ดีอีเอส เล็งปลดล็อคสตาร์ทอัพ ผุดกองทุน 2,000 ล้าน

ดีอีเอส เล็งปลดล็อคสตาร์ทอัพ ผุดกองทุน 2,000 ล้าน
ดีอีเอส
นายพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) (ขวา)

กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ( ดีอีเอส ) เตรียมระดมเงินสร้างกองทุนสตาร์ทอัพ 2,000 ล้าน เร่งดันสตาร์ทอัพสัญชาติไทยให้ถึงฝั่งฝัน หวังฉุดเศรษฐกิจเติบโตยุคโควิด-19 ชี้ชัดเข้าใจปัญหาการเข้าถึงเงินทุน โอกาสในการสร้างธุรกิจและข้อกฏหมายที่ยังติดขัด เตรียมพร้อมปลดล็อคในทุกมิติ ดึงต้นแบบซิลิคอนวัลเลย์ให้เกิดขึ้นในไทย

นายพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) เปิดเผยว่า การจัดตั้งกองทุนสตาร์ทอัพเป็นความท้าทายที่เรากำลังระดมเงินทุน ซึ่งตอนนี้ได้แล้วกว่า 1,000 ล้าน แต่เราตั้งเป้าที่ 2,000 ล้านเพื่อส่งเสริมให้สตาร์ทอัพที่เริ่มก่อร่างสร้างตัวแล้ว สามารถเข้าถึงเงินทุนตรงนี้ได้ โดยดีป้าจะเป็นหน่วยงานหลักในการเข้ามาดูแลจัดการให้เกิดประโยชน์สูงสุด ซึ่งคาดว่าจะเริ่มได้ในราวไตรมาสแรกของปี 2564

ขณะที่สตาร์ทอัพที่ต้องการส่งเสริมเบื้องต้นจะเริ่มจากสตาร์ทอัพที่เริ่มมีรายได้ หรือที่มีอยู่ในระดับกลางแล้ว เพื่อให้สตาร์ทอัพที่ได้รับการคัดสรรแล้วสามารถเดินหน้าต่อได้ โดยจะส่งเสริมทั้งเรื่องเงินทุน ซึ่งรูปแบบอาจจะเป็นทั้งการลงทุนร่วมหรือการส่งเสริมบางส่วนที่ทำได้ เพื่อเข้าไปช่วยกำหนดทิศทางตามที่กำหนดไว้ นอกจากนั้นยังมีการให้โอกาสทั้งในส่วนของคำแนะนำ เพื่อส่งเสริมให้สตาร์ทอัพเติบโตได้อย่างต่อเนื่อง

ทั้งนี้นอกจากการเข้าถึงแหล่งเงินทุนแล้ว สตาร์ทอัพยังจะได้รับโอกาสในการเข้าถึงการจับคู่ธุรกิจ ซึ่งปัจจุบันเรากำลังทำงานร่วมกับ Plug&Play ซึ่งเป็นแองเจิลฟันด์ระดับโลกที่มีทั้งเงินทุนและโอกาสในการจับคู่ เรากำลังศึกษาโมเดลแบบนี้เพื่อเข้ามาใช้ในประเทศไทย ให้สตาร์ทอัพไทยได้มีโอกาสจับคู่ธุรกิจ ซึ่งเรามีหลายหน่วยงาน อาทิ NT และอีกหลายหน่วยงานที่พร้อมสนับสนุน

แน่นอนว่าขั้นตอนก็จะมีทั้งในส่วนของการพิชชิ่ง และถ้าการพิชชิ่งนั้นมีโอกาสที่ดี Plug&Play ก็จะจับคู่ธุรกิจที่เหมาะสม และการที่เราทำงานคู่กัน เมื่อเราเห็นสตาร์ทอัพที่เราคัดมาดีแล้ว เราก็จะส่งเข้าไปพิชงานกับ Plug&Play ซึ่งหลายๆบริษัทที่ได้เข้่าไปในกระบวนการนี้ จะสามารถเติบโตขึ้นเป็นยูนิคอร์นได้หลายบริษัท

ครั้งนี้เราตั้งใจและทำจริงจริง ซึ่งคาดหวังว่าสตาร์ทอัพไทยจะเกิดขึ้นและเติบโตเป็นยูนิคอร์นได้ ที่ผ่านมาสตาร์ทอัพไทยพอเริ่มเติบโตไม่เท่าไหร่ ก็ถูกซื้อโดยต่างชาติ จนกลายเป็นสตาร์ทอัพที่ไม่ใช่ไทยแท้ ครั้งนี้เราตั้งใจให้เกิดสตาร์ทอัพสัญชาติไทยที่เติบโตขึ้นให้ได้ เราจะเข้าไปเติมเต็มส่วนที่ขาดของสตาร์ทอัพ

โดยเทรนด์ของการพัฒนาประเทศ ส่วนใหญ่เริ่มต้นมาจากสตาร์ทอัพทั้งนั้น เราจะเห็นว่าทุกประเทศคาดหวังให้เศรษฐกิจดิจิทัลเข้ามาพลิกฟื้นพิษโควิด-19 ซึ่งการเติบโตดังกล่าวก็จะมาจากสตาร์ทอัพที่มีไอเดียทั้งนั้น หากเรารอบริษัทใหญ่ก็จะเคลื่อนตัวช้า

นอกจากนั้นในปีหน้าเรายังต้องการผลักดัน Hackathon ให้เกิดขึ้นให้มาก ซึ่งเมื่อกลางปีที่ผ่านมา เราจัดการแข่งขัน Hackathon ทางด้านบัญชี ซึ่งผู้ชนะที่ผ่านมาก็สามารถเติบโตไปเป็นผู้ออกแบบระบบภาษีออนไลน์ให้กับกรมศุลกากร ที่คาดว่าจะประกาศใช้ได้ในปีหน้านี้ นั่นก็เป็นอีกหนึ่งความสำเร็จที่เราสามารถต่อยอดได้จากไอเดีย และจับคู่กับหน่วยงานที่สนใจ จนกลายเป็นบริการที่สามารถเข้ามาตอบโจทย์การใช้งานได้จริง และในปีหน้าเราก็คาดว่าเราจะสามารถจัด Hackathon ในหลายๆส่วนได้ในปีหน้า

อุปสรรคสำคัญที่รอการปลดล็อคจาก ดีอีเอส

ส่วนปัญหาของสตาร์ทอัพนั้นเราเข้าใจดี ว่าที่ผ่านมา มี 3 ส่วนใหญ่ๆที่สำคัญ ที่เป็นอุปสรรคทำให้สตาร์ทอัพไทยติดล็อค หรือบางส่วนก็ย้ายไปจดทะเบียนต่างประเทศ ทำให้เราเสียโอกาสของสตาร์ทอัพไทย โดยเรื่องแรกเรายังขาดความเชื่อมั่น ซึ่งการไปจดต่างประเทศก็ทำให้ดูเป็นบริษัทอินเตอร์และน่าเชื่อถือมากกว่าเป็นบริษัทไทย

เรื่องที่ 2 ยังเป็นเรื่องของการเข้าถึงเงินทุน ซึ่งในต่างประเทศจะมองโอกาสของธุรกิจจากไอเดียที่นำเสนอ แล้วให้เงินทุนได้เลย หากโอกาสของไอเดียนั้นมีมากพอ ขณะที่ประเทศไทยยังมองมูลค่าของสินทรัพย์ที่จะเข้ามากู้ ซึ่งสตาร์ทอัพส่วนใหญ่ไม่ได้มีตรงนี้ ทำให้เสียโอกาสในการพัฒนาไอเดียไปสู่ธุรกิจได้จริง เราเองก็จะต้องเร่งทำความเข้าใจตรงนี้ใหม่กับแหล่งเงินทุน เพื่อเปิดโอกาสให้ไอเดียสามารถสร้างขึ้นได้

เรื่องสุดท้ายเป็นเรื่องของกฏระเบียบที่ยังเป็นอุปสรรค์สำคัญ ทั้งเรื่องของการถือครองหุ้น การจดทะเบียน การจัดเก็บภาษี ซึ่งในปีหน้าเราก็จะต้องเร่งแก้ไขให้เร็วที่สุด ทั้งเรื่องการตั้งกองทุน การคุยกับสถาบันการเงิน หรือการให้ความสำคัญกับสตาร์ทอัพมากขึ้น

วันนี้เราเริ่มสร้างสภาพแวดล้อมสตาร์ทอัพให้เกิดขึ้นในประเทศไทยให้เป็นแบบเดียวกับซิลิคอนวัลเลย์ใน EEC แล้ว โดยตึกแรกที่เราเริ่มต้น ตอนนี้ก็ถูกจับจองเต็มหมดแล้ว และตึกที่ 2 ก็เริ่มมีการจับจองแล้ว 20% การทำเช่นนี้ก็เพื่อจะสร้างสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมของการบ่มเพาะโอกาสให้กับเด็กรุ่นใหม่ ซึ่งเราเชื่อว่าเมื่อสตาร์ทอัพรายเล็กที่เพิ่งเริ่มต้นของเราได้ใกล้ชิดกลุ่มบริษัทใหญ่ เราก็จะสามารถเรียนรู้และเพิ่มโอกาสในการพัฒนาตนเองได้อย่างเหมาะสม และนั่นก็จะส่งเสริมให้ประเทศไทยเติบโตเป็นเศรษฐกิจดิจิทัลได้อย่างเต็มรูปแบบในอนาคต

Related Posts