เมื่อโลกหมุนไปยุคดิจิทัลเข้ามามีบทบาทในการดำเนินชีวิตมนุษย์และใช้งานกันง่ายและสะดวก จนเมื่อไม่นานมานี้เริ่มมีคำว่า บิตคอยน์ (Bitcoin)และก็มาสู่ บล็อกเชน (Blockchain)
ว่าเป็นเทคโนโลยีที่จะเปลี่ยนโลกอินเทอร์เน็ตอีกครั้ง ถึงขนาดจะเปลี่ยนวิธีการทำธุรกรรมต่างๆ อย่างสิ้นเชิงเลย
นอกจากนี้ยังมีการคาดการณ์ว่าวงการที่จะโดนผลกระทบของบล็อกเชนอันดับต้นๆ คือ ภาคการเงินและธนาคาร เนื่องจากความสำเร็จของบิตคอยน์ที่ผ่านมา ซึ่งเทคโนโลยีที่เป็นพื้นฐานของบิตคอยน์ ก็คือ บล็อกเชนนั้นเอง
เลยทำให้หันความสนใจมาที่บล็อกเชนแทน ไม่ใช่แค่การนำไปใช้เรื่องเงินดิจิทัลเท่านั้น แต่รวมความไปถึงระบบต่างๆ ที่จะลดค่าใช้จ่ายและความยุ่งยากลงด้วย
โดยหลักการแล้ว เทคโนโลยีบล็อกเชน เป็นการนำเทคโนโลยีต่างๆ ที่มีอยู่แล้ว เช่น การเข้ารหัสข้อมูลขั้นสูง ฐานข้อมูลในแบบกระจายไม่รวมศูนย์ และการรับส่งข้อมูลในแบบกระจาย (peer-to-peer) มารวมกัน
กลายเป็นระบบที่จัดการข้อมูลได้โดยไม่ต้องมีการควบคุมจากศูนย์กลาง จึงสามารถมั่นใจในการทำธุรกรรมว่ามีความถูกต้องอย่างสูง เพราะข้อมูลถูกแชร์ให้ทุกคนที่อยู่ในเครือข่ายของบล็อกเชนเดียวกัน ซึ่งจะส่งผลให้ลดขั้นตอนและลดเวลาของการทำงานลงอย่างมาก
นอกจากนี้ ยังลดความเสี่ยงที่จะเกิดความเสียหายจากการขัดข้องเพียงจุดเดียวก่อให้เกิดการขัดข้องทั้งระบบ (Single Point of Failure) ได้ด้วย
ทั้งหมดนี้เลยทำให้บิตคอยน์ประสบความสำเร็จเป็นอย่างสูง และเกิดการประยุกต์ใช้บล็อกเชนไปใช้ในด้านต่างๆ อย่างมากมาย
สำหรับภาครัฐแล้ว มีความเป็นไปได้สูงที่จะสามารถใช้เทคโนโลยีบล็อกเชนในหลายด้านเลยทีเดียว เพราะลักษณะงานของภาครัฐ โดยธรรรมชาติแล้ว จำเป็นต้องเชื่อมการทำงานของหน่วยงานเข้าด้วยกัน เพื่อแชร์ข้อมูลและฐานข้อมูลในการทำงานเป็นเอกภาพ
แต่ในปัจจุบันระบบสารสนเทศภาครัฐคงเป็นระบบที่กระจัดกระจายตามไปหน่วยงานต่างๆ ทำให้ข้อมูลเกิดการจัดเก็บที่ซ้ำซ้อน และยังมีข้อมูลไม่มีความถูกต้องครบถ้วน
การนำบล็อกเชนมาใช้จะทำให้ข้อมูลอย่างเช่น ข้อมูลโปรไฟล์ของประชาชนที่ถูกเก็บโดยหลายหน่วยงาน ตั้งแต่แรกเกิดไปจนถึงวัยสูงอายุ และบูรณาการให้เป็นชุดเดียวกันอยู่บนเครือข่ายบล็อกเชน
สามารถแชร์ใช้ระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้องโดยมีการควบคุมการเข้าถึงข้อมูลอย่างเหมาะสม ดังนั้นเราจะได้โครงสร้างพื้นฐานด้านข้อมูลภาครัฐที่มีความถูกต้อง ครบถ้วน มีความสะดวกรวดเร็ว และมั่นใจในการใช้งานอย่างแท้จริง
บทความโดย ดร.ศักดิ์ เสกขุนทด ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล (องค์การมหาชน) หรือ DGA