ผลการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นในการประชุมร่วม วงการดาวเทียม หรือ International satellite symposium 2017 ชี้ ประเทศในเอเชียแปซิฟิกต้องรวมกลุ่มกันเพื่อลดต้นทุน เพื่อการแข่งขัน แนะควรทำในรูปแบบของคอนโดมีเนียมดาวเทียมแบบเดียวกับที่ไทยคม 8 ทำอยู่ ในขณะที่ปัญหาของไทยยังไม่ชัดว่าจะให้หน่วยงานไหนจะเป็นผู้ดูแลดาวเทียมดวงใหม่
พล.อ.ต.ธนพันธ์ หร่ายเจริญ ผู้ชำนาญการ สำนักงานปลัดกระทรวงกลาโหมและช่วยปฏิบัติงานสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) กล่าวว่า จากการประชุม International satellite symposium 2017 ซึ่งกสทช.ร่วมกับสหภาพโทรคมนาคมระหว่างประเทศ หรือ ไอทียู จัดขึ้น นั้น
ผู้ประกอบการดาวเทียมของทั้ง Eutelsat และInmarsat ให้ความเห็นไปในทางเดียวกันว่าในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกดาวเทียมสื่อสารใช้ใน C Band ค่อนข้างมาก และมีระบบจัดการโดยรวมที่ค่อนข้างดี
โดยหากมีการรวมตัวกันในกลุ่มประเทศของภูมิภาคก็จะสร้างความแข็งแกร่งและโอกาสต่อรองในตลาดได้เมื่อมีปัญหาเกิดขึ้น เพราะบางครั้งปัญหาการจัดสรรคลื่นของแต่ละประเทศนั้นมีการกำกับกติกาที่ต่างกัน ซึ่งอาจทำให้ผู้ประกอบการรายใหม่เกิดขึ้นยาก รวมไปถึงการกำกับดูแลที่ซับซ้อนภายในประเทศนั้นๆ ส่งผลให้เอกชนที่เป็นผู้สร้างดาวเทียมเสียโอกาสในการทำธุรกิจ
ทั้งนี้ไอทียูได้มีกฎที่ผู้ประกอบการดาวเทียมสื่อสารจะใช้วงโคจรได้ต้องมาในนามของประเทศนั้นๆ ซึ่งในการนำดาวเทียมขึ้นวงโคจรมีค่าใช้จ่ายค่อนข้างสูง ดังนั้นวิธีการที่ดีคือ การทำในรูปแบบของคอนโดมีเนียมดาวเทียม เช่นเดียวกับไทยคม 8 ที่เมื่อขึ้นสู่วงโคจรแล้วให้ผู้ประกอบการรายอื่นๆ ได้เช่าใช้การดาวน์ลิงค์-อัพลิงค์ด้วย เป็นการแชร์เพลย์โหลดที่ช่วยลดต้นทุนเจ้าของดาวเทียมสื่อสารลงได้
พล.อ.ต.ธนพันธ์ กล่าวว่า กรณีของไทยในส่วนของดาวเทียมสื่อสารดวงใหม่นั้น ยังมีปัญหาในส่วนของการกำกับดูแลที่ไม่ชัดเจนในเรื่องของอำนาจการให้ใบอนุญาตและการกำกับดูแลแท้จริงแล้วเป็นของหน่วยงานใด ระหว่างกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม หรือ ดีอี หรือเป็นของสำนักงาน กสทช. ภายหลังระบบสัมปทานไม่มีอีกต่อไป ดังนั้นการแก้กฎหมายให้ชัดเจนจึงเป็นสิ่งที่รัฐต้องทำเพื่อไม่ให้เอกชนและประเทศเสียโอกาส