กระทรวงดิจิทัลฯ แจงวิธีการส่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ – อีเมล ต้องไม่ผิดกฎหมาย

กระทรวงดิจิทัลฯ แจงวิธีการส่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ – อีเมล ต้องไม่ผิดกฎหมาย

กระทรวงดิจิทัลฯ แจงเนื้อหาประกาศฯ ซึ่งออกตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2560 ถึงวิธีการส่งข้อมูลคอมพิวเตอร์หรือจดหมายอิเล็กทรอนิกส์ หรือ อีเมล ย้ำประกาศฉบับนี้ไม่ส่งผลกระทบต่อการติดต่อสื่อสารโดยปกติของประชาชน ยกเว้นเป็นการส่งข้อมูลในเชิงธุรกิจหรือเชิงพาณิชย์ ผู้ส่งจะต้องได้รับความยินยอมจากผู้รับก่อน

หากไม่ได้รับความยินยอม ผู้ส่งจะต้องมีช่องทางการบอกเลิกเพื่อให้ผู้รับข้อมูลบอกเลิกหรือปฏิเสธการรับได้โดยง่าย กรณีฝ่าฝืนจะถือเป็นการส่งข้อมูลคอมพิวเตอร์หรือจดหมายอิเล็กทรอนิกส์ที่ก่อให้เกิดความเดือดร้อนรำคาญ ตามมาตรา 11 วรรคสอง และมีโทษปรับไม่เกิน 2 แสนบาท

นาวาอากาศเอก สมศักดิ์ ขาวสุวรรณ์ รองปลัดกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ในฐานะโฆษกกระทรวงฯ เปิดเผยว่า ปัจจุบันประชาชนและผู้ให้บริการต่างๆ ทางอินเทอร์เน็ต ยังมีความสับสนในเรื่องของลักษณะและวิธีการส่ง รวมถึงปริมาณความถี่ในการส่งข้อมูลคอมพิวเตอร์หรือจดหมายอิเล็กทรอนิกส์ว่า การส่งลักษณะใด และปริมาณความถี่เท่าใด จึงจะไม่เป็นการก่อให้เกิดความเดือดร้อนรำคาญแก่ผู้รับ หลังจากที่ พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2560 ประกาศใช้

ดังนั้น กระทรวงดิจิทัลฯ ในฐานะหน่วยงานหลักที่กำกับดูแลในส่วนนี้ จึงขอชี้แจงว่า การส่งข้อมูลคอมพิวเตอร์หรือจดหมายอิเล็กทรอนิส์ให้แก่บุคคลอื่น ที่ไม่ถือว่าเป็นการส่งข้อมูลที่ก่อให้เกิดความเดือดร้อนรำคาญแก่ผู้รับข้อมูล ตามประกาศกระทรวงดิจิทัลฯ เรื่อง ลักษณะและวิธีการส่ง และลักษณะและปริมาณของข้อมูล ความถี่และวิธีการส่ง ซึ่งไม่เป็นการก่อให้เกิดความเดือดร้อนรำคาญแก่ผู้รับ พ.ศ. 2560

ภายใต้ พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2560 มีดังนี้ 1) การส่งข้อมูลคอมพิวเตอร์หรือจดหมายอิเล็กทรอนิกส์ เพื่อติดต่อหรือเป็นหลักฐานในการทำนิติกรรมสัญญา ที่คู่สัญญามีการตกลงกันเป็นที่เรียบร้อย หรือการส่งข้อมูลที่ผู้รับข้อมูลและผู้ส่งข้อมูลส่งเพื่อปฏิบัติตามกฎหมาย หรือเพื่อแสดงความสัมพันธ์ที่มีระหว่างกัน

2) การส่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ฯ โดยรัฐบาล รัฐสภา ศาล หรือหน่วยงานของรัฐ ที่บังคับใช้กฎหมาย เพื่อแจ้งให้ทราบถึงข้อกำหนด กฎหมาย ที่ไม่ได้มีวัตถุประสงค์ในเชิงพาณิชย์หรือแสวงหาผลกำไรทางธุรกิจ

3) การส่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ฯ โดยสถาบันการศึกษา หรือหน่วยงาน หรือองค์กรการกุศล ที่ไม่มีวัตถุประสงค์ในการแสวงหาผลกำไร

4) การส่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ฯ ที่ไม่มีลักษณะผิดกฎหมาย ไม่ละเมิดสิทธิส่วนบุคคล และไม่มีวัตถุประสงค์ในเชิงพาณิชย์

สำหรับกรณีที่เป็นการส่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ในเชิงธุรกิจหรือเชิงพาณิชย์ นอกเหนือจากที่กล่าวข้างต้น เมื่อได้รับความยินยอมจากผู้รับข้อมูลแล้วจะไม่ถือเป็นการก่อความเดือดร้อนรำคาญแก่ผู้รับข้อมูล โดยที่ผู้ส่งข้อมูลต้องระบุหรือแสดงสัญลักษณ์หรือรายละเอียดและวิธีการใดๆ ที่ผู้รับข้อมูลสามารถบอกเลิกหรือแจ้งความประสงค์ไว้อย่างชัดเจน เพื่อปฏิเสธการตอบรับข้อมูล (Opt-Out) จากผู้ส่งได้โดยง่าย

รวมถึงมีวิธีการให้ผู้รับข้อมูลแจ้งความประสงค์ในการบอกเลิก หรือไม่ยอมรับข้อมูลได้ และเมื่อมีการบอกเลิกการรับข้อมูลของผู้รับข้อมูลแล้ว ผู้ส่งข้อมูลต้องยกเลิกการส่งข้อมูลไปยังผู้รับทันที โดยห้ามเรียกร้องให้ผู้รับข้อมูลชำระเงินหรือผลประโยชน์ใดๆ เป็นการตอบแทน ซึ่งหากมีการฝ่าฝืนและไม่ปฏิบัติตามที่กล่าวมา ถือว่าผู้ส่งข้อมูลมีความผิด ต้องระวางโทษปรับไม่เกิน 2 แสนบาท

อย่างไรก็ตาม ในกรณีผู้ส่งข้อมูลที่เป็นผู้ให้บริการเว็บไซต์ ผู้ให้บริการแอปพลิเคชั่น หรือผู้ให้บริการประเภทสื่อสังคมออนไลน์ที่โฆษณาหรือสนับสนุนการส่งข้อมูลหรือจดหมายอิเล็กทรอนิกส์ จะต้องจัดให้มีช่องทางการบอกเลิก หรือปฏิเสธการรับข้อมูลแก่ผู้ใช้บริการที่สามารถเข้าใจและเข้าถึงได้โดยง่าย ไม่เช่นนั้นจะถือว่ามีความผิดเช่นกัน

ทั้งนี้ แม้ว่าการรับส่งข้อมูลคอมพิวเตอร์หรือจดหมายอิเล็กทรอนิกส์จะเป็นประโยชน์อย่างมหาศาลต่อผู้คนในยุคปัจจุบันก็ตาม แต่เนื่องจากที่ผ่านมาได้มีการส่งข้อมูลคอมพิวเตอร์หรือจดหมายอิเล็กทรอนิกส์เป็นจำนวนมาก จนกลายเป็นการสร้างความเดือดร้อนรำคาญให้กับประชาชน ดังนั้น หากประชาชนพบเห็นการกระทำความผิด หรือมีข้อสงสัยเกี่ยวกับปัญหาออนไลน์ สามารถแจ้งเบาะแสหรือสอบถามข้อมูลได้ที่สายด่วน 1212 ตลอด 24 ชั่วโมง

Related Posts