ธุรกิจร้านจำหน่ายมือถือต้องสตรองขนาดไหน ถึงจะทนและสู้กับกระแสการขายมือถือของโอเปอเรเตอร์ค่ายต่างๆ ได้ เพราะนอกจากจะมีหน้าร้านเพื่อขายมือถือแบบเป็นโซนเป็นสัดเป็นส่วนเองแล้ว ยังอัดโปรโมชันที่เรียกได้ว่าดึงดูดใจมาก สามารถซื้อมือถือแบบที่เดียวครบจบทุกเรื่อง ไม่จำเป็นต้องดำเนินการหลายขั้นตอน
ทำให้ร้านขายมือถือรายย่อยหรือแม้แต่รายใหญ่เองต่างต้องปรับกลยุทธ์และวิธีการขายในรูปแบบใหม่เพื่อทำให้ตัวเองอยู่รอด โดยที่ยังคงสามารถแข่งขันกับร้านค้าคู่แข่งที่ทำธุรกิจในรูปแบบเดียวกันได้
เจมาร์ทโมบาย หนึ่งในร้านขายมือถือระดับที่เรียกได้ว่าเก่าแก่ แต่ก็ค่อนข้างจะเก๋าในเกมธุรกิจสักหน่อย เพราะแม้จะอยู่มานานแต่ก็ได้มีการปรับตัวและกลยุทธ์ให้เท่าทันกับตลาดอยู่ตลอดเวลา จุดได้เปรียบหนึ่งที่บรรดาโอเปอเรเตอร์มือถือไม่อาจะเทียบได้คือการมีแบรนด์โทรศัพท์ขายมากกกว่า หลายรุ่นมากกว่า และลูกค้าทุกระดับชั้นสามารถเข้าไปซื้อหากันได้แบบไม่จำเป็นต้องขวยเขิน เพราะยังคงการตกแต่งร้านที่ทำให้ดูว่าเป็นมิตรมากกว่าหรูหราจนไม่กล้าเข้า
ผลการดำเนินงานล่าสุดในปีที่ผ่านมา เจมาร์ทโมบาย สามารถจำหน่ายมือถือได้กว่า 1.2 ล้านเครื่อง มีการเติบโตประมาณ 10% ถือว่าเติบโตมากกว่าตลาด ตั้งเป้าหมายกำไรสุทธิเติบโต 30% เมื่อเทียบกับปี 2560 ส่วนการเข้าถึงลูกค้านั้นตัวเลขจากสิ้นปีที่ผ่านมามีสาขาภายใต้การบริหารของเจมาร์ทโมบายรวม 225 สาขา ส่วนในปีนี้ลูกค้าจะได้เห็นเจมาร์ทเพิ่มขึ้นอีก 75 สาขา
นายอดิศักดิ์ สุขุมวิทยา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เจ มาร์ท จำกัด (มหาชน) หรือ JMART กล่าวว่า การบริหารของกลุ่มเจมาร์ทที่ผ่านมาเน้นการ Synergy ธุรกิจระหว่างกัน โดยเจมาร์ทมีบริษัทในเครือที่หลากหลายและต่างก็เอื้อประโยชน์ซึ่งกันและกัน และในปีนี้ได้เตรียมเงินลงทุนในธุรกิจเจมาร์ทโมบายประมาณ 3,500 ล้านบาท เพื่อผลักดันการเติบโตของยอดขาย
รวมไปถึงการปรับปรุงธุรกิจในด้านต่างๆ สอดคล้องกับแนวโน้มตลาดโทรศัพท์มือถือในปีนี้ยังคงเติบโตอย่างต่อเนื่องจากการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีที่มีความทันสมัยยิ่งขึ้นทำให้มือถือกลายเป็นอุปกรณ์จำเป็น
“เจมาร์ทโมบายคาดว่าในสิ้นปีนี้ตลาดรวมมือถือในประเทศไทยจะเพิ่มขึ้นอยู่ที่ 120,000 ล้านบาท จากปี 2560 อยู่ที่กว่า 110,000 ล้านบาท จากการที่ผู้ผลิตแบรนด์ชั้นนำทยอยออกสินค้ารุ่นใหม่มาเอาใจผู้บริโภค โดยเจมาร์ทตั้งเป้าการเติบโตไว้สูงเนื่องจากรุกตลาดออน์ไลน์ผ่านเว็บไซต์ www.Jaymartstore.com
โดยตั้งเป้าการขายผ่านออนไลน์ปีนี้เริ่มต้นที่ 500 ล้านบาท ซึ่งการนำออนไลน์เข้ามามีบทบาทมากขึ้น จะช่วยให้ต้นทุนลดลง และสร้างผลกำไรได้เพิ่มขึ้น และที่สำคัญคือการเตรียมเปิด Jaymart Digital Store ร้านแรกในประเทศ พร้อมนำเทคโนโลยี AI เข้ามาสร้างความแปลกใหม่ในการบริการให้กับลูกค้า”
ในส่วนของกลยุทธ์ในปีนี้นั้นจะมีการผลักดันการเติบโตของยอดขายสาขาเดิม (Same Store Sale Growth) มากกว่า 10% ผ่านการบริหารแบรนด์หลักของบริษัทฯ ทั้ง SAMSUNG, iPhone, HUAWEI OPPO และ VIVO และประเดิมเปิดเจมาร์ทในสาขาของซิงเกอร์ 15 สาขา นอกจากนี้ ยังเตรียมรีโนเวท เจมาร์ท ช้อป และมีแผนการจัดงานอีเว้นท์ 32 งาน เพื่อเข้าถึงผู้บริโภคมากขึ้น ช่วยสร้างประสบการณ์การซื้อสินค้าของลูกค้าที่แตกต่างจากคู่แข่ง ซึ่งการเปิดสาขาใหม่อีก 75 สาขานั้นประกอบด้วย เจมาร์ท ช้อป 20 สาขา, เจ คาเมร่า 20 สาขา, แบรนด์ช้อป 20 สาขา
นายอดิศักดิ์ กล่าวว่า นอกจากนี้ยังได้เปิดตัว Jay Pay ให้ลูกค้าสามารถจ่ายบิลและชำระค่าบริการได้ที่เจมาร์ททุกสาขา และจะเสริมจุดเด่นด้วยการเป็นรายเดียวที่เสนอประกันเครื่องให้ลูกค้านานถึง 30 วัน พร้อมนำเสนอสิทธิประโยชน์เรื่องประกันมือถือให้ลูกค้ามากยิ่งขึ้น รวมไปถึงจับมือบริษัทในเครืออย่าง เจ ฟินเทค นำ J Money สนับสนุนในเรื่องของสินเชื่อ และ เจ อินชัวรันซ์ โบรกเกอร์
เพิ่มทางเลือกให้ลูกค้าในการใช้ประกันต่างๆ ครบวงจรในด้านสินค้าและบริการ เพื่อทำให้ธุรกิจมือถือของเจมาร์ทโมบายมีความแข็งแกร่ง เพราะเราเชื่อว่าการทำซินเนอร์จี้ส่งผลดีกับเรา ช่วยเกื้อหนุนระหว่างกันของธุรกิจ สามารถใช้สาขาเดียวในการทำได้หลายอย่าง ลดต้นทุนการไปตั้งสาขาเองของธุรกิจในกลุ่มเจมาร์ท
สำหรับธุรกิจภาพรวมของกลุ่มเจมาร์ทนั้น ตั้งเป้ากลุ่มธุรกิจปีนี้เติบโต 30% โดยได้มีการวางงบการลงทุนรวมทั้งกลุ่มไว้กว่า 19,000 ล้านบาท เพื่อปรับโฉมธุรกิจเข้าสู่ยุคดิจิตอล รองรับการเติบโตในอนาคต โดย JMT หรือบริษัท เจเอ็มที เน็ทเวอร์ค เซอร์วิสเซ็ส จำกัด (มหาชน) ผู้นำในธุรกิจติดตามหนี้ และบริหารหนี้ด้อยคุณภาพ ยังเป็นดาวเด่นของกลุ่ม
โดยเมื่อสิ้นปี 2560 JMT ซื้อหนี้เข้ามาบริหารในพอร์ตทะลุ 120,000 ล้านบาท และในปี 2561 ตั้งเป้างบลงทุน 4,500 ล้านบาท เพื่อซื้อหนี้ด้อยคุณภาพเข้ามาบริหารอย่างต่อเนื่องอีก 52,000 ล้านบาท ซึ่งเป็นหนี้ด้อยคุณภาพที่ไม่มีหลักประกัน และหนี้ที่มีหลักประกัน สนับสนุนพอร์ตบริหารหนี้สิ้นปี 2561 แตะเป้า 170,000 ล้านบาท ได้สำเร็จ
ตั้งเป้าผลงานปีนี้โตอีกไม่ต่ำกว่า 30% จากปีก่อน พร้อมเปิดตัวโมบายแอปพลิเคชันตามหนี้ “Jaii Dee” นำกระแสฟินเทคก่อนคู่แข่งในธุรกิจติดตามหนี้
สำหรับบริษัทในเครือ เจเอ็มที กัมพูชา ปัจจุบันเริ่มติดตามหนี้แล้ว และมีแผนรุกไปยังประเทศเวียดนามในช่วงปลายปี 2561 และรุกเข้าสู่ธุรกิจประกันทั้งบริษัท เจ อินชัวรันซ์ โบรกเกอร์ จำกัด ที่ประกอบธุรกิจนายหน้า ประกันวินาศภัยต่างๆ ประกันภัยรถยนต์ ประกันภัยทรัพย์สิน อุบัติเหตุส่วนบุคคลและการทำดีลเข้าถือหุ้นในธุรกิจประกันภัย
บริษัท เจเอเอส แอสเซ็ท จำกัด (มหาชน) หรือ J นั้นตั้งเป้ารายได้เติบโต 30% จากปีก่อน และวางงบลงทุนไว้จำนวน 720 ล้านบาท จากแผนพัฒนาธุรกิจบริหารพื้นที่เช่าศูนย์โทรศัพท์มือถือ ภายใต้ชื่อ “IT JUNCTION” โดยสิ้นปี 2560 มีจำนวน 52 สาขา และตั้งเป้าในปีนี้จะเปิดเพิ่มอีก 8 สาขา รวมถึงธุรกิจศูนย์การค้าชุมชนภายใต้ชื่อ The Jas
ซึ่งปัจจุบันมีอยู่ 3 แห่ง ได้แก่ The Jas วังหิน , The Jas รามอินทรา ที่มีการรีโนเวทใหม่ในปีที่ผ่านมา เพื่อเพิ่มจำนวนผู้ใช้บริการ และ Jas Urban ศรีนครินทร์ เป็นสาขาล่าสุดที่ได้รับความนิยมเป็นอย่างมาก ในปีนี้ยังเตรียมออกแอปพลิเคชัน J Smile เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับลูกค้าของศูนย์การค้าอีกด้วย
สำหรับโปรเจคคอนโด Newera โครงการแรกตั้งเป้ารับรู้รายได้ในปลายปี 2561 และเตรียมศึกษาโครงการต่อเนื่องเพื่อสร้าง Backlog ให้เติบโตในอนาคต ส่วนธุรกิจกาแฟแบรนด์ คาซ่า ลาแปง ที่เข้าไปลงทุนในปีที่ผ่านมา พร้อมเสริมด้วยแบรนด์ย่อย Rabb Coffee เน้นตลาดแฟรนไซส์
สำหรับ ผู้ที่สนใจทำธุรกิจกาแฟที่มีแบรนด์มาตรฐาน พร้อมมีผู้ให้สินเชื่อสำหรับประกอบธุรกิจทั้ง เจ ฟินเทค และเอสจี แคปปิตอล พร้อมแผนตั้ง Barista Academy ผลิตบาริสต้าเข้าสู่ร้านกาแฟในไตรมาสที่ 1 ปี 2561 นี้ โดยมีแผนขยายสาขาทั้ง คาซ่า ลาแปง และ Rabb Coffee รวม 250 สาขาภายใน 3 ปีนี้
“ไฮไลต์ที่น่าจับตาในปีนี้ยังเดินหน้าตามแผน นำบริษัท เจ ฟินเทค จำกัด เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ โดยคาดว่าจะไฟลิ่งได้ภายในปี 2561 และเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ปี 2562 ระดมทุนเพื่อขยายพอร์ตสินเชื่อ ซึ่งสิ้นปี 2560 ที่ผ่านมา สามารถปล่อยสินเชื่อได้เพิ่มขึ้นอย่างโดดเด่นตามที่วางไว้ หรือปล่อยสินเชื่อซึ่งมียอดลูกหนี้สินเชื่อคงค้างกว่า 3,200 ล้านบาท
และตั้งเป้าปี 2561 จะปล่อยสินเชื่อเพิ่มอีก 7,000 ล้านบาท อีกทั้ง เตรียมบุกใช้เทคโนโลยีฟินเทค และ Blockchain เพื่อรองรับอนาคตทางการเงินของโลก โดยมี บริษัท เจ เวนเจอร์ส จำกัด (JVC) บริษัทในเครือ ประกาศเกาะกระแสโลกเทคโนโลยีทางด้านการเงิน ระดมทุนครั้งแรกด้วยดิจิทัล โทเคน (Initial Coin Offering: ICO)ในชื่อ “JFin Coin” สร้างมิติใหม่ให้กลุ่มเจมาร์ท และตอกย้ำความเป็นผู้นำด้านฟินเทค โดยนำเอา Blockchain เข้ามาใช้เป็นรายแรกของประเทศ”
ทางด้าน SINGER หรือบริษัท ซิงเกอร์ประเทศไทย จำกัด (มหาชน) นั้น มั่นใจปีนี้ธุรกิจสดใส ตั้งเป้ารายได้รวมเติบโต 35% จากปีก่อน และวางงบลงทุนไว้กว่า 3,000 ล้านบาท จากการขยายสินค้าและบริการ โดยเน้นการขายสินค้าเพื่อการพาณิชย์ที่เจาะกลุ่มลูกค้าประเภทธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม อาทิ ตู้แช่ เครื่องทำน้ำแข็ง ตู้เติมน้ำมันหยอดหรียญ และตู้เติมเงินรูปแบบใหม่
ผ่านตัวแทนจำหน่ายของบริษัทฯ รวมทั้งใช้ความได้เปรียบสำหรับช่องทาง รากหญ้า เร่งยอดธุรกิจสินเชื่อรถทำเงิน บริการสินเชื่อจำนำทะเบียนรถ ปล่อยสินเชื่อเช่าซื้อรถจักรยานยนต์ รวมถึง สินเชื่อไมโคร และนาโนไฟแนนซ์ ทั้งนี้ Singer มีแผนขยายสาขาและช่องทางการจัดจำหน่าย โดยเปิดตัว “Singer Franchise” ซึ่งเน้นคอนเซป ใครๆ ก็เป็นเจ้าของธุรกิจซิงเกอร์ได้ ตั้งเป้าขยายสาขา เป็น 350 สาขา ภายในปี 2563
นอกจากนี้ ในด้านการบริหารได้ผู้บริหารน้องใหม่เข้ามาบริหารงานด้านสินเชื่อ โดยได้แต่งตั้ง นางสาวสนันนาถ กุลไพศาลธรรม กรรมการผู้จัดการบริษัท เอสจี แคปปิตอล จำกัด รุกธุรกิจสินเชื่อ ทั้งรถทำเงิน Captive Finance รุกสินเชื่อรากหญ้า สินเชื่อไมโคร และนาโนไฟแนนซ์ ซึ่งจะสร้างพอร์ตให้ขยายมากขึ้น และนำบริษัทเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ ปี 2563 เพื่อระดมทุนในการขยายสินเชื่อต่อไป
เจมาร์ทโมบายอาจจะเป็นธุรกิจที่ดูแล้วธรรมดา แต่เมื่อดูองค์ประกอบโดยรวมของทั้งกลุ่มธุรกิจเจมาร์ทแล้วไม่ธรรมดาเลย จึงเป็นคำตอบของคำถามที่ว่าทำไมเจมาร์ทโมบายจึงยังคงเติบโตได้อย่างแข็งแกร่ง และกล้าที่จะตั้งเป้าการเติบโตในระดับที่เรียกได้ว่าสูงกว่าการเติบโตของตลาดมาก