในไม่กี่ชั่วโมง อีกทั้งยังมีระบบแชตบอทที่ช่วยตอบคำถามได้ทันที ไม่ต้องสิ้นเปลืองแรงงานนั่งตอบหรือรับเรื่องแจ้งซ่อมอีกต่อไป
ด้านพนิตา พงษ์ไพบูลย์ รองผู้อำนวยการศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (เนคเทค) กล่าวว่า หลังจากที่เราทดลองระบบในเทศบาลเมืองภูเก็ตแล้วได้รับผลตอบรับดีมาก ทำให้เราอยากต่อยอดมาสู่สถานที่อื่นๆเพื่อให้เกิดระบบบริหารจัดการเมืองที่มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น

นิคมอุตสาหกรรมนวนคร ก็เป็นอีกหนึ่งแห่งที่มีความร่วมมือและพัฒนาระบบร่วมกับNECTEC และนับเป็นอีกหนึ่งตัวอย่างที่ประสบความสำเร็จในการใช้งาน ทราฟฟี่ฟองดู โดยเป็น 1 ใน 5 หน่วยงานที่จะได้รับคัดเลือกให้จัดแสดงผลงานในงาน Thailand Tech Show 2019 ที่จะจัดแสดงตัวอย่างโซลูชั่นสมาร์ทซิตี้และแพลตฟอร์มตัวอย่าง ระหว่างวันที่ 5-6 กันยายน 2562 ณ เซ็นทรัลเวิร์ด กรุงเทพฯ
ด้าน ดร.วสันต์ ภัทรอธิคม นักวิจัยอาวุโสทีมวิจัยระบบขนส่งและจราจรอัจฉริยะ เนคเทค กล่าวว่า ทราฟฟี่ฟองดู มีจุดเริ่มต้นมาจากการพัฒนาระบบการแจ้งขยะที่ได้ทดลองใช้ในจังหวัดภูเก็ต ซึ่งเป็นระบบแพลตฟอร์มที่ให้ประชาชนเป็นผู้แจ้ง
จนเมื่อเกิดการแจ้งแล้ว ก็เริ่มมีเสียงตอบรับที่ดีมากและมีการเสนอแนะให้แจ้งอย่างอื่นเพิ่มได้ด้วย ทำให้เราพัฒนามาสู่การแจ้งเตือนการทำงานในส่วนต่างๆของเมืองมากขึ้น และพัฒนามาเป็นระบบแจ้งซ่อมและบริหารจัดการ ซึ่งช่วยให้เจ้าหน้าที่ทำงานได้ง่ายขึ้นและประชาชนสามารถแจ้งเรื่องได้ง่ายและรวดเร็วยิ่งขึ้น
อีกทั้งในด้านของข้อมูล ยังมีการจัดเก็บเพื่อประเมินประสิทธิภาพของการเกิดปัญหาในแต่ละพื้นที่ เพื่อให้เกิดการเข้าใจและวางแผนการจัดการได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น ภายใต้การประเมินของเอไอที่มีประสิทธิภาพ
โดยปัจจุบันแอปพลิเคชั่น ทราฟฟี่ฟองดู มีความพร้อมในระบบแอนดรอยด์ ไอโอเอส และไลน์แชตบอท สามารถรองรับการใช้งานได้ทั้งระบบการจัดการสาธารณูปโภค ทั้งรูปแบบอบต เทศบาล นิคมอุตสาหกรรมหรือแม้กระทั่งหมู่บ้านและคอนโด โดยไม่มีค่าใช้จ่าย
ด้านนายวรภพ จารุศร ผู้อำนวยการฝ่ายพัฒนาธุรกิจบริษัท นวนคร จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ระบบนี้ช่วยทำให้ผู้แจ้งซ่อมสามารถส่งเริ่องตรงเข้าระบบการรับเรื่องได้ทันที ทำให้ประหยัดค่าใข้จ่ายและเรื่องการทำเอกสารได้เยอะมาก อีกทั้งจากเดิมต้องใช้เวลามากกว่า 1 วันในการรับเรื่องซ่อมและดำเนินงาน ทำให้เราสามารถจัดการได้ในทันทีภายในไม่กี่ชั่วโมง

ขณะที่จุดเด่นอีกอย่างคือการใข้ไลน์บอท ซึ่งมีบทบาทเข้ามาช่วยการตอบข้อซักถามและทักทาย ตลอดจนสอบถามปัญหาเบื้องต้นอย่างอัตโนมัติ ทำให้เราไม่เกิดปัญหานักเลงคีย์บอร์ดแบบไลน์กลุ่มเดิม หรือแม้กระทั่งต้องใช้คนเข้ามาประจำเพื่อตอบไลน์กลุ่ม ไลน์บอทจะเข้ามาช่วยทำจุดนี้แบบอัตโนมัติในทันที
และยังส่งข้อมูลเข้าไปในส่วนที่เกี่ยวข้องทันที เพื่อให้เราสามารถแก้ไขปัญหาได้ทันที ช่วยลดต้นทุนทั้งเงินและเวลาได้เป็นอย่างมาก โดยปัจจุบันนิคมเรามีสมาชิกจากโรงงานกว่า 426 คน ราว 200 กว่าโรงงาน การจัดการผ่านทราฟฟี่ฟองดูทำให้เกิดความสะดวกมากยิ่งขึ้น และตอบสนองการซ่อมแซมได้ทันที
โดยระบบจะแสดงขั้นตอนการดำเนินงาน ว่าถึงกระบวนการไหนแล้ว ผู้แจ้งสามารถตรวจสอบขั้นตอนได้ นอกจากนั้นหน่วยงานที่เกี่ยวข้องสามารถเข้าตรวจสอบและดำเนินการได้ทันทีจากเรื่องที่แจ้งเข้ามา ทำให้เราสามารถจัดการได้อย่างเป็นระบบและรวดเร็วยิ่งขึ้น
ขณะที่การจัดการหลังบ้าน ยังมีการจัดการระบบระดับการเข้าถึงของการทำงานตามส่วนงานที่เกี่ยวข้อง ทำให้สามารถเข้าถึงได้เฉพาะผู้ที่เกี่ยวข้องเท่านั้นจริงๆ ซึ่งปลอดภัยจากนักเลงคีย์บอร์ด อีกทั้งยังมีการรายงานภาพรวมให้ผู้บริการได้รับทราบแบบรายวัน รายเดือนและรายปีอีกด้วย
ด้าน ดร.วสันต์ กล่าวเสริมว่า ในอนาคตจะมีการพัฒนาเรื่องภาษาให้เหมาะสมกับแต่ละประเทศมากขึ้น เพื่อขยายบริการออกไปสู่ต่างประเทศ อีกทั้งยังจะมีระบบการให้คะแนนเพื่อสร้างกำลังใจและสนับสนุนการทำงาน หรือวัดผลการดำเนินงานของทีมแก้ปัญหา อีกทั้งในอนาคตจะมีการรายงานปัญหาในภาพรวมและแนะนำแนวทางการแก้ปัญหาด้วยเอไออีกด้วย
ทั้งนี้ นวนคร ร่วมมือในการพัฒนาแอปพลิเคชั่นเป็นระยะเวลาราว 3เดือน ในการสร้างแอปที่ตรงความต้องการนิคมมากที่สุด และเริ่มใช้งานมาแล้วราว 2 เดือน จนทำให้เกิดการเพิ่มไลน์แชตบอทในระบบเพื่อจัดการส่งเรื่องและสอบถามเบื้องต้นด้วนเอไอแทนการใช้มนุษย์ และเมื่อสร้างระบบเสร็จ ก็ยังสามารถใช้งานได้ด้วยการอบรมเพียงแค่ไม่กี่ชั่วโมงเท่านั้น
หน่วยงานที่สนใจจะใช้แอปพลิเคชั่น ทั้งนิติบุคคล อบต. องค์กรท้องถิ่นที่ต้องการระบบจัดการสาธารณูปโภค เข้าช่วยจัดการภายในสามารถดาวน์โหลดแอปพลิเคชั่นทราฟฟี่ฟองดูได้ฟรี หรือหากต้องการคำแนะนำ สามารถติดต่อไปได้ที่้เนคเทค เพื่อยกระดับการจัดการชุมชนได้อย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น
ลิงค์ที่เกี่ยวข้อง
ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (Nectec)