การจราจรในท่าเรือคลองเตย ดูเหมือนจะเป็นปัญหาที่ส่งผลกระทบต่อการจราจรภายนอกจนกลายเป็นเรื่องชินชาของคนเมืองหลวงไปแล้ว แต่ใครจะรู้ว่าท่าเรือขนาดใหญ่อย่างท่าเรือแหลงฉบังก็มีปัญหาเช่นเดียวกัน เพียงแค่ไม่ได้ล้ำออกมาภายนอก แต่ก็สร้างผลกระทบในด้านอื่นได้ไม่น้อยเลยทีเดียว แม้ว่าจะมีท่าเทียบเรือมากถึง 18 ท่า และมี Truck Queueing หรือระบบจองคิวรถบรรทุกเข้าท่าเรือเข้ามาช่วยจัดการแล้ว แต่ดูเหมือนปัญหาที่เกิดขึ้นยังไม่สามารถแก้ไขได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ดีป้าหนึ่งในหน่วยงานของกระทรวงดีอีที่ได้รับมอบหมาย ให้ดันประเทศสู่ไทยแลนด์ 4.0 จึงได้เข้ามาช่วยในการบริหารจัดการในเรื่องนี้ ด้วยความร่วมมือกับการท่าเรือแห่งประเทศไทย ในการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบังเป็นโครงการนำร่องในการพัฒนาระบบการบริหารจัดการท่าเรืออัจฉริยะด้วยดิจิทัลแห่งแรกของประเทศ พร้อมขยายผลรองรับเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) โดยการดำเนินการนี้จะเน้นให้ผู้ประกอบการท่าเทียบเรือเอกชนทุกท่าภายในท่าเรือแหลมฉบังเข้ามามีส่วนร่วมในการจัดสรรเวลาและจำนวนคิวต่าง ๆ ให้เป็นไปอย่างราบรื่น จากปัจจุบันเป็นแบบต่างคนต่างทำ
“ปัญหาการทำงาน ในช่วงแออัด แม้จะมีคิว แต่กรณีเรือที่มีตู้สินค้าเยอะๆ รถก็ยังระดมรถเข้ามากมาก ช่วงปกติการจราจรไม่ค่อยมีปัญหา จะมีปัญหาเพราะผู้ส่งออกพยายามผลิตแล้วส่งออกทันที จึงต้องนำรถเข้ามาจำนวนมากและ 90% ของโรงงานจะไม่มีการสต็อกสินค้าเพราะไม่อยากจะเสียค่าขนส่ง ค่าสต็อกของ ประกอบกับผู้ประกอบการยังนิยมใช้รถเทรเลอร์อยู่ แม้ว่าทางการท่าเรือก็พยายามลดค่าบริการรถไฟ และพยายามโปรโมตให้มากขึ้น แต่ด้วยการขนส่งทางรถไฟก็จะต้องเสียค่าบริการทั้งยกขึ้นรถไฟและยกลงรถไฟ ทำให้ผู้ประกอบการกังวลเรื่องต้นทุน”
นายพรชัย หอมชื่น ผู้ช่วยผู้อำนวยการใหญ่ กลุ่มงานกิจการสาขา สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล หรือ ดีป้า กล่าวว่า โครงการพัฒนาระบบท่าเรืออัจฉริยะจะมุ่งเน้นการแก้ไขปัญหาการจราจรของการท่าเรือแหลมฉบังอย่างยั่งยืน เน้นปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของระบบขนส่งตู้สินค้าใหม่ให้กระจายตัวไปในแต่ละช่วงเวลาอย่างเหมาะสม ลดการสูญเสียทรัพยากร และเกิดประโยชน์แก่ชุมชน พร้อมกันนี้ยังนำระบบการจองเวลาล่วงหน้าในการนำรถบรรทุกเข้ามารับ-ส่งสินค้าภายในเขตท่าเรือมาใช้ เพื่อยกระดับการให้บริการของท่าเรือแหลมฉบังให้มีมาตรฐานทัดเทียมกับท่าเรือชั้นนำในระดับสากล ซึ่งผู้ประกอบการที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการนำเข้าและส่งออกสินค้า อาทิ บริษัทขนส่งสินค้า และผู้ประกอบการบรรจุตู้สินค้าจะทราบเวลาในการขนถ่ายตู้สินค้า ทั้งนำเข้าและส่งออกของตนเอง
“เดิมปริมาณตู้สินค้าผ่านเยอะมาก ทำให้เกิดปัญหาการจราจรติดขัดภายในท่าเรือ และได้มีการแก้ไขโครงสร้างต่างๆ รวมไปถึงการเริ่มใช้ระบบจองคิวล่วงหน้าที่จะมีโควต้าในแต่ละชั่วโมงตั้งแต่กลางปี 2561 เพื่อช่วยลดปัญหาแต่ยังไม่เพียงพอ จึงได้มีการนำมาเสนอดีป้าให้เข้ามาช่วยจัดทำโครงการสมาร์ตพอร์ต เพื่อให้รู้ทราฟิกจริงๆ ทั้งหมดในท่าเรือแหลมฉบัง ดูความหนาแน่น และรถที่เข้าออกมีข้อมูลอย่างไร นอกจากนี้ในปัจจุบัน ท่าเรือมีระบบไอทีที่หลากหลาย การจะนำมาบูรณาการจะต้องสร้างเป็นฐานข้อมูลกลางที่เป็นประโยชน์ เพื่อต่อยอดเป็นบิสิเนสโซลูชันเชื่อมไปยังบิ๊กดาต้า นำไปวิเคราะห์สิ่งที่เป็นประโยชน์ต่อไป”

นายพรชัย กล่าวว่า สิ่งที่ดีป้ามองคือการละปัญหาการจราจรติดขัดบริเวณท่าเรือ ควบคู่ไปกับการยกระดับการให้บริการทัดเทียมท่าเรือชั้นนำทั่วโลก ซึ่งนับเป็นหนึ่งในโครงการ “depa Success Cases: ชีวิตดี๊ดี ด้วยดิจิทัล” แต่การจะเชื่อมโยงข้อมูลเข้าสู่ระบบส่วนกลางที่จะพัฒนาขึ้น จำเป็นต้องบูรณาการกับหลายส่วน อาทิ ศุลกากร ที่มีบทบาทในขั้นตอนการตรวจสอบ ณ บริเวณประตูตรวจสอบสินค้าด้านหน้า (Main Gate) จำเป็นที่จะต้องเชื่อมโยงเข้าสู่ระบบ เพื่อให้การทำงานร่วมกันในทุกฝ่ายเป็นไปด้วยความราบรื่น
สำหรับขอบเขตของโครงการพัฒนาระบบท่าเรืออัจฉริยะนั้น ประกอบไปด้วย Smart Port EDI ระบบเชื่อมต่อข้อมูลท่าเรืออัจฉริยะ เพื่อรองรับการเชื่อมโยงข้อมูล Big Data, Smart Truck ระบบ Mobile Application สำหรับรถขนส่งที่ครบวงจรสำหรับการทำงานกับท่าเรือ, Smart Tasks (&Backhaul) ระบบจัดการวางแผนงานส่งออก-นำเข้าทางเรือ อ้างอิงตารางเรือ สำหรับผู้นำเข้า-ส่งออก และ
Smart Port Traffic ระบบจัดการข้อมูลการจราจรท่าเรืออัจฉริยะ
โดยฐานข้อมูลที่ได้จากระบบเป็นฐานข้อมูลขนาดใหญ่ที่จะต่อยอดสู่การพัฒนาระบบหลักในการบริหารจัดการการทำงานของท่าเรือแหลมฉบัง หรือระบบศูนย์กลางการแลกเปลี่ยนข้อมูลของผู้ประกอบการท่าเรือแหลมฉบัง (LCP Port Community System) เพื่อยกระดับสู่การเป็นท่าเรืออัจฉริยะเทียบเท่ามาตรฐานสากล ซึ่งเป็นส่วนประกอบหลักที่สำคัญของความเป็นเมืองอัจฉริยะ พร้อมกันนี้ยังมีการพัฒนาระบบงาน Electronic Data Interchange (EDI) ช่องทางกลางเพื่อการแลกเปลี่ยนข้อมูลทางอิเล็กทรอนิกส์ระหว่างระบบ เพื่อเป็นตัวกลางแลกเปลี่ยนข้อมูล โดยมีเป้าหมายการพัฒนาแล้วเสร็จภายในเดือนมีนาคม 2563
“ดีป้าเข้ามาร่วมกันสนับสนุน เพราะเรามีหน้าที่พัฒนาเมืองอัจฉริยะ สมาร์ทโมบิลิตี้ ซึ่งในส่วนของแหลมฉบังนั้นมีทั้งท่าเรือ สนามบิน รถไฟ เราก็เลยมองมาตรงท่าเรือ มองว่าจะพัฒนาให้อัจฉริยะได้ เพราะการขนส่งในท่าเรือแหลมฉบังนั้นจะมาจากทางแม่น้ำเจ้าพระยา 20% ที่เหลือ 80% จะมาจากการขนส่งทางรถ ทำให้เกิดของทราฟิกหนาแน่น ถ้าจัดการไม่มีจะทำให้เสียโอกาสสำหรับรถที่เข้าไปไม่ได้ โดยเฉพาะในช่วงบ่าย 2 โมงถึง 4 โมงเย็นที่จะมีการติดขัด นอกจากนี้ยังก่อให้เกิดมลพิษทางการอากาศตามมา”
ดีป้าจึงได้ทำดาต้าเบส นำข้อมูลมาจัดเรียง และพัฒนาขึ้นเป็นแอปพลิเคชัน เพื่อแจ้ง จองคิว ลดความแออัน อันจะนำไปสู่การเป็นสมาร์ทพอร์ตีอีดีไอที่จะเพิ่มประสิทธิภาพให้การขนส่งดีขึ้น การเข้าออกเร็วขึ้น ทำรอบได้มากขึ้น นอกจากนี้ยังช่วยบริหารจัดการรถที่จะเข้ามาให้บริการไม่ให้เสียเที่ยวในการขนส่ง ไม่ต้องตีรถเปล่าเข้ามา หรือตีรถเปล่าออกไป เพราะแอปพลิเคชันนี้จะทำให้ผู้ประกอบการสามารถบริหารจัดการเที่ยวขนส่งได้ดีขึ้น ใช้ประโยชน์จากการขนส่งได้มีประสิทธิภาพมากขึ้น ซึ่งขณะนี้แอปพลิเคชันมีความสมบูรณ์แล้วประมาณ 80% ส่วนที่เหลือคือการพัฒนาให้ผู้ใช้งานใช้ได้ง่ายขึ้น สะดวกขึ้น นอกจากนี้ยังจะต่อยอดไปสู่การเชื่อมต่อกับท่าเรือที่กรุงเทพ เพื่อมอนเตอร์และเชื่อมต่อทั้งหมดเข้าด้วยกัน เป็นระบบเดียวกัน
“การพัฒนาระบบนี้ใช้งบประมาณ 10 บ้านบาท เป้าหมายคือหากมีการใช้งานประมาณ 10% ของยอดทั้งหมด ก็จะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการขนส่งได้อย่างมาก ลดการใช้พลังงาน จากเดิมที่เป็นแบบเอกชนต่างคนต่างทำ แต่เราเป็นรัฐการเชื่อมทุกอย่างรวมถึงขั้นตอนทางราชการจะทำได้ดีกว่า โดยเฉพาะหากการเชื่อมกับศุลกากรสมบูรณ์ก็จะทำให้การดำเนินการด้านภาษีเบ็ดเสร็จในที่เดียว ผู้ประกอบการไม่ต้องไปทำธุรกรรมหลายขั้นตอน ซึ่งการพัฒนาในระยะที่ 2 จะเริ่มในเดือนมีนาคมนี้ รวมไปถึงยังได้เพิ่มเรื่องการทำด้านตรวจวัดคุณภาพอากาศ ซึ่งน่าจะใช้งบประมาณอีก 14 ล้านบาท”