อย. ร่วมกับ สำนักงาน กสทช. ผนึกกำลังจัดการปัญหาโฆษณาผลิตภัณฑ์สุขภาพจากส่วนกลาง สู่ส่วนภูมิภาค ลดขั้นตอนของกระบวนการบังคับใช้กฎหมายของทั้งสองหน่วยงาน ทำให้หยุดยั้งโฆษณาที่ฝ่าฝืนกฏหมายได้เร็วขึ้น
และเพื่อเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพการทำงาน จึงได้จัดทำแนวทางปฏิบัติเกี่ยวกับกลไกการจัดการปัญหาโฆษณาผลิตภัณฑ์สุขภาพ ในส่วนภูมิภาคให้เหมือนกันทั่วประเทศเพื่อจัดการปัญหา โฆษณาผลิตภัณฑ์สุขภาพได้อย่างครอบคลุม
นพ. เสรี ตู้จินดา ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยว่า กระทรวงสาธารณสุข โดยสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) และสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (สำนักงาน กสทช.)
มีนโยบายร่วมกันในการจัดการปัญหาโฆษณาอาหาร ยา และผลิตภัณฑ์สุขภาพที่ผิดกฎหมายทางสื่อทุกประเภท เพื่อให้จัดการปัญหาได้อย่างรวดเร็ว มีประสิทธิภาพ ทันต่อเหตุการณ์ และสนองตอบนโยบายของรัฐบาล ในการเร่งรัดติดตามตรวจสอบและจัดการโฆษณาผลิตภัณฑ์สุขภาพที่ฝ่าฝืนกฎหมายทางสื่อต่าง ๆ
เช่น สื่อวิทยุกระจายเสียง สื่อโทรทัศน์ ดิจิทัล และทีวีดาวเทียม รวมไปถึงสื่อเคเบิ้ลทีวี เป็นต้น ซึ่งที่ผ่านมา อย. และสำนักงาน กสทช. (ส่วนกลาง) ได้บูรณาการทำงานร่วมกัน โดยใช้กลไกการประสานความร่วมมือที่ลดขั้นตอนของกระบวนการบังคับใช้กฎหมายของทั้งสองหน่วยงาน เพื่อความรวดเร็วในการยุติโฆษณาที่ฝ่าฝืนกฎหมายได้อย่างทันท่วงที
โดยได้ส่งเจ้าหน้าที่ทำการตรวจสอบรายการและโฆษณาผลิตภัณฑ์สุขภาพที่มีเนื้อหาผิดกฎหมาย ทางสื่อโทรทัศน์ วิทยุ และเว็บไซต์ ร่วมกับ สำนักงาน กสทช. (ส่วนกลาง) จากการปฏิบัติงานร่วมกันตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2561 เป็นต้นมาถึงปัจจุบัน ถือว่าประสบความสำเร็จอย่างมาก
พลโท ดร.พีระพงษ์ มานะกิจ กรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) กล่าวว่า การกำกับดูแลการโฆษณาอาหาร ยา และผลิตภัณฑ์สุขภาพเป็นภารกิจที่ กสทช. และ อย.ต่างก็มีอำนาจหน้าที่ภายใต้กฎหมายของตนเอง
โดยที่สำนักงาน กสทช. มีอำนาจหน้าที่โดยตรงเฉพาะการกำกับดูแล การออกอากาศรายการหรือการโฆษณาผลิตภัณฑ์สุขภาพที่ออกอากาศทางวิทยุและโทรทัศน์ ก่อนหน้านี้ การทำงานเป็นลักษณะที่แต่ละหน่วยงานต่างทำงานไปภายใต้ระบบของตนเอง ทำให้การพิจารณาข้อร้องเรียนแต่ละเรื่องกว่าจะได้ข้อยุติและสิ้นสุดกระบวนการต้องใช้เวลาค่อนข้างนานอย่างน้อย 6 เดือน หรือบางกรณีอาจใช้เวลานานร่วมปี
นอกจากนี้ บทลงโทษต่อการกระทำความผิดกรรมเดียวกันยังอาจต้องรับโทษ 2 ทาง ทำให้อาจเกิดความซ้ำซ้อนและเป็นประเด็นปัญหาข้อกฎหมาย เมื่อมีการจัดตั้งศูนย์ปฏิบัติการร่วมขึ้นใน สำนักงาน กสทช. และมีข้อร้องเรียนเกิดขึ้นหรือการตรวจพบการกระทำความผิด เจ้าหน้าที่สามารถวิเคราะห์ วินิจฉัยและชี้มูลได้ทันที
โดยปัจจุบันสามารถสรุปเรื่องให้แล้วเสร็จได้ภายใน 3 วัน ซึ่งถือว่าเร็วมาก และสามารถพิจารณาวินิจฉัยข้อร้องเรียนหรือกรณีการโฆษณาผิดกฎหมายที่ตรวจพบได้เป็นจำนวนมาก จึงถือได้ว่าการปฏิบัติงานร่วมกันประสบความสำเร็จอย่างมาก ก่อให้เกิดการตื่นตัวและปรับตัวของผู้ประกอบการอย่างกว้างขวาง
เนื่องจากโทษทางปกครองสำหรับผู้ฝ่าฝืนหรือกระทำความผิดตามกฎหมาย กสทช. นั้นค่อนข้างสูง ทำให้ปัญหาการกระทำที่เป็นการเอาเปรียบผู้บริโภค ในกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ลดลงอย่างเห็นได้ชัด และเพื่อให้ปัญหาการโฆษณาอาหาร ยา และผลิตภัณฑ์สุขภาพในระดับพื้นที่ได้รับการแก้ไข เช่นเดียวกับส่วนกลาง จึงได้กำหนดนโยบายร่วมกันกับกระทรวงสาธารณสุข ขยายผลการดำเนินการไปยังส่วนภูมิภาค
ซึ่งขณะนี้ ผลการเฝ้าระวังพบว่า มีสถานีวิทยุกระจายเสียงราว 300 สถานี มีการโฆษณาอาหาร ยา และผลิตภัณฑ์สุขภาพที่อาจเข้าข่ายเป็นการเอาเปรียบผู้บริโภคฯ
จึงหวังว่าเวทีในวันนี้ จะประสบความสำเร็จ มีแนวทางปฏิบัติที่ชัดเจน และมีผลการพิจารณาการโฆษณาจาก สสจ. ทั่วประเทศ ซึ่ง สำนักงาน กสทช. จะได้นำไปดำเนินการกำกับดูแลตามกฎหมายของ กสทช. ต่อไป
นพ.พิศิษฐ์ ศรีประเสริฐ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวต่อไปว่า เพื่อให้การจัดการปัญหาการโฆษณาอาหาร ยา และผลิตภัณฑ์สุขภาพในระดับพื้นที่ เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ ให้เกิดการคุ้มครองผู้บริโภคในกิจการ กระจายเสียงและโทรทัศน์อย่างแท้จริง จึงได้ขยายผลการดำเนินการไปยังส่วนภูมิภาค โดยเริ่มจากภาคเหนือ และภาคใต้
มีกระบวนการดำเนินการ คือ มีการตรวจสอบเฝ้าระวังการโฆษณาร่วมกันระหว่าง สำนักงาน กสทช. ภาค / เขต และ สสจ. โดย สสจ. ซึ่งได้รับมอบอำนาจตามพระราชบัญญัติเกี่ยวกับอาหาร ยา และผลิตภัณฑ์สุขภาพจาก อย. จะให้ความเห็นเกี่ยวกับการโฆษณานั้น ๆ
ทั้งนี้ อาจประสานสำนักงาน กสทช. ในส่วนภูมิภาคในเรื่องการเฝ้าระวังและข้อมูล หลักฐานต่าง ๆ แล้วส่งผลการวินิจฉัยมายัง สำนักงาน กสทช. ส่วนกลางเพื่อดำเนินการกำกับดูแลต่อไป
นพ.ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา กล่าวเพิ่มเติมว่า เพื่อให้เป็นมาตรฐานวิธีการปฏิบัติงานเดียวกันทั้งประเทศ อย. และ สำนักงาน กสทช. จึงได้จัดทำแนวทางปฏิบัติเกี่ยวกับกลไกการจัดการปัญหาโฆษณาอาหาร ยา และผลิตภัณฑ์สุขภาพในระดับพื้นที่ เพื่อจัดการปัญหาโฆษณา ทางสื่อวิทยุกระจายเสียง และสถานีโทรทัศน์แบบบอกรับสมาชิก (เคเบิ้ลทีวี)
ให้ สสจ. บูรณาการร่วมกับ สำนักงาน กสทช. ภาค และเขต ซึ่งกรณีที่ได้รับการประสาน ขอให้พิจารณาการโฆษณาผลิตภัณฑ์สุขภาพว่าเป็นไปตามกฎหมายที่อยู่ในความรับผิดชอบหรือไม่ และหลังจากพิจารณาแล้วเสร็จ ให้จัดทำรายงานส่งผลการพิจารณาส่งกลับหน่วยงาน กสทช. โดยเร็ว
โดยใช้รูปแบบหนังสือส่งรายงานการปฏิบัติงานให้กับ สำนักงาน กสทช. ส่วนกลาง และเพื่อความรวดเร็วในการปฏิบัติงาน ขอให้ใช้รูปแบบการประสานงานอย่างไม่เป็นทางการเพื่อรับและส่งข้อมูลการเฝ้าระวังและแจ้งผลการพิจารณาตรวจสอบโฆษณา
ระหว่าง สสจ. สำนักงาน กสทช. ภาค และเขต ล่วงหน้าไปก่อน จากนั้นจึงจัดทำหนังสือเพื่อแจ้งรายงานการปฏิบัติงานไปยัง สำนักงาน กสทช. ส่วนกลาง อย่างเป็นทางการต่อไป
ลิงค์ที่เกี่ยวข้อง