
คณะวารสารศาสตร์และสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จัดการเสวนาวิชาการในหัวข้อ “การรายงานข่าวที่มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม” กรณีเหตุการณ์ระเบิดที่โรงงานบริษัท หมิงตี้ เคมีคอล จำกัด อ.บางพลี จ.สมุทรปราการ โดย อ.ถมทอง ทองนอก อาจารย์ประจำคณะวารสารศาสตร์ฯ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า มีการตั้งคำถามเกี่ยวกับประเด็นด้านสิ่งแวดล้อม ไม่ว่าจะเป็นการปนเปื้อนของสารเคมีลงในแหล่งน้ำ และอากาศ หรือผลกระทบที่จะเกิดตามมา บทเรียนที่เกิดขึ้นจากเหตุการณ์นี้น่าจะทำให้เราได้ทบทวนถึงการทำหน้าที่สื่อ และการทำหน้าที่รายงานข่าวรวมไปถึงการให้ความสำคัญกับข่าวสิ่งแวดล้อม
ดร.ดวงแก้ว เธียรสวัสดิ์กิจ ผู้อำนวยการโครงการบัณฑิตศึกษา คณะวารสารศาสตร์ฯ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเป็นสถานการณ์ที่ไม่มีคำตอบชัดเจนแน่นอน ในฐานะวิชาการสื่อ เราเห็นปัญหาของการทำงาน ปัญหาของรายงานงานข่าวที่มีข้อมูลเกิดขึ้นมากมาย การทำงานในสายสิ่งแวดล้อมไม่ใช่สิ่งที่ง่ายต้องมีความรู้และเข้าใจหลายดาน ทั้งเรื่องกฎหมาย ประเด็นความอ่อนไหวของสังคม คนทำข่าวสิ่งแวดล้อมจึงต้องเก่งมากๆ และเป็นผู้ที่ไม่ได้มีความรู้อยู่เพียงเรื่องเดียว
“ความยากของคนทำข่าวสิ่งแวดล้อมจะต้องมีความรู้เกี่ยวกับสิ่งแวดล้อม ต้องรู้จักแหล่งข่าวค่อนข้างมาก ข่าวสิ่งแวดล้อมมักไม่ถูกให้ความสำคัญเพราะไม่เข้าเกณฑ์ตัดสินคุณค่าในมุมมองสื่อดั้งเดิมที่ให้ความสำคัญกับความแปลก ใหม่ ใหญ่ ดัง ข่าวสิ่งแวดล้อมข่าวที่ได้รับความสนใจคือข่าวที่สร้างผลกระทบต่อคน หากมีการส่งเสริมความรู้ความเข้าใจของคนในสังคมให้สนใจประเด็นข่าวสิ่งแวดล้อมน่าจะทำให้คนหันมาสนใจข่าวสิ่งแวดล้อมมากขึ้น”
ดร.ดวงแก้ว กล่าวอีกว่า ข่าวสิ่งแวดล้อมในประเทศไทยมักเป็นข่าวท่ีมีประเด็นขัดแย้ง พอเกิดความขัดแย้งการรายงานข่าวที่ต้องให้ความสำคัญของคู่ขัดแย้งเท่าๆ กัน ทำให้การรับรู้ของคนไปไม่ถึงไหน เพราะคนจะไปโฟกัสที่ความขัดแย้งมากกว่าเนื้อหาหลักเรื่องสิ่งแวดล้อม คนจึงไม่ได้มองไปถึงว่าคุณค่าข่าวอยู่ตรงไหน คุณค่าข่าวตอบโจทย์เรื่องสิ่งแวดล้อมหรือไม่
“โมเดลของธุรกิจสื่อทั่วโลกให้ความสำคัญกับข่าวเศษฐกิจ ข่าวธุรกิจการตลาด มากกว่าประเด็นสิ่งแวดล้อม ผลกระทบกับประเด็นข่าวสิ่งแวดล้อม ทุกเรื่องที่เป็นประเด็นข่าวสิ่งแวดล้อมถ้าตอบได้ว่าเรื่องท่ีเกิดขึ้นเกี่ยวกับคนอย่างไรข่าวนั้นจะได้รับความสนใจ การเกิดขึ้นของผู้สื่อข่าวพลเมือง (citizen journalist) ที่คนตัวเล็กในชุมชนลุกขึ้นมาทำงานสื่อ ธุรกิจสื่อต้องทบทวนตัวเองว่าจะเดินไปทางไหน การเอาข้อมูลมาใช้กับการรายงานข่าวสิ่งแวดล้อม แต่ก็ยังมีโอกาสน้อยอยู่ดีถ้าสื่อยังคงทำงานในมุมมองแบบเดิมและพึ่งพิงข้อมูลแหล่งข่าวที่น่าเชื่อถือแต่ไม่ได้เปิดเผยข้อมูลจริงหน้าที่ของนักข่าวสิ่งแวดล้อมอย่างหนึ่งคือ การสร้างความเข้าใจระหว่างตัวนักข่าวกับองค์กรขนาดใหญ่ เพราะให้เกิดความเข้าใจตรงกัน”
ขณะที่ น.ส. ณิชา เวชพานิช ผู้สื่อข่าวสำนักข่าวสิ่งแวดล้อม (Green News) กล่าวว่า เวลาเกิดเหตุการณ์เรามักตั้งคำถามว่า เรื่องที่เกิดขึ้นมีปัญหาเชิงโครงสร้างอย่างไร? คำถามจากเหตุการณ์ที่กิ่งแก้วมีหลายประเด็น เช่น ความเสี่ยงที่เกิดขึ้นเคยมีการประเมินไว้หรือไม่ ? เคยมีการวางแผนรับมือไว้บ้างหรือเปล่า? คำถามมีไปถึงเรื่องผังเมือง ที่มีคำถามว่าทำไมมีโรงงานไปตั้งอยู่ในชุมชนได้อย่างไร การทำข่าวสิ่งแวดล้อมจะพยายามคิดถึงวิธีการสื่อสารที่ทำให้ทุกคนเข้าใจประเด็นข่าวได้ง่ายที่สุด เช่น ทำยังไงให้คนเข้าถึงได้ง่าย อธิบายให้รู้สึกว่าเรื่องนั้นใกล้ตัวคนมากที่สุด
“ประเด็นข่าวสิ่งแวดล้อมยังมีช่องว่างให้เล่นได้เยอะมาก มีโอกาสให้คนที่เข้ามาทำงานด้านนี้่ ได้ทำงานโดยไม่ต้องกลัวว่าจะไม่มีประเด็นข่าวที่น่าสนใจ งานสิ่งแวดล้อมมีข้อมูลเยอะเกี่ยวพันกับหลายศาสตร์ หากอ่านงานเขียนของนักข่าวต่างประเทศจะพบว่ามีนักข่าวที่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะด้าน มีช่องว่างอีกมากที่ต้องการให้คนเข้ามาช่วยก้นสื่อสารประเด็นสิ่งแวดล้อม คิดว่าด้วยความสนใจของคนที่เข้ามาทำงานอยู่ที่ความถนัดและมุมมองหรือเลนส์ขอคนที่มองประเด็นว่าเรื่องอะไรที่น่าสนใจ ”
ทั้งนี้ หน้าที่ของสื่อมวลชนต้องพยายามสื่อให้เชื่อมโยงกับประเด็นที่เกี่ยวข้องกับประชาชน เรื่องสิ่งแวดล้อมเป็นเรื่องที่มีผลกระทบกับสุขภาพของคนและสุขภาพโลก คนรุ่นใหม่สนใจเรื่องสิ่งแวดล้อมมากขึ้น เพราะถือเป็นเรื่องใกล้ตัว การทำข่าวสิ่งแวดล้อมต้องขยายมุมมองข่าวสิ่งแวดล้อม ที่มีมติหลายด้าน มีความเชี่ยวชาญหากหลาย ต้องรู้จักปกป้องตัวเองจากการถูกฟ้องกลั่นแกล้งทางกฎหมาย ข่าวสิ่งแวดล้อมต้องอาศัยความร่วมมือทั้งตัวนักข่าว ภาคประชาชนที่จะช่วยกันปรับตัวและมาช่วยกัน
ด้าน น.ส. ธัญญารัตน์ ถาม่อย ผู้สื่อข่าวสถานีโทรทัศน์ช่อง8 กล่าวว่า เหตุการณ์ที่กิ่งแก้วเริ่มต้นเหมือนกับเหตุไฟไหม้ทั่วไป สิ่งที่ทราบตอนแรกคือเกิดไฟไหม้โรงงาน เมื่อหาข้อมูลและเตรียมอุปกรณ์เข้าไปจึงพบว่าสถานการณ์ที่เกิดขึ้นมีความอันตราย ขณะที่สถานการณ์มีความโกลาหลเพราะไม่มีความชัดเจนของภาครัฐว่าจะจัดการสถานการณ์อย่างไร หลายคนมาทราบภายหลังว่าการดับเพลิงในเหตุที่เกิดขึ้นไม่ควรใช้น้ำเพราะจะเกิดอันตราย ต่อมาเมื่อมีการประกาศให้อพยพประชาชนในพื้นที่ใกล้เคียง ขณะที่ประชาชนเกิดความโกลาหลวุ่นวายโดยที่ไม่รู้ว่าจะมีอันตรายอะไรเกิดขึ้นบ้าง
“ สิ่งที่สัมผัสได้ในการเข้าไปรายงานข่าวคือมีข้อมูลหลายอย่างที่ไม่ชัดเจน ไม่ว่าจะเป็นปริมาณสารเคมีที่มีอยู่มีมากน้อยแค่ไหน จุดใดบ้างที่มีความเสี่ยง ถ้ารัฐมีข้อมูลควรเปิดเผยให้ประชาชนรู้ แต่เหตุการณ์มีความสับสนตลอดทั้งวิธีการดับเพลิงหรือการแก้ไขสถานการณ์ และยังมีเฟคนิวส์เกิดขึ้นตลอดเวลาทำให้ยิ่งเกิดขึ้นสับสน”
นักข่าวที่ไปทำงานที่กิ่งแก้ว ส่วนใหญ่เป็นนักข่าวเฉพาะกิจที่ไม่ได้เชี่ยวชาญประเด็นข่าวสิ่งแวดล้อม การทำข่าวยังต้องรอการเปิดเผยข้อมูลจากรัฐขณะที่การทำข่าวในเชิงลึกในประเด็นสิ่งแวดล้อมต้องอาศัยความรู้และข้อมูลที่เพียงพอการที่นักข่าวที่ไม่ได้เชี่ยวชาญเฉพาะทางจึงขึ้นอยู่กับคนที่ไปทำข่าวว่าจะทำอะไรได้มากแค่ไหน