กกพ.เผยแนวคิด Clean Energy for Life ผ่านการสื่อสารยุคใหม่

กกพ.เผยแนวคิด Clean Energy for Life ผ่านการสื่อสารยุคใหม่
Clean Energy
ดร.บัณฑูร เศรษฐศิโรตม์ กรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.)

ความท้าทายของโลกสมัยใหม่ที่ทุกส่วนของการใช้ชีวีตมีเรื่องพลังงานไฟฟ้าเข้ามาเกี่ยวข้องเพื่อเป็นพลังขับเคลื่อนอุปกรณ์ทุกสิ่ง แน่นอนว่าการผลิตและสร้างพลังงานเหล่านั้นขึ้นมา นอกเหนือจากต้นทุนที่เกิดขึ้นแล้ว ยังมีเรื่องของสิ่งแวดล้อมที่จะต้องแลกมาด้วยการปนเปื้อนจากกิจกรรมการผลิตไฟฟ้า โดยคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ที่นอกจากจะกำกับดูแลการผลิตเหล่านั้นเพื่อไม่ให้เกิดการทำลายสิ่งแวดล้อมแล้ว ยังมีแนวคิด Clean Energy for Life ภายใต้เงินสนับสนุนจาก กองทุนเกี่ยวกับการพัฒนาไฟฟ้า เพื่อสื่อสารและสร้างการตระหนักรู้ ตลอดจนการมีส่วนร่วมของภาคประชาชน ผ่านแพลตฟอร์มอินฟลูเอนเซอร์ อย่าง Tellscore อีกด้วย

การดำเนินการร่วมกันระหว่าง กกพ. และ Tellscore ตลอดจนภาคีเครือข่ายอีก 24 รายจะช่วยส่งเสริมให้เกิดการรับรู้ และกระตุ้นการมีส่วนร่วมของภาคประชาชนให้ช่วยกันสอดส่องดูแลได้อย่างไร วันนี้ TheReporterAsia ได้มีโอกาสสนทนากับ ดร.บัณฑูร เศรษฐศิโรตม์ กรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ซึ่งจะมาเปิดเผยแนวทางการดำเนินงานภายใต้แนวคิด “Clean Energy For Life ใช้พลังงานสะอาด เพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นของทุกคน” ในการสื่อสารดังกล่าวผ่านอินฟลูเอนเซอร์ชั้นนำ

คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) คือใคร?

ดร.บัณฑูร เศรษฐศิโรตม์ กล่าวว่า บทบาทของคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) เรามีหน้าที่ช่วยฝ่ายบริหารในการตรวจสอบ วิเคราะห์ ประเมินความเพียงพอ และเสนอแนะการปรับปรุงการกำกับดูแลกิจการ การบริหารความเสี่ยง รักษาระเบียบกฎหมาย ออกใบอนุญาต การกำหนดมาตรฐานด้านวิศวกรรม มาตรฐานเรื่องสิ่งแวดล้อม การใช้ไฟฟ้าต้องปลอดภัย ไม่สร้างผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม และชุมชน

ถ้าทำได้ตามเกณฑ์ก็ออกใบอนุญาต แต่เมื่อใดเรื่องไม่ทำตามกฏเกณฑ์กติการที่ตกลงไว้ เราก็มีอำนาจในการลงโทษ ตัดเตือน ออกคำสั่งทางปกครอง รวมไปถึงการพักใช้ใบอนุญาต ประหนึ่งว่าคุณจะต้องหยุดผลิตไฟฟ้า แล้วไปแก้ปัญหาที่พบเสียก่อน ถ้ายังทำไม่ได้ตามที่กำหนด ก็คล้ายๆกับ Regulator ทั่วไป ซึ่งก็สามารถถอดในอนุญาตได้ นี่คือภารกิจหลักของ กกพ.

นอกจากนี้เรายังมีเครื่องมือหนึ่งในการทำหน้าที่ นั่นก็คือกองทุนเกี่ยวกับการพัฒนาไฟฟ้า ซึ่งก็จะแยกออกไปหลายประเภท แต่จะขอกล่าวถึงเฉพาะกองทุนที่ทำหน้าที่เกี่ยวกับการ สร้างการสื่อสาร ด้านพลังงาน ให้ประชาชนเข้าใจ ตระหนักรู้ จนไปถึงขึ้นมีส่วนร่วม ซึ่งเป็นบทบาทที่กำหนดไว้ตามกฎหมาย กกพ. ที่ถูกตั้งขึ้นมาตามกฎหมายราชบัญญัติประกอบกิจการพลังงาน ปี 2550

โดยจะมีกรรมการอยู่ 7 ท่าน ทำหน้าที่ร่วมกัน ซึ่ง กกพ. ก็ยังเป็นองค์กรของรัฐประเภทหนึ่ง แต่แยกออกมาจากกระทรวงพลังงาน กระทรวงพลังงาน รัฐบาลที่มีหน้าที่ด้านนโยบายให้กับผู้ประกอบการ ซึ่งก็คือผู้ที่ทำกิจการโรงไฟฟ้าทำเรื่องก๊าซเป็นต้น หลังจากนั้น กกพ.ก็จะมีหน้าที่ผู้กำกับดูแลให้โรงไฟฟ้าเหล่านั้นดำเนินงานตามมาตรฐานและนโยบายที่รัฐกำหนดขึ้น

จุดเริ่มต้นของแนวคิด Clean Energy for Life

ด้วยบทบาทของกองทุนคือการสื่อสาร สร้างความรู้ ความตระหนัก และการมีส่วนร่วม ทีนี้ เรื่องอะไร เรื่องราวเกี่ยวกับ พลังงานไฟฟ้า หรือ กิจการด้านพลังงาน ซึ่งเราเริ่มมาตั้งแต่ปี 2560 แม้ว่าจะเริ่มตั้งมาในปี 2550 แต่มาจริงจังกับการสื่อสารภายใต้กองทุนในปี 2560-2563 เพียงแค่ 4 ปีเท่านั้น

ตัวผมเองเข้ามาเป็นกรรมการในปี 2562 ภายใต้สื่อที่มีจำนวนมาก ประเด็นสังคมที่มีจำนวนมาก ที่เราเลือกดูได้หลายช่องทาง ผู้บริโภคเป็นคนเลือกเอง เราก็เลยต้องหาแนวทางของการสื่อสารว่าอะไรเป็นสิ่งที่จะทำให้ประชาขนสนใจ ซึ่งเมื่อเราดูในกระแสโลกที่กำลังเดินไปสู่ทิศทางของการพัฒนาที่ยั่งยืน ซึ่งเป็นหัวข้อหลักของโลกที่กำหนดโดย UN โดยมีเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยื่น ซึ่งก็จะมีเรื่องพลังงานอยู่ด้วย

โดยเป้าหมายของการพัฒนาอย่างยั่งยื่นมีอยู่ 7 เป้าหมายสำคัญ และหนึ่งในนั้นก็คือเรื่องของพลังงาน ที่นับเป็นเป้าหมายที่ 7 ซึ่งคือ “พลังงานสะอาด ที่ทุกคนเข้าถึงได้” ภาษาอังกฤษใช้คำว่า Affordable and Clean Energy เราเลยมองว่าเรื่องนี้จะเป็นเรื่องที่สากล เป็นเรื่องที่ทั้งโลกให้ความสนใจ และคิดว่าเรื่องนี้จะทำให้เกิดพลังในการสื่อสาร เราก็เลยเริ่มจาก พลังงานสะอาดที่ทุกคนเข้าถึงได้

แนวทางการส่งเสริมให้ภาคประชาชนมีส่วนร่วมในการกำกับดูแล

ด้วยบทบาทหลักของ กกพ. คือถ้าจะมีโรงไฟฟ้าชุมชนเกิดขึ้น จะต้องดำเนินการและเป็นไปตามมาตรฐาน สิ่งแวดล้อม วิศวกรรม คุณภาพบริการ เพราะฉะนั้นอีกบทบาทหนึ่งที่สำคัญของ กกพ. ก็คือการทำให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการช่วยกำกับโรงไฟฟ้า เพื่อให้เป็นไปตามมาตรฐานที่เรากำหนดไว้ โรงไฟฟ้าในชุมชนที่เกิดขึ้นจะได้อยู่ร่วมกับชุมชนได้อย่างเป็นประโยนช์จริง

เราอยากให้ประชาชนช่วยกำกับและทำให้มันเป็นพลังงานสะอาดตามความหมายที่ควรจะเป็น พลังงานสะอาด ในที่นี้ก็คือ พลังงานที่สะอาดต่อชุมชน สะอาดต่อสุขภาพ สะอาดต่อสิ่งแวดล้อม และสะอาดตามมาตรฐานกฎหมาย ซึ่งมีอยู่จำนวนมาก ไม่ว่าจะเป็นกฎหมายสิ่งแวดล้อม หรือ กฎหมายของ กกพ. เอง 

ขอยกตัวอย่างเรื่องของกลุ่ม กบจูเนียร์ จาก บริษัท วีบูรพา ซึ่งเป็นกลุ่มที่สร้างผลงานเป็นคลิปหนังสั้น โดยเราให้โจทย์เขาไปว่า กบจูเนียร์ ซึ่งเป็นเยาวชน คุณอยากเห็นโรงไฟฟ้าชุมชนแบบใดที่จะอยู่ร่วมกับชุมชนของเขาได้ ซึ่งนี่ก็จะเป็นตัวกำกับให้โรงไฟฟ้าชุมชนที่เขาต้องการเกิดขึ้น แล้วเยาวชนก็คือคนรุ่นใหม่ที่ควรมีส่วนร่วมด้านไฟฟ้า พอคลิปนี้ออกมา เราก็จะได้นำคลิปนี้เป็นเครื่องมือที่ทำให้สังคมตระหนักและมีส่วนร่วมในการช่วยกำกับโรงไฟฟ้าชุมชนอีกอย่างนึง

ขณะที่ในเรื่องของการผลิตก๊าซชีวภาพ ก็จะเป็นภาพของหญ้าเนเปียร์ที่นำมาหมักแล้วสามารถใช้ผลิดไฟฟ้าได้ การทำให้ประชาชนเห็นภาพและมีส่วนร่วมก็จะมาในรูปแบบเดียวกับ กบจูเนียร์ ซึ่งก็จะมีหน้าที่ทำให้เห็นว่าโรงไฟฟ้าชุมชนนั้นสามารถจะใช้พลังงานที่มาจากเชื้อเพลิงไบโอแก๊สได้ และสร้างสตอรี่ให้เกิดความน่าสนใจ ด้วยการใช้โมเดลเดียวกันสื่อสารออกไป ก็จะทำให้ประชาชนเกิดการรับรู้ได้ ขณะเดียวกัน เราก็จะต้องสื่อสารให้สังคมเกิดความเชื่อมั่นว่าโรงไฟฟ้าที่เป็นชีวมวลและไบโอแก๊สนั่นมีจริง ตัวอย่างของโรงงานไฟฟ้าประเภทนี้ที่ปฏิบัติได้ตามมาตรฐานมีเกิดขึ้นแล้วจริงจริง

ส่วนนี้ เราก็จะมีภาคีอย่าง อสมท. ที่จะพาไปชมโรงไฟฟ้า 2 ประเภทนี้ ที่ทาง กกพ.ได้กำกับดูแลตามมาตรฐานนั้นมีอยู่จริง จะได้ทำให้สังคมเชื่อมั่นและเข้าใจ เห็นภาพว่า กกพ. กำกับโรงไฟฟ้าเหล่านี้ยังไง งานนี้จะเป็นอีกงานที่นำเสนอโดย อสมท. และ D.Doc ที่จะไปสื่อสารให้สังคมเข้าใจเกี่ยวกับโรงงานไฟฟ้าที่ใช้ชีวมวลและไบโอแก๊ส ซึ่งนี่ก็เป็นหนึ่งในโครงการภายในแนวคิดClean Energy for Life

ความร่วมมือ 26 โครงการ จาก 25 พันธมิตร

ทั้งนี้โครงการ “Clean Energy For Life ใช้พลังงานสะอาด เพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นของทุกคน” นับเป็นโครงการที่ได้รับการสนับสนุนโดยกองทุนพัฒนาไฟฟ้า สำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน ประจำปี พ.ศ. 2563 เพื่อส่งเสริมสังคมและประชาชนได้มีความรู้ ความตระหนัก และมีส่วนร่วมด้านไฟฟ้า และพลังงานสะอาด ซึ่งเป็นกิจกรรมต่อเนื่องจาก 14 โครงการในปีที่แล้ว เพิ่มขึ้นเป็น 26 โครงการ จาก 25 ภาคีพันธมิตร

โดยได้หยิบยกประเภทพลังงานทดแทน และหัวข้อสื่อสารที่สำคัญ ที่จะแสดงถึงตัวอย่างของพลังงานสะอาดและสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นของสังคมได้อย่างเป็นรูปธรรม คือ พลังงานแสงอาทิตย์ (solar power) พลังงานชีวมวลและชีวภาพ (Bio Energy) และพลังงานขยะ (Waste to Energy) พร้อมไปกับการใช้พลังงานอย่างประหยัดและมีประสิทธิภาพ โดยมี กกพ. เป็นผู้กำกับดูแลการดำเนินงานของโรงไฟฟ้า ให้เป็นไปตามมาตรฐานในทุกด้าน

เพื่อให้ทุกคนสามารถเข้าถึงพลังงานสะอาดได้อย่างมีประสิทธิภาพในราคาที่เหมาะสม สร้างประโยชน์ต่อ เศรษฐกิจ เกิดความสมดุลในทุกมิติ เชื่อมโยงทุกระดับ จากครัวเรือนสู่ชุมชน สู่สังคมโดยรวม และสู่ระดับโลกบนเส้นทางสู่เป้าหมายการพัฒนา ที่ยั่งยืนร่วมกัน

แนวทางการสื่อสารผ่านอินฟลูเอนเซอร์ชั้นนำ

Tellscore ซึ่งเป็นหนึ่งใน 25 ภาคีพันธมิตร ที่จะช่วยทำให้แนวคิด Clean Energy For Life บรรลุเป้าหมายที่ตั้งไว้ ผ่านแคมเปญการสื่อสารที่มีการวางแผนอย่างรอบคอบ รวมไปถึงกิจกรรมประชาสัมพันธ์หลากหลายรูปแบบที่ได้รับความร่วมมือจากอินฟลูเอนเซอร์ชั้นนำมากมาย เพื่อมอบโอกาสแก่คนไทยทุกคนในการมีส่วนร่วมติดตั้งโซลาร์เซลล์ให้โรงพยาบาลนำร่องทั้ง 77 แห่งทั่วประเทศ แบ่งออกเป็น 3 ระยะที่สำคัญ

ระยะที่ 1: การสร้างการตระหนักรู้เบื้องต้นด้านพลังงานสะอาด และแนะนำภาพรวมแนวคิด Clean Energy For Life พลังงานสะอาด เพื่อชีวิตที่ดีขึ้นของทุกคน ผ่านการสร้างคอนเทนต์ที่จะถูกเผยแพร่ผ่านสื่อออนไลน์เพื่อกระตุ้นการรับรู้และความเข้าใจ

ระยะที่ 2: เน้นการสื่อสารเกี่ยวกับพลังงานแสงอาทิตย์ (solar power) ซึ่งจะถูกจะถ่ายทอดผ่านโครงการ “สร้างการตระหนักรู้และมีส่วนร่วมในเรื่องของการใช้พลังงานสะอาด” เพื่อ 77 โรงพยาบาลทั่วไทย มอบโอกาสแก่คนไทยทุกคนในการมีส่วนร่วมติดตั้งโซลาร์เซลล์ให้โรงพยาบาลนำร่องทั้ง 77 แห่งทั่วประเทศ ผ่าน “มูลนิธิแพทย์ชนบทเพื่อไฟจากฟ้า”

ระยะที่ 3: “Waste Journey การเดินทางของขยะ ที่ทุกคนต้องรู้” เป็นการสื่อสารเกี่ยวกับพลังงานขยะ (Waste to Energy) เพื่อสร้างการเรียนรู้เกี่ยวกับวิธีลดการสร้างขยะด้วยแนวคิด 3R และการแยกขยะอย่างถูกวิธีช่วยให้เราสามารถเปลี่ยนขยะเป็นพลังงานไฟฟ้าได้

สำหรับแต่ละระยะ Tellscore ได้นำอินฟลูเอนเซอร์หลากหลายระดับเข้าร่วมสร้างพลังด้านการสื่อสาร อาทิ อเล็กซ์ เรนเดลล์, เรย์ แมคโดนัล, แพนเค้ก เขมนิจ จามิกรณ์, ศรราม น้ำเพชร, โต้ง Twopee, โตโน่ ภาคิน, สิงห์ วรรณสิงห์, รัศมีแข ฟ้าเกื้อล้น เป็นต้น โดยอินฟลูเอนเซอร์แต่ละท่านจะทำหน้าที่เป็นสื่อกลางในการถ่ายทอดเรื่องราวและความรู้เกี่ยวกับพลังงานสะอาดตามแนวทางการสร้างคอนเทนต์ของตน เพื่อให้ผู้ติดตามสามารถเข้าใจและจดจำเนื้อหาสำคัญ ตลอดจนเกิดการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมและต้องการมีส่วนร่วมกับโครงการภายใต้แนวคิด “Clean Energy For Life ใช้พลังงานสะอาด เพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นของทุกคน”

Related Posts