บุรีรัมย์ติดอันดับ7 ปลายทางยอดฮิต Airbnb

บุรีรัมย์ติดอันดับ7 ปลายทางยอดฮิต Airbnb

Airbnb เผยบุรีรัมย์ได้รับความนิยมเป็นอันดับ 7 ของการเลือกเข้าพักของนักท่องเที่ยว ด้วยแรงกระตุ้นจากกิจกรรมใหญ่ การแข่งขันโมโตจีพี 2019 เพียงไตรมาสเดียว (Q32019) ​กวาดผู้เข้าพักเติบโตกว่า 357% ราว 430 คน เตรียมยกบุรีรัมย์​เป็นโมเดลพัฒนาการท่องเที่ยวชุมชนต่อไป

นางมิช โกห์ หัวหน้าฝ่ายนโยบายสาธารณะประจำภูมิภาค​เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ Airbnb กล่าวว่า การท่องเที่ยวมีส่วนมากๆในการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศไทย โดยข้อมูลระบุว่ามูลค่าการท่องเที่ยวในไทยมีกว่า 21%ของจีดีพี และมีแนวโน้มเติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่อง อีกทั้งนโยบายของประเทศไทยยังมีการสนับสนุนอย่างต่อเนื่องจากภาครัฐ ซึ่งการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย ก็ได้ตั้งเป้าสร้างการท่องเที่ยวให้เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและชุมชนท้องถิ่นของไทยด้วยเช่นกัน

แพลตฟอร์มของเรา จะช่วยให้ผู้คนได้ค้นพบบริการที่หลกหลายสไตล์ ด้วยเครือข่ายของเราที่มีการทำงานร่วมกับหน่วยงานราชการและลูกค้าที่จะเข้าพักจากทั่วโลก วันนี้เราได้ลงมือทำเพื่อให้การท่องเที่ยวของประเทศไทยยกระดับไปอีกขั้น กับโครงการที่ร่วมมือกับท้องถิ่นอย่าง B-Stay เนื่องในโอกาส‘วันท่องเที่ยวโลก’ (World Tourism Day) วันที่ 27 กันยายนของทุกปี

ประสบการณ์ที่ดีของการท่องเที่ยวประเทศไทย ครั้งหนึ่งของการได้เข้าพักบ้านโบราณ​แบบไทยในจังหวัดบุรีรัมย์ ซึ่งเจ้าของเป็นคนไทยที่พูดภาษาอังกฤษไม่ได้ และเช่นกันดิฉันก็พูดภาษาไทยไม่ได้ แต่ก็มีความรู้สึกอบอุ่นจากการต้อนรับด้วยการทำอาหารร่วมกัน อีกทั้งเมื่อกลับเข้ามาพักจากการท่องเที่ยวตลอดทั้งวัน คุณยายยังมีการนำน้ำมะพร้าวและอาหารท้องถิ่นเพื่อมาต้อนรับอย่างอบอุ่น

ปีที่ผ่านมาเราได้จับมือกับ B-Stay ซึ่งเป็นผู้ให้บริการที่พักในบุรีรัมย์ และได้จัดการฝึกอบรมให้กับที่พักกว่า 65 แห่งในบุรีรัมย์ เพื่อส่งเสริมให้ผู้ให้บริการโฮมสเตย์​ในจังหวัดบุรีรัมย์ได้มีโอกาสในการเข้าถึงผู้เข้าพักจากทั่วโลกมากขึ้น

ตั้งแต่เราได้ร่วมมือกับ B-Stay มีการเติบโตขึ้นของผู้ให้บริการกว่า 360% ต่อปี และในไตรมาส 3 ของปี 2019 บุรีรัมย์​ยังขึ้นเป็นเป้าหมายอันดับที่ 7 ท​ี่นักท่องเที่ยวตั้งเป้าที่จะเดินทางไป โดยในช่วงการแข่งขันโมโตจีพี 2019 การเข้าพักมีการเติบโตกว่า 357% นักท่องเที่ยวกว่า 430 คนเดินทางจาก 100 ประเทศทั่วโลกเข้าพักที่จังหวัดบุรีรัมย์​

Airbnb
งานเสวนาหัวข้อ การท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน เนื่องในโอกาสวันท่องเที่ยวโลก (World Tourism Day)
ความเปลี่ยนของอุตสาหกรรม​การท่องเที่ยวไทย

นายสุเทพ เกื้อสังข์ รองผู้อำนวยการองค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (องค์การมหาชน) กล่าวว่า เราเห็นการพัฒนาการท่องเที่ยวเติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทั้งในแง่ปริมาณและรายได้ แต่มีสิ่งที่น่าเป็นห่วงคือซัพพลายที่จะต้อนรับการท่องเที่ยวเรามีเพียงพอหรือยัง ความท้าทายของเราคือการสร้างทรัพยากรที่สำคัญต่อการท่องเที่ยว ให้เกิดความยั่งยืนในการใช้การท่องเที่ยวให้เกิดความสุขของคนในประเทศและความสุขให้กับนักท่องเที่ยวที่จะเข้ามาในประเทศไทย

โดยมองว่าการท่องเที่ยว​แบบยั่งยืนจะต้องเริ่มจากชุมชน ซึ่งเมื่อชุมชนเขาขาดอะไรเราก็เข้าไปเสริม ขาดการตลาดเราก็เสริม ขาดการพัฒนาเราก็เสริม เมื่อเราทำเช่นนั้นได้เราก็จะสามารถสร้างรูปแบบการท่องเที่ยวให้เกิดความยั่งยืนที่แท้จริง

อีกทั้งแนวทางการสร้างขุมชนให้เข้มแข็ง ด้วยความแตกต่างของชุมชนเอง ซึ่งแม้กระทั่งเรื่องตำแหน่งการวางกลองที่แตกต่างกันก็สามารถนำมาร้อยเรียงเป็นจุดเด่นได้หากเราเข้าใจ โดยเราต้องสร้างฐานความรู้ วิถีชุมชนดั้งเดิม และคัดเลือกสิ่งที่เป็นไปได้แล้วนำมาพัฒนาให้สามารถเติบโตได้อย่างต่อเนื่อง เพื่อสร้างรายได้ให้ชุมชนบนวิถีที่แตกต่างและโดดเด่นในแต่ละชุมชนเอง

ด้านนางสาวชมภู มฤศโชติ ผู้อำนวยการกองสารสนเทศการตลาด การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย กล่าวว่า เราเห็นการเปลี่ยนแปลงของนักท่องเที่ยวบ่อยมาก มีการใช้เครื่องมือดิจิทัลเข้ามาเกี่ยวข้องกับการตัดสินใจมาก เทรนด์ของการเดินทางท่องเที่ยวด้วยตนเองมีจำนวนเยอะขึ้น ซึ่งเครื่องมือและเทคโนโลยีเข้ามาช่วยตรงนี้ได้อย่างมาก อีกทั้งยังมีความร่วมมือร่วมกันของทั้งอุตสาหกรรมอย่างเข้มแข็ง

โจทย์ของเราคือการ สร้างเป้าหมายของการท่องเที่ยวประเทศไทยให้กลายเป็นเป้าหมายแรกที่นักท่องเที่ยวอยากจะทำเมื่อนึกอยากจะท่องเที่ยว หลังจากนั้นจะเป็นส่วนของการต้อนรับนักท่องเที่ยว และรวมไปถึงการท่องเที่ยวแล้วเกิดความประทับใจอย่างไรบ้าง เพราะเมื่อประทับใจหรือไม่ประทับใจก็ตาม เขาก็จะแชร์ประสบการณ์ดังกล่าวสู่โลกออนไลน์ ซึ่งนับเป็นการดูแลและส่งเสริมให้เกิดการท่องเที่ยวประเทศไทยเพิ่มขึ้นอย่างยั่งยืนอีกทางหนึ่ง

ด้วยเทคโนโลยีที่เกิดขึ้น วันนี้เทรนด์ของการท่องเที่ยวคนเดียวด้วยโทรศัพท์มือถือเพียงเครื่องเดียว ที่จะช่วยอำนวยความสะดวกให้เกิดขึ้นนับตั้งแต่การจองที่พักล่วงหน้า การจองตั๋วเครื่องบิน การวางแผนการเดินทาง ซึ่งเทคโนโลยีมีความสำคัญเป็นอย่างมากในการอำนวยความสะดวกของการท่องเที่ยวในปัจจุบัน

ขณะที่การเปลี่ยนแปลงของเทรนด์เป้าหมายของการท่องเที่ยว ที่ไม่ได้จำกัดการท่องเที่ยวอยู่ในเมืองใหญ่ๆอีกต่อไป วันนี้ยังมีเทรนด์ของการท่องเที่ยวใหม่ๆ เป้าหมายการท่องเที่ยวใหม่ๆ เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง เรายังมีชุมชนเล็กๆอีกมากมายที่สามารถนำเสนอให้กับนักท่องเที่ยว ซึ่งส่วนตัวเคยมีรุ่นพี่กล่าวไว้ว่า เอกลักษณ์​ท้องถิ่นบางอย่างถูกปลุกขึ้นมาจากนักท่องเที่ยว จากการที่มีคนเข้าไปสนใจ และทำให้ชุทชนเริ่มกลับมาฟื้นฟูตัวเองให้เกิดความเข้มแข็งขึ้น

ด้านดร.รัฐศาสตร์ กรสูต รองผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล(DEPA) กล่าวว่า วันนี้การท่องเที่ยวถูกดิสรับป์ชั่นเป็นอย่างมาก เทคโนโลยีเริ่มมีบทบาท​ต่อการท่องเที่ยวมากขึ้น เรามีคนทั่วโลกกว่า 1.2 พันล้านคน ที่มีจำนวนคนท่องเที่ยวด้วยตัวเองเพิ่มจำนวนขึ้นอย่างต่อเนื่อง คนเริ่มเข้าหาเอเจนซี่ด้านท่องเที่ยวน้อยลง เทคโนโลยีจึงเป็นส่วนสำคัญในการหาข้อมูลและอำนวยความสะดวกด้านการท่องเที่ยวด้วยตัวเอง

แนวทางการพัฒนาการท่องเที่ยวในมุมของดิจิทัลเรามอง 3 มุมคือ 1.ด้านการเปลี่ยนแนวคิดของผู้ให้บริการที่จะต้องเข้าใจในความเป็นดิจิทัลมากขึ้น 2. การเตรียมความพร้อมของสถานที่หรือที่พัก เพื่อเตรียมพร้อมรับการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของผู้คน รวมทั้งรูปแบบการเดินทางที่เปลี่ยนแปลงไปของยุคดิจิทัล และ3.เรื่องของเครื่องมือที่จะทำให้เราสามารถนำพาการท่องเที่ยวเข้าไปในแพลตฟอร์มต่างๆได้อย่างเหมาะสม

หากเราแบ่งประเภทของการท่องเที่ยวออกเป็นรูปแบบที่เด่นชัด จะเห็นได้ว่าการท่องเที่ยวส่วนใหญ่จะเป็นการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม​ไม่ว่าจะเป็นการดูเมือง ดูสถานที่ ดูวิถีชีวิตของผู้คนที่แตกต่างกันในแต่ละประเทศ แต่เมื่อแยกย่อยออกมา เทรนด์ที่ได้รับความนิยมคือการท่องเที่ยวเชิงสัมผัส การเข้าไปได้เห็นและสัมผัสสถานที่จริงๆ แบบวัฒนธรรมและวิถีชีวิตจริงๆ ที่เกิดขึ้น เริ่มมีจำนวนเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง

แม้ว่าเทคโนโลยีจะทำให้เราเข้าถึงสถานที่ท่องเที่ยวต่างๆทั่วโลก แต่กระนั้นก็ยังมีสถานที่ปกปิดบางแห่งที่ยังรอคอยนักท่องเที่ยวเข้าไปสัมผัสอีกมาก จากเดิมเรารอคอยให้มีนักท่องเที่ยวเข้าไปและถ่ายทอดความประทับใจออกมาเอง วันนี้เราต้องเร่งค้นหาสถานที่เหล่านั้น และนำเสนอออกมาเป็นสถานที่ท่องเที่ยวให้ได้ เพื่อส่งเสริมให้เกิดการท่องเที่ยวใหม่ๆ ตามเทรนด์การท่องเที่ยวด้วยตนเองที่เกิดขึ้น

นางมิช โกห์ กล่าวเสริมว่า การเที่ยวเปลี่ยนไปมาก โดยเทคโนโลยีเข้าไปมีส่วนทั้งก่อนและหลังการท่องเที่ยว ซึ่งเมื่อท่องเที่ยวแล้วประทับใจ ผู้คนก็จะแชร์เรื่องราวสุดประทับใจเหล่านั้นขึ้นสู่โลกออนไลน์ และก็ทำให้สถานที่ท่องเที่ยวใหม่ๆเกิดมีชื่อเสียงขึ้นมาอย่างต่อเนื่อง และรวดเร็ว

อีกทั้งแนวโน้มของการเที่ยวเที่ยว ไม่ได้เกิดขึ้นเพียงเฉพาะสถานที่ดังๆแล้วเท่านั้น นักท่องเที่ยวยังมองหาสถานที่ท​่องเที่ยวใหม่ๆในการเข้าไปสัมผัสประสบการณ์​ที่แตกต่างจากเดิม และเราก็ได้ร่วมมือกับการท่องเที่ยวท้องถิ่นมาอย่างต่อเนื่อง เพื่อส่งเสริมให้ผู้คนได้เข้าถึงเครื่องมือของการดึงนักท่องเที่ยวเข้ามาพักในโฮมสเตย์​ของท้องถิ่นให้มากขึ้น เพื่อสร้างรายได้ให้ชุมชนอยู่ได้อย่างยั่งยืน

ด้านนายขรรค์ชัย อาราม รองกรรมการผู้จัดการ บริษัท ศิวะ บาร์ณา จำกัด องค์กรที่บริหารจัดการโครงการบริการที่พัก B-STAY บุรีรัมย์ กล่าวว่า โครงการนี้เราสร้างมาราว 2 ปี หากมองว่าการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน โครงการของเราน่าจะเป็นต้นแบบของการบูรณาการ​เทคโนโลยีทั้งหมด เข้ามาเป็นการท่องเที่ยวชุมชนท้องถิ่นอย่างยั่งยืน

โครงการของเราสร้างขึ้นมาเพื่อช่วยให้ชาวบ้านได้ใช้เครื่องมือทางเทคโนโลยีในการสนับสนุนการทำโฮมสเตย์​ ซึ่งผมเองก็เป็นคนแรกๆของการใช้แอปพลิเคชั่น Airbnb ในการท่องเที่ยวของจังหวัดบุรีรัมย์

ส่วนตัวมองว่า หัวใจสำคัญของการท่องเที่ยวชุมชน คือการที่ชุมชนต้องเข้าใจในสิ่งที่เป็นอยู่ตรงหน้า เรามีวัฒนธรรม วิถีชีวิตที่สามารถดำรงอยู่ให้นักท่องเที่ยวโดยไม่ต้องเปลี่ยนแปลง ผมเชื่อว่าความยั่งยืนอยู่ในตัวบุคคลของชุมชน ซึ่งจะทำให้เกิดความยั่งยืนที่แท้จริง ด้วยการดึงอัตลักษณ์​ของชุมชนขึ้นมานำเสนอให้นักท่องเที่ยวนั่นเอง

Related Posts