แรงงานสหรัฐ เสียงานให้หุ่นยนต์เพิ่มขึ้น 2 เท่าตลอด 9 ปี

แรงงานสหรัฐ เสียงานให้หุ่นยนต์เพิ่มขึ้น 2 เท่าตลอด 9 ปี

แรงงานสหรัฐ

แม้ว่าเศรษฐกิจสหรัฐจะใช้เวลาหลายปีในการฟื้นตัวจากภาวะถดถอยครั้งใหญ่ โดยการฟื้นตัวสามารถดำเนินการตามแผนได้อย่างสำเร็จ นับตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ 2553 หลังจากวันที่สำนักวิจัยเศรษฐกิจแห่งชาติสหรัฐประกาศสิ้นสุดภาวะถดถอยทางเศรษฐกิจ การเติบโตของภาคธุรกิจก็เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องตลอด 112 เดือน ส่งผลให้เกิดการจ้างงานโดยเฉลี่ย 192,000 ตำแหน่งต่อเดือน และสร้างงานมากกว่า 21.3 ล้านตำแหน่ง จนถึงเดือนพฤษภาคม 2562 อัตราการว่างงานของประเทศลดต่ำกว่าระดับ 6-7%

แต่ความท้าทายของการเปลี่ยนแปลงเข้าสู่ยุค อุตสาหกรรม 4.0 ก็เริ่มส่อแววดุเดือดด้านแรงงานมากขึ้น โดยประเทศผู้นำเทคโนโลยีอย่างสหรัฐอเมริกา เริ่มได้รบผลกระทบด้านแรงงานอย่างเห็นได้ชัด ซึ่งจากรายงานของมูลนิธิ The Century Foundation ในสหรัฐ ระบุว่าการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวเริ่มต้นตั้งแต่ปี 2552 ที่เริ่มมีการใช้งานหุ่นยนต์ในการผลิตสินค้า จวบจนปัจจุบันที่ส่งผลกระทบต่อแรงงานในสหรัฐแถบมิดเวสต์ที่เริ่มตกงานเพิ่มขึ้นกว่า 2 เท่า

รายงานดังกล่าวยังระบุด้วยว่าการเข้ามาแทนที่ของหุ่นยนต์จะเกิดขึ้นอย่างแน่นอน แม้ว่าจะเป็นการทดแทนแรงงานที่ยังถือว่าเป็นส่วนน้อยของการจ้างงานโดยรวมของประเทศสหรัฐ แต่ในบางอุตสาหกรรม บางพื้นที่ก็จะได้รับผลกระทบจากการเติบโตของหุ่นยนต์อย่างเห็นได้ชัด ขณะที่กลุ่มแรงงานบางกลุ่มก็จะได้รับผลกระทบอย่างชัดเจนเช่นกัน

โดยเครื่องมือชี้วัดที่เรียกว่า “robot intensity” ที่กลุ่มนักวิจัยสร้างขึ้นเพื่อประเมินแนวโน้มของการใช้งานหุ่นยนต์ ในพื้นที่การผลิตที่สำคัญกว่า 250 แห่ง พบว่า แม้ว่าในช่วงที่เศรษฐกิจตกต่ำจะพบอัตราการเพิ่มขึ้นของหุ่นยนต์น้อยลง แต่นับตั้งแต่ปี 2552 เป็นต้นมา กลับพบว่ามีอัตราการเพิ่มขึ้นของหุ่นยนต์อย่างรวดเร็วในทั่วประเทศ

ในแถบมิดเวสต์ (ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ) ทั้งรัฐมิชิแกน โอไฮโอ อินดีแอนา อิลลินอยส์ และวิสคอนซิน มีการเพิ่มขึ้นของหุ่นยนต์ในระดับสูงสุดอย่างต่อเนื่องนับตั้งแต่ปี 2552 เป็นต้นมา ซึ่งหุ่นยนต์ทั้งประเทศเมื่อเทียบกับแรงงานมนุษย์มีการเพิ่มขึ้นกว่า 2 เท่า จาก 0.813 ต่อพันคน เพิ่มขึ้นเป็น 1.974 ต่อพันคน ขณะที่รัฐที่มีสหภาพแรงงานที่เข้มแข็งกลับพบว่ามีอัตราการเพิ่มขึ้นของหุ่นยนต์ในอัตราที่ต่ำ

นอกจากนี้รายงานยังระบุว่าผลกระทบจากการเพิ่มขึ้นของหุ่นยนต์ ยังส่งผลต่อแรงงานในวัยหนุ่มสาวที่มีการศึกษาน้อยในอุตสาหกรรมการผลิต โดยหุ่นยนต์มักจะทำหน้าที่ไม่ซับซ้อนและเข้าไปแทนที่การทำงานดังกล่าวทั้งในส่วนของ การลำเลียงสินค้า การเชื่อม ประกอบ หรือทาสีเป็นต้น

ทั้งนี้จากการศึกษาในเขตมิดเวสต์พบว่า การนำหุ่นยนต์เข้ามาแทนที่แรงงานจะมีอัตรา 1 หุ่นยนต์ต่อแรงงานพันคนที่ลดลง 3.5% ซึ่งส่งผลกระทบต่อแรงงานหนุ่มสาว และผู้ที่มีการศึกษาน้อยในบางกลุ่ม ซึ่งการลดจำนวนลงนี้มีผลต่อเนื่องมาจากการลดลงของอัตราค่าจ้างราว 4-5% โดยกลุ่มคนที่ได้รับผลกระทบจากหุ่นยนต์มากที่สุดคือกลุ่มแรงงานหนุ่มสาวผิวดำที่มีการศึกษาน้อยกว่ากลุ่มที่มีอัตราค่าจ้างและการจ้างงานโดยเฉลี่ยลดลง

ขณะที่การผกผันของการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ ยังเป็นปัจจัยสำคัญต่อการเรียกใช้หุ่นยนต์แทนการจ้างงานมนุษย์ โดยพบว่าเมื่อได้รับการช่วยเหลือให้ฟื้นตัวทางเศรษฐกิจจะมีอัตราการจ้างงานคนหนุ่มสาวเพิ่มขึ้นจากประมาณ 34% เป็นประมาณ 45.5% แต่เมื่อเศรษฐกิจดีจะมีการเพิ่มจำนวนของหุ่นยนต์ ซึ่งส่งผลให้อัตราการจ้างงานคนหนุ่มสาวลดลง จากราว 34% เหลือเพียง 30% เท่านั้น

รายงานดังกล่าวยังระบุด้วยว่า ในเขตมิดเวสต์ การฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ จะส่งผลโดยตรงต่อหุ่นยนต์และการจ้างงาน โดยเมื่อเศรษฐกิจมีความแข็งแกร่งมากขึ้นหุ่นยนต์จะเข้ามาแทนที่แรงงานมนุษย์เพิ่มมากขึ้น ในขณะที่บางอุตสาหกรรมบางพื้นที่ที่เติบโตโดยไม่ได้พึ่งพาหุ่นยนต์มากนัก ก็จะทำให้อัตราการจ้างงานหนุ่มสาวเติบโตขึ้นสวนทางกัน

Related Posts