การต่อยอดงานวิจัยของสถาบันการศึกษาจำเป็นต้องได้รับงบประมาณในการสนับสนุน เพราะเพียงการให้ทุนวิจัยในเบื้องต้นสำหรับโครงงานต่างๆ อาจไม่เพียงพอที่จะพัฒนาให้เห็นอย่างเป็นรูปธรรมได้ และอาจทำให้ต้องสูญเสียงานวิจัยที่จะก่อให้เกิดประโยชน์และสร้างรายได้ให้กับประเทศ
เช่นเดียวกับผลงานวิจัยของมหาวิทยาลัยนเรศวรซึ่งล่าสุดมี 3 งานวิจัย ที่สามารถนำไปใช้พัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์ใหม่ที่ใช้งานได้จริง และเห็นผลทางเศรษฐกิจอย่างชัดเจน หลังจากได้รับทุนวิจัยอย่างต่อเนื่องจากสำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร หรือ สวก.
โครงการวิจัยแรกเป็นการศึกษาสารสกัดจากกฤษณา เพื่อส่งเสริมการใช้ใบกฤษณาเป็นผลิตภัณฑ์ดูแลสุขภาพ โดยเน้นศึกษาฤทธิ์ในการกระตุ้นการเจริญเติบโตของเซลล์รากผม ฤทธิ์ต้านการอักเสบต่อเซลล์รากผม
รวมถึงฤทธิ์ในการยับยั้ง adrogenic hormone ซึ่งเป็นเป้าหมายสำคัญของผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางสำหรับดูแลเส้นผม ซึ่งโครงการนี้นอกจากจะมีผลิตภัณฑ์ที่ใช้งานและเห็นผลชัดเจนแล้ว ยังช่วยสร้างรายได้กลับมาให้กับทางมหาวิทยาลัยอีกด้วย
โครงการการวิจัยและพัฒนาการผลิตเห็ดถั่งเช่าสีทองเชิงพาณิชย์ เป็นการศึกษาค้นคว้าทางเภสัชวิทยา พบว่าเห็ดถังเช่ามีสาระสำคัญทางชีวภาพหลายชนิด ซึ่งมีคุณสมบัติบำรุงไตและปอด กระตุ้นการไหลเวียนของโลหิต ช่วยรักษาสมดุลของ คลอเรสเตอรอลในหลอดเลือด ลดการอักเสบ และยับยั้งการเจริญเติบโตของแบคทีเรียและเชื้อรา และต้านมะเร็ง
โดยโครงการวิจัยนี้ สวก. ได้ถ่ายทอดเทคโนโลยีให้แก่บริษัท บิ๊ค เคมิคอล จำกัด ซึ่งขณะนี้บริษัทอยู่ระหว่างการวิจัยและพัฒนาเพื่อเพิ่มปริมาณการผลิตเพื่อจำหน่ายในเชิงการค้า
โครงการสารเสริมกระตุ้นภูมิคุ้มกันและพลังงานแบบเร่งด่วนสำหรับสุกร ซึ่งโครงการวิจัยนี้เป็นการศึกษาเพื่อจะได้พัฒนาผลิตภัณฑ์ต้นแบบสารเสริมภูมิคุ้มกันและพลังงานแบบเร่งด่วนสำหรับสุกร และสารเสริมภูมิคุ้มกันและพลังงานเร่งด่วนสำหรับสุกร
ที่มีคุณสมบัติ 3 ประการ ได้แก่ 1.เพิ่มประสิทธิภาพการเจริญเติบโตของลุกสุกร 2. การตอบสนองของเซลล์ผนังลำไส้เล็ก และ 3. การตอบสนองภูมิคุ้มกันระดับยีน
ซึ่งขณะนี้ทางบริษัทเบทาโกรเกษตรอุตสาหกรรม จำกัด ได้เล็งเห็นถึงประโยชน์จากผลงานวิจัยดังกล่าว และผลงานวิจัยนี้มีความสอดคล้องกับมีจุดมุ่งหมายชัดเจนของบริษัท ในการลดการใช้ยาในฟาร์ม เพื่อการจำหน่ายเป็นผลิตภัณฑ์ของบริษัท
แต่ยังติดปัญหาผลิตภัณฑ์ที่มีลักษณะ และคุณสมบัติคล้ายคลึงกันของอาหาร และสารเสริมที่ต้องนำเข้าจากต่างประเทศ ซึ่งมีราคาค่อนข้างสูง จึงได้เข้าร่วมพัฒนาโครงการวิจัยสารเสริมกระตุ้นภูมิคุ้มกันและพลังงานแบบเร่งด่วนสำหรับสุกร
นายสุวิทย์ ชัยเกียรติยศ ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร (องค์การมหาชน) หรือ สวก. กล่าวว่า การส่งเสริมการวิจัยของ สวก.นั้น เราต้องการได้นวัตกรรม โดยจะให้ความสำคัญกับทุกกลุ่มของการผลิตด้านการเกษตร
นอกจากได้ตัวนวัตกรรมมาใช้ผลักกดันการเกษตรของไทยแล้ว ยังรวมไปถึงเชิงพาณิชย์ด้วย การเชื่อมโยงเราเน้นการทำงานแบบบูรณาการ นำประชารัฐมาร่วมด้วย การวิจัยทุกชิ้นต้องคำนึงถึงการใช้ประโยชน์เป็นหลัก และจะต่อยอดไปยังภาคเกษตรกรซึ่งเป็นผู้ผลิตการเกษตรเป็นห่วงโซ่ต่อไป
ซึ่งในปีนี้มี 600 ล้านบาทในการให้ทุน การเสนอการวิจัยไม่ยุ่งยาก งานวิจัยที่มีประโยชน์ต่อประเทศชาติเราก็พร้อมสนับสนุนการดำเนินโครงการเหล่านั้น
ความร่วมมือกับมหาวิทยาลัยนเรศวรในครั้งนี้เป็นโครงการวิจัยที่มีการบูรณการในทำงานร่วมกัน ทั้งหน่วยภาครัฐ สถาบันการศึกษา และภาคเอกชนเพื่อให้เกิดใช้ประโยชน์จากงานวิจัยอย่างแท้จริง มีศักยภาพสูงที่มีภาคเอกชนสนใจเข้าร่วมการวิจัยสอดคล้องกับพันธกิจหลักที่สำคัญของ สวก.
คือ มุ่งสนับสนุนการพัฒนางานวิจัยและระบบวิจัย ที่สอดคล้องกับยุทธศาสตร์การพัฒนาประเทศและนโยบายของรัฐบาล มุ่งให้เกิดการนำผลงานวิจัยไปสูการใช้ประโยชน์และช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตและยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันของภาคการเกษตรและอุสาหกรรมเกษตรของประเทศ โดยใช้กลไกการมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วน
ด้านรองศาสตราจารย์ ดร.ภก.เนติ วระนุช ภาควิชาเทคโนโลยีเภสัชกรรม คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร หัวหน้าโครงการวิจัย การศึกษาฤทธิ์ทางชีวภาพของสารสกัดใบกฤษณาเพื่อพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์บำรุงเส้นผมและหนังศีรษะ
กล่าวว่า กฤษณาจัดว่าเป็นไม้เศรษฐกิจที่มีการค้าขายมาเป็นเวลานาน เนื่องจากสามารถผลิตน้ำมันที่มีกลิ่นหอมที่ได้มาจากยางของแก่นไม้เกิดการติดเชื้อจากเชื้อรา เมื่อนำไปสกัดจะได้น้ำมันที่มีกลิ่นหอมและมีราคาแพง
และจากตำราแพทย์ศาสตร์สงเคราะห์ยังพบว่ามีการใช้กฤษณาเป็นส่วนประกอบในการปรุงยารักษาอาการไข้ การสมานแผล และการบำรุงร่างกาย ใบกฤษณาพบสารออกฤทธิ์ทางชีวภาพที่สำคัญจำพวก xanthone glycosis, สารกลุ่ม benzophenone glycoside และสารกลุ่ม flavonoid glycoside
สารเหล่านี้มีคุณสมบัติยับยั้งเอนไซม์ glucosidase ส่งผลต่อการลดลงของระดับน้ำตาลในเลือด และยังพบว่า สาร mangiferin มีฤทธิ์ในการยับยั้งการทำงานของเอนไซม์ 5-reductase type II ซึ่งเอนไซม์ชนิดนี้มีผลทำให้ขนาดของ hair cell ของเส้นผมเล็กลงและหลุดร่วงเร็วขึ้น
ภาวะผมร่วงเนื่องจากฮอร์โมนเพศชาย ( Androgenic alopecia ) เป็นภาวะที่พบได้ถึง 30% ในผู้ชายอายุ 30 ปีและมากถึง 50% ในผู้ชายที่อายุมากกว่า 50 ปี สาเหตุนั้นเป็นผลจากพันธุกรรมและฮอร์โมน ทั้งนี้ยังไม่ทราบถึงการถ่ายทอดทางพันธุกรรมที่แน่ชัด
ส่วนของฮอร์โมนที่มีผลต่อภาวะผมร่วงคือ Dihydrotestosterone (DHT) และส่งผลต่อการอักเสบในรากผม ซึ่งมีรายงานพบว่า 55% ของผู้มีภาวะศีรษะล้านมีอาการอักเสบของรากผม จากการศึกษาต้านการอักเสบของสาร mangiferin
ซึ่งพบในปริมาณสูงในใบกฤษณา โดยทดสอบในหนูทดลองพบว่าการได้รับสาร mangiferin สามารถช่วยให้ปอดของหนูต่อต้านการเหนี่ยวนำของการติดเชื้อได้โดยองค์ความรู้พื้นฐานนี้
“ผลิตภัณฑ์จากธรรมชาติหรือสมุนไพรเป็นที่ต้องการทั้งตลาดภายในประเทศและต่างประเทศ ซึ่งประเทศไทยมีวัตถุดิบธรรมชาติที่มีศักยภาพในการนำมาพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพและเครื่องสำอาง การวิจัยและพัฒนาสมุนไพรอย่างกฤษณาในครั้งนี้ มุ่งเน้นให้มีการวิจัยเกี่ยวกับการทดสอบฤทธิ์ทางชีวภาพ เพื่อให้ได้องค์ความรู้ของสมุนไพรไทย
รวมทั้งวิจัยเกี่ยวกับการพัฒนาวิธีวิเคราะห์การควบคุมคุณภาพสารสกัดสมุนไพร เพื่อให้วัตถุดิบที่จะนำไปใช้พัฒนาเป็นเครื่องสำอางนั้นมีคุณภาพทั้งในแง่ฤทธิ์ทางเภสัชวิทยา และการควบคุมคุณภาพทางเคมี”
ด้านผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.พีระศักดิ์ ฉายประสาท คณะเกษตรศาสตร์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยนเรศวร หัวหน้าโครงการการวิจัยและพัฒนาการผลิตเห็ดถั่งเช่าสีทองเชิงพาณิชย์ กล่าวว่า ผลการศึกษาค้นคว้าทางเภสัชวิทยา พบว่าเห็ดถังเช่ามีสาระสำคัญทางชีวภาพหลายชนิด
ซึ่งมีคุณสมบัติบำรุงไตและปอด (Nakamura et al.,2005) กระตุ้นการไหลเวียนของโลหิต ช่วยรักษาสมดุลของ คลอเรสเตอรอลในหลอดเลือด ลดการอักเสบ และยับยั้งการเจริญเติบโตของแบคทีเรียและเชื้อรา และต้านมะเร็ง จากการค้นพบสารออกฤทธิ์ทางชีวภาพดังกล่าว
จึงทำให้เห็ดถั่งเช่าเริ่มเป็นที่รู้จัก และนิยมนำมาใช้เป็นยาสมุนไพรรักษาโรคต่างๆ และเป็นอาหารเสริมที่มีราคาสูงมาก มีการศึกษารวบรวมจำแนก เพาะเลี้ยง ปรับปรุงสายพันธุ์ และพัฒนาการผลิตเป็นการค้าในจีน เกาหลี ญี่ปุ่น ไต้หวัน อเมริกา มาเลเซีย และสิงคโปร์
โดยเฉพาะเห็ดถั่งเช่าสีทอง เป็นเห็ดที่พบอยู่ทั่วไปนะดับอุณภูมิระหว่าง 10-28 องศาเซลเซียส เป็นเห็ดที่มีการวิเคราะห์ว่ามีส่วนประกอบของสารอาหาร วิตามิน เกลือแร่ และยาหลายชนิดที่สูงกว่าเห็ดถั่งเช่าธิเบต การเพาะเลี้ยงก็ทำได้ง่ายกว่าเห็ดถั่งเช่าธิเบต การรับประทานเห็ดถั่งเช่ามีหลายวิธี
นิยมรับประทานสดหรือแห้งก็ได้ สำหรับเมืองไทย ประสบความสำเร็จในการคัดแยกสายพันธุ์เห็ดถังเช่าสีทอง เพื่อยืดอายุการเก็บรักษาและคงคุณภาพของเห็ดถั่งเช่า จากธรรมชาติได้ 15 ชนิด ซึ่งยังมีความแปรปรวนสูงในด้านความสามารถในการผลิตสาร codycepin ที่มีคุณภาพและปริมาณที่แตกต่างกันด้วย
ปัญหาที่พบคือ ยังขาดองค์ความรู้พื้นฐานในการพัฒนาอาหารเพาะเลี้ยงเชื้อที่เหมาะสมที่กระตุ้นการเจริญเติบโตและเพิ่มปริมาณของเส้นใย และการพัฒนาดอกเห็ด
“โดยธรรมชาติของเห็ดถั่งเช่าเมื่อเก็บเกี่ยวดอกเห็ดออกจากอาหารที่เพาะเลี้ยงแล้ว ดอกเห็ดจะเหี่ยวลงอย่างรวดเร็ว จึงไม่นิยมเก็บดอกสดไว้รับประทาน ประกอบกับต้องใช้วิธีการเก็บรักษาดอกสดที่ค่อนข้างยุ่งยากและใช้ต้นทุนสูง เทคโนโลยีหลังการเก็บเกี่ยวเพื่อยืดอายุการเก็บรักษา และคงคุณภาพของเห็ดถั่งเช่าสีทอง
ทั้งเพื่อการบริโภคและคุณสมบัติเสริมสุขภาพของสารออกฤทธิ์ทางชีวภาพที่มีประโยชน์ต่อร่างกายนั้น ยังมีการศึกษาที่น้อยมาก การเก็บรักษาเห็ดที่ผ่านการทำแห้งแล้วในสภาวะที่ไม่เหมาะสม อาจเกิดการปนเปื้อนของเชื้อราชนิดอื่นๆ ได้”
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.พีระศักดิ์ กล่าวว่า โครงการการวิจัยและการพัฒนาเห็ดถั่งเช่าสีทองเชิงพาณิชย์ จะเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาอุตสาหกรรมการเพาะเห็ดถั่งเช่าแบบยั่งยืนพึ่งพาวัตถุดิบภายในประเทศ และการนำเทคนิคทั้งเทคนิคทางลักษณะทางสัณฐานวิทยาและเครื่องหมายดีเอ็นเอ
มาใช้ประโยชน์สำหรับระบุเอกลักษณ์ประจำพันธุ์ของถั่งเช่าที่พบในประเทศไทย อาจทำให้ได้ข้อมูลพื้นฐานที่จำเป็นสำหรับระบุชนิดสายพันธุ์ที่ทำให้สามารถเลือกใช้สายพันธุ์ได้ตรงตามคามต้องการในการผลิตดอกเห็ด หรือผลิตภัณฑ์อาหารเสริมสุขภาพในเชิงการค้า
นอกจากนี้ยังเป็นฐานข้อมูลทางพันธุกรรมที่สำคัญสำหรับการปรับปรุงพันธุ์เชื้อราเห็ดถังเช่า ให้ผลิตสารออกฤทธิ์ทางชีวภาพที่มีคุณภาพและปริมาณสูง
รองศาสตราจารย์ ดร.วันดี ทาตระกูล ภาควิชาวิทยาศาสตร์การเกษตร คณะเกษตรศาสตร์ ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยนเรศวร หัวหน้าโครงการวิจัยโครงการสารเสริมกระตุ้นภูมิคุ้มกันและพลังงานแบบเร่งด่วนสำหรับสุกร กล่าวถึงโครงการนี้ว่า
จากผลงานวิจัยน้ำมันปาล์มดิบใน 3 ปีที่ผ่านมา เห็นผลชัดเจนว่า สามารถใช้เป็นแหล่งพลังงานฉุกเฉินให้กับลูกสุกรแรกเกิดที่น้ำหนักแรกเกิดน้อย เพิ่มน้ำหนักหย่านม และเพิ่มการกินได้ของสุกรหย่านมใหม่ได้ประมาณ 20%
ทำให้เพิ่มประสิทธิภาพการเจริญเติบโตในช่วงอนุบาลได้เป็นอย่างดี ซึ่งเป็นประโยชน์อย่างมากในการวิจัยเพื่อนำมาผลิตเป็นสารเสริมภูมิคุ้มกันให้กับลูกสัตว์และปลอดภัยต่อผู้บริโภค
เนื่องจากน้ำมันปาล์มดิบมีองค์ประกอบของสารกลุ่ม Phytonutrients เป็นสารช่วยบำรุงสุขภาพ มีความเหมาะสมสำหรับเป็นแหล่งพลังงานสำเร็จรูปสำหรับลูกสัตว์วัยอ่อนที่มีปัญหาอ่อนแอ
เนื่องจากการหลั่งน้ำดีและเอนไซม์ได้น้อย น้ำมันในเมล็ดปาล์มดิบ สามารถใช้เป็นวัตถุเพิ่มเติมในอาหารสัตว์หรือใช้เสริมให้สัตว์กินโดยตรง เพื่อสนับสนุนด้านสุขภาพและประสิทธิภาพของลูกสัตว์
“ปัจจุบันอุตสาหกรรมปศุสัตว์ของไทยโดยเฉพาะสัตว์ปีกและสุกร มีความพยายามอย่างยิ่งที่จะลดหรืองดการใช้ยาปฏิชีวนะในการผลิตสัตว์ แต่ปัญหาคือการเกิดโรคหรือการเจ็บป่วยของสัตว์ที่เลี้ยงทั้งในระบบปิดและระบบเปิด
ดังนั้นถึงเวลาแล้วที่ต้องหันมาสนใจเรื่องการเลี้ยงสัตว์เศรษฐกิจเพื่อเป็นอาหาร หันมาสนใจเรื่องการจัดการสัตว์ให้มีความแข็งแรงจากตัวสัตว์เองเป็นหลัก เริ่มตั้งแต่การจัดการสภาพแวดล้อมที่ดีและเหมาะสม การคัดเลือกสายพันธุ์ที่แข็งแรง รวมทั้งการใช้อาหารหรือสารเสริมในอาหารที่เหมาะสมกับสัตว์”
จากการศึกษาวิจัยพบว่าน้ำมันเมล็ดในปาล์มที่มีปริมาณ MCFAs สูง เป็นแหล่งพลังงานที่มีประสิทธิภาพ และเป็นพืชน้ำมันในกลุ่มน้ำมันลอริคซึ่งเป็นกรดไขมันที่มีฤทธิ์ในการต้านเชื้อโรคหลายชนิด
ซึ่งผลสำเร็จที่เกิดจากโครงการ คือ องค์ความรู้ในการนำเมล็ดในของปาล์มน้ำมันและน้ำมันปาล์มดิบ มาพัฒนาสูตรอาหารเสริมประเภทพลังงานสูงสำหรับสุกรแม่พันธุ์และสุกรระยะรุ่นที่สามารถต้านไวรัสและช่วยเสริมภูมิคุ้มกันในการผลิตสุกร
นอกจากนี้ได้มีการจดอนุสิทธิบัตร 2 เรื่อง คือ 1.อนุสิทธิบัตร “สารเสริมกรดไขมันอิ่มตัวขนาดกลางพลังงานสูงสำหรับสุกรหลังหย่านมจากน้ำมันเมล็ดในปาล์ม” และ 2. อนุสิทธิบัตร “น้ำมันผสมกรดไขมันอิ่มตัวขนาดกลางสำหรับสุกรจากน้ำมันเมล็ดในปาล์ม”
ลิงค์ที่เกี่ยวข้อง