จับกระแส ดิจิทัล ทรานส์ฟอร์มของประชาคมอาเซียนผ่านมุมมองเดลล์

จับกระแส ดิจิทัล ทรานส์ฟอร์มของประชาคมอาเซียนผ่านมุมมองเดลล์

ความท้าทายของโลกธุรกิจเปลี่ยนแปลงไป ดิจิทัล เป็นโลกาภิวัฒน์ที่เข้ามาเสนอตัวเป็นเครื่องมือวิเศษที่ทุกคนใช้แล้วจะมีประโยชน์มากขึ้น ขณะที่ใครที่เมินเฉยก็จะต้องตายไปแบบโดดเดี่ยวไม่ต่างจากวิถีโกดักส์ที่เคยเป็นผู้ผลิตด้านฟิล์มเบอร์ต้นๆของโลกแต่กลับต้องเหี่ยวเฉาลงอย่างน่าเสียดายเพราะการเมินเฉยต่อโลกดิจิทัล

วันนี้ Thereporter.asia ได้มีโอกาสคุยกับพี่นุ้ย หรือ คุณอโณทัย เวทยากร กรรมการผู้จัดการ และรองประธานบริหาร เดลล์ อีเอ็มซี ภูมิภาคอินโดจีน ถึงมุมมองของการเปลี่ยนผ่านธุรกิจสู่โลกดิจิทัล (Digital Transformation) ของประเทศกลุ่ม AEC (ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน)ที่เชื่อว่าจะก้าวขึ้นมาเป็นกลุ่มประเทศหลักที่จะส่งผลต่อเศรษฐกิจโลกได้ในอนาคต ในฐานะที่พี่นุ้ยมีตำแหน่งของการบริหารครอบคลุมทั่วภูมิภาคอินโดจีน และมีโอกาสได้เห็นความเปลี่ยนแปลงของธุรกิจกลุ่มประเทศโดยรอบ

เราเริ่มกันที่ประเทศพม่า ซึ่งปัจจุบันมีนักลงทุนต่างสนใจเข้าไปโปรยยาหอมกันไม่ขาดสายในมุมของเทคโนโลยีแล้ว การลงทุนเรื่องเทคโนโลยีมีอัตราการจ่ายที่ค่อนข้างสูง เนื่องจากเป็นการเริ่มต้นโครงการเปลี่ยนผ่านใหม่ทั้งหมด ทำให้ประเทศพม่าต้องหว่านการลงทุนด้านเทคโนโลยีมากกว่าในประเทศไทย ยกตัวอย่างเช่นการลงทุนด้านเซิร์ฟเวอร์ ซึ่งในประเทศไทยจะว่ากันที่ราว 5 ล้านต่อตู้ แต่พม่าต้องมองที่ราว 10 ล้านบาทต่อตู้ เนื่องจากต้องรวมระบบโครงสร้างพื้นฐานเพื่อให้เครื่องทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพด้วย

ซึ่งหากถามว่าแล้วเค้ามีเงินที่ไหนลงทุน? คำตอบที่ได้จากพี่นุ้ยตอบเป็นกลายๆว่าเค้ามีเงิน เพราะนักธุรกิจส่วนใหญ่มีหลายๆกิจการ ในหนึ่งผู้มีอำนาจอาจจะมีธุรกิจทั้งสายการบิน การสื่อสาร และธนาคารก็เป็นได้ เมื่อเป็นเช่นนั้นเค้าก็มีเงินลงทุนเพื่อขยายธุรกิจได้ทันที เช่นจากเดิมที่มีเครือข่ายสาขาธนาคารเพียงแค่ 10 สาขา ก็ขยายออกเป็น 30 สาขาได้ในคราวเดียว ทำให้อัตราการลงทุนในประเทศพม่ามีสูงมาก

แต่กระนั้นการลงทุนของบริษัทข้ามชาติก็ยังมีข้อจำกัดมากมายที่ไม่เอื้อให้นักลงทุนต่างชาติเข้าไปลงทุนมากนัก ทำให้การลงทุนส่วนใหญ่จะเป็นของเอกชนภายในประเทศเป็นหลัก และหากจะมองถึงการเปลี่ยนผ่านไปสู่ดิจิทัลนั้น ประเทศพม่าก็น่าจะเป็นหนึ่งในประเทศที่มีการกระโดดข้ามจาก 1.0ไปสู่ 4.0 เลยก็ว่าได้ เพราะหากดูจากอัตราการขยายตัวและทิศทางการใช้เทคโนโลยีเพื่อสร้างประสิทธิภาพของสินค้าและบริการมากขึ้นก็น่าจะเห็นคำตอบที่ชัดเจนมากขึ้น

กลับมาที่ประเทศเวียตนามที่กำลังมีการผลักดันให้เกิด อุตสาหกรรม 4.0 ซึ่งไม่ต่างจากประเทศไทยที่กำลังผลักดันให้เกิด ประเทศไทย 4.0 เท่าไหร่นัก หากแต่สิ่งที่เวียตนามทำมีความชัดเจนมากขึ้น โดยเฉพาะเรื่องของการสร้างสมาร์ทซิตี้ ที่มีการใช้งานจริงแล้ว อีกทั้งการขยายตัวทางเศรษฐกิจที่สูงก็ทำให้ประเทศเวียตนามเป็นประเทศที่มีความน่าสนใจของนักลงทุน และที่สำคัญยังมีโอกาสของตลาดเทคโนโลยีอยู่สูง เนื่องจากเป็นช่วงของการเปลี่ยนผ่านสู่ดิจิทัลเช่นเดียวกับประเทศไทย

แน่นอนว่ากลุ่มอุตสาหกรรมหลักที่เริ่มมีความชัดเจนของการเปลี่ยนผ่านสู่ดิจิทัลในกลุ่มประชาคมอาเซียนนั้น ก็คือกลุ่มธนาคาร เทลโก้ และโรงงานอุตสาหกรรมก็เริ่มมองเห็นความเปลี่ยนแปลงมากขึ้น ขณะที่กลุ่มการบินซึ่งเป็นเทคโนโลยีเฉพาะด้านก็เริ่มเห็นการเปลี่ยนแปลง ไม่ต่างจากอุตสาหกรรมบริการที่ต้องยอมรับว่ามีการเปลี่ยนแปลงเพื่อแข่งขันกันสร้างประสบการณ์ที่ดีขึ้นให้กับลูกค้ากันทั่วหน้า

ขณะที่คลาวด์ยังเป็นเป้าหมายหลักของการเปลี่ยนแปลง ด้วยเพราะความสะดวกและคล่องตัว แต่ในบางประเทศก็มีการลงทุนด้านเซิร์ฟเวอร์เพื่อรองรับการทำงานแบบผสมผสานตามความต้องการของตนเอง โดยม้าตีนต้นยังคงเป็นในส่วนของ Public Cloud ซึ่งสามารถเข้าถึงผู้คนได้ง่ายกว่า การเข้าใช้งานสะดวก แต่ก็ยังปลอดภัยไม่เพียงพอ การใช้งานกลุ่มนี้ในช่วงเริ่มแรกจึงมีความหวือหวาและร้อนแรงตามธรรมดา

แต่สิ่งที่น่าจับตามองก็คือ Private Cloud ซึ่งมองว่ามีความปลอดภัยมากกว่า ทำให้รองรับกับมาตรฐานต่างๆขององค์กรที่ต้องทำเพื่อให้เกิดความน่าเชื่อถือเพิ่มขึ้น และที่สำคัญมูลค่าของการซื้อแต่ละครั้งของ Private Cloud นั้นมีค่ามากกว่าการซื้อแบบคลาวด์สาธารณะหลายเท่าตัว ทำให้มูลค่าตลาดที่แท้จริงไหลไปอยู่ที่คลาวด์ส่วนตัวเสียเป็นส่วนใหญ่ ซึ่งก็เป็นเรื่องปกติที่การลงทุนย่อมต้องการความปลอดภัย อะไรที่เป็นสาธารณะก็คงไม่ตอบโจทย์เท่าไหร่นัก

เขียนมาซะเยอะเลย จะไม่พูดถึงประเทศไทยก็กระไรอยู่ เพราะพี่นุ้ยยังหยอดคำหวานว่า “ประเทศไทยก็ยังคงเป็นตลาดที่มีกระแสความร้อนแรงของการลงทุนด้านไอทีมากกว่าประเทศในกลุ่มเออีซีอื่นๆ”

ด้วยการผลักดันเพื่อเข้าสู่ดิจิทัลของรัฐและเอกชน ตลอดจนการเข้าถึงโครงสร้างพื้นฐานของประเทศที่ส่งผลให้ผู้คนเข้าใจโลกออนไลน์มากขึ้น ธุรกิจก็กล้าที่จะจ่ายมากขึ้นให้กับโลกออนไลน์ ซึ่งภาคเอกชนก็ยังเป็นส่วนหลักของการลงทุนทางด้านไอที และหากใครพลาดขบวนดิจิทัลในครั้งนี้ก็อาจจะเข้าขั้นตกกระป๋องไม่ต่างจาก “สถานะการณ์โกดักส์” ก็เป็นได้

 

บทความโดย พลายอะตอม

Related Posts