ดีป้า เผยเศรษฐกิจดิจิทัลทำตลาดซอฟต์แวร์ไทยเปลี่ยนทิศทาง จากการขายไลเซนส์เป็นการนำซอฟต์แวร์มาสร้างบริการ ชี้ใครไม่ปรับตัวถ้าไม่โตก็ตาย พร้อมตั้ง 3 มาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบการเอสเอ็มอีให้สามารถรับมือกับการเปลี่ยนแปลง มั่นใจจะดึงตัวเลขมูลค่าตลาดซอฟต์แวร์และบริการซอฟต์แวร์ไทยปี 2560 จะดีขึ้นเป็น 52,000 ล้านบาท เท่ากับตัวเลขในปี 2558
ดร.ณัฐพล นิมมานพัชรินทร์ ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (ดีป้า) กล่าวว่า การเข้าสู่ยุคเศรษฐกิจดิจิทัล ส่งผลให้อุตสาหกรรมซอฟต์แวร์กำลังเปลี่ยนรูปแบบจากเดิมที่เน้นขายไลเซนส์ซอฟต์แวร์ มาเป็นการนำซอฟต์แวร์มาสร้างเป็นบริการ ซึ่งจากการสำรวจข้อมูลอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์และบริการซอฟต์แวร์ปี 2559 พบมูลค่าตลาดซอฟต์แวร์และบริการซอฟต์แวร์ไทย ไม่รวมซอฟต์แวร์เกมและแอนิเมชัน ปี 2559 มีมูลค่าการผลิต 50,129 ล้านบาท ลดลงจากปี 2558 ร้อยละ 4.63
ส่วนมูลค่าตลาดซอฟต์แวร์และบริการซอฟต์แวร์นำเข้าประเทศไทยลดลงจากปี 2558 ประมาณร้อยละ 5.42 สวนทางมูลค่าซอฟต์แวร์และบริการซอฟต์แวร์เพื่อการพัฒนาในองค์กรที่เพิ่มขึ้นร้อยละ 6.25
“ธุรกิจที่จะอยู่รอดในเศรษฐกิจดิจิทัลนั้นจะต้องนำข้อมูลมาวิเคราะห์ด้วยซอฟต์แวร์ ธุรกิจแบบเดิมจะไม่โตหากไม่ปรับตัว ดังนั้นบริษัทซอฟต์แวร์จึงต้องตอบโจทย์องค์กรธุรกิจด้วยบริการในรูปแบบการนำซอฟต์แวร์มาสร้างบริการ เพราะหากบริษัทซอฟต์แวร์ยังเดินธุรกิจรูปแบบเดิมจะเห็นทิศทางที่ถดถอยชัดเจน”
ด้วยการเปลี่ยนแปลงดังกล่าว ทำให้ดีป้าผลักดัน 3 มาตรการสำคัญเพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการซอฟต์แวร์ในการพัฒนารูปแบบในการให้บริการ ประกอบไปด้วย 1.มาตรการสร้างตลาด ด้วยการเพิ่มสิทธิประโยชน์ทางด้านภาษี ให้ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีที่มีรายได้ต่อปีไม่เกิน 30 ล้านบาท นำผลิตภัณฑ์หรือบริการด้านโปรแกรมคอมพิวเตอร์ที่จดทะเบียนถูกต้องตามกฎหมายมาเป็นเครื่องมือในการดำเนินงานและบริหารจัดการธุรกิจเพิ่มมากขึ้น สามารถนำค่าใช้จ่ายตรงนี้มาลดหย่อนภาษีได้100,000 บาท ซึ่งขณะนี้ได้ผ่านความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรีเป็นที่เรียบร้อยแล้วเมื่อวันที่ 27 มิถุนายน ที่ผ่านมา
ขณะนี้กำลังอยู่ในขั้นตอนการพิจารณาของกฤษฎีกา คาดว่าจะมีผลบังคับใช้ภายในเดือน ส.ค.นี้ เพื่อให้เอสเอ็มอีใช้สิทธิประโยชน์ดังกล่าวในงบการเงิน 3 ปี คือ ปี 2560-2562
2. มาตรการสร้างความเชื่อมั่น ด้วยการส่งเสริมผู้ประกอบการซอฟต์แวร์ ให้ได้รับมาตรฐาน ISO 29110 ซึ่งได้ร่วมมือกับ กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี โดย NECTEC และกระทรวงอุตสาหกรรม โดย MASCI ทั้งนี้เพื่อผลักดันให้ผู้ประกอบการซอฟต์แวร์มีการพัฒนาและเพิ่มศักยภาพ สามารถแข่งขันได้ในระดับสากล ซึ่งดีป้าจะใช้งบประมาณที่ใช้ในการอบรมโยกมา 10 ล้านบาท เพื่อช่วยออกค่าใช้จ่ายในการทำ มาตรฐาน ISO 29110 ให้ผู้ประกอบการ 70% ตั้งเป้านำร่องภายในปีนี้ 200 บริษัท
และ 3. มาตรการการสร้างขีดความสามารถในการพัฒนานวัตกรรมดิจิทัล (Digital Innovation) ด้วยการจัดตั้ง สถาบันไอโอที เพื่อพัฒนา “คน” ซึ่งในสถาบันจะประกอบไปด้วยพื้นที่สำหรับ IoT co-working space, Cloud innovation center, Maker space ทั้งในส่วนของฮาร์ดแวร์และซอฟต์แวร์ และพื้นที่จับคู่ธุรกิจ โดยจะไม่เน้นวิชาการแต่อยู่บนพื้นฐานการทำธุรกิจอย่างแท้จริง เบื้องต้นคาดว่าจะเริ่มต้นที่ จ.ชลบุรี โดยระหว่างที่รอการสร้างอาคารซึ่งต้องใช้เวลาประมาณ 3 ปี จะใช้ ทรู ดิจิตอล พาร์ค ที่สุขุมวิท 101 เป็นสถาบัน IoT ชั่วคราวก่อน
โดยคาดว่าการออก 3 มาตรการดังกล่าวจะเป็นส่วนช่วยกระตุ้นให้อุตสาหกรรมซอฟต์แวร์กลับมาคึกคักอีกครั้ง และทำให้ตัวเลขมูลค่าตลาดซอฟต์แวร์และบริการซอฟต์แวร์ไทยปี 2560 จะดีขึ้นเป็น 52,000 ล้านบาท เท่ากับตัวเลขในปี 2558
ด้าน รศ.ดร. ธนชาติ นุ่มนนท์ จากสถาบัน IMC กล่าวว่า ทางออกของการเข้าสู่ยุคเศรษฐกิจดิจิทัลนั้น รัฐควรต้องส่งเสริมให้เกิดการใช้ซอฟต์แวร์ในกลุ่มผู้ประกอบการระดับ SME ให้มากขึ้น เพื่อช่วยให้เกิดผลประโยชน์ต่ออุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ในระยะยาวควรมีนโยบายระดับชาติด้านการพัฒนาบุคลากรซอฟต์แวร์อย่างเร่งด่วนและจริงจัง เพื่อให้เกิดผลโดยเร็ว รวมทั้งควรมีแผนพัฒนาบุคลากรทั้งในระยะกลาง และระยะยาว
ขณะนี้ประเทศไทยมีปัญหาในขั้นวิกฤติด้านการขาดแคลนบุคลากรซอฟต์แวร์ รวมทั้งควรปรับหลักสูตรการเรียนการสอนด้านซอฟต์แวร์ให้ทันสมัย ทันต่อการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยี อย่างเช่นการให้ความสำคัญกับในส่วนของ Software-Enable Service ด้วย เนื่องจากเป็นแนวโน้มของอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ที่กำลังเกิดขึ้น และมีโอกาสที่จะสร้างมูลค่าอีกมาก โดยไม่ได้จำกัดอยู่ในวงอุตสาหกรรมใดๆ เท่านั้น แต่จะขยายไปยังกลุ่มผู้บริโภคโดยตรง
สำหรับการสำรวจตลาดซอฟต์แวร์ไทยครั้งล่าสุด ซึ่งเป็นโครงการที่สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (DEPA: Digital Economy Promotion Agency) กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม มอบหมายให้สถาบันไอเอ็มซี (IMC) เป็นคณะผู้วิจัยต่อเนื่องเป็นปีที่ 2 ซึ่งการสำรวจข้อมูลอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์และบริการซอฟต์แวร์ในครั้งนี้ จะทำการสำรวจเฉพาะรายได้ของซอฟต์แวร์และบริการซอฟต์แวร์ ไม่รวม Software-enable Service อย่าง Agoda, Ookbee, Netbay, Grab, Line Man เป็นต้น
ผลการสำรวจพบว่ามูลค่าการผลิตซอฟต์แวร์และบริการซอฟต์แวร์ 50,129 ล้านบาท มีมูลค่าลดลงจากปี 2558 ร้อยละ 4.63 มูลค่าดังกล่าวแบ่งเป็นซอฟต์แวร์สำเร็จรูป มูลค่า 12,730 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 9.51 และบริการซอฟต์แวร์ 37,399 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 2.84 ภาคการเงินยังคงเป็นสาขาที่มีการใช้จ่ายด้านซอฟต์แวร์และบริการมากที่สุด รองลงมา คือ หน่วยงานราชการและท่องเที่ยว
การผลิตซอฟต์แวร์สมองกลฝังตัว (Embedded Software) ในปี 2559 มีมูลค่า 5,277 ล้านบาท หดตัวลงร้อยละ 12.62 จากปี 2558 ด้านการส่งออก ผู้ประกอบการซอฟต์แวร์ในประเทศไทยส่งออกซอฟต์แวร์และบริการซอฟต์แวร์มีมูลค่ารวม 3,714 ล้านบาท ขณะที่มีการส่งออกซอฟต์แวร์สมองกลฝังตัว 2,478 ล้านบาท รวมมูลค่าการส่งออกซอฟต์แวร์ในปี 2559 ทั้งสิ้น 6,192 ล้านบาท
คาดการณ์ว่าปี 2560 และ 2561 ตลาดซอฟต์แวร์และบริการซอฟต์แวร์ของไทยจะมีการหดตัวลงราว 4-5% ต่อปี หรือมีมูลค่าการผลิตในประเทศราว 47,623 – 48,124 ล้านบาท ส่วนมูลค่าการผลิตซอฟต์แวร์สมองกลฝังตัวในปี 2560 และ 2561 ประมาณการว่ามีอัตราการเติบโตกลับขึ้นมาจากปี 2559 ปีละราวร้อยละ 5 คิดเป็นมูลค่า 5,541 ล้านบาท และ 5,818 ล้านบาท ตามลำดับ
ปี 2559 ประเทศไทย มีมูลค่าตลาดซอฟต์แวร์และบริการซอฟต์แวร์นำเข้า 31,158 ล้านบาท ลดลงจากปี 2558 ราวร้อยละ 5.42 (มูลค่าปี 2558 อยู่ที่ 32,944 ล้านบาท) ส่วนมูลค่าซอฟต์แวร์และบริการซอฟต์แวร์เพื่อการพัฒนาในองค์กร (In-House) อยู่ที่ 15,834 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีก่อนร้อยละ 6.25 (มูลค่าปีก่อน 14,903 ล้านบาท) และมีจำนวนบุคลากรที่เป็นฐานการผลิตซอฟต์แวร์และบริการซอฟต์แวร์ 56,083 คน