กสทช.เผยงานปี 62 เดินหน้าดัน 5G พร้อมปลดหนี้ทีวีดิจิทัล

กสทช.เผยงานปี 62 เดินหน้าดัน 5G พร้อมปลดหนี้ทีวีดิจิทัล

กสทช.เผยทิศทางและนโยบายการดำเนินงานปี 62 ขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ชาติ 5G เร็วที่สุด พร้อมกำหนดหลักเกณฑ์การประมูลคลื่นความถี่หลายย่านพร้อมกัน และจะเริ่มประมูลคลื่นความถี่ย่าน 700 MHz ได้ในเดือนกุมภาพันธ์ปีหน้า

คาดได้เงิน 50,000 ล้านบาท นำเงินมาช่วยทีวีดิจิตอล พร้อมจูงใจชวนเอกชนมาประมูลด้วยการปรับเงื่อนไขการประมูล ทั้งปรับราคาใหม่และยืดเวลาจ่ายเท่ากับใบอนุญาต

นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) กล่าวว่า ทิศทางการดำเนินงานของกสทช.ปีหน้าจะต้องผลักดันให้เกิดการประมูลคลื่นความถี่ เพื่อให้เกิด 5G ไปพร้อมๆกับการแก้ปัญหาทีวีดิจิตอล

ด้วยการนำคลื่น 700 MHz มาประมูลล่วงหน้าคู่กับคลื่นความถี่สูง ก่อนการยุติทีวีระบบอนาล็อกในปี 2563 เพื่อนำเงินบางส่วนที่ได้จากการประมูลมาช่วยเหลือทีวีดิจิตอล

ทั้งเรื่องการสนับสนุนการดำเนินการของผู้ประกอบการทีวีดิจิตอลในส่วนของค่าภาระอันเกิดจากการปฏิบัติตามประกาศ Must Carry ซึ่งแต่เดิมคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ออกมาตรการ 44 ช่วยเหลือถึงปี 2562 ออกไปถึงปี 2565 และการเยียวยาผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการย้ายคลื่น ส่วนจะใช้เงินจำนวนเท่าไหร่นั้นต้องมีการประเมินกันอีกครั้งหนึ่ง

สำหรับคลื่นที่นำมาประมูลจะอยู่ในย่าน 695-790 MHz จำนวน 2×45 MHz คาดว่าจะจัดประมูลได้ประมาณเดือน ก.พ.ปีหน้า และจะได้เงินค่าประมูลประมาณ 50,000 ล้านบาท ซึ่งกสทช.สามารถเรียกคลื่นกลับมาประมูลได้ทันที เพราะเป็นคลื่นที่อยู่ในเงื่อนไขการประมูลของทีวีดิจิตอลอยู่แล้ว ว่ากสทช.จะสามารถนำมาประมูลเมื่อไหร่ก็ได้

ส่วนทีวีดิจิตอลจะต้องเปลี่ยนผ่านไปใช้คลื่นย่านความถี่ 470-694 MHz คาดว่าจะใช้เวลาในการเปลี่ยนผ่านไปสู่คลื่นใหม่ 2 ปี นอกจากนี้ยังจะสนับสนุนให้มีการสำรวจความนิยม (Rating) ของผู้ให้บริการโทรทัศน์ดิจิตอล ที่ออกอากาศผ่านโครงข่ายอินเทอร์เน็ต เพื่อสามารถนำเอาข้อมูลการสำรวจความนิยมรายการดังกล่าวไปใช้อ้างอิงเพื่อหารายได้ได้อย่างเป็นธรรม

ส่วนการสนับสนุนค่าใช้จ่ายในการออกอากาศผ่านโครงข่ายโทรทัศน์ภาคพื้นดินระบบดิจิตอล (MUX) เพื่อสนับสนุนผู้ให้บริการโทรทัศน์ดิจิตอล 50% นั้น กสทช.จะหาทางขยายความช่วยเหลือออกไปถึงปี 2565

จากเดิม คสช. ออกมาตรการ 44 สนับสนุนถึงปี 2563 โดย กสทช.จะใช้เงินจากกองทุนวิจัยและพัฒนากิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม เพื่อประโยชน์สาธารณะ (กทปส.) มาสนับสนุน

นายฐากร กล่าวว่า แนวทางการประมูลคลื่นความถี่นั้น กสทช. ต้องสร้างแรงจูงใจให้ผู้ให้บริการโทรศัพท์มือถือ (โอเปอเรเตอร์) ในการเข้าร่วมประมูลก่อน โดยกสทช.ต้องมีการทบทวนการประเมินมูลค่าคลื่นความถี่ใหม่

รวมถึงการทบทวนเงื่อนไขการชำระค่าใบอนุญาตทั้งคลื่นที่ประมูลแล้ว เช่น คลื่น 900 MHz และคลื่นใหม่ที่จะนำมาประมูล ออกเป็น 15 งวด หรือเท่ากับอายุใบอนุญาต รวมถึงแบ่งวิธีการอนุญาตเป็น 2 รูปแบบ ได้แก่ ใบอนุญาตที่ใช้งานครอบคลุมการให้บริการครอบคลุมทั่วประเทศ และใบอนุญาตแบบที่ครอบคลุมเฉพาะพื้นที่ที่กำหนด

เช่น ในเขตพื้นที่ภาคการผลิตและอุตสาหกรรม เพื่อให้เหมาะสมกับรูปแบบการประกอบธุรกิจในยุค 5G ที่สำคัญคือต้องกำหนดหลักเกณฑ์การประมูลคลื่นความถี่หลายย่านพร้อมกัน ในการต่อยอดการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ เช่น คลื่นความถี่ย่าน 700 MHz คู่กับ 2600 MHz, 3.5 GHz คู่กับ 26GHz หรือ 28 GHz

ส่วนแนวทางการเยียวยาให้เจ้าของคลื่นความถี่นั้น เมื่อวันที่ 27 พ.ย.ที่ผ่านมา ได้มีการนำประกาศ กสทช. เรื่อง หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการเรียกคืนคลื่นความถี่ที่ไม่ได้ประโยชน์ หรือใช้ประโยชน์ไม่คุ้มค่า หรือนำมาใช้ประโยชน์ให้คุ้มค่ายิ่งขึ้น ประกาศลงราชกิจจานุเบกษาแล้ว

จากนี้ กสทช.จะเร่งตั้งคณะกรรมการให้เสร็จภายในเดือน ธ.ค.นี้ เพื่อดำเนินการประเมินมูลค่าคลื่นความถี่ที่จะเรียกคืนมาประมูลโดยจะเรียกคืนคลื่น 2600 MHz จาก บริษัท อสมท จำกัด (มหาชน) ที่ถือครองอยู่จำนวน 140 MHz ก่อน คาดว่าจะแล้วเสร็จภายใน 1 เดือน

แล้วจะส่งให้ อสมท รับทราบก่อนว่าเห็นด้วยในราคาที่กสทช.เสนอให้หรือไม่ เพื่อนำคลื่น 2600 MHz มาประมูลคู่กับคลื่น 700 MHz ซึ่งหากคลื่น 2600 MHz ใช้กระบวนการล่าช้า กสทช.ก็จะนำคลื่น 700 MHz มาประมูลคู่กับคลื่น 1800 MHz ที่เหลืออยู่ 35 MHz จำนวน 7 ใบอนุญาต แทน

สำหรับงานด้านอื่นๆ จะทำการเร่งรัดและร่วมมือกับสำนักงานตำรวจแห่งชาติ หรือ สตช. ในการนำเลขหมายโทรศัพท์ 191 มาใช้เป็นเลขหมายโทรศัพท์ฉุกเฉินแห่งชาติหมายเลขเดียว (National Single Emergency Number)

ซึ่งในกรณีที่เกิดเหตุขึ้น เจ้าหน้าที่จะสามารถทราบตำแหน่งที่ตั้ง และสถานการณ์ของเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น เนื่องจากมีการบูรณาการกับหน่วยงานต่างๆ รวมทั้งเชื่อมต่อกับกล้อง CCTV ที่ติดตั้งอยู่ทั่วประเทศ

ทำให้สามารถระงับและจัดการกับเหตุการณ์ดังกล่าวได้อย่างมีประสิทธิภาพ รวดเร็ว และทันเหตุการณ์ ลดการสูญเสียทั้งชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนได้อย่างมีประสิทธิภาพ

นอกจากนี้ยังจะเร่งรัด สนับสนุน และร่วมมือกับหน่วยงานของรัฐ อาทิ สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา หรือ อย. สำนักงานตำรวจแห่งชาติ กรมทรัพย์สินทางปัญญา กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม หรือกระทรวงดีอี ในการดำเนินการระงับการเผยแพร่เนื้อหาบนสื่อออนไลน์ที่ผิดกฎหมาย

ลิงค์ที่เกี่ยวข้อง

คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.)

Related Posts