ฟอม์ม​ ทุ่มพันล้าน​ ผุดโรงงานรถไฟฟ้าลอยน้ำได้ FOMM One

ฟอม์ม​ ทุ่มพันล้าน​ ผุดโรงงานรถไฟฟ้าลอยน้ำได้ FOMM One

ฟอม์ม​ ทุ่มงบกว่า​ 1,000​ ล้านบาท​ สร้างโรงงานต้นแบบ พร้อม​เปิดไลน์การผลิตรถยนต์ไฟฟ้าขนาดเล็ก FOMM One ชูจุดเด่นลอยน้ำได้ ขนาด​ 4 ที่นั่ง สำหรับวิ่งในเมือง​ ตั้งเป้าเปิดตลาดในประเทศและส่งออกทั่วโลก

นายฮิเดโอะ​ ซูรุมาก​ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร​ เอฟโอเอ็มเอ็ม  บริษัทร่วมทุนไทย-ญี่ปุ่น​ กล่าวว่า​ เราเลือกตั้งฐานโรงงานผลิตรถยนต์ไฟฟ้าขนาดเล็กที่ไทย​เพื่อส่งออกไปทั่วโลก เนื่องจากมีความพร้อมในด้านนโยบาย​ มีการสนับสนุนให้เกิดรถไฟฟ้าจากรัฐบาลอย่างต่อเนื่อง

โดยโรงงานแห่งนี้สร้างด้วยมูลค่าการลงทุนกว่า​ 1 พันล้านบาท​ หลังจากสัปดาห์ที่ผ่านมาได้รับการอนุมัติจาก ​BOI เป็นที่เรียบร้อย​ ตั้งอยู่ภายในนิคมอุตสาหกรรมอมตะซิตี้​ ชลบุรี​ รองรับการผลิตสูงสุดได้​ 10,000​ คันต่อปี​ คาดการผลิตล็อตแรกจะสามารถส่งมอบลูกค้าได้ราว​ต้นปีหน้า​

FOMM One

ซึ่งนับเป็นครั้งแรกของการสร้างฐานการผลิตหลักนอกประเทศญี่ปุ่น​ โดยที่ยังไม่มีการผลิตในประเทศญี่ปุ่นแต่อย่างใด​ ด้วยความเชื่อมั่นในนโยบายของรัฐบาลที่ให้การส่งเสริมการลงทุนผลิตรถยานยนต์ไฟฟ้าในประเทศไทย​ มากกว่าประเทศใดในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

FOMM One เป็นต้นแบบรถยนต์ไฟฟ้าขนาดเล็กที่สามารถลอยน้ำได้​ ซึ่งจะผลิตในประเทศไทยเป็นรุ่นแรก​ โดยได้รับความสนใจจากการเปิดตัวในช่วงที่ผ่านมา และมีการจองแล้วกว่า​ 355 คัน​ในประเทศไทย​ พร้อมมีผู้สนใจกว่า​ 1,022 คน

การชาร์จแบตเตอรี่​ 1 ครั้งใช้เวลา​ 6 ชั่วโมง​รองรับการขับขี่ระยะทาง​ 160  กิโลเมตร​ ขนาดตัวถัง​ 2,585 x 1,295 x​1,560 มม.​ด้วยน้ำหนักตัวรถ​ 445 กก.​(ไม่รวมแบตเตอรี่​ ติดตั้งมอเตอร์​แบบ​ In-Wheel​ ขนาด​ 5kWx2​ แรงบิดสูงสุด​ 560 Nm.​ ความเร็วสูงสุด​ 85​ กิโลเมตร/ชั่วโมง

ใช้พลังงานจาก​ Battery แบบ​ ลิเธียมไอออน​ เอ็นเอ็มซี​ รองรับการชาร์จไฟราว​ 3,000​ รอบ​คิดเป็นระยะเวลาราว​ 8-10 ปี​ หากมีการชาร์จไฟวันละ​ 1 รอบ​ โดยปัจจุบันเริ่มซ้อมไลน์การผลิต​ และคาดว่าจะเริ่มการผลิตจริงได้ราวมกราคม 2562

FOMM One รองรับการชาร์จ​ไฟ 3 รูปแบบ​ โดยสามารถชาร์จไฟที่บ้านได้ผ่านตัวแปลงไฟที่แถมให้​ และสามารถชาร์จไฟฟ้าจากสถานีชาร์จที่เกิดขึ้นโดยปกติ​ เนิ่องจากหัวชาร์จเป็นแบบ​ Type II​ เช่นเดียวกับทั่วไป​ ซึ่งในกรุงเทพจะมีอยู่ราว​ 300​ สถานี​ และตามหัวเมืองต่างจังหวัด​ ขณะที่รูปแบบสุดท้ายจะเปลี่ยนการเปลี่ยนแบตเตอรี่ได้เองซึ่งยังอยู่ในขั้นการพัฒนา

FOMM One

ขณะที่เทคโนโลยีการลอยน้ำเป็นระบบตัวถังแบบปิด​ที่สามารถลอยน้ำได้ไม่ต่างจากเรือ​ และล้อแม็กออกแบบมาให้เป็นลักษณะครีบหรือในพัด​ โดยเมื่อขับไปพื้นที่น้ำสูง​ 70​ เซนติเมตร​ ตัวรถจะลอยตัวและล้อจะเปลี่ยนสภาพเป็นใบพัดจากการออกแบบล้อแม็ก​เฉพาะตัว ทำให้สามารถเคลื่อนตัวไปข้างหน้าได้อย่างต่อเนื่อง

FOMM One สามารถรองรับผู้โดยสารรวมผู้ขับขี่​ 4 คน​ และหากคำนวนค่าใช้จ่ายเชื้อเพลิงต่อระยะทาง จะคิดเป็นราว​ 30​ สตางค์ต่อกิโลเมตร​ ซึ่งสีตัวรถมีให้เลือก​ 7​ สี​

และในอนาคตยังมีการพัํฒนาต่อยอดเป็นรถยนต์ขับเคลื่อนอัตโนมัติที่รองรับการขับขี่ร่วม​ และแบบขับขี่อัตโนมัติ​ 100% ขณะที่รุ่นต่อไปที่กำลังอยู่ในระหว่างการพัฒนาจะเป็นรุ่น​ AWD Sport Concept ที่มีรูปทรงสปอร์ตแบบเปิดประทุน​ แต่ยังคงความเป็นรถยนต์ขนาดเล็กเช่นเดิม

นอกจากนี้ยังมีรถมอเตอร์ไซต์ไฟฟ้า​ ที่สามารถขับเคลื่อนได้ทั้งล้อหน้าและล้อหลัง​ ช่วยเพิ่มแรงขับให้เกิดพลังที่มากขึ้น​ โดยอยู่ในขั้นการวิจัยและพัฒนาอย่างต่อเนื่อง

นายธนานันต์​ กาญจนคูหา​ ผู้จัดการทั่วไป​ ฟอม์ม​ ประเทศไทย​ กล่าวว่า​ ในช่วงแรกเราตั้งเป้ายอดขายกว่า​ 10,000​ คัน​ คิดเป็นราว  1%ของตลาดรวมรถยนต์​ โดยจะขยายการรับรู้ผ่านงานอีเว้นท์ด้านรถยนต์​ ตลอดจนขยายตัวตามหัวเมืองต่าง​

ขณะที่ด้านการจัดจำหน่ายปัจจุบันมีตัวแทนอยู่​ 1 ราย​ ซึ่งเป็นบริษัทลูกของการไฟฟ้าฝ่ายผลิต​ ชื่อบริษัท​ พีอีเอ  เอ็นคอม​ เป็นตัวแทนจำหน่ายรายแรก​ เปิดจำหน่ายในราคา​ 664,000 บาท​ ขณะที่จองภายในงานนั้นจะได้ราคาโปรโมชั่น​

โดยรถยนต์ล็อตแรกจะเริ่มทยอยส่งมอบได้นับตั้งเดือน​ กุมภาพันธ์​ 2562​ เป็นต้นไป​ ซึ่งอะไหล่กว่า​ 75% มีการผลิตภายในประเทศเป็นหลัก​ โดยรถทั้งคันใช้ส่วนประกอบราว​ 1,600  ชิ้น​ ลดลงจากรถยนต์ปกติจากเดิมที่ใช้ราว​ 3หมื่นกว่าชิ้น

ขณะที่การส่งออก​ วางเป้าหมายที่ราวอีก​ 2  ปีข้างหน้า​ ด้วยกำลังการผลิตเพิ่มขึ้นสูงสุด​ 30,000​ คันต่อปี ซึ่งมีการเจรจากับหลายประเทศหลักที่คาดว่าจะเริ่มทำตลาดในอนาคต

ทั้งนี้​ Battery Cloud เป็นคอนเซ็ปต์ของการถอดเปลี่ยนแบเตอรี่ได้เองที่กำลังอยู่ในขั้นการพัฒนา​ ซึ่งเป็นการพัฒนาร่วมกันระหว่างฟอม์ม​และฟูจิตสึ​ เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุดต่อการใช้งาน​ โดยจะเป็นเทคโนโลยีเพื่อลบจุดอ่อนของการมีมีพลังงานไม่เพียงพอ และการต้องรอชาร์จไฟเพื่อจะไปยังจุดหมายระยะทางไกล​ นับเป็นการเพิ่มความสะดวกและรองรับความเชื่อมั่นในการใช้งานนั่นเอง

Related Posts