กสท พร้อมยุติข้อพิพาทดีแทค หลังขาดทุนไปแล้ว 6,000 ล้านบาท

กสท พร้อมยุติข้อพิพาทดีแทค หลังขาดทุนไปแล้ว 6,000 ล้านบาท

กสท ยังมึนเรื่องข้อพิพาทเรื่องการโอนกรรมสิทธิ์ในเสาและอุปกรณ์ที่พิพาทกับดีแทค หลังส่งให้กระทรวงดีอีถึงประเด็นข้อกฏหมายที่ยังติดขัด ก่อนที่จะจัดตั้งบริษัทร่วมทุนกับดีแทค เผยหากสำเร็จ ก็จะกลับมามีรายได้เผยเมื่อไม่มีรายได้จากตรงนี้ทำให้ 6 เดือนที่ผ่านมา ขาดทุนไปแล้ว 6,000 ล้านบาท ชี้ขณะนี้ทั้งสองฝ่ายพร้อมเจรจากัน

พันเอก สรรพชัย หุวะนันทน์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) หรือ CAT กล่าวว่า กสทฯ ได้ทำหนังสือไปยังกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) เพื่อให้นายพิเชฐ ดุรงคเวโรจน์ รมว.ดีอี ทำการสอบถามไปยังรองนายกฯ นายวิษณุ เครืองาม ถึงประเด็นข้อกฏหมายว่าติดขัดประเด็นปัญหาอะไรในกรณีข้อพิพาทเรื่องการโอนกรรมสิทธิ์ในเสาและอุปกรณ์ที่พิพาทกับดีแทค

เนื่องจากเป็นการแก้ไขสัญญาสัมปทาน และสัญญาสัมปทานระหว่างกสท และบริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือดีแทคที่จะสิ้นสุดในปี 2561

โดยการส่งเรื่องดังกล่าวเป็นไปตามแนวทางที่คณะกรรมการนโยบายและกำกับดูแลรัฐ วิสาหกิจ (คนร.) มีมติให้เร่งเจรจาแก้ไขปัญหาข้อพิพาทกับเอกชน เพื่อให้มีการบริหารจัดการทรัพย์สินตามสัมปทานให้เกิดประโยชน์สูงสุด ซึ่งในส่วนของ ดีแทค ที่ คนร.เห็นชอบการจัดตั้งบริษัทร่วมทุนกับดีแทค ในโมเดลร่วมทุน (Joint Venture:JV) ที่ทำความตกลงร่วมกันว่า ดีแทคจะโอนกรรมสิทธิ์ในเสาและอุปกรณ์ เพื่อระงับข้อพิพาทต่างๆ นั้นยังไม่มีความคืบหน้ามา 1 ปีแล้ว และยังไม่ได้ข้อสรุป

การร่วมทุน Joint Venture ระหว่างกสท และดีแทค นั้น เราจะได้ ประโยชน์จากการไม่ต้องลงทุนสร้างเสาเพิ่ม ลงทุนโครงข่ายของประเทศก็ไม่ซ้ำซ้อน โดยจะนำเสาโทรคมนาคม 1.3 หมื่นต้น และลงเงินทุนเพิ่ม ส่วนดีแทคนั้นจะเลือกลงทุนด้วยเสาที่สร้างเองหรือใช้เงินลงทุนมาลงด้วย แล้วเปิดให้ผู้ให้บริการ (โอเปอเรเตอร์) ทุกรายเช่าใช้เหมือนกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐาน JV ที่ไม่เน้นระดมทุนจากภายนอก แต่เปิดให้นำไปรวมกับอินฟราสตรักเจอร์โฮลดิ้งตามนโยบายรัฐบาลก็ได้

ทั้งนี้การโอนและนำเสาและอุปกรณ์ดังกล่าวไปใช้ประโยชน์นั้น มีเงื่อนไขว่า เราและดีแทคจะจัดตั้งบริษัทร่วมทุนขึ้น 2 บริษัทได้แก่ บริษัทเสา และ บริษัทไฟเบอร์ โดยจะโอนขายเสา และอุปกรณ์ Shelter ให้แก่บริษัทเสา และโอนขายสายไฟเบอร์ให้แก่บริษัทไฟเบอร์ โดยดีแทคจะเป็นผู้เช่าระยะยาวกับบริษัทร่วมทุนทั้งสอง

โดยจะถือหุ้น 49% และดีแทคจะถือหุ้น 51% ซึ่งในการดำเนินการดังกล่าวจะได้รับค่าตอบแทนเป็นเงิน จากการโอนขายเสาและอุปกรณ์ Shelter และไฟเบอร์ และ จากการถือหุ้นและหนี้ผ่อนชำระในบริษัทเสาและบริษัทไฟเบอร์ ซึ่งเป็นการสร้างรายได้ทั้งในทันทีและในระยะยาว

รวมทั้ง 2 ฝ่ายเห็นสมควรระงับข้อพิพาทที่มีอยู่ระหว่างกันรวมถึงข้อพิพาทเกี่ยวกับส่วนแบ่งรายได้ต่างๆ พร้อมทั้งตกลงดำเนินการแก้ไขสัญญาสัมปทานในข้อที่ไม่ชัดเจนหรือเป็นปัญหาเพื่อป้องกันมิให้มีข้อพิพาทระหว่างกันอีกในอนาคตให้เสร็จสิ้นก่อนที่จะเป็นหุ้นส่วนกันในบริษัทร่วมทุน โดยในการระงับข้อพิพาทและแก้ไขสัญญาสัมปทานดังกล่าวนี้ จะได้รับค่าตอบแทนเป็นเงินสด

“หากมีการร่วมทุนกับดีแทคเข้ามาก็จะส่งผลทำให้ เรากลับมามีรายได้และไม่ประสบปัญหาการขาดทุน ซึ่งเมื่อไม่มีรายได้จากตรงนี้เข้ามา 6 เดือนที่ผ่านมา กสท ขาดทุนไปแล้ว 6,000 ล้านบาท และคาดว่าจะขาดทุนทั้งปีประมาณ 5,000 ล้านบาท”

พันเอก สรรพชัย กล่าวว่า ส่วนการเจรจากับกลุ่มทรูนั้นมีความแตกต่างจากดีแทค เพราะหมดสัมปทานไปแล้ว และยังไม่ได้โอนทรัพย์สินที่เป็นเสากว่า 8,000 ต้น แต่ข้อพิพาทไม่ได้อยู่ในชั้นศาลหรืออนุญาโตตุลาการ เพราะต้องให้หมดสัมปทานก่อนจึงจะฟ้องได้ ซึ่งกลุ่มทรูแจ้งมาว่ายินดีเจรจา ขั้นแรกคงต้องหาบริษัทกลางมาทำหน้าที่ประเมินมูลค่าทรัพย์สิน ต่างจากของดีแทคที่ต่างฝ่ายต่างประเมินและยังไม่ได้ข้อสรุปเช่นกัน

Related Posts