จับตา HAPYBot โซลูชั่นหุ่นยนต์มาตรฐานทางการแพทย์

จับตา HAPYBot โซลูชั่นหุ่นยนต์มาตรฐานทางการแพทย์

เน็ตเบย์

ความท้าทายของสถานการณ์โควิด-19 ทำให้เกิดแนวทางการพัฒนาเทคโนโลยีใหม่ๆอย่างต่อเนื่อง ล่าสุด เน็ตเบย์ หนึ่งในผู้ให้บริการโซลูชั่นซอฟต์แวร์ เปิดตัวหุ่นยนต์ผู้ช่วยแพทย์ เพื่อลดการสัมผัสของแพทย์ในช่วงการแพร่ระบาดไวรัสโคโรน่า ด้วยการพัฒนาหุ่นยนต์ HAPYBot ที่มีความสามารถในการเคลื่อนที่อัตโนมัติ เพื่อช่วยในการรับ-ส่ง อุปกรณ์และเวชภัณฑ์ทางการแพทย์ พร้อมทั้งความสามารถในการนำทางและให้คำแนะนำผู้ป่วย ผ่านการสื่อสารของแพทย์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ด้วยมาตรฐาน ISO 13482 และยังเป็นเพียงหุ่นยนต์แบรนด์เดียวของไทยที่ผ่านมาตรฐานการไม่มีคลื่นรบกวนเครื่องมือทางการแพทย์จาก PTEC สวทช.

ความสามารถที่มากล้นของ HAPYBot

นายพิชิต วิวัฒน์รุจิราพงษ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทเน็ตเบย์ จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า เน็ตเบย์ต้องการผลิตหุ่นยนต์ของไทยรุ่นแรกที่ผ่านมาตรฐานความปลอดภัยที่จะใช้งานในรพ.ได้ ภายใต้แนวคิด “Better Faster Cheaper” หุ่นยนต์ HAPYBot จึงถูกคิดค้นให้ทำหน้าที่ขนส่ง นำทาง เคลื่อนที่อิสระ เพื่อขนส่ง ยา วัคซีน และเวชภัณฑ์การแพทย์ อาหาร รวมถึงสิ่งของ อื่นๆ ได้ ตัวหุ่นยนต์มีช่องเก็บแบบปิด,เปิดและล็อคด้วยไฟฟ้า ขนาดจุ 17 ลิตร รองรับน้ำหนักบรรทุกได้ 10-15 กิโลกรัม ในช่องเก็บของในตัวหุ่นยนต์สามารถใส่ประเภทน้ำได้ เพราะเป็นช่องหล่อในตัวชิ้นเดียว ไม่มีรอยต่อ กันน้ำไม่ให้รั่วไปกระทบยังระบบหุ่นยนต์

สามารถสั่งการผ่านหน้าจอสัมผัสบนตัวหุ่นยนต์ และหรือสั่งการด้วย computer web base หรือ tablet หรือ mobile application หรือ QR code ได้ โดยไม่ต้องเชื่อมต่อกับระบบ network ของโรงพยาบาล ทำให้การจัดส่งยาไปยังที่หมายได้หลายที่ ขึ้นกับคำสั่งการใช้งาน ขณะที่ในด้านความเร็วเคลื่อนที่ของหุ่นยนต์จะเร็วประมาณ 2.5 ถึง 3 กิโลเมตร ต่อชั่วโมง สามารถหลบหลีกสิ่งกีดขวางได้แบบ real time และไม่เกิดอุบัติเหตุต่อผู้มารับบริการ บุคลากร คนป่วยนั่งรถเข็นอุปกรณ์ วัสดุ เครื่องใช้ และเฟอร์นิเจอร์ในโรงพยาบาล

เน็ตเบย์

อีกทั้งยังมีระบบตรวจการยกหรือรบกวนการทำงานของหุ่นยนต์ โดยการแจ้งเป็นเสียงเตือน เมื่อมีการกระทำการกับตัวหุ่นยนต์ เช่น ยก โยก คว่ำ หุ่นยนต์ ทางหุ่นยนต์ก็จะส่งเสียงร้อง หุ่นยนต์สามารถสร้างแผนการเดินทางได้เองอัตโนมัติ และสามารถกำหนดพื้นที่ที่ต้องการหลีกเลี่ยงการเดินทางได้เองโดยใช้ระบบ AI เข้ามาช่วยตัดสินใจเส้นทางใหม่ ซึ่งเมื่อมีอุปสรรคก็จะหลบหลีกแบบอัตโนมัติได้อย่างทันที

โดยสามารถทำงานได้ต่อเนื่องนานถึง 210 นาที (3ชม.ครึ่ง) ต่อการชาร์จ 1 ครั้ง และกลับแท่นชาร์จได้เองโดยอัตโนมัติ เมื่อแบตเตอรี่อ่อนหรือเมื่อหุ่นยนต์ทำงานเสร็จ โดยจะมีพอร์ตชาร์จไฟฉุกเฉิน เมื่อหุ่นยนต์เกิดปัญหา หรือพลังงานหมดกลางทาง

อีกทั้งยังมีวิธีปลดล็อคช่องเก็บของฉุกเฉิน มีระบบล็อคการเปิดเครื่องด้วยกุญแจ สามารถตั้งความดังของเสียง และจำแนกความดังของเสียงทั้งเวลากลางวัน และกลางคืนได้ รวมทั้งกำหนดเสียงได้ทั้งภาษาไทย และภาษาอังกฤษ

นอกจากนี้ยังสามารถเชื่อมต่อกับระบบลิฟท์ได้ เรียกลิฟท์ด้วยหุ่นยนต์เองให้ลิฟท์มารับที่ชั้นที่หุ่นยนต์ยืนรออยู่ และสามารถข้าม “ร่อง’ พื้นของลิฟท์ที่ห่างกันกับพื้นของชั้นไม่เกิน 1 นิ้ว และพื้นต่างระดับ 1.5 ซม. รองรับการขึ้นลงทางลาดเอียง 5 องศา มีล้อช่วยเบรก และทรงตัว สามารถเชื่อมต่อเพื่อสั่งการกับประตูห้องผู้ป่วยแบบอัตโนมัติได้ (เปิดปิดประตูอัตโนมัติได้โดยไม่ต้องใช้คนไปช่วยเปิดปิดประตู)

โดยมีอุปกรณ์เสริม เพื่อเปิดประตูบานสวิง ในกรณีประตูไม่เป็นประตูอัตโนมัติ และสั่งการจากหุ่นยนต์ได้ มีระบบ access control สามารถตั้งรหัสผ่าน ในการสั่งการเพื่อป้องกันการใช้งานจากผู้ที่ไม่ได้รับอนุญาตได้ และป้องกันการสูญหายของยา อื่นๆ

อีกทั้งยังสามารถติดอุปกรณ์เสริม เพื่อสแกนบัตรผู้รับยา แบบ RFID ได้ โดยทางโรงพยาบาลสามารถเพิ่มสิทธิ์เองได้ สามารถตรวจสอบ และออกรายงาน สามารถออกรายงานวันที่ เวลาที่ส่ง/รับยา จุดเริ่มต้น/ปลายทาง ระยะทาง ระยะเวลา รวมทั้งผู้ส่ง รับของได้

เน็ตเบย์
ฟังก์ชั่นการทำงานที่สำคัญของ HAPYBot

ความปลอดภัยมาตรฐาน ISO 13482

ในด้านความปลอดภัยนั้น HAPYBot ได้ผ่านการตรวจสอบจากทางสถาบันไฟฟ้า และอิเล็กทรอนิกส์ (สวทช) หรือ PTEC ในด้านต่างๆ เช่น มาตรฐานแบตเตอร์รี่ในหุ่นยนต์จะมีมาตรฐานความปลอดภัยที่สูง ไม่เกิดระเบิดเมื่อชาร์จไฟเพิ่ม, ระบบไฟฟ้า ไม่ส่งสัญญาณไฟฟ้าที่ปล่อยคลื่นความถี่รบกวนอุปกรณ์ทางการแพทย์ของ รพ., ระบบซอฟต์แวร์และระบบปฏิบัติการสั่งงานมีมาตรฐาน ถือเป็นหุ่นยนต์ตัวแรกของประเทศไทย ที่ได้มาตรฐานความปลอดภัยในการใช้งานภายในรพ.อย่างเป็นทางการ

โดยมาตรฐานความปลอดภัย ได้รับการยืนยันจาก ดร.ไกรสร อัญชลีวรพันธุ์ ผู้อำนวยการศูนย์ทดสอบผลิตภัณฑ์ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ (สวทช) หรือ PTEC ระบุว่า การทดสอบเบื้องต้นในช่วงสถานการณ์โควิด-19 นั้น HAPYBot ได้ผ่านการทดสอบการแผ่สัญญาณแม่เหล็กไฟฟ้ารบกวนเครื่องมือทางการแพทย์ ทั้งแบบมีสายและแบบไร้สาย ตามมาตรฐาน ISO 13482 จึงมั่นใจได้ว่าจะไม่รบกวนการทำงานของเครื่องมือทางการแพทย์ ซึ่งหลังจากนี้จะต้องทำการทดสอบแบบเต็มฟังก์ชั่นของมาตรฐาน ISO 13482 ซึ่งอาจจะต้องใช้ระยะเวลา 6-12 เดือน เพื่อให้สามารถออกใบรับรองของมาตรฐานหุ่นยนต์ ISO 13482 ได้อย่างสมบูรณ์

โดยความสำเร็จในการพัฒนาครั้งนี้ เน็ตเบย์ ได้เตรียมมอบหุ่นยนต์ให้กับโรงพยาบาล 10 แห่ง เพื่อทดสอบและพัฒนาให้หุ่นยนต์มีความสามารถในการตอบโจทย์การใช้งานจริงที่ดียิ่งขึ้น โดยเบื้องต้นได้ส่งมอบหุ่นยนต์ HAPYBot 3 ตัวให้กับ รพ. เวชศาสตร์เขตร้อน มหาวิทยาลัย มหิดล, รพ. ศูนย์การแพทย์กาญจนาภิเษก คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล และ รพ. คณะแพทย์ศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล สถาบันการแพทย์จักรีนฤบดินทร์ แห่งละ 1 ตัว โดยหลังจากนั้นทางเน็ตเบย์จะเร่งจัดหารพ.อีก 7 แห่งเพื่อรับมอบหุ่นยนต์เพื่อนำไปใช้ประโยชน์ในรพ.อย่างเร่งด่วนต่อไป

ทั้งนี้การผลิตหุ่นยนต์ในเชิงพาณิชย์นั้น HAPYBot ไม่ได้จำกัดอยู่เพียงแค่การเป็นหุ่นยนต์ผู้ช่วยทางการแพทย์เท่านั้น แต่มีแนวคิดที่จะจำหน่ายเป็นแบบโซลูชั่นที่สามารถเป็นผู้ช่วยได้ในทุกอุตสาหกรรม ด้วยความสามารถของการผนวกรวมระบบปัญยาประดิษฐ์ และมาตรฐานความปลอดภัยที่สูง จะช่วยให้ Hapy Bot สามารถทำงานช่วยธุรกิจได้อย่างมีประสิทธิภาพ ขณะที่การกำหนดราคานั้นจะไม่ได้ขายแยกเป็นสินค้าหุ่นยนต์ แต่จะเป็นการขายเป็นโซลูชั่นให้บริการหุ่นยนต์ ตามความถนัดของ เน็ตตเบย์ ซึ่งเป็นบริษัทซอฟต์แวร์บริการ (SaaS Company) มาตั้งแต่ต้น ซึ่งคาดว่าจะมีความชัดเจนของแนวทางการจัดจำหน่ายหลังจากส่งมอบหุ่นยนต์ 10 ตัวให้กับโรงพยาบาลครบ และทำการพัฒนาแก้ไขข้อบกพร่องที่เกิดขึ้นจากการใช้งานจริงได้สมบูรณ์ต่อไปในอนาคต

Related Posts