5 ธันวาคม นอกจากจะเป็นวันคล้ายวันพระบรมราชสมภพพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตรในหลวงรัชกาลที่ 9 และเป็นวัน “พ่อแห่งชาติ” แล้ว ในวันนี้ของทุกทียังเป็น “วันดินโลก” (World Soil Day) เพื่อเทิดพระเกียรติในหลวงรัชกาลที่ 9
ที่ทรงมีพระราชกรณียกิจเกี่ยวกับการพัฒนาที่ดินมาอย่างต่อเนื่องและยาวนาน ปรากฏผลสำเร็จเป็นที่ประจักษ์อย่างกว้างขวางทั้งในประเทศและนานาชาติตามที่องค์การอาหารและการเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) และองค์การสหประชาชาติ (UN) ได้มีมติร่วมกัน
นางสาวเบญจพร ชาครานนท์ อธิบดีกรมพัฒนาที่ดิน กล่าวว่า โดยในปี 2561 กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ มีนโยบายให้จัดกิจกรรมเพื่อสนับสนุนการสร้างการรับรู้และตระหนักถึงความสำคัญของทรัพยากรดินอย่างต่อเนื่องตลอดทั้งปี
และกำหนดให้มีการจัดมหกรรมวันดินโลกอย่างยิ่งใหญ่ ระหว่างวันที่ 5-7 ธันวาคม 2561 ณ พิพิธภัณฑ์เฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในหัวข้อ “น้อมนำศาสตร์พระราชา พัฒนาที่ดินอย่างยั่งยืน คืนชีวิตให้แก่ดิน คืนความสุขให้แก่เรา” ผ่านนิทรรศการจากหน่วยงานกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และภาคีเครือข่าย รวมทั้งจัดกิจกรรมดังกล่าวพร้อมกันทั่วประเทศ
ในอดีตพื้นที่บนดอยสูงเป็นที่ดินทำกินของชาวเขา ซึ่งส่วนใหญ่มักจะใช้การทำไร่หมุนเวียนเป็นกาบุกรุกพื้นที่ป่าเนื่องจากความจำเป็นและการเพาะปลูกส่วนใหญ่ทำให้เกิดดินเสื่อมโทรม ประกอบกับการเพาะปลูกเหล่านั้นสร้างรายได้ต่อปีเพียง 5,000 บาท
ทำให้ชาวเขาเหล่านั้นไม่สามารถส่งให้ลูกมีการศึกษาได้ จนเมื่อในหลวงรัชกาลที่ 9 ทรงให้กรมพัฒนาที่ดินช่วยในการพัฒนาพื้นที่เหล่านั้น ให้ใช้ประโยชน์จากพื้นที่ไม่มาก แต่ต้องสามารถสร้างรายได้ให้เท่ากับการปลูกฝิ่นที่พวกเขาคุ้นเคยในอดีต เพื่อให้ 14 ชนเผ่าอยู่ได้อย่างมีความสุข จนปัจจุบันการพัฒนาดังกล่าวส่งผลให้บางชุมชนมีรายได้ถึง 1 ล้านบาทต่อปี
กรมพัฒนาที่ดินในฐานะเป็นหน่วยงานหลักที่ดูแลด้านทรัพยากรดินของประเทศ ได้น้อมนำศาสตร์พระราชาของในหลวงรัชกาลที่ 9 ไปขับเคลื่อน ขยายผลการพัฒนาฟื้นฟูทรัพยากรดิน ให้สามารถใช้ประโยชน์ได้อย่างยั่งยืนในพื้นที่ต่างๆ
ซึ่งศูนย์ปฏิบัติการพัฒนาที่ดินโครงการหลวง จึงเข้าไปร่วมมือกับมูลนิธิโครงการหลวง ในการพัฒนาทรัพยากรดิน ทำให้ดินมีความอุดมสมบูรณ์ สามารถเพาะปลูกพืชผลเมืองหนาวได้เต็มศักยภาพ
ด้านนางนุชสุพร กฤษฎาธาร ผู้อำนวยการศูนย์ปฏิบัติการพัฒนาที่ดินโครงการหลวง กล่าวว่า กรมพัฒนาที่ดินได้เข้ามาดำเนินการสำรวจและพบว่าที่ดินบนที่สูงเหล่านี้นอกจากจะมีความลาดชันแล้ว ยังมีความสมบูรณ์น้อย
จึงได้ทำการสร้างแหล่งน้ำ และทำการส่งเสริมอาชีพในขณะที่ต้องสร้างความเข้มแข็งให้กับชุมชน ไปพร้อมๆ กับการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ โดยได้ส่งเสริมให้มีการทำเกษตรอินทรีย์ เนื่องจากพื้นที่ส่วนใหญ่ของโครงการหลวงจะเป็นพื้นที่ต้นน้ำ
“การทำเกษตรอินทรีย์ทำให้ผลผลิตที่ได้มีคุณภาพ ปลอดภัยทั้งต่อเกษตรกรและผู้บริโภค ช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตให้กับชาวเขา ที่สำคัญคือช่วยรักษาสิ่งแวดล้อมของโลกให้ดียิ่งขึ้น และนำไปสู่ความยั่งยืนในการใช้ประโยชน์ที่ดินเพื่อทำการเกษตรต่อไป”
ปัจจุบันศูนย์ปฏิบัติการพัฒนาที่ดินโครงการหลวง (ศพล.) รับผิดชอบพื้นที่ศูนย์พัฒนาโครงการหลวง 39 ศูนย์ ในพื้นที่ 6 จังหวัด ได้แก่ เชียงใหม่ เชียงราย ลำพูน แม่ฮ่องสอน พะเยา และตาก โดยมีหน้าที่หลักคือการปฏิบัติงานในพื้นที่ศูนย์โครงการหลวง ในเขตภาคเหนือ
ได้แก่ การสำรวจวางแผนการใช้ที่ดิน จัดระบบอนุรักษ์ดินและน้ำ ระบบส่งน้ำชลประทานและเส้นทางลำเลียงภูเขา วิจัย ทดสอบ สาธิตและส่งเสริมการใช้ประโยชน์ที่ดินบนที่สูงอย่างยั่งยืน ถ่ายทอดเทคโนโลยีการพัฒนาที่ดิน เพื่อแก้ปัญหาความยากจน ส่งเสริมการผลิตอาหารปลอดภัยและเกษตรอินทรีย์
ตั้งจุดเรียนรู้งานพัฒนาที่ดิน รวมทั้งจัดตั้งหมอดินดอยอาสา และสนับสนุนการสร้างเครือข่ายหมอดินน้อย เพื่อปลูกฝังความรู้และสร้างประสบการณ์ด้านการพัฒนาที่ดินให้กับเยาวชน ให้เป็นเครือข่ายในการพัฒนาที่ดินในอนาคต
ตลอดระยะเวลากว่า 40 ปีที่ศูนย์ปฏิบัติการพัฒนาที่ดินโครงการหลวง ได้เข้าไปดำเนินการพัฒนาที่ดินในพื้นที่โครงการหลวง สามารถพลิกฟื้นพื้นที่ป่าเสื่อมโทรมให้กลายเป็นพื้นที่เกษตรที่สมบูรณ์
เป็นแหล่งปลูกพืชผักเมืองหนาว พืชเศรษฐกิจที่สำคัญ ชาวเขาที่เป็นสมาชิกโครงการหลวง มีที่ดินทำกิน มีรายได้และคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ตามพระราชปณิธานของในหลวงรัชกาลที่ 9
ลิงค์ที่เกี่ยวข้อง