สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (องค์การมหาชน) หรือ ETDA (เอ็ตด้า) กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ออกโรงย้ำ จับตาเทคโนโลยี Blockchain เพิ่มบทบาทสำคัญต่อเศรษฐกิจไทยยุคดิจิทัล
สุรางคณา วายุภาพ ผู้อำนวยการ ETDA กล่าวว่า “เศรษฐกิจยุคใหม่มีการทำธุรกรรมทางการเงินอยู่ในรูปแบบดิจิทัล ความมั่นคงปลอดภัยของข้อมูลจึงเป็นเรื่องสำคัญ เทคโนโลยีที่น่าจับตามมองและเชื่อว่าจะมีบทบาทสำคัญเพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ ไม่เพียงต่อวงการฟินเทค (FinTech) แต่กับความน่าเชื่อถือของเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศ
ก็คือ Blockchain หรือระบบการจัดการฐานข้อมูลที่ทำให้ข้อมูลการทำธุรกรรมดิจิทัลของผู้ใช้งานแต่ละคนสามารถแชร์ไปยังคนอื่น ๆ ได้ในระบบ หรือ Decentralized โดยที่ยังสามารถยืนยันตัวตนของเจ้าของและสิทธิ์ในข้อมูลนั้นหรือสินทรัพย์ของตัวเองที่ลงทะเบียนในระบบได้”
เทคโนโลยี Blockchain นำมาสู่การปฏิวัติในหลายวงการ ที่พูดถึงกันมากที่สุดก็คือ การเกิดสกุลเงินดิจิทัล หรือ Cryptocurrency ที่สามารถใช้แลกเปลี่ยนซื้อขายสินค้าเหมือนกับเป็นเงินจริง ๆ อย่าง Bitcoin ซึ่งด้วยความที่เป็นเทคโนโลยีที่ Decentralized จึงไม่มีคนกลางหรือหน่วยงานที่คอยอนุมัติธุรกรรมที่เกิดขึ้น
การทำธุรกรรมระหว่างผู้ซื้อกับผู้ขายจึงเกิดขึ้นโดยตรง รวดเร็ว ไม่มีค่าธรรมเนียมการทำธุรกรรม ทั้งยังโปร่งใส เพราะข้อมูลถูกแชร์ออกไป ทุกคนจึงสามารถตรวจสอบได้ Blockchain ยังเป็นระบบที่ปลอดภัยที่สุดในโลกปัจจุบัน แทบจะเรียกได้ว่าไม่มีวัน ถูกแฮกอีกด้วย
ที่สำคัญ Blockchain ยังทำให้เกิดแอปพลิเคชันที่ทรงพลังเกิดขึ้นตามมาอีกมากมาย เช่น Smart Contract ที่เป็นการนำเงินหรือสินทรัพย์ ไม่ว่าจะเป็นบ้าน ที่ดิน รถยนต์ หรืออะไรก็ตามที่มีค่าเข้าไปในลงทะเบียนในระบบ และโปรแกรมนี้จะทำงานแบบอัตโนมัติในการเช็กเงื่อนไขว่าสินทรัพย์หรือเงินนั้นควรจะได้รับการส่งต่อไปที่ใคร หรือควรจะได้รับการโอนคืนกลับไปให้เจ้าของ
การใช้งาน Blockchain เรียกได้ว่าแทบจะไม่มีขอบเขต เช่น การทำระบบ Contract Management ในบริษัทเอกชนเพื่อจัดเก็บสัญญาต้นฉบับที่ห้ามมีการปรับแก้ข้อมูลสำคัญ การทำระบบ KYC หรือ Know Your Customer ในธนาคารพาณิชย์ต่าง ๆ ไปจนถึงใช้ทำการสำรวจ ประชาพิจารณ์ หรือการเก็บข้อมูล และแชร์ข้อมูลของหน่วยงานรัฐบาล เช่น ข้อมูลโฉนดที่ดินของกรมที่ดิน ทะเบียนการค้าของผู้ประกอบการของกรมพัฒนาธุรกิจการค้า
ปัจจุบันหน่วยงานรัฐบาลเริ่มมีการนำเทคโนโลยี Blockchain มาใช้งาน เช่น โครงการของสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) และสำนักงานรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ (องค์การมหาชน) (สรอ.) ที่กำลังพัฒนาระบบเพื่อช่วยลดค่าใช้จ่ายของกระบวนการเบิกจ่ายประกันสุขภาพจากโรงพยาบาลทั่วประเทศ และช่วยทำให้โรงพยาบาลได้รับเงินคืนจาก สปสช. ได้เร็วยิ่งขึ้น
“Blockchain จะมีศักยภาพเพิ่มขึ้นหากมีการนำมาใช้ทำเป็นเครือข่ายข้ามองค์กร ไม่ว่าจะเป็นระหว่างภาครัฐ หรือระหว่างองค์กรเอกชน เช่น กลุ่มธนาคาร หรือแม้แต่ระหว่างหน่วยงานรัฐและเอกชน ซึ่ง Blockchain จะผลักดันให้รัฐบาลเร่งศึกษาและออกข้อบังคับที่ชัดเจน เพื่อกำกับและสนับสนุนการลงทุนของภาคเอกชน ทั้งยังกระตุ้นให้เกิดนักพัฒนาแอปพลิเคชันใหม่ ๆ เกิดบริการใหม่ ๆ ขึ้นในสังคม และในที่สุดจะเปลี่ยนวิถีใช้ชีวิตและการทำงานของคนไทยอีกด้วย” สุรางคณา กล่าวทิ้งท้าย