หัวเว่ยใช้ “Emotional Connection”ดันการตลาด Mate 20

หัวเว่ยใช้ “Emotional Connection”ดันการตลาด Mate 20

หัวเว่ยมองข้ามการนำเสนอโฆษณาแบบเดิมที่เน้นชูจุดเด่นด้านเทคโนโลยี มาเป็นการเชื่อมโยงกับผู้บริโภคด้วยการใช้ความรู้สึกให้กับ Mate 20 ด้วย Content Marketing ในรูปแบบหนังสั้น ที่แปลกกว่าที่เคย ไม่มีการเขียนบท ไม่มีนักแสดง

ผ่านผู้กำกับมือดีอย่าง เต๋อ-นวพล ธำรงรัตนฤทธิ์ และอุปกรณ์การถ่ายทำเพียงหนึ่งชิ้นด้วย HUAWEI Mate 20 Series เน้นนำเสนอผ่านช่องทางโซเชียลมีเดีย ที่สามารถสื่อสารได้แบบครบถ้วนในหลายนาที ไม่มีอัตราโฆษณาที่แพงระยับ แต่ได้กลุ่มเป้าหมายที่สนใจอย่างแท้จริง

โจทย์ที่ ชาญวิทย์ เขียวนาวาวงศ์ษา ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายการตลาด หัวเว่ย คอนซูมเมอร์ บิสสิเนส กรุ๊ป ประเทศไทย ได้ให้ “เต๋อ” ไปสั้นๆ ง่ายๆ ว่า “ทำอย่างไรให้คนจำ Mate Series ได้มากกว่า product spec ซึ่งค่อนข้างเป็นที่ยอมรับอยู่แล้ว”

รวมไปถึงต้องสร้างความแตกต่างระหว่าง P Series ผลิตภัณฑ์ระดับพรีเมียมแฟลกชิปอีกรุ่นหนึ่งที่มีเลนส์กล้องถ่ายภาพซึ่งหัวเว่ยร่วมคิดค้นกับ Leica เช่นเดียวกัน โดยหัวเว่ยต้องการให้ P Series ตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์แฟชัน ส่วน Mate Series นั้นให้มีความเป็นเครื่องมือคู่หูคู่ใจสำหรับ Professionals

“เต๋อ” ตอบโจทย์ด้วยการเน้นการเล่าเรื่องราวในแบบฉบับของผู้กำกับแนวอาร์ต นำเสนอหนังสั้นที่ชื่อว่า “Souvenir” เป็นหนังสั้นที่ถ่ายทอดเรื่องราวแบบเรียลๆ ระหว่างเขา และเพื่อนๆ คนสำคัญในชีวิต ถ่ายทำโดยสมาร์ตโฟน HUAWEI Mate 20 Series ทั้งเรื่อง

โดยตีความคำว่า Mate อย่างเรียบง่ายและใกล้ตัวคนทุกคนว่า “เพื่อนรู้ใจ” แนวคิดแรกเริ่มเกิดมาจากคำว่า “From Mate to Mate” ในขณะคนหนึ่งมีความสุขตอนที่กำลังท่องเที่ยวที่ประเทศญี่ปุ่นอยู่นั้น ก็ไม่ลืมที่จะส่งความสุขกลับมาให้กับเพื่อนที่อยู่บ้านด้วยวิดีโอที่เซฟลงในแฟลชไดรฟ์แล้วส่งผ่านไปรษณีย์

“ผมอยากจะสื่อสารเรื่องราวของความสัมพันธ์ระหว่างเพื่อนที่มองตาก็รู้ใจกัน ที่เชื่อมกันด้วยการส่งความสุขให้กันผ่านไปรษณีย์ ที่ผู้รับต้องรอคอยอย่างช้าๆ เพิ่มคุณค่าทางจิตใจให้กับของฝากท่ามกลางโลกที่หมุนเร็วอย่างทุกวันนี้ ผมใช้การเชื่อมโยงความรู้สึกของผู้ชมด้วยเหตุการณ์ที่ในชีวิตทุกคนจะต้องเจอ

ซึ่งหลายคนจะต้องถามตัวเองก่อนกลับบ้านทุกครั้งว่า ‘วันนี้จะซื้อขนมอะไรไปฝากแม่ดี’ หรือ ‘จะซื้ออะไรกลับไปฝากเพื่อนหลังจากกลับจากทริปต่างประเทศดี ของฝากจึงกลายเป็นส่วนหนึ่งของศิลปะแห่งการบริหารความสัมพันธ์

แต่การถ่ายทอดมุมมองในเรื่องนี้จะแตกต่างออกไป เพราะผมเชื่อว่า ‘ของฝาก’ ที่ดีที่สุดไม่จำเป็นต้องเป็นของที่ซื้อได้ด้วยเงิน ผมมองว่า ‘The best souvenir is time and moment’ ช่วงเวลาที่ดีต่างหากคือของที่ระลึกที่ดีที่สุดที่หาซื้อไม่ได้ที่เตือนใจให้เรานึกถึงคนสำคัญที่อยู่ที่บ้าน

Mate 20

เต๋อ กล่าวว่า ในฐานะคนทำหนังมองว่า กล้องของหัวเว่ยนั้นมีประสิทธิภาพสูง ใกล้เคียงกล้องถ่ายหนังที่สามารถนำไฟล์ที่ได้จากการถ่ายโดยมาปรับแต่งภาพเพิ่มเติม เพื่อให้ได้เอฟเฟกต์เหมือนหนังภาพยนต์ตามที่มองภาพไว้ได้เป็นอย่างดี

นอกจากนี้การมีแบตเตอรี่ยังอึดที่ทำให้ถ่ายทำได้หลายชั่วโมงโดยไม่สะดุด และข้อดีของการใช้สมาร์ทโฟนถ่ายทำคือสามารถเก็บเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจริงได้ทันท่วงที เนื่องด้วยอุปกรณ์มีขนาดเล็กทำให้สามารถข้ามข้อจำกัดบางอย่างที่กล้องใหญ่ก็ทำไม่ได้ อาทิ การถ่ายในพื้นที่จำกัดอย่างบนเฮลิคอปเตอร์ หรือการมีเลนส์หลายระยะทำให้ไม่ต้องพกเลนส์ไปเพิ่มให้เกะกะ

ด้านชาญวิทย์ให้ความเห็นว่า หนังสั้นจะเป็นสื่อที่สามารถสร้าง Emotional Connection ระหว่างแบรนด์กับผู้ชมหรือผู้บริโภคได้เป็นอย่างดี เพราะเป็นเครื่องมือสื่อสารที่ได้รับการสร้างสรรค์เรื่องราวที่สามารถเชื่อมโยงเข้ากับประสบการณ์ที่แท้จริงของผู้ชม (Authentic human experience) และผสมผสานเข้ากับฟีเจอร์ของผลิตภัณฑ์ได้อย่างแนบเนียน

ทำให้ผู้บริโภคสามารถเสพและเข้าใจสิ่งที่แบรนด์ต้องการจะนำเสนอได้ง่ายยิ่งขึ้น ช่วยให้ผู้บริโภคจดจำและนึกถึงผลิตภัณฑ์ได้ ซึ่ง J. Walter Thompson Bangkok Group ที่ปรึกษาด้านงานสร้างสรรค์ของหัวเว่ย ก็มองไปในแนวทางเดียวกัน

“คนจะนึกถึงหัวเว่ยเพราะกล้องที่พัฒนาร่วมกับ Leica ที่ถ่ายภาพได้อย่างยอดเยี่ยมเป็นอย่างแรก และเป็นหนึ่งในปัจจัยสำคัญที่ผู้บริโภคเลือกซื้อแบรนด์เรา ดังนั้นหัวเว่ยต้องการถ่ายทอดฟีเจอร์สำคัญนี้ไปสู่ผู้บริโภค ในแบบที่ผู้บริโภคสามารถเห็นได้จริงและไม่เป็นการโฆษณาที่ยัดเยียดมากเกินไป และที่สำคัญคือต้องมีมุมมองการเล่าเรื่องที่น่าสนใจและมีเอกลักษณ์”

โดยสามารถติดตาม “ของฝาก” ชิ้นใหม่ได้แล้ววันนี้ ผ่านหนังสั้นยาว 7 นาที ได้ในช่องทางยูทูปและเฟซบุ๊กของหัวเว่ย และยังได้เตรียมหนังสั้นตอนย่อย โดยจะทยอยปล่อยบนเฟซบุ๊กแฟนเพจ HuaweiMobileTH ได้ตั้งแต่วันที่ 3 ธันวาคมเป็นต้นไป”

ลิงค์ที่เกี่ยวข้อง

HuaweiMobileTH

J. Walter Thompson Bangkok Group

Related Posts