การเปิดตัว นิสสัน ลีฟ ใหม่ รถยนต์พลังงานไฟฟ้า 100% ในเมืองไทยในงานมอเตอร์เอ็กซ์โปครั้งที่ 35 ที่ผ่านมา นับเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีของยานยนต์ยุคใหม่ที่คนไทยจะมีโอกาสได้สัมผัส ซึ่งที่ผ่านมาแม้ว่าจะมีผู้ผลิตหลายรายนำเสนอรถยนต์ในรูปแบบเดียวกันนี้ เข้ามาจำหน่ายก่อนหน้าแล้ว
แต่ก็ยังต้องรอเวลาเพื่อสร้างความมั่นใจในตัวผลิตภัณฑ์กันอีกสักระยะ รวมไปถึงความเชื่อมั่นและบริการหลังการขายก็ดูเหมือนว่าจะยังไม่ค่อยชัดเจนเท่าใดนัก
การตั้งราคาของ นิสสัน ลีฟ แม้จะทำให้แฟนที่รอคอยต้องตาค้างกับค่าตัวที่ค่อนข้างสูง จนลืมคิดไปว่าเป็นรถยนต์ที่นำเข้ามาจากญี่ปุ่น 100% ย่อมต้องเสียภาษีนำเข้าแพง แถมยังการันตีว่าเป็นรถยนต์พลังงานไฟฟ้าที่ขายดีที่สุดในโลก และเป็นรุ่นที่ 2 แล้ว
การเปิดตัวครั้งนี้นิสสันเพิ่มความมั่นใจด้วยการรับประกันรถยนต์เป็นเวลา 3 ปี หรือ 100,000 กิโลเมตร รับประกันระบบไฟฟ้ารถยนต์เป็นเวลา 5 ปี หรือ 100,000 กิโลเมตร และรับประกันการเสื่อมสภาพของแบตเตอรี่เป็นเวลา 8 ปีหรือ 160,000 กิโลเมตร
ปัจจุบันมีศูนย์บริการที่ผ่านการรับรอง 33 แห่งทั่วประเทศที่พร้อมนำเสนอข้อมูลของนิสสัน ลีฟ ใหม่ รวมถึงพนักงานที่มีทักษะและการบริการหลังการขาย
โดยก่อนการเปิดตัวนิสสันลีฟ ทางนิสสันได้ทำบันทึกข้อตกลงความร่วมมือกับการไฟฟ้านครหลวงแห่งประเทศไทยไปแล้ว เพื่อทำให้เจ้าของลีฟชาวไทยสามารถเข้าถึงอุปกรณ์ชาร์จที่บ้าน ที่ทำงาน และบนท้องถนน
โดยใช้ระบบการชำระค่าไฟฟ้าวิธีคิดใหม่เกี่ยวกับการเดินทาง ซึ่งจะช่วยผลักดันให้เกิดการใช้พลังงานไฟฟ้าในประเทศไทย
เช่นเดียวกับค่าย ฟอมม์ เอเซีย ที่ได้ทำการแนะนำรถยนต์ไฟฟ้าขนาดกระทัดรัดภายใต้แบรนด์ “FOMM” ไปก่อนหน้านี้ และในงานมอเตอร์เอ็กซ์โปครั้งนี้ได้จัดแคมเปญ เพื่อเป็นการเชิญชวนลูกค้าผู้ที่สนใจจะใช้ยานยนต์ไฟฟ้าสำหรับในเมือง ให้ตัดสินใจทดลองใช้งานได้ง่ายยิ่งขึ้น
ด้วยการลดราคาพิเศษ 64,100 บาท จาก 664,000 บาท เหลือเพียงราคา 599,900 บาท สำหรับผู้จองซื้อรถ FOMM One ในงานมอเตอร์ เอ็กซ์โปครั้งนี้ รวมไปถึงยังได้มีนโยบายเปิดรับ Next Gen Dealer รถ FOMM โดยมีเป้าหมายจะเพิ่ม Dealer ในกรุงเทพมหานครและอีก 8 จังหวัดใหญ่ทั่วประเทศ
นอกจากนี้ยังได้จับมือกับกรุงศรีออโต้จัดอัตราดอกเบี้ยพิเศษเริ่มต้นเพียง 2.90% และระยะเวลาการผ่อนสูงสุดนานถึง 72 เดือน ให้แก่ลูกค้าที่จองรถในงาน โดยคาดว่ารถคันแรก สามารถเริ่มส่งมอบได้ภายในไตรมาสแรกของต้นปีหน้า
FOMM One เป็นรถนั่งบุคคลขนาดเล็กที่ขับเคลื่อนด้วยระบบพลังงานไฟฟ้า 100% ออกแบบโดยทีมงานวิศวกรชาวญี่ปุ่นในประเทศญี่ปุ่น ลงทุนเปิดสายการผลิตรถรุ่นแรกในประเทศไทยด้วยเงินลงทุน 1,000 ล้านบาท
และได้รับการส่งเสริมการลงทุนจาก BOI ในประเภทการผลิตรถยนต์ไฟฟ้า BEV ในโรงงานผลิตรถยนต์ขนาดเล็กที่เรียกว่า “Micro-Fab” คิดค้นโดยวิศวกร FOMM เพื่อสร้างนวัตกรรมใหม่ในการผลิตรถยนต์
รถกระทัดรัดคันนี้มี 4 ที่นั่ง มาพร้อมมอเตอร์ไฟฟ้าที่เป็นเทคโนโลยี่รุ่นใหม่ล่าสุดจากประเทศญี่ปุ่นคือ In-Wheel Motor ทำให้การสูญเสียพลังงานของมอเตอร์น้อยมากเมื่อเปรียบเทียบกับมอเตอร์ทั่วไปในปัจจุบัน
จึงช่วยประหยัดค่าใช้จ่ายด้วยอัตราสิ้นเปลืองเพียง 30 สตางค์ต่อกิโลเมตร ด้วยการชาร์จไฟฟ้าจากระบบภายในบ้านเพียง 6 ชั่วโมง (0-100%) คิดเป็นค่าใช้จ่ายเพียง 36 บาท แต่สามารถวิ่งได้ไกลถึง 160 กิโลเมตร (WLTC)
มาดูทางฝั่งรถหรูกันบ้าง ล่าสุด บริษัท อินช์เคป (ประเทศไทย) จำกัด ผู้นำเข้าและตัวแทนจำหน่ายรถยนต์จากัวร์และแลนด์โรเวอร์อย่างเป็นทางการแต่เพียงผู้เดียวในประเทศไทย แนะนำรถยนต์แลนด์โรเวอร์ 3 รุ่นใหม่ ครอบคลุมทุกความต้องการของกลุ่มลูกค้า
โดยเริ่มจาก Land Rover Discovery Sport รถ SUV ขนาดกลางระดับพรีเมียม และที่น่าจับตาคือ 2 รุ่นใหม่กับรถยนต์ที่ใช้เครื่องยนต์ Plug-In Hybrid ตัวแรกจากแลนด์โรเวอร์ กับ Range Rover Sport Plug-in Hybrid และ Range Rover Plug-in Hybrid
การนำเสนอรถยนต์ปลั๊กอินไฮบริดในครั้งนี้เป็นครั้งแรกของแบรนด์นี้ ที่เริ่มกระโดดเข้าสู่วางการรถยนต์ไฟฟ้า ซึ่งคาดว่าในอนาคตอันใกล้นี้จะมีการนำเสนอเพิ่มเติมอีก โดยเครื่องยนต์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมด้วยการขับเคลื่อนแบบไร้มลพิษเมื่อขับขี่ด้วยโหมดไฟฟ้าได้ระยะทางสูงสุด 51 กิโลเมตร
นอกจากนี้ อินช์เคป ยังจับมือกับ บริษัท พลังงานบริสุทธิ์ จำกัด (มหาชน) ผู้ให้บริการ EA Anywhere สถานีอัดประจุไฟฟ้าจะให้บริการติดตั้งเครื่องชาร์จ Wallbox ให้แก่ลูกค้าแลนด์โรเวอร์ที่บ้านพักอาศัย หรืออาคารสำนักงานของลูกค้าที่ต้องการติดตั้ง
รวมถึงให้บริการสถานีชาร์จไฟฟ้าในลานจอดรถห้างสรรพสินค้า คอมมูนิตี้มอลล์ สถานีบริการน้ำมัน และในสถานที่ต่างๆ โดยมีเป้าหมายการเตรียมสร้างสถานีชาร์จรถยนต์พลังงานไฟฟ้าให้ครอบคลุมเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล 1,000 แห่งทุกๆ ระยะทาง 5 กิโลเมตร
ถือเป็นการสร้างความมั่นใจให้กับผู้ใช้รถแลนด์โรเวอร์ได้มีสถานีชาร์จไฟฟ้าเพียงพอต่อความต้องการ นอกจากนี้ยังสามารถหาสถานีได้อย่างง่ายดายผ่านแอปพลิเคชันบนโทรศัพท์มือถือ
ด้านบีเอ็มดับเบิลยู กรุ๊ป ประเทศไทย หลังจากมีการนำเสนอรถยนต์ปลั๊กอินไฮบริดมาระยะหนึ่งแล้ว ล่าสุดได้ประกาศเริ่มต้นการประกอบแบตเตอรี่แรงดันสูงในประเทศไทย ทั้งในส่วนของการประกอบโมดูลแบตเตอรี่และการประกอบตัวแบตเตอรี่
โดยจะเริ่มต้นสายการประกอบในปี พ.ศ. 2562 ณ โรงงานในนิคมอุตสาหกรรมดับบลิวเอชเอ ชลบุรี 2 ซึ่งนับเป็นการวางฐานเพื่อเตรียมพร้อมสำหรับการประกอบแบตเตอรี่แรงดันสูงในประเทศไทย และยังได้ทำการจัดโปรแกรมอบรมและพัฒนาบุคลากรเพื่อการนี้โดยเฉพาะ
นับตั้งแต่เดือนกันยายน พ.ศ. 2561 เป็นต้นมา ภายใต้ความร่วมมือกับแดร็คเซิลไมเออร์ กรุ๊ป ผู้นำด้านการผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ระดับโลก ซึ่งเป็นพันธมิตรกับบีเอ็มดับเบิลยู กรุ๊ปมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2509
โรงงานดังกล่าวนับเป็นการเติมเต็มกลยุทธ์ยานยนต์ไฟฟ้าของบีเอ็มดับเบิลยู และจะเป็นส่วนสำคัญที่จะช่วยตอบโจทย์ความต้องการที่เพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดดในตลาดรถยนต์พลังงานไฟฟ้าของภูมิภาคอาเซียน
นอกจากนี้ ยังถือเป็นการเสริมความแข็งแกร่งให้แก่โรงงานในจังหวัดระยอง ซึ่งเป็นศูนย์กลางการประกอบรถยนต์ในภูมิภาคนี้ โดยในปัจจุบันโรงงานของนี้มีความสามารถในการประกอบรถยนต์ปลั๊กอินไฮบริดถึง 4 รุ่น และการผลิดแบตเตอรี่ในประเทศไทย จะช่วยส่งเสริมสายการประกอบยนตรกรรมให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น
เมื่อเสร็จสิ้นกระบวนการประกอบแล้ว แบตเตอรี่แรงดันสูงดังกล่าวจะถูกส่งไปยังโรงงานบีเอ็มดับเบิลยูที่ระยอง เพื่อนำไปติดตั้งในรถยนต์ปลั๊กอินไฮบริดในตระกูล บีเอ็มดับเบิลยู ซีรี่ส์ 5 บีเอ็มดับเบิลยู ซีรี่ส์ 7 และบีเอ็มดับเบิลยู X5 โดยจะเริ่มต้นเฟสแรกตั้งแต่ปี 2562 เป็นต้นไป
โดยตั้งแต่เดือนกันยายน พ.ศ. 2561 ที่ผ่านมาบุคลากรจากแดร็คเซิลไมเออร์ กรุ๊ป ได้เข้าร่วมโปรแกรมอบรมและพัฒนาบุคลากรเพื่อการประกอบแบตเตอรี่แรงดันสูง ณ โรงงานบีเอ็มดับเบิลยู กรุ๊ปในเมืองดิงกอลฟิง และโรงงานนำร่องการผลิตระบบการขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฟฟ้า
เพื่อถ่ายทอดทักษะความเชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีการผลิตที่ล้ำสมัย เช่น การเชื่อมด้วยเลเซอร์ การเตรียมพื้นผิววัสดุด้วยพลาสมา วิทยาการหุ่นยนต์ กระบวนการยึดติด การตรวจสอบคุณภาพชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์อัตโนมัติ (AOI) การตรวจสอบการทำงานของระบบไฟฟ้าและการตรวจสอบคุณภาพเมื่อสิ้นสุดสายการผลิต
นอกจากนี้ โปรแกรมการอบรมดังกล่าวยังครอบคลุมทักษะในการทำงานกับกระบวนการผลิตอัตโนมัติ ซึ่งเป็นกระบวนการที่สำคัญในการประกอบโมดูลแบตเตอรี่ รวมถึงการตรวจสอบคุณภาพโดยรวม การออกแบบกระบวนการและเทคโนโลยีการผลิต การปรับปรุงแก้ไขคุณภาพ และการวิเคราะห์กระบวนการผลิต
เมื่อเสร็จสิ้นการเรียนรู้และเสริมสร้างความเชี่ยวชาญด้านการประกอบแบตเตอรี่แล้ว บุคลากรที่ผ่านการอบรมข้างต้นจะได้มีโอกาสทำงานกับชิ้นส่วนอย่างเซลล์แบตเตอรี่ที่นำเข้าจากผู้ผลิตในภูมิภาคเอเชีย
พร้อมด้วยชิ้นส่วนแบตเตอรี่นำเข้าอีกมากมาย ทั้งโครงอะลูมิเนียม ระบบวงจรอิเล็กทรอนิกส์และสายไฟ เพื่อประกอบแบตเตอรี่แรงดันสูงที่ได้มาตรฐานระดับโลกของบีเอ็มดับเบิลยู กรุ๊ป และเป็นไปตามข้อกำหนดด้านการใช้ชิ้นส่วนจากผู้ผลิตในประเทศของประเทศไทย
ปิดท้ายกันที่ฮอนด้า แม้จะยังไม่มีรถยนต์ไฟฟ้ามาอวด แต่งานนี้ก็มายั่วน้ำลายกันก่อนด้วยการเผยโฉมฮอนด้า แอคคอร์ดใหม่ ก่อนเปิดตัวอย่างเป็นทางการต้นปี 2562 ที่จะมาพร้อม 2 ขุมพลัง ทั้งเครื่องยนต์เทอร์โบรุ่นใหม่ และเครื่องยนต์ที่มาพร้อมระบบ Sport Hybrid Intelligent Multi Mode Drive (i-MMD) ใหม่
ซึ่งเป็นระบบ Full Hybrid เจเนอเรชั่นที่ 3 พ่วงด้วยเทคโนโลยีความปลอดภัยแบบอัจฉริยะ Honda SENSING ซึ่งมาพร้อมระบบความปลอดภัยที่ล้ำสมัยมากยิ่งขึ้น ซึ่งในปีหน้านอกจากฮอนด้าแอคคอร์ดไฮบริดแล้ว ฮอนด้ายังเผยให้ฟังอีกว่าจะมีรถยนต์ไฮบริดตามมาอีก 1 รุ่น แต่ยังต้องลุ้นว่าจะเป็นรุ่นไหน
นอกจากนี้ยังมีการยั่วน้ำลายแฟนรถซูเปอร์คาร์ด้วย สปอร์ต ไฮบริด ฮอนด้า เอ็นเอสเอ็กซ์ สปอร์ตซูเปอร์คาร์คันแรกของโลก ที่ผสานการทำงานของมอเตอร์ไฟฟ้าและเครื่องยนต์ด้วยระบบ Sport Hybrid SH-AWD ประกอบไปด้วยเครื่องยนต์เบนซิน V6 ขนาด 3.5 ลิตร DOHC Twin-Turbo
ทำงานร่วมกับมอเตอร์ไฟฟ้า 3 ตัว โดยมีมอเตอร์ไฟฟ้า 2 ตัวช่วยขับเคลื่อนที่ล้อหน้า และมอเตอร์ไฟฟ้าอีกหนึ่งตัวที่ล้อคู่หลัง พร้อมระบบเกียร์ 9 สปีดดูอัลคลัตซ์ ให้สมรรถนะการขับเคลื่อนที่ทรงพลัง และสามารถปรับเปลี่ยนโหมดการขับขี่ได้อย่างอัจฉริยะ แต่คันนี้ไม่รู้ว่าฮอนด้าจะนำเข้ามาหรือไม่
การเปิดตัวรถยนต์ไฟฟ้า 100 เปอร์เซ็นต์ของค่ายรถยนต์อย่างนิสสันและ ฟอมม์ เอเซีย นับเป็นการเริ่มต้นให้วงการรถยนต์ไฟฟ้าในเมืองไทยได้ตื่นตัว และทำให้สังคมไทยได้รับรู้ว่าขณะนี้มีผู้ทำตลาดรถยนต์ไฟฟ้าอย่างจริงจังแล้ว
ส่วนค่ายอื่นๆ จะตามมาช้าหรือเร็วก็ขึ้นอยู่กับความพร้อมของแต่ละผู้ผลิต แต่สิ่งที่จะทำให้การเติบโตของรถยนต์ไฟฟ้ายั่งยืนที่สุดคือการสนับสนุนอย่างต่อเนื่องของภาครัฐ ที่ต้องมีนโยบายในเรื่องนี้ที่ชัดเจนในทุกด้าน
โดยเฉพาะการฝากความหวังไว้กับรัฐบาลชุดใหม่ว่าจะสานต่อในเรื่องนี้อย่างไร เพราะตอนนี้เอกชนมีความพร้อมแล้วสำหรับถนนสายเล็กๆ ให้กับรถยนต์ไฟฟ้า รอแค่เพียงให้รัฐมาขยายเลนให้ใหญ่ขึ้นเท่านั้น
ลิงค์ที่เกี่ยวข้อง