มีคำพูดที่บอกกันว่าเป็นชาวนาแล้วไม่รวย แล้วทำไมชาวนาบางคนถึงได้รวยทั้งที่ก็ปลูกพืชแล้วได้ผลผลิตที่เหมือนกัน ในความเป็นจริงการทำอาชีพเกษตรกรรมนั้น ไม่ใช่เพียงการปลูกให้ได้ผลผลิตไปวันๆ แต่ต้องมีการพัฒนาตนเองด้วย ซึ่งที่ผ่านมาแม้เกษตรกรส่วนใหญ่จะมีโอกาสในการเข้าถึงข้อมูลข่าวสาร
การได้รับสวัสดิการจากภาครัฐที่ไม่ดีพอ ทำให้การทำนาจึงไม่สามารถสร้างรายได้ให้แก่ชาวนาอย่างเพียงพอ แต่ในปัจจุบันก็ได้มีการจัดตั้งศูนย์ข้าวชุมชนและองค์กรชาวนาที่เกี่ยวข้อง ในการร่วมกันแก้ไขปัญหาการผลิตข้าวของชาวนา การจำหน่ายและการสร้างสวัสดิการของชาวนากันแล้ว เพื่อให้การกำหนดแนวทางการผลิตข้าว การดำเนินงานของทุกองค์กรเป็นไปในทางเดียวกันและมีการบริหารจัดการที่ดี
กรมการข้าว เป็นหนึ่งในตัวช่วยที่สำคัญ โดยที่ผ่านมาได้มีการจัดกิจกรรมพัฒนาเกษตรกรปราดเปรื่อง (Smart Farmer) เพื่อให้เป็นผู้ถ่ายทอดองค์ความรู้ด้านข้าวและความเข้าใจด้านการผลิตข้าว การแปรรูป การตลาดให้กับเกษตรกรด้วยกัน และยังได้จัดกิจกรรมการประกวดคัดเลือกเกษตรกรดีเด่นให้เป็น Smart Farmer ต้นแบบ เพื่อเป็นการให้เกียรติชาวนาในฐานะผู้ผลิตอาหารหลักให้กับประชาชน
นายปัญญา แก้วทอง ประธานศูนย์ข้าวชุมชนตำบลเชิงแส เกษตรกรดีเด่น สาขาอาชีพการทำนา ปี 2559 และ Smart Farmer ต้นแบบด้านข้าวของกรมการข้าว ประธานศูนย์ข้าวชุมชนตำบลเชิงแส อำเภอกระแสสินธุ์ จังหวัดสงขลา และประธานศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร (ศพก.) กล่าวว่า การพัฒนาระบบการเกษตรโดยเฉพาะการปลูกข้าวต้องพัฒนาแบบองค์รวม
ตั้งแต่เริ่มต้นการเพาะปลูก การจัดการผลผลิต การตลาดต้องให้ครบวงจร เกษตรกรยุคนี้คิดเรื่องปลูกอย่างเดียวไม่ได้ ต้องคิดให้ครบตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ ถึงปลายน้ำ ต้องเก่งทั้งเรื่องการปลูก แปรรูปและต้องเชื่อมโยงตลาดให้ได้ถึงจะอยู่รอด ซึ่งในบทบาทของ Smart Farmer ก็พยายามถ่ายทอดความรู้ที่ได้รับจากกรมการข้าว รวมทั้งจากประสบการณ์ตรงและการใฝ่หาความรู้จากแหล่งต่างๆ ให้กับชาวนาในชุมชน
“การปลูกข้าวจำเป็นต้องคำนึงถึงความต้องการของตลาดเป็นหลัก ซึ่งปัจจุบันศูนย์ข้าวชุมชนตำบลเชิงแสเดิมมีสมาชิก 30 กว่าคน ปัจจุบันยกระดับเป็นกลุ่มนาแปลงใหญ่มีสมาชิกเพิ่มขึ้นเป็น 64 คน ดำเนินการผลิตพันธุ์ข้าว เพาะปลูกเอง มีโรงสีข้าวแปรรูปและจำหน่ายเอง ทั้งตลาดในชุมชน และตลาดออนไลน์ผ่านเฟซบุ๊ก ไลน์
และยังเชื่อมโยงตลาดกับบริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด (www.thailandpostmart.com) ทำให้ผลิตภัณฑ์ของกลุ่มภายใต้แบรนด์ “ข้าวหอมกระแสสินธุ์” กระจายไปสู่ผู้บริโภคทั่วประเทศ สร้างรายได้และความมั่นคงให้กับชาวนาในพื้นที่ได้เป็นอย่างดี จากเดิมเคยขายได้ตันละ 6,500 บาท แต่หลังจากเปลี่ยนมาเป็นเกษตรอินทรีย์และทำการแปรรูปก็จะขายได้ประมาณตันละ 30,000 บาท
ทั้งนี้การทำนาของเกษตรกรที่นี่จะปลูกข้าวหลายสายพันธุ์ แต่ละฤดูการผลิตจะปรับเปลี่ยนพันธุ์ไปตามความต้องการของตลาด อาทิ ขาวดอกมะลิ 105 กข 43 ไรซ์เบอร์รี่ ปทุมธานี 1 มุ่งทำนาด้วยระบบมาตรฐานจีเอพี เน้นเรื่องทำนาแล้วปลอดภัย ไม่ใช้สารเคมีต้องห้าม เพื่อความปลอดภัยต่อตัวเกษตรกรและผู้บริโภค เนื้อที่นารวม 1,000 กว่าไร่
และได้ทดลองทำนาอินทรีย์ประมาณ 110 ไร่ ซึ่งขณะนี้ผ่านระยะปรับเปลี่ยนไปสู่มาตรฐานอินทรีย์ ตั้งเป้าว่าในอนาคตจะขยายพื้นที่นาอินทรีย์ให้เพิ่มขึ้น เพราะต้องการเน้นจุดขายเรื่องการทำนาแบบปลอดภัย หากผู้บริโภคซื้อข้าวของทางกลุ่มไปแล้วพบว่าไม่มีคุณภาพ ทางกลุ่มยินดีรับซื้อคืน เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้บริโภค
นายปัญญา กล่าวว่า ตั้งแต่ปรับเปลี่ยนการทำนาแบบตัวคนเดียวมาสู่การรวมกลุ่มเป็นสมาชิกนาแปลงใหญ่ ผลที่ได้หลักๆ คือ ลดต้นทุนจากการรวมกันซื้อปัจจัยการผลิต เช่น ปุ๋ยเคมี ถ้าซื้อทั่วไป 670 บาท/กระสอบ พอรวมกันซื้อจำนวนมาก ลดไปได้กระสอบละ 20-30 บาท หรือเมล็ดพันธุ์ข้าวเมื่อก่อนใช้เมล็ดพันธุ์สูงถึง 35 กก./ไร่
พอได้รับการถ่ายทอดความรู้จากนาแปลงใหญ่ช่วยลดเมล็ดพันธุ์ข้าวเหลือประมาณ 15-20 กก./ไร่ โดยเฉพาะถ้าใช้เครื่องหยอดเมล็ดพันธุ์จะลดอัตราการใช้เมล็ดพันธุ์ลงเหลือไม่เกิน 10 กก./ไร่ หรือผลิตน้ำหมักชีวภาพใช้เองเพื่อลดการใช้ปุ๋ยเคมี ควบคู่กับตรวจดินก่อนปลูกทำให้ใช้ปุ๋ยตามค่าวิเคราะห์ดิน (ปุ๋ยสั่งตัด) ช่วยลดต้นทุนลงได้
อย่างเมื่อก่อนมีต้นทุนเฉลี่ยอยู่ที่ 4,000 บาท ฤดูกาลผลิตที่แล้วมีต้นทุนอยู่ที่ 3,600 บาท ส่วนผลผลิตนั้นขึ้นอยู่กับพันธุ์ข้าว เช่น สุพรรณบุรี 1 ได้เฉลี่ย 1 ตัน/ไร่ ขณะที่ กข 43 ได้ผลผลิตเฉลี่ยอยู่ที่ 470 กก./ไร่ แต่ภาพรวมข้าว กข 43 มีความโดดเด่นเป็นข้าวเพื่อสุขภาพกำลังเป็นที่ต้องการของตลาดทำให้จำหน่ายได้ราคาดีกว่า
“ความรู้เรื่องข้าวเปลี่ยนตลอดเวลา มีพันธุ์ข้าวออกมาหลากหลายพันธุ์ ตลาดมีความต้องการข้าวเปลี่ยนไป ชาวนาต้องศึกษาและปรับตัวให้ทันต่อสถานการณ์ จึงพยายามศึกษาเรียนรู้ทั้งด้านวิชาการจากกรมการข้าว หน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งศึกษาผ่านช่องทางโซเชียลมีเดีย และอาศัยประสบการณ์ตรงของตนเอง
เพื่อนำมาความรู้ที่ได้มาถ่ายทอดหรือชี้แนะแนวทางให้กับสมาชิกศูนย์ข้าวชุมชน สมาชิกกลุ่มนาแปลงใหญ่ ตั้งแต่การเตรียมดิน การใช้พันธุ์ข้าว การดูแลควบคุมคุณภาพ การจัดการผลผลิต การตลาด เพราะการพัฒนาระบบการเกษตรอย่างยั่งยืนต้องพัฒนาแบบองค์รวม
ชาวนาจะคิดเรื่องปลูกข้าวอย่างเดียวไม่ได้ ต้องคิดให้ครบวงจร ตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ ปลายน้ำ เราจะเก่งแต่เรื่องปลูกข้าวไม่ได้ ต้องเก่งแปรรูป แปรสภาพสินค้าเกษตรชนิดนั้นๆ และต้องเก่งเรื่องตลาดด้วยถึงจะอยู่รอดได้”
เช่นเดียวกับนายบุญชอบ ทองดี ประธานศูนย์ข้าวชุมชนจังหวัดสงขลาและประธานศูนย์ข้าวชุมชนตำบลควนรู อำเภอรัตภูมิ จังหวัดสงขลา กล่าวว่า การทำนาของเกษตรกรในพื้นที่ภาคใต้จะแตกต่างจากภาคกลางหรือภาคเหนือ คือที่นี่จะมีพื้นที่นาไม่มาก เพราะมีการปลูกพืชที่หลากหลาย ไม่ว่าจะเป็น ปาล์มน้ำมัน ยางพารา ไม้ผล
พื้นที่นาจึงค่อนข้างน้อยเมื่อเทียบกับภาคอื่น ทำอย่างไรที่จะทำให้คนรุ่นใหม่ตระหนักถึงคุณค่าของผืนนาที่จำเป็นต้องรักษาไว้ เพื่อปลูกข้าวไว้อย่างน้อยก็เพื่อการบริโภคในครัวเรือน เป็นความมั่นคงทางอาหาร รวมทั้งต้องรักษาไว้ซึ่งพันธุ์ข้าวพื้นเมืองที่มีหลายพันธุ์ให้คงอยู่ต่อไป
ทั้งนี้ที่ผ่านมาได้ทำงานเชื่อมโยงกับกรมการข้าว ศูนย์เมล็ดพันธุ์ข้าวปัตตานี ศูนย์เมล็ดพันธุ์ข้าวพัทลุง และเครือข่ายศูนย์ข้าวทั่วประเทศ บทบาทศูนย์ข้าวชุมชนจะเน้นเรื่องทำเมล็ดพันธุ์ข้าวพันธุ์ดีให้กับชุมชน ผลิตข้าวปลอดภัยจากสารเคมีเพื่อสร้างความมั่นคงให้กับคนในชุมชน เหลือก็จำหน่ายสร้างรายได้ให้กับสมาชิก
นอกจากนี้ศูนย์ข้าวชุมชนยังเป็นแหล่งเรียนรู้ด้านการผลิตข้าวลดต้นทุน การใช้เมล็ดพันธุ์ข้าวพันธุ์ดีในอัตราที่เหมาะสม การบริหารจัดการน้ำ ตลอดจนการแปรรูปและเชื่อมโยงตลาด เป็นต้น ซึ่งสิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นปัจจัยหลักของการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตข้าวของชาวนา
การปลูกข้าวของสมาชิกศูนย์ข้าวชุมชนตำบลควนรู จะเน้นการผลิตข้าวพันธุ์พื้นเมืองและพันธุ์ที่ตลาดต้องการ เช่น พันธุ์เล็บนกปัตตานี ทับทิมชุมแพ ขาวดอกมะลิ 105 ไรซ์เบอร์รี่ กข 43 ข้าวสังข์หยด เป็นต้น ผลิตในรูปแบบปลอดสารเคมีใช้วิธีไถกลบตอซังปุ๋ยพืชสด
พืชตระกูลถั่วต่างๆ เพื่อเพิ่มอินทรียวัตถุให้กับดิน ลดการพึ่งพาปุ๋ยเคมี ส่วนการใช้เมล็ดพันธุ์ใช้ในอัตราที่เหมาะสม เช่น นาหว่านใช้เมล็ดพันธุ์ไม่เกิน 15 กก.ต่อไร่ ถ้านาหยอดใช้ประมาณ 7-10 กก.ต่อไร่ ช่วยลดต้นทุนค่าเมล็ดพันธุ์ได้มากทีเดียว
นอกจากผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวแล้ว ทางศูนย์ข้าวชุมชนยังได้แปรรูปเป็นข้าวสารคุณภาพดีจำหน่ายในชุมชน ออกบูธตามงานอีเว้นท์ต่างๆ และขายที่ ธ.ก.ส. อีกทั้งยังต่อยอดแปรรูปผลิตภัณฑ์จากข้าว เช่น กลุ่มแม่บ้านได้ใช้แป้งจากข้าวมาทำขนม ได้แก่ คุกกี้ ขนมเจาะหู ขนมดู ซึ่งเป็นขนมพื้นบ้านที่มีคุณค่าทางอาหาร หรือทำแป้งขนมจีน
เป็นการเพิ่มมูลค่าและสร้างรายได้ให้กับคนในชุมชนอีกช่องทางหนึ่ง ปัจจุบันที่นี่ไม่มีปัญหาด้านตลาด เพราะใช้หลักการตลาดนำการผลิต จะศึกษาข้อมูลตลาดว่าต้องการข้าวชนิดไหน แล้วมาปรึกษาวางแผนการผลิตกับกลุ่มสมาชิกก่อนเริ่มฤดูกาลผลิต เพื่อผลิตข้าวให้ตรงกับความต้องการของตลาด
นายบุญชอบ กล่าวว่า เราทำเรื่องข้าวมาตลอดก็พยายามนำความรู้ที่ได้จากภาครัฐไปถ่ายทอดให้กับเกษตรกรเครือข่ายให้ได้มากที่สุด พร้อมกับน้อมนำศาสตร์พระราชา ในหลวงรัชกาลที่ 9 มาปรับใช้ในชีวิตและการประกอบอาชีพ เช่น หลักเข้าใจ เข้าถึง พัฒนา เรานำมาพัฒนาสมาชิกศูนย์ข้าวชุมชนให้เกิดการเรียนรู้
ปรับตัวให้ทันสถานการณ์ และรับผิดชอบในหน้าที่ที่ได้รับมอบหมาย ยึดหลักเศรษฐกิจพอเพียง ส่งผลให้รายได้เพิ่มขึ้น จากการต่อยอดศูนย์ข้าวชุมชนแปรรูปข้าวไปทำขนม และใช้ทุกอย่างให้เกิดประโยชน์สูงสุด เช่น ซังข้าวก็เอาไปเลี้ยงโค ปลูกถั่วเขียวหลังนาก็ไถกลบเป็นปุ๋ยพืชสด เมล็ดถั่วเขียวก็เอามาแปรรูปเป็นน้ำถั่วเขียวขายได้ แกลบก็เอามาทำปุ๋ย รองคอกเลี้ยงสัตว์ ถ้าชาวนารู้จักบริหารจัดการทุกอย่างในแปลงนาก็สามารถสร้างอาชีพและรายได้ที่มั่นคงได้
ด้านนางจำเนียร เจียมสวัสดิ์ ผู้อำนวยการศูนย์เมล็ดพันธุ์ข้าวพัทลุง กรมการข้าว กล่าวว่า ที่ผ่านมากรมการข้าวได้จัดตั้งศูนย์ข้าวชุมชนและองค์กรชาวนาที่เกี่ยวข้อง เพื่อใช้เป็นกลไกในการแก้ปัญหาการผลิตข้าวของชาวนา โดยเฉพาะการผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวพันธุ์ดีที่ตรงกับความต้องการของเกษตรกรในชุมชนได้อย่างเพียงพอ
เนื่องจากศูนย์เมล็ดพันธุ์ข้าว ของกรมการข้าวไม่สามารถผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวที่มีหลากหลายพันธุ์และมีความต้องการใช้จำนวนมากได้ ศูนย์ข้าวชุมชนจึงเป็นแขนขาเป็นหน่วยงานเครือข่ายให้กับกรมการข้าว ที่สามารถผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวพันธุ์ดีกระจายสู่ชุมชน ซึ่งในพื้นที่ภาคใต้โดยเฉพาะจังหวัดสงขลาถือเป็นแหล่งปลูกข้าวที่สำคัญจังหวัดหนึ่ง ที่กรมการข้าวได้เข้ามาส่งเสริมการรวมกลุ่มจัดตั้งเป็นศูนย์ข้าวชุมชน
ตลอดระยะเวลาหลายปีที่ผ่านมาจะเห็นการเติบโตของศูนย์ข้าวชุมชน และผู้นำองค์กรคือประธานศูนย์ข้าวชุมชนหลายท่านมีความเข้มแข็ง พัฒนาตนเองเป็น Smart Farmer ต้นแบบของกรมการข้าวได้อย่างแท้จริง
ลิงค์ที่เกี่ยวข้อง