เคแบงค์ปรับโฉม K PLUS ใหม่ ด้วยคอนเซปต์ “เปลี่ยนเพื่อรู้ใจขึ้น” โดยนอกจากจะมีหน้าตาที่ทันสมัยขึ้นแล้ว ยังได้นำนวัตกรรม KADE ที่มี AI เข้ามาเรียนรู้และประมวลผลพฤติกรรมของผู้ใช้งาน
ซึ่งนอกจากจะเอื้อการขายผลิตภัณฑ์อื่นๆ ของเคแบงค์แล้ว ยังจะสามารถนำเสนอสินเชื่อที่โดนใจลูกค้าได้ตรงใจมากขึ้นโดยลูกค้ายังไม่ทันร้องขอ รวมไปถึงการใช้เทคโนโลยีโอเพ่นแพลทฟอร์มที่จะเชื่อมต่อกับแพลทฟอร์มพันธมิตรธุรกิจต่างๆ ที่จะช่วยผลักดันให้ลูกค้าใหม่ของธนาคารให้เพิ่มเป็นปีละ 2 ล้านบัญชี และทำให้ธนาคารมีฐานลูกค้ารวมเป็น 20 ล้านรายภายใน 3 ปี
การปรับเปลี่ยน K PLUS ใหม่ เริ่มตั้งแต่การเปลี่ยนโลโก้ K PLUS ใหม่ ฟร้อนต์แบบใหม่ที่ดูทันสมัยมากขึ้น รวมไปถึงการจัดวางเมนูการใช้งานใหม่ โดยในส่วนของปุ่มการใช้งานธุรกรรมนั้น จะมีการรวมปุ่ม การโอน เติม จ่ายและอื่นๆ ให้อยู่ในปุ่มเดียว เพื่อให้การใช้งานง่ายขึ้น
และเพื่อให้เข้าใจผู้ใช้งานมากขึ้นและเอื้อให้การขายผลิตภัณฑ์ใหม่ของเคแบงค์ K PLUS ใหม่ จึงจะมีการนำข้อมูล Big Data มาวิเคราะห์พฤติกรรมการใช้งานของลูกค้า ทำให้นำเสนอบริการที่ตรงกับความต้องการลูกค้าได้มากขึ้น อีกทั้งลูกค้ายังสามารถเลือกปรับเปลี่ยนฟังก์ชันที่ใช้บ่อยได้ตามความต้องการของลูกค้าแต่ละคน
สำหรับระบบหลังบ้านอย่าง “เกด” (KADE: K PLUS AI-Driven Experience) ซึ่งถือเป็นหัวใจสำคัญของ K PLUS เพราะการเรียนรู้พฤติกรรมต่างๆ ของลูกค้านั้นจะมีเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ หรือ AI อันแสนฉลาด ทำหน้าที่เก็บข้อมูลและเรียนรู้การใช้งานของลูกค้าแต่ละคน
เพื่อนำเสนอสิ่งใหม่ๆ อาทิ ฟังก์ชัน K PLUS Today สามารถแจ้งเตือนธุรกรรมการเงินที่สำคัญที่ลูกค้าใช้เป็นประจำ และแนะนำผลิตภัณฑ์หรือโปรโมชันที่ตรงกับไลฟ์สไตล์ของลูกค้า
Machine Lending เทคโนโลยีที่จะทำให้ธนาคารนำข้อมูลมาวิเคราะห์และนำเสนอสินเชื่อส่วนบุคคล K-Personal Loan และสินเชื่อธุรกิจได้ตรงกับความสามารถในการกู้และตรงกับความต้องการของลูกค้าผ่านแอปฯ K PLUS โดยในอนาคตยังสามารถแนะนำการใช้จ่ายและการลงทุนที่จะเพิ่มศักยภาพทางการเงินและโอกาสทางธุรกิจให้กับลูกค้าอกีด้วย
นอกจากนี้ K PLUS ยังมีโครงสร้างเทคโนโลยี Open Platform พร้อมรองรับการเชื่อมต่อกับช่องทางบริการและพันธมิตรในธุรกิจต่างๆ สร้างประสบการณ์การใช้งานที่ต่อเนื่องและต่อยอดไปจนถึงการนำเสนอบริการใหม่ ๆเรียกได้ว่าทุกครั้งที่ลูกค้าใช้งาน K PLUS ก็จะไม่มีทางรอดพ้นจาก AI ที่คอยเกาะติดตามเป็นเงา
สิ่งที่น่าสนใจที่สุดของการปรับปรุง K PLUS ในครั้งนี้น่าจะเป็นการทำให้แพลทฟอร์มนี้เป็นช่องทางให้ลูกค้าเข้าถึงบริการผลิตภัณฑ์ด้านการเงินของธนาคารได้ง่ายและสะดวกขึ้น ไม่ว่าจะเป็นฟังก์ชันถอนเงินโดยไม่ใช้บัตร ซื้อกองทุน
โดยเฉพาะบริการสินเชื่อส่วนบุคคลที่เปิดให้บริการมา 8 เดือน ช่วยเพิ่มโอกาสเข้าถึงแหล่งทุนขนาดเล็ก (Micro Finance) ให้กับลูกค้าทั่วไปและผู้ประกอบการรายย่อย ซึ่งจะดันให้การปล่อยสินเชื่อส่วนบุคคลเป็นไปตามเป้าหมายที่วางไว้ที่ 22,700 ล้านบาท
สำหรับการปรับเปลี่ยนในครั้งนี้นั้น นายพัชร สมะลาภา กรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย กล่าวว่า เป้าหมายการพัฒนา K PLUS คือการทำให้เทคโนโลยีเป็นเรื่องง่ายๆ เพื่อให้ทุกคนเข้าถึงได้ “รู้จักจนรู้ใจ” ตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้าทุกคนมากที่สุด
ทำให้เป็นแอปที่ลูกค้าใช้ในชีวิตประจำวันได้ใช้จ่ายและเพลิดเพลินกับบริการหรือผลิตภัณฑ์ที่ตรงกับไลฟ์สไตล์ของตนเอง พร้อมได้รับสิทธิประโยชน์ต่างๆ จากแบรนด์ดังมากมายที่จะมารวมตัวอยู่บนแพลทฟอร์มและมองไปถึงอนาคต K PLUS จะทำให้คนที่ไม่มีบัญชีธนาคารสามารถทำธุรกรรมได้
ปัจจุบันแพลทฟอร์มของ K PLUS ใช้งานมาแล้วกว่า 5 ปี ปัจจุบันมีลูกค้าใช้งาน K PLUS ณ เดือนสิ้นเดือนกันยายน 2561 มีลูกค้าใช้งาน 9.4 ล้านราย มีปริมาณธุรกรรมแล้ว 3,634 ล้านรายการ มากกว่าปริมาณธุรกรรมที่ทำผ่าน K PLUS ตลอดทั้งปี 2560 ที่ผ่านมา
“ธนาคารกสิกรไทยมุ่งเพิ่มฐานลูกค้ารวมของธนาคารให้ได้ 20 ล้านบัญชีภายใน 3 ปี ซึ่งตลอด 10 ปีที่ผ่านมา ธนาคารมีฐานลูกค้าใหม่เฉลี่ยปีละกว่า 1 ล้านบัญชี ปัจจุบันธนาคารมีจำนวนบัญชีลูกค้ารวม 15 ล้านบัญชี และเชื่อมั่นว่า ภายใน 3 ปีจะทำให้ธนาคารมีฐานลูกค้าเป็นไปตามเป้าหมาย
โดยที่จำนวนลูกค้า K PLUS ส่วนหนึ่งจะมาจากการเติบโตของฐานลูกค้ารวมของธนาคาร และอีกส่วนที่สำคัญจะมาจากกลยุทธ์การขยายฐานลูกค้าที่ไม่ได้มีบัญชีของธนาคาร อย่างเช่น ลูกค้าที่ใช้อี-วอลเล็ต รวมถึงการเปิดให้ธุรกรรมการเงินระหว่างประเทศ”
นายพัชร กล่าวว่า เคแบงค์ตั้งเป้าที่จะเพิ่มสัดส่วนการใช้งานฟังก์ชันไลฟ์สไตล์ของ K PLUS อีก 5-10% ภายใน 1 ปี ซึ่งปัจจุบันฟังก์ชันที่ลูกค้านิยมใช้มากที่สุดคือ รายการโอน-เติม-จ่าย คิดเป็น 125 ล้านรายการต่อเดือน
ในขณะที่ฟังก์ชันไลฟ์สไตล์ที่มีอยู่ใน K PLUS ยังมีปริมาณการทำธุรกรรมที่น้อยกว่าที่คาดหมายหรือประมาณ 500,000 รายการต่อเดือน หรือน้อยกว่า 1% ของรายการโอนเติมจ่าย ซึ่งหลังจากการพัฒนาฟังก์ชันใหม่นี้คาดว่าจะกระตุ้นให้เกิดการใช้งานมากขึ้น เพิ่มขึ้นจาก 1% เป็น 5-10% ภายใน 1 ปี