กรมส่งเสริมการเกษตรเดินหน้าสนับสนุนเกษตรแปลงใหญ่อย่างต่อเนื่อง ล่าสุดเปิดตัวระบบฐานข้อมูลแปลงใหญ่ เพื่อรองรับแผนการผลิตให้ผู้ประกอบการให้สามารถเข้ามาวางแผนและบริหารจัดการสินค้าเกษตร และสามารถติดต่อกลุ่มเกษตรกรได้เองในอนาคต เนื่องจากการความสำเร็จของการทำเกษตรแปลงใหญ่ สิ่งจำเป็นคือเครือข่ายต้องสามารถทำงานร่วมกันอย่างเป็นระบบ มีการพูดคุยแลกเปลี่ยนข้อมูลซึ่งกันและกัน เพื่อให้สามารถเตรียมพร้อมปรับแผนงานในอนาคต รองรับการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น
สำหรับการขับเคลื่อนเกษตรแปลงใหญ่ เป็นหนึ่งในแนวทางสำคัญที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ตั้งเป้าหมายที่จะเป็นจุดเริ่มต้นและเป็นแนวทางหนึ่งในการปฏิรูปภาคการเกษตร “เกษตรแปลงใหญ่” จึงตอบโจทย์ในการแก้ไขปัญหาดังกล่าวในระยะยาว เพราะส่งเสริมให้เกิดการรวมกันของพื้นที่เกษตรกรรายย่อย และนำมาบริหารจัดการการผลิตร่วมกัน มีแผนการผลิต แผนการแปรรูป ใช้วิธีการและเทคโนโลยีการผลิตที่เหมือนกัน ตลอดห่วงโซ่อุปทานที่จะส่งผลให้เกิดการเพิ่มประสิทธิภาพในการผลิต
“ล่าสุดกรมส่งเสริมการเกษตรเปิดเวทีเสวนาร่วมกรมประมง กรมปศุสัตว์ กรมหม่อนไหม กรมการข้าว มุ่งเดินหน้าคุยเกษตรแปลงใหญ่ ในงาน Meet the Press “รวมพลังแปลงใหญ่ สร้างเครือข่ายเข้มแข็ง” พร้อมปรับกลยุทธ์รับแผนยุทธศาสตร์ มั่นใจสำเร็จ ตามเป้าหมายยุทธศาสตร์ชาติ พร้อมพูดคุยถึงผลสำเร็จและถอดบทเรียนการทำงานร่วมกัน มุ่งเป้าการพัฒนาปรับกลยุทธ์มุ่งผลลัพธ์เดียวกัน”
นางมาลินี ยุวนานนท์ ผู้อำนวยการสำนักส่งเสริมและจัดการสินค้าเกษตร กรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวว่า ก่อนหน้านี้เกษตรกรยังไม่เข้าใจว่าเกษตรแปลงใหญ่คืออะไร แต่ตอนนี้เริ่มรู้แล้วว่าสามารถช่วยพวกเขาลดต้นทุนของตัวเองได้ และจะช่วยเป็นตัวผลักดันและขับเคลื่อนชุมชนได้ โดยเฉพาะในส่วนของผู้นำที่ตอนนี้เริ่มมีคำถามว่าจะให้อะไรกับชุมชนอื่นๆ ได้บ้าง มากกว่าที่จะถามว่าจะได้รับอะไรเหมือนในอดีต
นอกจากนี้ยังเห็นได้ชัดในเรื่องของภาวะสินค้าล้นตลาด ซึ่งเกิดได้หลายสาเหตุ แต่สำหรับเกษตรกรแปลงใหญ่ใช้ตลาดนำการผลิต มีเอ็มโอยูคู่ค้าที่ชัดเจนจึงจะผลิตตามความต้องการของตลาด ซึ่งเกษตรกรจะรู้ล่วงหน้าว่าจะต้องปลูกแบบไหน รู้ความต้องการตลาดแล้วตอบสนอง ไม่ผลิตไปก่อนแล้วไม่รู้ว่าจะขายใครดี
“การเปลี่ยนแปลงอีกอย่างหนึ่งคือทุกแปลงมีต้นทุนการผลิตที่ลดลงมีสัดส่วนของผลผลิตที่เพิ่มขึ้น เกษตรกรมีรายได้เพิ่มขึ้นจากการปรับเปลี่ยนวิธีการลดต้นทุนและเพิ่มผลผลิต จากสถิติการสนับสนุนระบบพัฒนาแปลงใหญ่ เช่น กลุ่มข้าวมีรายได้สุทธิทางการเกษตรเฉลี่ย 1,383 บาท/ไร่ เพิ่มขึ้น 115 บาท/ไร่ ไม้ผลมีรายได้สุทธิทางการเกษตรเฉลี่ย 34,491 บาท/ไร่ เพิ่มขึ้น 2,091 บาท/ไร่ ประมงมีรายได้สุทธิทางการเกษตรเฉลี่ย 8,028 บาท/ไร่ เพิ่มขึ้น 2,138 บาท/ไร่ ปศุสัตว์มีรายได้สุทธิทางการเกษตรเฉลี่ย 37,126 บาท/ไร่ เพิ่มขึ้น 25,442 บาท/ไร่ นอกจากนี้ยังเกิดการเปลี่ยนแปลงในมิติสิงแวดล้อม สังคม สุขภาพ”
การทำงานแปลงใหญ่จำเป็นที่จะต้องทำงานเป็นเครือข่าย โดยบูรณาการทำงานร่วมกัน ปัจจุบันเครือข่ายแปลงใหญ่ ประกอบด้วย 3 เครือข่าย ได้แก่
- เครือข่ายเกษตรกร : มีวัตถุประสงค์เพื่อให้เกิดการเชื่อมโยงการขับเคลื่อนและพัฒนาการผลิตสินค้าเกษตรแบบแปลงใหญ่ และเพื่อให้เกษตรกรสมาชิกแปลงใหญ่ทั่วประเทศมีส่วนร่วมกับภาครัฐในการขับเคลื่อนดังกล่าว โดยใช้กลไกการขับเคลื่อนในรูปแบบของคณะกรรมการเครือข่ายแปลงใหญ่ซึ่งได้แบ่งเป็น 4 ระดับ คือ ระดับประเทศ ระดับเขต ระดับจังหวัด และระดับอำเภอ
-
เครือข่ายบูรณาการของหน่วยงานภาครัฐ มีวัตถุประสงค์เพื่อเชื่อมโยงความร่วมมือของหน่วยงานที่มีส่วนเกี่ยวข้องในการดูแลและให้การสนับสนุนการดำเนินงานแปลงใหญ่ของเกษตรกร
-
เครือข่ายความร่วมมือของหน่วยงานภาครัฐ-ภาคเอกชน-เกษตรกร มีวัตถุประสงค์เพื่อเชื่อมโยงความร่วมมือของทุกภาคส่วนเพื่อให้เกิดการพัฒนาสินค้าเกษตรแบบแปลงใหญ่ให้เกิดความยั่งยืน โดยหน่วยงานภาครัฐสนับสนุนกลุ่มเกษตรกรในการพัฒนาการผลิตสินค้า ภาคเอกชนเชื่อมโยงกับเกษตรกรในการซื้อขายสินค้า ส่วนเกษตรกรร่วมกันบริหารจัดการการผลิต การตลาด และกระบวนการกลุ่ม
ลิงค์ที่เกี่ยวข้อง