การกำหนดกติกาเพื่อการใช้งานอินเทอร์เน็ตของเด็กและเยาวชนกลายเป็นเรื่องสำคัญที่สังคมไทยต้องตระหนักมากขึ้น เพราะเมื่อกลายเป็น “เด็กติดจอ” อาจจะก่อให้เกิดปัญหาต่างๆ ตามมา
ไม่ว่าจะเป็นโรคซึมเศร้า แยกตัวเอง ไม่สนใจสิ่งแวดล้อม ไม่มีสังคม ตลอดจนไม่มีการทำกิจกรรมร่วมกันในครอบครัว และร้ายที่สุดคือลุกลามจนเป็นปัญหาครอบครัวและสังคมขึ้นมาได้
ดังนั้นการควบคุมให้พอดีจึงเป็นเรื่องสำคัญและบางครั้งต้องมีเทคโนโลยีเข้ามาร่วมด้วย จึงเป็นที่มาของแอปพลิเคชันนี้
ซึ่งเป็นแอปพลิเคชันที่ออกแบบและพัฒนาเพื่อเป็นเครื่องมือสนับสนุนการดูแลการใช้งานอินเทอร์เน็ตของเด็กและเยาวชนให้มีความเหมาะสม และเสริมสร้างความสัมพันธ์ในครอบครัว
ซึ่ง กสทช.ได้พัฒนาขั้นและได้รับความร่วมมือจาก 3 สถาบันการแพทย์ ได้แก่ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี และคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล ร่วมเป็นที่ปรึกษาในการพัฒนาแอปพลิเคชันด้วย
แอปพลิเคชันนี้ประกอบด้วย 4 ฟังก์ชันหลัก ประกอบด้วย 1.ฟังก์ชันกำหนดระยะเวลาการใช้งาน โดยสามารถตั้งจำนวนชั่วโมงที่ต้องการให้ใช้งานได้ในแต่ละวัน
เช่น วันจันทร์ถึงศุกร์ ใช้ได้ 2 ชั่วโมงต่อวัน วันหยุดหรือเสาร์อาทิตย์ ใช้ได้ 3 ชั่วโมงต่อวัน 2.ฟังก์ชันกำหนดช่วงเวลาการใช้งาน โดยสามารถระบุช่วงเวลาที่ให้ใช้งานอินเทอร์เน็ตได้
เช่น ระหว่าง 1 ทุ่มถึง 2 ทุ่ม 3.ฟังก์ชันพักการใช้งานบางแอปพลิเคชัน เช่น ต้องการปิดยูทูป แต่เปิดเว็บไซต์หรือกูเกิลเพื่อใช้ค้นหาข้อมูลได้ และ 4.ฟังก์ชันพักการใช้งานอินเทอร์เน็ตทันที
นอกจากนี้ ยังมีปุ่ม SOS ที่เครื่องลูกไว้ใช้ในกรณีฉุกเฉิน เมื่อกดใช้งานแอปพลิเคชันจะทำการโทรหาผู้ปกครองทันที พร้อมส่งตำแหน่งที่อยู่ (Location) ไปยังอีเมลที่ผู้ปกครองลงทะเบียนไว้ ซึ่งเป็นประโยชน์ในการเพิ่มความปลอดภัยให้กับคนในครอบครัวด้วย
นายก่อกิจ ด่านชัยวิจิตร รองเลขาธิการคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (รองเลขาธิการ กสทช.) กล่าวว่า การใช้งานอินเทอร์เน็ตมากเกินพอดีกลายเป็นการเสพติดการใช้อินเทอร์เน็ต
โดยเฉพาะอย่างยิ่งเด็กและเยาวชน โดยทุกวันนี้เราจึงมักเห็นเด็ก ๆ นั่งก้มหน้ามองจอโทรศัพท์เคลื่อนที่ทั้งใช้ในเชิงที่เป็นประโยชน์ เช่น ค้นหาข้อมูลเพื่อทำการบ้าน หรือใช้เพื่อความบันเทิง เช่น ดูหนัง ฟังเพลง เป็นต้น
จนทำให้เกิดภาวะ “เด็กติดจอ” ซึ่งส่งผลกระทบทั้งสุขภาพร่างกาย จิตใจ ทำให้เกิดปัญหาในด้านต่าง ๆ ตามมา
กสทช.จึงเล็งเห็นถึงความสำคัญในเรื่องความสัมพันธ์ของครอบครัว และเป็นการป้องกันปัญหาที่อาจเกิดขึ้นจากการเสพติดการใช้อินเทอร์เน็ต
รวมถึงการใช้งานในทางที่ไม่ถูกต้องหรือรู้เท่าไม่ถึงการณ์ของเด็กและเยาวชน จึงได้พัฒนาแอปพลิเคชันดังกล่าวขึ้นเพื่อเป็นเครื่องมือให้ผู้ปกครองใช้ดูแลการใช้อินเทอร์เน็ตของลูกหลาน
การติดตั้งเพื่อใช้งานแอปพลิเคชัน “NetCare” ทำได้ง่าย ๆ โดยการดาวน์โหลดได้ในระบบ Android ที่ Play Store
(สำหรับ
เครื่องเด็กใช้งานได้ใน Version ไม่เกิน 8.0) และสำหรับระบบ iOS สามารถดาวน์โหลดแอปพลิเคชันเพื่อใช้เป็นเครื่องแม่ได้ที่ https://netcare.nbtc.go.th/