สภาดิจิทัลฯ ดึงเอกชนเปิดบริการ Student SIM

สภาดิจิทัลฯ ดึงเอกชนเปิดบริการ Student SIM

สภาดิจิทัลฯ

สภาดิจิทัลฯ ดึงภาคเอกชนรับมือโควิด-19 อาสารวบรวมเเทคโนโลยีทั่วโลก พร้อมร่วมมืออย่างใกล้ชิดกับภาครัฐบาล และร่วมมือทุกภาคส่วน ประเดิม 5 โซลูชั่นที่ครอบคลุมการทำงาน การเรียน การติดตามสถานการณ์โควิด-19 การมีส่วนร่วม และการเฝ้าระวังรักษา ตลอดจนการตรวจสอบไทม์ไลน์ของผู้ติดเชื้อได้อย่าครบวงจร ประเดิม 3 ค่าย ออกซิมการ์ด Student SIM ราคา 400 ใช้งานได้นาน 3 เดือน เน็ตสปีด 4Mbps ไม่ลดสปีด

นายศุภชัย เจียรวนนท์ ประธานสภาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า สภาดิจิทัลฯตระหนักถึงสภาวะวิกฤตที่เกิดขึ้นจากการแพร่ระบาดของไวรัส COVID-19 ซึ่งได้ส่งผลกระทบต่อชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนคนไทย ภาคการศึกษา และภาคธุรกิจต่างๆ ด้วยเหตุนี้ จึงผนึกกำลังภายในสมาชิกของสภาดิจิทัลฯ และองค์กรภาคส่วนต่างๆ รวมถึงผู้ให้บริการสื่อสารโทรคมนาคมชั้นนำ เพื่อเร่งนำนวัตกรรมด้านเทคโนโลยีดิจิทัล และการสื่อสารที่ครอบคลุมระบบนิเวศดิจิทัลครบวงจรมาสนับสนุนพี่น้องคนไทยในภาวะวิกฤตนี้ โดยแบ่งออกเป็นแต่ละด้านที่สำคัญ

ด้านดิจิทัล โซลูชั่น

การพัฒนาแอปพลิเคชัน แพลตฟอร์ม โซลูชั่น ที่มีประโยชน์ต่อการควบคุมและลดโอกาสแพร่กระจายโรค เพื่อช่วยประชาชนคลายความกังวลใจและสามารถใช้ชีวิตได้อย่างปกติสุข รวมทั้งได้มีช่องทางการบริจาคที่ตรงกับความจำเป็นของแต่ละโรงพยาบาล โดยประกอบด้วยแอปพลิเคชั่น

Self D-care Heatmap : ระบบการติดตามการเดินทางได้ด้วยตัวเอง ดูไทม์ไลน์ย้อนหลังได้ 14 วัน ผู้ที่ติดเชื้อสามารถบันทึกอาการร่างกาย เพื่อให้หมอตรวจสอบและรักษาได้อย่างถูกต้อง (การเต้นหัวใจ การติดตาม การเป็นไข้ การหายใจ) เพื่อติดตามและป้องกันตัวเองไม่ให้แพร่กระจายไปสู่คนใกล้ตัว ผู้ใช้บริการสามารถโหลดแอป แล้วกรอกเบอร์โทร พร้อมรับรหัส OTP ในการล็อกอินเพื่อยืนยันตัวบุคคล ช่วยให้ภาครัฐติดตามผู้ที่มีโอกาสเสี่ยงได้เป็นอย่างดี และเมื่ออาการดีขึ้นแล้ว จะสามารถแจ้งเพื่ออัปเดตอาการที่ดีขึ้นให้รับทราบได้อีกด้วย

uSAFE : แพลตฟอร์มโอเพ่นซอร์สคำนวณความเสี่ยงว่ามีโอกาสติดเชื้อ COVID-19 หรือไม่ผ่านระบบบลูทูธ โดยอาศัยการคำนวณระยะห่างจากผู้ติดเชื้อและระยะเวลาที่อยู่กับผู้ติดเชื้อ ด้วยการใช้ AI ประมวลผลย้อนหลัง 14 วัน เพื่อแจ้งเตือนผู้ติดเชื้อที่อยู่ใกล้ในระยะ 10 เมตร โดยสามารถดาวน์โหลดและใช้งานคล้ายกันกับแอปพลิเคชั่น Self D-care Heatmap ซึ่งนับเป็นระบบที่ประสบความสำเร็จในการควบคุมเชื้อโควิด-19 ซึ่งนำเข้ามาจากประเทศสิงคโปร์ โดยระบบจะมีการจับคู่ผ่านบลูทูธเพื่อบันทึกเส้นทางการพบปะผู้คน เป็นการยืนยันไทม์ไลน์ผู้ติดเชื้อหรือกลุ่มเสี่ยงอย่างเป็นเครือข่ายถึงกันได้แม่นยำยิ่งขึ้น ซึ่งทั้ง 2 แอปจะเปิดใช้จริงได้กลางเดือนเมษายนนี้

QR CheckIn : แอปพลิเคชั่นที่ผู้ใช้จะเป็นผู้ให้ข้อมูล โดยจะเปิดให้ผู้ใช้ได้เช็คอินสถานที่ที่เดินทางเข้าไป แล้วระบบจะแจ้งให้ผู้ที่เข้ามาใช้บริการในสถานที่นั้นได้รับทราบว่ามีติดเชื้อเคยเดินทางมาที่นี่ ทำให้สามารถรับรู้สถานะการเข้ามาใช้บริการของผผู้ติดเชื้อได้อย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อป้องกันการเข้าสู่สถานที่นั้นๆได้อย่างปลอดภัยมากยิ่งขึ้น โดยระบบจะใช้ระบบเอไอ ในการจับคู่และแจ้งเตือนผ่านระบบ Location Base

ด้านโครงสร้างพื้นฐานโทรคมนาคมในยุคดิจิทัล

โดยเฉพาะการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตที่เป็นปัจจัยพื้นฐานของดิจิทัล ซึ่งผู้ให้บริการเครือข่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่ทั้ง 3 ค่าย ได้แก่ บมจ. แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส (เอไอเอส) บมจ. โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น (ดีแทค) และบมจ.ทรู คอร์ปอเรชั่น ได้พร้อมใจสนับสนุนมาตรการภาครัฐ เพื่อให้นักเรียนนักศึกษาสามารถออนไลน์ เรียนหนังสือจากที่บ้าน (Learn from Home) ได้อย่างสะดวกและไม่ต้องกังวลกับค่าใช้จ่าย โดยจัดซิมการ์ดพิเศษในราคาต่ำกว่าต้นทุนไม่คิดกำไร พร้อมแพ็กเกจพิเศษให้ใช้งานอินเทอร์เน็ตบนมือถือความเร็ว 4 Mbps. แบบไม่ลดสปีด และไม่จำกัดปริมาณการใช้งาน ใช้ได้นาน 3 เดือน

ซึ่งผู้ให้บริการโทรคมนาคมจะเปิดบริการ Student SIM ของทั้ง 3 ค่าย (เอไอเอส ดีแทค ทรู) โดยจะสนับสนุนซิมการ์ดให้กับนักเรียน นักศึกษา และบุคคลากรทางการศึกษา พร้อมแพคเกจ ให้ใช้งานบนมือถือด้วยความเร็ว 4Mbps แบบไม่ลดสปีด ใช้งานได้นาน 3 เดือน ในราคา 400 บาท

นางสายชล ทรัพย์มากอุดม หัวหน้าส่วนงานประชาสัมพันธ์ บมจ. แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส (เอไอเอส) ระบุว่า เอไอเอสได้เตรียมการแพคเกจที่เกี่ยวข้องแบ่งออกเป็น 2 ส่วน โดยหากมีซิมการ์ดอยู่แล้วสามารถเลือกแพคเกจใช้งานได้เลย และหากยังไม่มีซิมการ์ด สามารถนำบัตรนักเรียนนักศึกษา รับซิมการ์ดฟรีที่ช้อปและศูนย์บริการ นอกจากนี้ยังเปิดให้ใช้บริการ Microsoft Teams ในระยะเวลา 6 เดือน พร้อมคำปรึกษาและโซลูชั่นที่เกี่ยวข้องเพื่อให้ใช้งานที่บ้าน (Work from Home) ได้อย่างมีประสิทธิภาพ

เอไอเอส ในฐานะ Digital Life Service Provider ที่มีเป้าหมายหลักในการนำ Digital Infrastructure เพื่อสนับสนุนทุกภาคส่วนของประเทศ โดยเฉพาะในสภาวะวิกฤต COVID-19 เช่นปัจจุบัน เราจึงมีความยินดีอย่างยิ่งในการเข้าร่วมโครงการ “Student SIM Card” กับสภาดิจิทัลฯ และทั้ง 2 Operator เพื่ออำนวยความสะดวกให้นักเรียน นักศึกษา ได้เรียนหนังสือ เชื่อมโยงผ่าน Platform การเรียนการสอนของแต่ละสถาบันได้อย่างต่อเนื่อง หรือ Learning from Home

โดยเป็นซิมเติมเงินที่มีแพ็กเกจราคาประหยัดที่ 400 บาท ได้ Internet Unlimited 4 เม็กกะไบต์ นาน 3 เดือน ทั้งนี้ นักเรียน นักศึกษา สามารถติดต่อขอรับซิมได้ฟรีที่ AIS Shop, ร้านเทเลวิซและร้าน AIS Buddy ทุกสาขาทั่วประเทศ เพียงแสดงบัตรนักเรียน นักศึกษา รวมถึงหากสถาบันการศึกษาใดสนใจที่จะจัดซิมหรือแพ็กเกจให้บุคลากรหรือนักเรียน นักศึกษา ก็สามารถติดต่อมาได้ที่ AIS Call Center 1149

ด้านนายสุภกิจ วรรธนะดิษฐ์ หัวหน้าคณะผู้บริหารกลุ่ม ด้านการพาณิชย์ บมจ.ทรู คอร์ปอเรชั่น กล่าวว่า ทรูจะเปิดให้นักเรียน นักศึกษา แสดงบัตรประจำตัวนักเรียนหรือนักศึกษา เพื่อรับซิมการ์ดในระบบเติมเงินที่มาพร้อมแพ็กเกจและสิทธิพิเศษต่างๆ ได้ฟรีที่ร้านทรูช็อป และ ร้านเซเว่น-อีเลฟเว่น ทุกสาขาทั่วประเทศ และยังสามารถลงทะเบียนผ่านเว็บไซต์ เพื่อขอรับซิมเและจัดส่งให้ที่บ้านได้อย่างสะดวก โดยซิมการ์ดดังกล่าวจะสามารถใช้บริการห้องเรียนเสมือนจริง(VRoom)ได้ฟรี และสามารถเข้าใช้เว็บไซต์สถาบันการศึกษากว่า 4,500 แห่ง เพื่อใช้อินเทอร์เน็ตฟรีได้เลย และยังสามารถใช้งานโทรหาโรงพยาบาลได้ฟรีอีกด้วย

ทั้งนี้ทรูได้เตรียมบริการ ซิมการ์ด Student SIM ออกเป็น 2 แพคเกจ โดยแพคเกจแรกราคา 400 บาทความเร็ว 4Mbps ไม่ลดสปีด ใช้งานได้นาน 3 เดือน(ตกเดือนละราว 133 บาท) และแพคเกจราคา 300 บาท ซึ่งสามารถใช้อินเทอร์เน็ตได้ความเร็วสูงสุด 4Mbps แต่ไม่ลดสปีดในการใช้ยูทูป ตลอดระยะเวลา 90 วัน

ด้านนายมาร์คุส แอดอัคทูสเซ่น รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มกิจการองค์กร บมจ. โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น (ดีแทค) ระบุว่า ดีแทคได้มีการทำงานใกล้ชิดกับสถาบันการศึกษา เพื่อเตรียมการซิมการ์ดให้กับนักเรียนนักศึกษาได้อย่างทั่วถึง ในทุกระดับชั้น

ดีแทค ในฐานะผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตบนโทรศัพท์มือถือ ที่เชื่อมต่อผู้คนกับการใช้งานดิจิทัล เข้าใจถึงความต้องการใช้อินเทอร์เน็ตที่เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะกลุ่มอาจารย์ และนักศึกษา ที่มีความต้องการ ใช้งานอินเทอร์เน็ตในการเรียนออนไลน์ ในช่วงการระบาดของ COVID-19 จัดแพ็กเกจอินเทอร์เน็ตไม่อั้นไม่ลดสปีด ความเร็ว 4Mbps นาน 3 เดือน ในราคาพิเศษ ให้บุคลากร อาจารย์ นิสิต นักศึกษา ได้ใช้เรียน และสอบออนไลน์ ผ่านทุกแพลตฟอร์มห้องเรียนออนไลน์ ที่สถาบันการศึกษาเลือกใช้ได้อย่างราบรื่น

ทั้งนี้นักเรียน นักศึกษา สามารถเข้ารับบริการซิมการ์ดของแพคเกจดังกล่าวได้ 1 คนต่อ 1 ซิมการ์ด เพื่อกระจายซิมการ์ดให้ทั่วถึงผู้ได้รับผลกระทบทั่วประเทศ

ด้านข้อมูลข่าวสาร

สภาดิจิทัลได้รวบรวมและเรียบเรียงข้อมูลที่เป็นประโยชน์ในสถานการณ์ COVID-19 ทั้งการเรียนออนไลน์ การใช้เทคโนโลยีดิจิทัล รวมถึงรายงานสถานการณ์จากทั่วโลก ด้านนโยบายกฎหมาย ที่จำเป็นต้องเสนอปรับให้สอดคล้องกับสถานการณ์ขณะนี้ที่ดิจิทัลมีบทบาทสำคัญกับทุกภาคส่วน

โดย DCT จะเป็นศูนย์รวมด้าน Digital Technology เพื่อช่วยให้ประชาชนและองค์กร สามารถก้าวข้ามไปสู่การเป็นองค์กรดิจิทัลได้อย่างทันท่วงที โดยสามารถติดตามข้อมูลได้ผ่านเว็บไซต์ ได้แก่ เว็บไซต์ covid-19.dct.or.th, เฟสบุ๊ค: Digital Council of Thailand – DCT และรายการในช่อง TNN รวมถึงพัฒนาเว็บไชต์ www.dct.or.th ให้เป็นศูนย์รวมแอปพลิเคชัน สำหรับการประชุมและเรียนออนไลน์ ได้แก่ Zoom, Google Hangouts, Skype, Line, FaceTime, Facebook Messenger, Microsoft Team และ True VWORLD ตลอดจนรวบรวมข้อมูลที่น่าสนใจและเป็นประโยชน์เกี่ยวกับ COVID-19

ด้านการจัดสรรค์อุปกรณ์ทางการแพทย์

Ordering & Distribution of Medical Supply : โซลูชันเพื่อจัดการการจัดซื้อและแจกจ่ายที่ครบวงจร ตั้งแต่การลงทะเบียน การจัดซื้อ การขนส่ง การเก็บข้อมูล แสดงผลรายงานผลแบบ real-time dashboard เพื่อสนับสนุนกระทรวงสาธารณสุข

Central Donation Platform : แอปพลิเคชั่นที่จะช่วยให้ภาคประชาชนรับทราบความขาดแคลนอุปกรณ์ทางการแพทย์ เพื่อช่วยให้ภาคประชาชนสามารถเข้าถึงจุดขาดแคลนได้อย่างตรงจุด ผ่าน Helpital เว็บไซต์เพื่อการบริจาคอุปกรณ์ทางการแพทย์ สนับสนุนโรงพยาบาลทั่วประเทศ โดยพัฒนาร่วมกับมูลนิธิธรรมาภิบาลทางการแพทย์ รวมถึงช่องทางการรับบริจาคให้ตรงกับความต้องการของแต่ละโรงพยาบาล

ซึ่งจะเป็นศูนย์กลางของการตรวจสอบคุณภาพและกระจายอุปกรณ์ทางการแพทย์ เพื่อช่วยให้ทุกคนมีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหา ในระดับตำบลและอำเภอได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งแอปพลิเคชั่นนี้จะแล้วเสร็จในสัปดาห์หน้านี้

Tankoon : “แทนคุณ” แอปพลิเคชั่นที่จะช่วยดูแลผู้สูงอายุ ซึ่งจะครอบคลุมการดูแลและช่วยเหลือผู้ป่วยและผู้สูงอายุ โดยบุคลากร ทั้งพยาบาลวิชาชีพ ผู้ช่วยพยาบาล นักกายภาพบำบัด และผู้ช่วยเหลือคนไข้ จากผู้ให้บริการมืออาชีพแทนคุณ ซึ่งยังครอบคลุมถึงรถแท็กซี่ รถแอมบูแลนซ์ และระบบ Telemedicine ซึ่งสามารถดาวน์โหลดได้เลยตอนนี้

ด้าน Digital Regulation

ในส่วนที่เกี่ยวกับนโยบายกฎหมาย จะผลักดันเรื่องการประชุมผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์อย่างถูกกฎหมาย โดยประกาศแนวทางปฏิบัติสำหรับประชาชนทั่วไป และแนวทางการดำเนินการของสภาฯ อีกทั้งยังมีข้อเสนอต่อรัฐบาลขอให้พิจารณาปรับปรุงกฎหมายอุปสรรคต่อมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของไวรัส COVID-19 เช่น การกำหนดให้ต้องมีผู้ร่วมประชุม 1 ใน 3 ขององค์ประชุมต้องอยู่ในที่ประชุมเดียวกัน เพื่อให้เหมาะสมกับสถานการณ์และความจำเป็นในปัจจุบัน

ทั้งนี้สภาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งประเทศไทย ตั้งใจที่จะขับเคลื่อนบูรณาการระบบนิเวศดิจิทัล เพื่อร่วมสนับสนุนให้สังคมไทยก้าวผ่านวิกฤต COVID-19 ไปได้อย่างปลอดภัยและราบรื่นในที่สุด เพื่อรับมือสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัส COVID-19 และช่วยเหลือพี่น้องชาวไทยให้ก้าวผ่านวิกฤตนี้ไปด้วยกัน

Related Posts