เอไอเอส เผยหลังได้คลื่นความถี่ใหม่ส่งผลให้มีคลื่น 1800 MHz ให้บริการด้วยแบนด์วิธกว้างที่สุดในจำนวนผู้ให้บริการทุกรายในประเทศ มั่นใจหลังเปิดใช้เต็มที่จะช่วยให้ลูกค้าใช้งาน 4G ได้เร็วขึ้น 30% ชี้ภาพรวมตอนนี้ เอไอเอสถือครองคลื่นความถี่ในการให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ รวมทั้งสิ้น 120 MHz
นายปรัธนา ลีลพนัง หัวหน้าคณะผู้บริหารกลุ่มลูกค้าทั่วไป เอไอเอส กล่าวว่า หลังการประมูลคลื่นความถี่ใหม่ที่ได้จากการประมูลคลื่นความถี่ 1800 MHz ทำให้ปัจจุบัน เอไอเอสมีคลื่นความถี่ 1800 MHz สำหรับให้บริการ 4G ที่ดีที่สุด และมีแบนด์วิธกว้างที่สุดในจำนวนผู้ให้บริการทุกรายในประเทศ
โดยมีถึง 40 MHz (20 MHz X 2) ที่ต่อเนื่องกัน ซึ่งเป็นย่านความถี่ที่เหมาะสมที่สุดในการให้บริการ 4G ตามมาตรฐานของเทคโนโลยี ปัจจุบันเอไอเอสมีลูกค้าที่ใช้งาน 4 G ประมาณ 22 ล้านเลขหมาย แต่ทั้งนี้หากมีการประมูลคลื่นใหม่เราจะพิจารณาทุกคลื่นเพื่อสร้างประสิทธิภาพดีที่สุดในการให้บริการ
ทั้งนี้หลังเปิดใช้งานคลื่นความถี่ใหม่เต็มรูปแบบจะช่วยให้ความเร็วของการใช้งาน 4G ของลูกค้าผ่านเครื่องโทรศัพท์เคลื่อนที่ที่รองรับ 4G ทุกรุ่นเพิ่มขึ้น 30% รวมทั้งเพิ่มขีดความสามารถในการรองรับการใช้งานของลูกค้าถึง 33 %
พร้อมทั้งช่วยเพิ่มความแข็งแกร่งในการเป็นผู้นำในตลาดของเอไอเอสในฐานะผู้ให้บริการ 4G รายเดียวที่มีคลื่นความถี่ติดกัน ส่งผลให้เอไอเอสก้าวขึ้นเป็นผู้ให้บริการที่มีคลื่นความถี่ในการให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่จำนวนมากที่สุดในอุตสาหกรรม
“ปัจจุบันเอไอเอสถือครองคลื่นความถี่ 1800 MHz ที่ได้รับใบอนุญาตจาก กสทช. มากที่สุดถึง 40 MHz (20 MHz X 2) เรียกว่าเป็นแบนด์วิธคลื่นสำหรับให้บริการ 4G ในระบบ FDD ที่กว้างที่สุดในประเทศไทย
ดังนั้น เมื่อนับรวมคลื่นความถี่ 2100 MHz จำนวน 30 MHz (15 MHz X 2) ที่เป็นของเอไอเอสเอง และอีก 30 MHz (15 MHz X 2) ที่เป็นพันธมิตรร่วมกับ TOT และคลื่นความถี่ 900 MHz อีก จำนวน 20 MHz (10 MHz X 2)
ทำให้เอไอเอสมีคลื่นความถี่ในการให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ รวมทั้งสิ้น 120 MHz (60 MHz x 2) ซึ่งเต็มเปี่ยมประสิทธิภาพ และพร้อมต่อการพัฒนาต่อยอดเทคโนโลยีเครือข่ายในอนาคต”
นายปรัธนา กล่าวว่า การประมูลคลื่น 1800 MHz ในครั้งนี้ มีความสำคัญและมุ่งหมายเพื่อเสริมคุณภาพบริการดาต้าในยุค 4G ให้สูงขึ้น และยกระดับความแข็งแกร่งของโครงสร้างพื้นฐานด้านโทรคมนาคมในประเทศไทย
ถือเป็นการขยายความจุโครงข่ายเพื่อรองรับการเติบโตของ 4G โดยเป็นการเพิ่มช่องสัญญาณจากที่มีอยู่เดิมและใช้ได้กับอุปกรณ์โครงข่าย 4G บนคลื่น 1800 MHz ที่ลงทุนไปแล้ว เป็นการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันให้กับบริษัทในการให้บริการและเตรียมความพร้อมก้าวสู่เทคโนโลยี 5G