ในที่สุดกูเกิลก็ต้องยอมหาแนวร่วมการพัฒนา IoT หลังจากกระแสการใช้งาน Google Home มีการใช้งานติดขัดจากลูกค้าล็อตแรกๆอย่างหนาหู โดยงานนี้กูเกิลประกาศเมื่อวันศุกร์ (ตามเวลาสหรัฐ) ที่ผ่านมาว่า การเปิดช่องครั้งนี้ก็เพื่อการพัฒนา IoT เป็นหลักแต่ยังควบรวมความสามารถของ AI จาก Google Assistant เพื่อต่อยอดการสนทนาแบบอัตโนมัติ และการเชื่อมต่อระหว่างผู้ใช้ อย่างเช่น Chatbot และ คำสั่งเสียง ภายใต้การทำงานของกูเกิลโฮม ซึ่งเป็นหนึ่งในผลงาน IoT ของกูเกิลเอง
แน่นอนว่าการเปิดให้เข้าถึงแพลตฟอร์มครั้งนี้ นับเป็นความพยายามของกูเกิลที่จะควบรวมสินค้าที่มีทั้งหมด ให้สามารถสื่อสารและทำงานร่วมกันได้อย่างไม่ติดขัด ซึ่งรวมไปถึง สมาร์ทโฟนตัวใหม่อย่าง Pixel และแอปพลิเคชั่นสนทนาตัวใหม่ล่าสุดอย่าง Allo ที่ควบรวมความสามารถของ ระบบ AI จาก Google Assitant เข้าไปไว้ด้วยอย่างลงตัว และการเปิดให้เข้าถึงครั้งนี้ยังหมายถึงความรวดเร็วของการพัฒนาที่คาดว่าจะมาจากประสบการณ์ของนักพัฒนาที่มีความเชี่ยวชาญด้านนี้มากกว่ากูเกิลที่เพิ่งเริ่มต้นด้าน IoT นั่นเอง
สิ่งที่สำคัญคือ กูเกิล ไม่ได้คาดหวังให้ “กูเกิล โฮม” ทำได้เพียงแค่ เปิด-ปิดไฟ หรือเปิดเพลงเพื่อความบันเทิงเท่านั้น แต่ยังต้องการสร้างให้เป็นหนึ่งในอุปกรณ์อัจฉริยะในบ้าน ภายใต้การทำงานของแพลตฟอร์มกูเกิล ด้วยการเชื่อมต่อผ่านอุปกรณ์สมาร์ทโฟน เพื่อให้ผู้ใช้เกิดความสะดวกมากยิ่งขึ้น เสมือนหนึ่งมีผู้ใช้ส่วนตัวในการช่วยงานบุคคล ทั้งการแจ้งเตือน การค้นหาคำตอบจากโลกออนไลน์ การนัดหมาย การประชุมทางไกล ตลอดจนเป็นเพื่อนสนทนาเมื่อยามเหงา หรือแม้กระทั่งดูแลบ้านและจัดการบ้านให้ เมื่อเจ้าของต้องออกไปทำธุระนอกบ้าน
แต่การพัฒนาเช่นนั้นก็ไม่ใช่เรื่องง่าย ยิ่งหลังจากเปิดขาย “กูเกิล โฮม” ไปแล้ว ผู้บริโภคกลับไม่ได้รับประโยชน์จากการใช้งาน แถมยังขัดขวางประโยชน์เดิมที่ใช้อยู่อย่างน่าเหนื่อยใจ ด้วยเหตุผลของการเชื่อมต่อที่ไม่สมบูรณ์ระหว่างสมาร์ทโฟนและกูเกิลโฮม ทำให้ผู้ใช้หลายรายไม่สามารถเข้าถึงบริการกูเกิลได้แบบปกติ อุปสรรคเช่นนี้จึงมีส่วนกดดันให้กูเกิล ต้องยอมจำนนและเปิดโอกาสให้ผู้พัฒนาแอปอื่นๆ เข้ามาเติมเต็มความสามารถของกูเกิล โฮม ให้รวดเร็วที่สุด อย่างที่โมเดลแอนดรอยด์เคยทำได้มาแล้ว
เพราะหากจำกันได้ การพัฒนาแอนดรอยด์นั้นมาช้ากว่า ซิมเบียน บลาดา และวินโดวส์โฟนอยู่หลายขุม แถมยังมีตัวจี๊ดอย่างแบล็คเบอร์รี่ที่เข้ามาสร้างพฤติกรรมแชทผ่านมือถือได้อย่างดี แต่แอนดรอยด์กลับเปิดโอกาสให้นักพัฒนาเข้าถึงและสร้างแอปพลิเคชั่นเพื่อรองรับการใช้งาน ซึ่งเป็นแพตฟอร์มเดียวที่เป็นระบบเปิด และแอปพลิเคชั่นก็เพิ่มจำนวนขึ้นอย่างรวดเร็ว จนอดไม่ได้ที่ผู้คนจะหันมาลองใช้ระบบแอนดรอยด์ และท้ายที่สุดแอนดรอยด์ก็มาอยู่ในมือทุกท่านทั่วโลกอย่างไม่ทันตั้งตัว และครั้งนี้ก็ถึงคราว “กูเกิล โฮม” บ้างแล้ว