กระทรวงดีอี เดินหน้านโยบายเศรฐกิจใหม่รายได้สูงและต่อยอดโครงการเน็ตประชารัฐ ด้วยการนำร่องติดตั้งอุปกรณ์ POS หวังยกระดับการขายสินค้าชุมชน
ประเดิมที่แรก ณ บ้านสระบัวก่ำ อ.ด่านช้าง จ.สุพรรณบุรี คาดติดตั้งครบ 200 แห่งภายในสิ้นปี และครบ 29,800 แห่งภายในปี 2564
นายพิเชฐ ดุรงคเวโรจน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) กล่าวว่า ตามที่รัฐบาลได้วางเป้าหมายการพัฒนาเศรษฐกิจให้เป็นเศรษฐกิจใหม่รายได้สูง ภายใน 5-6 ปี
ด้วยการปรับเปลี่ยนเป็นเศรษฐกิจให้ขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรม (Value-Based Economy) หรือเปลี่ยนจากการผลิตสินค้าโภคภัณฑ์ไปสู่สินค้าเชิงนวัตกรรม ในโครงการดิจิทัลชุมชนด้านอีคอมเมิร์ซ (e-Commerce) นั้น
ล่าสุดกระทรวงดีอีได้ทำการส่งเสริมให้สินค้าชุมชนมีระบบอี-คอมเมิร์ซ ซึ่งถือเป็นการต่อยอดจากโครงการเน็ตประชารัฐ โดยได้มอบหมายให้ บริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด (ปณท) พัฒนาแอปพลิเคชันสำหรับร้านค้าชุมชน ใช้ระบบการบริหารงาน ณ จุดขาย หรือ POS (Point of Sale )
เพื่อให้ร้านค้าชุมชนสต๊อกสินค้า จำหน่ายสินค้า ลงทะเบียนสมาชิก รวมถึงสั่งซื้อสินค้าจากผู้ขาย มาจำหน่ายให้แก่สมาชิกในชุมชนผ่านระบบนี้ได้
โดยระบบดังกล่าวนี้จะช่วยลดภาระและลดต้นทุนในการจัดเก็บสต๊อกสินค้าของร้านค้าชุมชนได้เป็นอย่างดี ซึ่งได้นำร่องที่แรก ณ บ้านสระบัวก่ำ อ.ด่านช้าง จ.สุพรรณบุรี
ซึ่งมีจุดเด่นเรื่องของผ้าทอพื้นเมืองลายโบราณ เป็นชุมชนแรกสำหรับการติดตั้งระบบ POS e-Commerce ชุมชน
“การดำเนินโครงการนี้ จะแบ่งเป็น 5 ระยะ คือ ระยะที่ 1 ปี 2560 ทำการคัดเลือกและพัฒนาร้านค้าชุมชนต้นแบบเพื่อติดตั้งอุปกรณ์ จำนวนไม่น้อยกว่า 200 หมู่บ้านทั่วประเทศ ระยะที่ 2 ปี 2561”
“เป็นการขยายผลการติดตั้งอุปกรณ์การบริหารงาน ณ จุดขาย จำนวน 10,000 หมู่บ้านทั่วประเทศ และระยะที่ 3 – ระยะที่ 5 ปี 2562-2564 เป็นระยะการพัฒนาโครงการสู่ความยั่งยืน โดยจะขยายผลการติดตั้งระบบงานให้ครบ 29,800 หมู่บ้านทั่วประเทศ”
นายพิเชฐ กล่าวว่า สำหรับค่าใช้จ่ายอุปกรณ์ การบริหารงาน ณ จุดขายนั้น ชุมชนเป้าหมายนั้นสามารถซื้อได้กับ ปณท โดยมีตั้งแต่อุปกรณ์ชุดใหญ่ ราคา 50,000 บาท อุปกรณ์ขนาดย่อม ราคา 14,000 บาท และอุปกรณ์แบบโมบายล์ ราคา 6,500 บาท
ซึ่งค่าใช้จ่ายในอุปกรณ์ดังกล่าวนี้ ทางร้านค้าชุมชนจะต้องเป็นผู้จัดซื้อเอง รัฐบาลไม่ได้ออกค่าใช้จ่ายให้